ทะลุคนทะลวงข่าว

กลายเป็นศึกวิวาทะระหว่าง สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กับ มีชัย ฤชุพันธุ์ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

จากปมร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐ ธรรมนูญว่าด้วย กกต. ที่มีการเพิ่ม สเป๊กคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ชนิดเข้มข้น

โฟกัสพุ่งเป้าไปที่ 2 กกต.ชุดปัจจุบัน อันได้แก่ สมชัย และ ประวิช รัตนเพียร ที่ส่อหลุดจากเก้าอี้ เพราะปัญหาคุณสมบัติ

ฝ่ายแรก ออกมาซัดกรธ. พยายามสร้างนวัตกรรมใหม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไทย ถือเป็นนวัตกรรมฟุ้งซ่าน

ทั้งการตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง แทนกกต.จังหวัด และการกำหนดคุณสมบัติกกต. ที่อาจนำไปสู่การตีความ

นอกจากนี้ยังทวงถามคำตอบชัดๆ เต็มปากเต็มคำจากประธานกรธ. ถึงมาตรฐานการบังคับใช้ ต้องใช้กับองค์กรอิสระทุกแห่ง รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญด้วย

มิใช่พุ่งเป้ามาที่กกต.เพียงแห่งเดียว

ตอกย้ำด้วยว่า ถือว่าเป็นธรรม ถ้าเอาคุณสมบัติใหม่ไปใช้กับทุกองค์กร แต่ประโยชน์ที่ได้รับต้องคิดดูให้ดี

ขณะนี้สังคมกำลังมองว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกำลังเตรียมการโละเปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระทุกองค์กร เอาคนของตัวเองเข้าไปทำหน้าที่

นี่คือการยึดพื้นที่ทางการเมืองที่ต้องดูให้ดี

ส่งผลให้ มีชัย ฤชุพันธุ์ ปรมาจารย์ด้านกฎหมาย มือร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ออกมาตอบโต้ทันควัน

การกำหนดคุณสมบัติขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าของกกต.หรือองค์กรอิสระอื่น กรธ.ไม่เคยคิดฟุ้งเฟ้อเพ้อเจ้อตามอารมณ์

แต่เขียนกฎหมายลูกให้สอดคล้องตามหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงการปฏิรูป

ขจัดการทุจริตอย่างจริงจังด้วยการลงโทษอย่างรุนแรง จนทำให้บางคนที่ตามไม่ทันรับไม่ได้ คิดว่าเป็นการกลั่นแกล้งเฉพาะตัว

ยืนยันได้ ข้อกำหนดที่ใช้กับกกต. จะนำไปใช้กับองค์กรอิสระอื่น รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญด้วย แต่ต้องขึ้นกับรายละเอียดที่แตกต่างกัน

กรธ.ทำงานกันอย่างหนัก ไม่มีเวลาว่างคิดฟุ้งซ่าน

ที่สำคัญ เรื่องของบ้านเมืองไปใช้อารมณ์ไม่ได้ เวลาคิดต้องคิดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม อย่าไปคิดแต่เฉพาะส่วนที่กระทบตัวเอง

พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 ก็มีเสียงสะท้อนในเชิงคัดค้านเนื้อหาที่กรธ.จัดทำขึ้น

นิติศาสตรบัณฑิต ม.รามคำแหง, เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) ม.รามคำแหง

อดีตข้าราชการอัยการพิเศษประจำกรม สำนักงานอัยการ จ.อุตรดิตถ์ ช่วงปี 2547-2549

อดีตส.ว.อุตรดิตถ์จากเลือกตั้ง 2 สมัย

ได้รับแต่งตั้งจาก คสช. มาเป็นสนช. และได้รับเลือกเป็นรองประธานสนช.คนที่ 2

ยกมือค้านการรีเซ็ตกกต.ยกชุด เพราะช่วงทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กกต.ก็ทำหน้าที่ได้ดี

อีกทั้งการเลือกตั้ง บางครั้งก็ต้องใช้ประสบการณ์ ถ้ารีเซ็ตใหม่หมด ก็อาจเกิดปัญหาได้

ส่วนกกต.บางคนต้องพ้นจากตำแหน่งไป ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของคุณสมบัติ ที่กรธ.จะร่างออกมา

นอกจากนี้ การกำหนดบทลงโทษประหารชีวิต กรณีซื้อขายตำแหน่งนั้น ต้องนึกถึงสังคมโลกด้วย

สุดท้ายสนช.จะได้พิจารณากฎหมายลูกที่กรธ.จัดทำขึ้น

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการองค์กรกลางการเลือกตั้ง และกรรมการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต)

จบการศึกษาสาขารัฐประศาสน ศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ ม.สงขลานครินทร์ ปริญญาโทสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

เคยเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ทั้งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนพัฒนาและเทคโนโลยี

เป็น กกต.ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้ง ก่อนเปลี่ยนมารับผิดชอบด้านบริหารกลาง

ยอมรับตัวเองอยู่ในข่ายถูกโละจาก กกต.

แต่กรธ.ก็ไม่ควรหมกเม็ด เขียนกฎหมายลูกโดยไม่ฟังเสียงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

มีชัย ฤชุพันธุ์ ถือเป็นปรมาจารย์ ด้านกฎหมายคนหนึ่งของเมืองไทย

นิติศาสตรบัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ และปริญญาโทด้านกฎหมายเปรียบเทียบ จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นเม ธอดิสต์ สหรัฐอเมริกา

เคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง อาทิ อดีตรองนายกฯ และประธานวุฒิสภา และประธานรัฐสภา

เป็นผู้ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2534 เพื่อจัดให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ ปี 2540

ช่วงรัฐประหารปี 2549 เป็นที่ปรึกษาคณะปฏิรูปการปกครองฯ มีบทบาทร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ถูกตั้งเป็นสมาชิก คสช. กระทั่ง 5 ต.ค. 2558 ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธาน กรธ.

แจงชัดเจนการเพิ่มสเป๊ก ห้ามเคยเป็นองค์กรอิสระมาก่อน ก็หวังปิดช่องเวียนเก้าอี้กรรมการองค์กรอิสระ

แต่ถึงที่สุด คณะกรรมการสรรหา ตามมาตรา 203 จะเป็นคนชี้ขาด

ที่สำคัญ ประธานศาลฎีกาเป็นประธานคณะกรรมการสรรหา

การันตีไม่มีการเมืองแน่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน