แก้โทษใหม่ไร้ใบขับขี่ ‘สนิท-เอกรักษ์’ชี้แจง ท่านเปา‘ศรีอัมพร’ติง

ทะลุคน ทะลวงข่าว

แก้โทษใหม่ไร้ใบขับขี่

ระบุจาก สนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์แซ่ดสังคม กรณีกรมการขนส่งทางบกเสนอแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 เพิ่มโทษผู้ขับรถไม่มีใบขับขี่ เป็นจำคุก 3 เดือน ปรับ 5 หมื่น และขับรถในระหว่างใบขับขี่หมดอายุมีโทษจำคุก 3 เดือน

โดยกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากกฤษฎีกาแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของสนช.

อธิบดีแจงว่า การบูรณาการกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าวเข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นกฎหมายเดียวง่ายต่อการกำกับดูแล รวมทั้งเร่งปรับปรุงรายละเอียดของกฎหมายให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับพฤติกรรมการขับขี่ของผู้ใช้รถใช้ถนนให้มากขึ้น

ทั้งนี้หากผ่านการพิจารณาของ สนช. แล้วตามขั้นตอนจะต้องนำประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาก่อน ซึ่งตามขั้นตอนกฎหมายจะมีผลบังคับใช้เป็นทางการได้จะต้องลงประกาศในราชกิจจาฯครบ 1 ปีไปแล้ว

และการแก้ไขกฎหมายด้านการขนส่งครั้งนี้ ได้ปรับเพิ่มบทลงโทษกรณีผู้ขับขี่กระทำผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ด้วย

เพื่อให้ผู้ขับขี่เข็ดหลาบไม่กล้าทำความผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายอีก รวมทั้งให้ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด

สำเร็จปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

เริ่มรับราชการในตำแหน่งวิศวกร กรมทางหลวง

เป็นนายช่างแขวงกรมทาง และเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารบำรุงทาง

ต่อมาเป็นรองอธิบดีฝ่ายบำรุงทาง และผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม

ปี 2558 เป็นอธิบดีกรมการขนส่งทางบก

เชื่อ การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะช่วยลดอุบัติเหตุและความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้

ยังมีเสียงจาก พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 ในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ชี้แจงว่าจำนวนเงินดังกล่าวเป็นเพียงอัตราโทษปรับสูงสุดที่ระบุไว้เท่านั้น แต่การไม่พกใบขับขี่การเปรียบเทียบปรับจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานสอบสวน และกรณีไม่มีใบขับขี่การเปรียบเทียบปรับจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ที่จะมีความเห็นสั่งปรับจำนวนเท่าไหร่

ระบุ เนื่องจากขณะนี้พบว่าสถิติประเทศไทยมีอุบัติเกิดขึ้นสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก จึงมีแนวคิดปรับแก้เพื่อลดปัญหาและเป็นไปตามสากล

โดยเฉพาะการปรับแก้กฎหมายสำหรับผู้ขี่รถจักรยานยนต์ และจากนี้จะพิจารณาแบ่งรถจักรยานยนต์ออกเป็น 2 ประเภท คือ รถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ที่มีซีซีมาก หรือบิ๊กไบก์ โดยพิจารณาทบทวนการเพิ่มกฎเกณฑ์ผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตขี่รถบิ๊กไบก์ ทั้งอายุ ความสามารถในการควบคุมรถ และการอบรมเฉพาะทาง

ส่วนการพิจารณาปรับแก้การขอทำใบอนุญาตขับขี่ ที่ต้องผ่านการตรวจจากแพทย์ ต้องไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงที่ส่งผลต่อการควบคุมรถ รวมไปความสามารถของผู้ขับขี่ด้วย ส่วนผู้ขับขี่ที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้วรวมไปถึงใบขับขี่ตลอดชีพแล้วเกิดอาการป่วยขึ้นภายหลังจนส่งผลต่อการขับรถ หากตำรวจพบก็จะประสานไปยังกรมการขนส่งทางบก เพื่อพิจารณาระงับการใช้ใบขับขี่ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนรวม

ย้ำว่าภายหลังจากที่กฎหมายประกาศใช้ การเพิ่มบทลงโทษจะทำให้ข้อหาไม่มีใบอนุญาตขับขี่ไม่ใช่ความผิดลหุโทษอีกต่อไป ตำรวจจะไม่มีอำนาจพิจารณาเปรียบเทียบปรับเหมือนเดิม แต่จะต้องสรุปสำนวนฟ้องศาล และให้ศาลเป็นผู้พิจารณาบทลงโทษ โดยหากกระทำผิดซ้ำเดิมบ่อยครั้ง แสดงเจตนาฝ่าฝืนกฎหมาย ตำรวจก็จะระบุลงในสำนวนด้วย

นรต.41 บรรจุครั้งแรกที่ ผ.4 กก.8 ป. แล้วขยับมาอยู่ ผ.2 กก.2 ป.2

ก้าวหน้าเป็นลำดับ เป็นผกก.สส.บก.น.6, ผกก.สส.บก.น.9, ผกก.สน.มักกะสัน และเป็นรองผู้การ อก.บช.น.

เป็นรองผบก.จร. แล้วเป็นผบก.ภ.จว.อ่างทอง ก่อนเป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3

ชี้กฎหมายเดิมที่ให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับมาตลอด 39 ปีนั้นไม่ได้ผล สถิติผู้ที่ไม่มีใบขับขี่สูงขึ้น สถิติอุบัติเหตุสูงขึ้น เพราะผู้ขับขี่เพียงจ่ายค่าปรับกับตำรวจแล้วกลับไปขับขี่ต่อ ทำให้เป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนน ไม่ได้แก้ปัญหาจริงจัง

ส่วนประเด็นที่ประชาชนกังวลว่าการเพิ่มโทษปรับจะเป็นช่องให้ตำรวจเรียกรับผลประโยชน์หรือเกิดการทุจริตนั้น ตามกฎหมายใหม่ตำรวจไม่มีอำนาจปรับ แต่หากมีการเรียกรับผลประโยชน์หรือทุจริต สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะไม่ปกป้อง และจะดำเนินคดีทั้งทางอาญาและวินัยอย่างเด็ดขาด

เสียงติงมาจาก ศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา ตั้งข้อสังเกตว่าการที่ตั้งโทษจำคุกหรือปรับไว้สูงมาก จะเป็นประโยชน์ต่อการป้องปรามอุบัติเหตุจากการจราจรหรือไม่

เพราะถ้าหากโทษสูงมากอาจจะมีกระบวนการหนี ไม่ให้มีการดำเนินการทางกฎหมาย อาจจะเกิดกระบวนการตัดตอนโดยการให้ทรัพย์สินหรือเรียกทรัพย์สิน เพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการของกฎหมาย ต้องคิดว่าทำเเค่ไหนอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบตามมา

และมีทฤษฎีทางอาชญวิทยาที่ระหว่างประเทศที่ยอมรับกัน เขาระบุว่าการเพิ่มโทษที่สูงเกินไปไม่ได้ทำให้การกระทำผิดในเรื่องนั้นลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

ศิษย์เก่าโรงเรียนวัดนวลนรดิศ และนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

1 ต.ค.นี้ จะเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์

จึงติง การกำหนดโทษสูงเกินไปบางทีก็ไม่ได้เป็นการป้องปรามอาชญากรรม เเต่จะเป็นการชนเเล้วหนีสูงขึ้น เรื่องนี้เป็นเหมือนดาบสองคมถ้าฟันไปก็จะเกิดเอฟเฟ็กต์กลับมา การกำหนดโทษปรับสูงเเละจำคุกมากจะต้องดูบริบทของสังคมไทย จริงอยู่ผู้ที่ร่างกฎหมายก็คือรัฐบาลเเละสภา บางทีก็มองในด้านเดียว จริงๆ ต้องดูผลกระทบด้วย จะหนักไปทางใดทางหนึ่งไม่ได้

มองอีกมุมมาในยามกฎหมายใหม่ อยู่ในกระบวนการเดินหน้าสู่การบังคับใช้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน