ทะลุคนทะลวงข่าว : ปมให้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน‘วัชรพล’รับศึกหนัก‘หมอจรัล-ภาวิช’จ่อลา

ทะลุคนทะลวงข่าว : ผลจากประกาศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 1 พ.ย.

กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ดำรง ตำแหน่งทางการเมือง ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด ผบ.เหล่าทัพ

ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ กรรมการในองค์กรอิสระ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการวุฒิสภา

อธิการบดี นายกสภาและกรรมการสภาในสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)

ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ทั้งของตัวเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

รวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส หรือหย่าปลอมๆ

มีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ โดยให้แสดงบัญชีทรัพย์สินภายใน 90 วัน

ก่อให้เกิดปัญหาวุ่นวาย ระส่ำระสาย

เนื่องจากตำแหน่ง นายกสภามหา วิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยของรัฐ ไม่เคยถูกบังคับให้ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินฯ ต่อป.ป.ช.

อีกทั้งบอร์ดสภามหาวิทยาลัย ไม่ใช่งานราชการประจำ ไม่มีอำนาจหน้าที่โดย ตรงต่อการใช้จ่ายงบประมาณ

ตำแหน่งนี้ยังไม่มีเงินเดือน มีเพียงเบี้ยประชุม

ที่สำคัญ การรวบรวมทรัพย์สินให้ครบถ้วนไม่ใช่เรื่องง่าย หากหลงลืม อาจเจอข้อหาปกปิดทรัพย์สิน หรือร่ำรวยผิดปกติ

นายกสภาและกรรมการสภามหา วิทยาลัยของรัฐทั่วประเทศ จึงเตรียม ไขก๊อก เพื่อตัดปัญหา ไม่ต้องแจ้งบัญชี ทรัพย์สินฯ ต่อป.ป.ช.

อย่างไรก็ตาม นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณ สุข ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) พร้อมบอร์ดอีก 3 คน ยื่นใบลาออกแล้ว

ขณะที่ ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม ก็เตรียมทิ้งเก้าอี้เช่นกัน

รวมถึงบอร์ดสภามหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็เตรียมลาออกยกทีม

ล่าสุด ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศ ไทย (ทปอ.) ซึ่งปิดห้องหารือกับตัวแทนที่ประชุมอธิการบดีมรภ. ที่ประชุม อธิการบดีมทร. และอธิการบดีมหา วิทยาลัยในกำกับรัฐ

มีมติให้ทบทวนการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ

หวั่นกระทบการบริหารงานของมหา วิทยาลัยไปทั่วประเทศ

เช่นเดียวกับ พระพรหมมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม อุปนายกสภามหา วิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย หรือ มมร. ระบุหากมีการบังคับใช้จริง โดยไม่มีการแก้ไข กรรมการสภามหาวิทยาลัยมมร. คงลาออกหมด

อาจกระทบถึงสมเด็จพระสังฆราช ในฐานะนายกสภามมร.

รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. จึงได้มอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย ไปหารือกับพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. เพื่อหาทางออก

เพราะสุดท้าย อำนาจอยู่ที่ประธานป.ป.ช.จะวินิจฉัยว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร

นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์

แพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล

เริ่มรับราชการปี 2515 เป็นนายแพทย์โท ร.พ.พุทธชินราช พิษณุโลก

เติบโตในส่วนภูมิภาค ดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง รองปลัด อธิบดีกรมควบคุมโรค

เกษียณอายุราชการเมื่อก.ย. 2547 ก่อนเป็นกรรมการผู้ช่วยรมต.ประจำ กระทรวงเกษตรฯ ปี 2547-49

ที่ปรึกษาคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน และบอร์ด สปสช.

ยื่นลาออกจากบอร์ด สปสช. เพื่อคัดค้านประกาศป.ป.ช.

ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์

เภสัชศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วโอนมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ของระบบประสาท วิทยาลัยเบดฟอร์ดแอนด์เชลซี มหาวิทยาลัยลอนดอน

เภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากมหา วิทยาลัยลอนดอน

เคยดำรงตำแหน่ง อาทิ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ อธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยนครพนม, มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ และนายกสภาเภสัชกรรม

ปัจจุบันเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม และภาคีสมาชิกแห่งราชบัณฑิตย สถาน สาขาเภสัชศาสตร์

หลังมีประกาศป.ป.ช. ยอมรับว่ามีกรรมการสภาหลายคนไม่อยากทำหน้าที่นี้แล้ว

เมื่อมาทำงานเสียสละ กลับมีภาระเพิ่ม ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินอีก ทั้งที่ไม่มีส่วนได้เสียกับการบริหารงานของมหาวิทยาลัย

ถ้าเรื่องนี้ไม่ได้รับการแก้ไข เชื่อว่าหลังวันที่ 1 ธ.ค. จะมีกรรมการสภาลาออกจำนวนมาก

อีกทั้งมหาวิทยาลัยจะหากรรมการสภามาทดแทนยากมากขึ้น สร้างปัญหาให้กับอุดมศึกษาทั้งระบบ

สรุปแล้วประกาศของป.ป.ช.ที่ออกมา จะได้ไม่คุ้มเสีย และไม่เห็นจะมีข้อดีอย่างไร

บิ๊กกุ้ย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช.

นรต.รุ่นที่ 29 ปริญญาโทการบริหารงานกระบวนการยุติธรรม มหาวิทยาลัยแอละแบมา

ปริญญาเอกอาชญาวิทยา มหา วิทยาลัยฟลอริดา สหรัฐอเมริกา

อดีตผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ผู้ช่วย ผบ.ตร.ด้านกิจการพิเศษ และโฆษกตร.

2552 รอง ผบ.ตร.

คสช.ตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทน ผบ.ตร.หลังยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557

เกษียณเมื่อ ก.ย.2558 และได้รับการสรรหาเป็นกรรมการป.ป.ช.

15 ธ.ค. 2558 นั่งประธานป.ป.ช.

ยืนยันสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นทรัพย์สินตามกฎหมาย เนื่องจากมีอำนาจแต่งตั้งผู้บริหาร-อธิการบดี-คณบดี

รวมถึงมีอำนาจอนุมัติงบประมาณ

แต่พร้อมรับฟังแนวทางแก้ปัญหาของสภามหาวิทยาลัยและรัฐบาล

เร่งสางปัญหาให้เสร็จก่อน 2 ธ.ค.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน