วิกฤตฝุ่นพิษ‘2.5ไมครอน’ 3นักวิชาการสิ่งแวดล้อม จี้รัฐวางแผนแก้ไข-ป้องกัน : ทะลุคนทะลวงข่าว

วิกฤตฝุ่นพิษ‘2.5ไมครอน’ 3นักวิชาการสิ่งแวดล้อม จี้รัฐวางแผนแก้ไข-ป้องกัน : ทะลุคนทะลวงข่าว – กว่าสัปดาห์แล้วที่ชาวกรุงเทพฯและปริมณฑล หรือจังหวัดที่อยู่ใกล้พื้นที่อุตสาหกรรม ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนหรือ PM 2.5

โดยมีปริมาณมากพอ จนเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ปัญหาเกิดจากความกดอากาศสูงจากจีนแผ่ลงมา เป็นฝุ่นที่มีขนาด 1 ใน 25 ของขนาดเส้นผม และมีน้ำหนักเบามาก ถูกกดทับจนลอยตัวไม่ได้

ร้อยละ 60 เกิดจากรถยนต์ดีเซลที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์
นอกจากนี้ในกทม.ยังมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า มีตึกสูง มีสภาพอากาศปิด ไม่ปลอดโปร่ง
แม้เบื้องต้น อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จะเชื่อคงไม่ถึงขั้นวิกฤต

แต่ขอความร่วมมือประชาชนลดฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิด เช่น ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ห้ามการเผาในที่โล่งทุกประเภทอย่างเด็ดขาด ห้ามการใช้รถยนต์ควันดำทุกประเภทอย่างเด็ดขาด
ขณะเดียวกัน รัฐบาล กองทัพ ส่วนราชการและภาคเอกชนก็มีการแก้ปัญหาเบื้องต้น ทั้งการฉีดน้ำในพื้นที่เสี่ยง การทำฝนเทียม การแจกหน้ากากอนามัย N95

ล่าสุดกระทรวงคมนาคม โดยรฟม. ได้สั่งผู้รับเหมาหยุดสร้างรถไฟฟ้า 7 วัน ช่วง 16-22 ม.ค.
หยุดดำเนินกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง เช่น สกัดหรือเจาะหิน เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ ในย่านถนนลาดพร้าว แจ้งวัฒนะ ศรีนครินทร์ รามคำแหง รามอินทรา พร้อมฉีดน้ำล้างถนนพื้นที่ก่อสร้าง ล้างล้อรถบรรทุกให้สะอาด

ขณะเดียวกัน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมได้ออกมาเตือนถึงปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 พร้อมข้อเสนอแนะต่างๆ ทั้งการจำกัดรถยนต์เข้าพื้นที่กทม. ปิดโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงชั่วคราว ห้ามรถเมล์ควันดำวิ่ง รวมถึงแนวทางแก้ไขแบบถาวร

สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)

ดีกรี ปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยซินซินแนติ สหรัฐอเมริกา

ลูกหม้อ คพ. เคยดำรงตำแหน่งรองอธิบดี และอธิบดี คพ. เกษียณในปี 2555
เป็นนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และอาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ระบุวิธีการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ให้เกิดความยั่งยืน เพื่อให้ในปี 2563 ปัญหาจะบรรเทาลง
อย่างแรกต้องลดจากตัวรถยนต์ รถแต่ละคันต้องสะอาด มลพิษน้อย มาตรฐานที่ดีและสูงขึ้น

ถ้าจำนวนรถเพิ่มขึ้น มาตรฐานรถยนต์ต้องดีด้วย อยู่ระดับยูโร 5-6 น้ำมันต้องมีกำมะถันลดลงมาเหลือไม่เกิน 10 พีทีเอ็ม และต้องทำให้การจราจรคล่องตัว

ทั้งนี้มีข้อเสนอจากนักวิชาการ ให้กำหนดการใช้รถเป็นวันเลขคู่เลขคี่ เพื่อลดจำนวนการใช้รถให้น้อยลง และการจราจรเบาบางขึ้น
แต่ถามว่ารัฐบาลกล้าทำหรือไม่ เพราะจะกระทบต่อกิจกรรมการเดินทางต่างๆ ของประชาชน จึงต้องมี

การเตรียมความพร้อมก่อนจะถึงเหตุการณ์นี้
อีกทางหนึ่งคือ งานหลายประเภททั้งราชการและเอกชนสามารถทำที่บ้าน ไม่ต้องเดินทางมาที่ทำงานก็ได้ แต่ต้องส่งงาน เพื่อลดการเดินทางของรถที่เข้าสู่กทม.

จะถือว่าเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้ด้วยโดยการใช้เทคโนโลยีช่วยทำงาน

ขณะที่ มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันขนส่ง จุฬาฯ
ปริญญาโท สาขาวิชาวิศวกรรมการขนส่ง และปริญญาเอก สาขาวิชาระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา
อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
ผู้ช่วยคณบดี ด้านวิรัชกิจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

เสนอมาตรการเร่งด่วน เน้นที่ภาคขนส่ง ต้องลดปริมาณการเดินทางสู่ท้องถนนช่วงอากาศวิกฤต ลดจำนวนเที่ยว ซึ่งทำได้ทันที
ขณะที่โรงเรียนต้องพิจารณาหยุดการเรียนการสอนชั่วคราว โดยอ้างอิงจากข้อมูลพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพนักเรียน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก
นอกจากนี้ต้องสนับสนุนเดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์ เช่น ใช้รถไฟฟ้า รถใต้ดิน จนถึงจักรยาน หรือเดินให้มากขึ้น

ส่วนการใช้รถเชิงพาณิชย์ รถเมล์ควันดำต้องหยุดวิ่งหรือลดจำนวนวิ่ง ลดการขนส่งกระจายสินค้าที่ไม่จำเป็น

สนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย
วิทยาศาสตรบัณฑิต (สาธารณสุขศาสตร์) สาขาสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหิดล

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ
เลขาธิการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ผอ.กลุ่มพัฒนาระบบและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และที่ปรึกษามูลนิธิจิตอาสา
ระบุองค์การอนามัยโลกตั้งมาตรฐานค่าฝุ่น PM2.5 ไว้ที่ 25 ไมโครกรัม ขณะที่ไทยตั้งค่าฝุ่นละอองPM 2.5 ไว้ที่ 50 ไมโครกรัม

ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยมีค่าฝุ่นละอองอยู่ที่ 70-80 มาเป็นเดือน แต่ภาครัฐก็ยังเงียบมาก มีแค่มาตรการขอร้อง ขอความร่วมมือเท่านั้น

แต่หลังจากนายกฯ ออกมาพูดเรื่องฝุ่น ทำให้หลายหน่วยงาน รีบออกมาแก้ปัญหา แต่เป็นการแก้เฉพาะหน้า

จึงเสนอทางออกเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้เป็นรูปธรรม เพราะประชาชนจะต้องอยู่กับฝุ่นไปอีกนาน
โดยภาครัฐต้องมีมาตรการสนับสนุนการลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า ลดราคารถเมล์หรือให้บริการฟรีในบางวัน

แจกหน้ากากอนามัยฟรี รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านอื่นๆ หากต้องการให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
เหตุการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกิดขึ้นทุกปี ทำไมภาครัฐจึงไม่มีการเตรียมแผนแก้ไขป้องกันไว้ล่วงหน้า

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน