ศึกหัวหน้าประชาธิปัตย์ ‘จุรินทร์-กรณ์-อภิรักษ์’ ชิงธงนำกู้ศรัทธาพรรค

ทะลุคนทะลวงข่าว – พรรคประชาธิปัตย์กำหนดจัดประชุมใหญ่วันที่ 15 พ.ค.นี้ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่

หลังจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคที่นั่งเก้าอี้มา 14 ปี ลาออกตามสัญญา เพราะไม่สามารถนำส.ส.ชนะเลือกตั้งเข้าสภาได้ 100 คน

ศึกชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคครั้งนี้ มี 3 แกนนำประกาศตัวขออาสาถือธงนำประชาธิปัตย์

 

ประกอบด้วย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค, กรณ์ จาติกวณิช รักษาการรองหัวหน้าพรรค และอดีตประธานนโยบายพรรค และ อภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตรองหัวหน้าพรรค และอดีตผู้ว่าฯ กทม. 2 สมัย

จุรินทร์ นักการเมืองลายคราม อยู่กับพรรคมานาน ถือเป็นตัวแทนสาย ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค

โดยเปิดตัว เฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรค เป็นเลขาธิการพรรค ดึงเสียงจากภาคกลาง และ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง

ชูนโยบายแสวงหาความร่วมมือ ดึงทุกฝ่ายผสานคนรุ่นใหม่ให้มีที่ยืน ปรับโครงสร้างพรรคและลดความขัดแย้ง

ส่วน กรณ์ ภาพลักษณ์ดี พูดคุยได้ทุกกลุ่ม แม้จะถูกมองว่าเป็นสายเดียวกับ อภิสิทธิ์ เพราะเป็นเพื่อนรักออกซ์ฟอร์ด แต่มีความยืดหยุ่นกว่า

รุกหนักเดินสายพบว่าที่ส.ส.และผู้สมัครภาคต่างๆ โดยวาง ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ เป็นเลขาธิการพรรค

ก่อนหน้านี้มีกระแสว่าต่อสายถึง ถาวร เสนเนียม ว่าที่ส.ส.สงขลา สายตรง กปปส.ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ให้ช่วยสนับสนุน

ชูแนวทางทำงานฟื้นฟูประชาธิปัตย์กลับมาเหมือนเดิม เลิกแบ่งขั้ว

ปรับลุกส์พรรค จากนักกฎหมาย เป็นทีมเศรษฐกิจ การเงิน บวกวิศวกร เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

อีกหนึ่งแคนดิเดต อภิรักษ์ ตัดสินใจลงแข่งขัน แต่ยังไม่วางตัวเลขาธิการพรรค

ระบุผลเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นจุดเปลี่ยนให้กลับมาทำงานการเมืองเต็มตัว

ตั้งใจเข้ามากอบกู้ประชาธิปัตย์ ให้กลับมาครองใจประชาชนอีกครั้ง

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

จุรินทร์ หรืออู๊ดด้า คนพื้นเพ จ.พังงา เกิด 15 มี.ค. 2499 อายุ 63 ปี

ศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขานโยบายสาธารณะและการวางแผน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

เคยเป็นนักเขียนแนวท่องเที่ยว และ ผู้สื่อข่าว

ปี 2529 ตัดสินใจลงสนามการเมือง สวมเสื้อประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกเป็นผู้แทนฯพังงา สมัยแรก โดดเด่นเป็นส.ส.ดาวรุ่งร่วมทวงคืน ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จากสหรัฐอเมริกา

เป็นส.ส.ติดต่อกันถึง 10 สมัย เป็นโฆษกพรรค ปี 2532-2535

รัฐบาลชวน 1 นั่งเก้าอี้ รมช.พาณิชย์ และรมช.เกษตรและสหกรณ์

รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาลชวน 2

เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงาน(วิป)พรรคร่วมรัฐบาล ปี 2540-2543 และประธานวิปฝ่ายค้าน 2 สมัย ปี 2544-2548 และ 2554-2557

รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ และรมว.สาธารณสุข

ได้รับคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจเป็นลำดับที่ 1 ของรัฐมนตรีในรัฐบาลอภิสิทธิ์ 6.02 จากเต็ม 10

เป็นรองหัวหน้าพรรค ยุคหัวหน้าพรรคชื่ออภิสิทธิ์

ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคมาตั้งแต่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา

ถือเป็นนักการเมืองมากประสบการณ์ ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก เหมาะกับการนำประชาธิปัตย์กลับมาเป็นสถาบันการเมือง ครองความนิยมของประชาชนอีกครั้ง

กรณ์ เกิด 19 ก.พ. 2507 ที่ประเทศอังกฤษ อายุ 55 ปี

ปริญญาตรีสาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ เกียรตินิยม มหาวิทยาลัยออกซ์ ฟอร์ด

เพื่อนนักเรียน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งศึกษาอยู่ที่อังกฤษ

กรณ์ จาติกวณิช

ทำงานบริษัทจัดการกองทุนในอังกฤษ 3 ปี จนเป็นผู้จัดการกองทุน

กลับไทย ก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เจ.เอฟ. ธนาคม จำกัด เมื่อปี 2531

ปี 2542 ขายหุ้นให้ บริษัท เจพีมอร์แกนเชส

ปี 2547 เข้าสู่วงการการเมืองตามคำชักชวนของ อภิสิทธิ์ เป็นส.ส.เขต 7 กทม. เมื่อก.พ.2548 เป็น 1 ใน 4 ส.ส.กทม.ของพรรค

2549 มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการขายหุ้นชินคอร์ป ของตระกูลชินวัตร และ ดามาพงศ์

เป็นส.ส.สมัย 2 ปี 2550 ปี 2551 ขึ้นรองหัวหน้าพรรคดูแลพื้นที่กทม.

เคยทำหน้าที่รมว.คลังเงา ตรวจสอบรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์

ธ.ค.2551 นั่งเก้าอี้ รมว.คลัง สมใจ สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์

30 ต.ค. 2556 ลาออกจากรองหัวหน้าพรรค เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่ม กปปส.

อภิรักษ์ ชื่อเล่น ต้อม เกิด 30 มี.ค. 2504 ที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

วิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่นเดียวกับ ยงยุทธ ติยะไพรัช

ปริญญาโท สาขาการจัดการการตลาด นิด้า

อภิรักษ์ โกษะโยธิน

ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบริหาร (AMP – General Management) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐ

อดีตผู้บริหารระดับสูงในองค์กรธุรกิจหลายแห่ง อาทิ ผอ.ฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, กรรมการผู้จัดการบริษัทฟริโต-เลย์ ไทยแลนด์, บริษัททีเอ ออเร้นจ์ จำกัด

เข้าสู่การเมือง เริ่มจากลงสมัครเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ปี 2547

ประสบความสำเร็จ ทำงานในฐานะผู้ว่าฯกทม.เข้าตาชาวเมืองหลวง ชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้ว่าฯ สมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเกือบล้าน

มี.ค. 2551 ยุติการทำหน้าที่ผู้ว่าฯกทม.ชั่วคราว เนื่องจากถูกคตส.แจ้งข้อกล่าวหา มีความผิดกรณีจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง

กลับมาทำงานอีกครั้งเมื่อ 12 เม.ย.

พ.ย.ปีเดียวกัน แถลงลาออกจากตำแหน่งหลังป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดในคดีนี้

ปี 2552 รับตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯอภิสิทธิ์

ปี 2553 ลงสมัครเลือกตั้งซ่อมส.ส.กทม. ได้เข้าสภาผู้แทนฯสมัยแรก ปี 2554 เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ

ได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าพรรค

10 ก.ย.2556 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินให้พ้น ข้อกล่าวหาคดีรถดับเพลิง

ปี 2557 กลับไปทำธุรกิจ บริษัทวี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด

การเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ 15 พ.ค.นี้ จะเป็นสิ่งชี้วัดอนาคตของพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ การเลือกตั้งเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา คะแนนความนิยมตกต่ำ ดำดิ่งจากพรรคหลักร้อยกลายเป็นพรรคครึ่งร้อย

หัวหน้าพรรคคนใหม่จำเป็นต้องกอบกู้ชื่อเสียงเกียรติภูมิของประชาธิปัตย์กลับคืนมา ซึ่งภาระหน้าที่แรกก็ต้องเจอเรื่องร้อน นั่นคือตัดสินใจว่าจะนำพรรคไปจับขั้วกับกลุ่มการเมืองใด เสียงของประชาธิปัตย์มีผล ต่อการจัดตั้งรัฐบาล

โดยมีประชาชนทั้งประเทศเฝ้าจับตา “ประชาธิปัตย์” จะไปทางไหน ระหว่างประชาธิปไตยกับร่วมสืบทอดอำนาจ

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน