คอลัมน์ ทะลุคน ทะลวงข่าว

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ยอมถอนมาตรา 10/1 ตั้งบรรษัทน้ำมัน แห่งชาติ ไปใส่ในข้อสังเกตท้ายร่างพ.ร.บ.แทน

ก่อนที่สนช.จะลงมติผ่านวาระ 3 ด้วยคะแนน 227 ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 3

หลังกลายเป็นประเด็น ‘ร้อน’ ถูกคัดค้านอย่างหนัก

โดยเฉพาะเสียงค้านจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ ที่เป็นมือร่างกฎหมายฉบับนี้

ออกมาแฉเรื่องลึกเรื่องลับก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสนช. ในวาระ 2 และ 3 เพียงไม่กี่วัน

เสนอให้ตัดมาตรา 10/1 เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติออกไป เพราะจะเป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ

อีกทั้งในระยะแรก ยังให้กรมพลังงานทหาร เป็นหน่วยงานบริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปก่อน

ย้อนยุคปั๊มสามทหาร นำพาพลังงานประเทศถอยหลังกลับไป 50 ปี

หม่อมอุ๋ย ดีกรีปริญญาโทบริหารธุรกิจ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย

เคยเป็นโฆษกประจำสำนักนายกฯ รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ถัดมาเป็นรมช.พาณิชย์ รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน และพล.อ.สุจินดา คราประยูร

อดีตส.ว.ปี 2535-2536

เป็นผู้ว่าการธปท. สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เป็นรองนายกฯ และรมว.คลัง รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่นานยื่นใบ ลาออก

เป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และทำหน้าที่ที่ปรึกษาคสช.

พ้นจากเก้าอี้เมื่อส.ค.2558

ตั้งข้อสงสัยว่า มาตรา 10/1 โผล่ มาได้อย่างไร ทั้งที่ไม่มีในร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากครม.

แต่เป็นความพยายามของกมธ.ที่เป็นนายทหารถึง 6 คน เสนอตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจนบรรจุไว้ในชั้นกมธ. และเสนอกลับครม. ถึง 2 ครั้ง

ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเป็นเพราะครม. เกรงใจใครบางคนหรือบุคคลบางกลุ่มซึ่งมีอิทธิพลในครม. จนทำให้มีมติเห็นชอบตามที่เสนอ

เช่นเดียวกับนักวิชาการด้านพลังงาน

พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ออกมาท้วงติง

เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาเอก เศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยเยล ปี 2520

อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ปี 2529-31 และนั่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ปี 2531-34

อดีตกรรมการที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจนายกฯ (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) กรรมการอิสระของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) และกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน

ระบุไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกมธ.พลังงาน

อีกทั้งเป็นการเขียนกฎหมายที่สอบตกมาก ไม่มีคำอธิบาย บทบาท อำนาจ หน้าที่ของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

ที่สำคัญ ข้อเสนอของกมธ. เรื่อง ตั้งบรรษัท ไม่แตกต่างจากข้อเสนอ ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.)

ถือเป็นจุดอ่อนด้อย

เพราะการผูกขาดในทรัพยากรปิโตรเลียม ผ่านบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ไม่ว่าจะโดยนักการเมือง ภาคประชาสังคม หรือเอ็นจีโอ

ถือเป็นการแทรกแซง ทำลายประเทศ มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง

ขณะที่ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกมธ.พลังงาน

เตรียมทหาร รุ่น 12 เพื่อนร่วมรุ่น “บิ๊กตู่”

วิทยาศาสตรบัณฑิต โรงเรียนายร้อยพระจุลจอมเกล้า หลักสูตรร.ร.เสนาธิการทหารบก

ติดยศพล.ต. ปี 2546 นั่งเก้าอี้ผอ.ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กรมการพลังงานทหาร

อดีตเจ้ากรมการเงินกลาโหม ปี 2551, เจ้ากรมเสมียนตรา ปี 2553 และรองผบ.สส. ปี 2554

ก.ค. 2557 ได้รับแต่งตั้งเป็น สมาชิกสนช. นั่งเก้าอี้ประธานกมธ.พลังงาน

รับงานจากรัฐบาล ในฐานะประธานกมธ.วิสามัญ พิจารณาร่างพ.ร.บ. ปิโตรเลียม เพื่อปลดล็อกปัญหาการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียม รอบ 21

นอกจากเพิ่มระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี) ยังเพิ่มมาตรา 10/1 ที่กลายเป็นประเด็น ‘ร้อน’

แม้จะยอมตัดมาตรา 10/1 ออกจาก ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ไปไว้ในข้อสังเกตเรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ส่งให้รัฐบาล

โดยกำหนดให้ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาภายใน 60 วัน เพื่อศึกษาเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ในรูปแบบที่เหมาะสมโดยเร็วต่อไป

แจงยิบว่า มีความพยายามเชื่อมโยงกล่าวหาต่างๆ นานา มีอดีตผู้ใหญ่ก็ออกมาพูด ซึ่งไม่อยากตอบโต้ เพราะคิดว่าเป็นคนของสภา

โยงว่าจะดึงกลับไปให้ทหารเหมือนในอดีต

ยืนยันมิใช่การกระทำของพวกตนเองทั้ง 6 คน แต่นำมติครม.มาเพิ่มเป็นมาตรา 10/1

กำหนดรูปแบบว่าถ้ามีความพร้อม ก็ค่อยตั้ง แต่มีความพยายามชี้ว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ และกดดันให้ถอนร่างออก กล่าวหาจะดึงทหารเข้ามาเกี่ยว จึงได้ปรึกษากับเพื่อนกมธ.ทุกคนแล้วว่าจะไม่สนใจกับคำพูดเหล่านี้

ย้ำด้วยว่าไม่ได้มีเจตนาทำร้าย ปตท.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน