ทะลุคน ทะลวงข่าว

เรียบร้อยโรงเรียนจีนแล้ว พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสธ.ทร. ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ในนามผู้แทน ผบ.ทร. พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) กับบริษัทซีเอสโอซี (CSOC) ในฐานะผู้แทนรัฐบาลจีน

หลังครม.รัฐบาลคสช. มีมติเงียบๆ อนุมัติกองทัพเรือใช้งบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท จัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน

อยู่ระหว่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ

เดินเครื่องรวบรัดรวดเร็วจากที่กำหนดดีเดย์ไว้ 7 พ.ค. ทั้งนี้ ผอ.กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ กองทัพเรือ (ทร.) เปิดเผยว่าได้รับแจ้งจากบริษัทดังกล่าวได้ประสานงานกับรัฐบาลจีน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดเตรียมเอกสาร มีความพร้อมการลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำลำที่ 1 จึงเชิญผู้แทนรัฐบาลไทยเดินทางไปลงนามในข้อตกลง

โดยผบ.ทร. ได้มอบหมายให้ พล.ร.อ. ลือชัย เสธ.ทร. เป็นผู้แทนในการนี้

เป็นเรือดำน้ำลำแรกราคา 13,500 ล้านบาท ซึ่งทร.ว่า มีความเหมาะสม ทั้งพิจารณารอบคอบ และโปร่งใสในการตรวจสอบ

นำทีมชี้แจงโดยพล.ร.อ.ลือชัย โดยคณะชี้แจงระบุ ความต้องการเรือดำน้ำเป็นไปตามการประเมินยุทธศาสตร์ ทร. ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ อาจกล่าวได้ว่าการจัดหาเรือดำน้ำแท้จริงแล้วไม่ใช่ความต้องการของ ทร.เท่านั้น แต่เป็นความจำเป็นของประเทศชาติ เพราะเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ของประเทศ อาวุธทางยุทธการของกองทัพไทย และเป็นอาวุธทางยุทธวิธีของ ทร.

ส่วนประเด็นปัจจัยความลึกของอ่าวไทยโดยเฉลี่ยประมาณ 50 เมตร เรือดำน้ำขนาดกลางสามารถปฏิบัติการได้แบบสบายๆ

ว่าด้วย หากคิดมูลค่าในสิ่งที่ได้เพิ่มเติมก็นับว่าถูกมาก และการจัดซื้อ 3 ลำ ยึดหลักเศรษฐศาสตร์อีโคโนมี ออฟ สเกล ที่ว่า หากซื้อของจำนวนน้อยก็ย่อมมีราคาแพงกว่าการซื้อของจำนวนมากเมื่อคิดราคาต่อหน่วย

ผู้มอบงาน พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร. เกิด 8 ธ.ค. 2499

ตท.15 และโรงเรียนนายเรือ รุ่นที่ 72

เคยเป็น ผอ.สำนักงานวิจัยและพัฒนา การทางทหารกองทัพเรือ เจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือ และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ (อัตรา พลเรือเอก)

เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ และเสนาธิการทหารเรือ

28 ส.ค. 2558 ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ

เกี่ยวกับเรือดำน้ำร้อนๆ มอบหมายประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ รับงานเป็นผู้แทน

“บิ๊กลือ” เกิด 26 พ.ค. 2503 น้องชายของ พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี

ตท.18 วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต วิศวกรรมไฟฟ้า โรงเรียนนายเรือ และอบรมเสนาธิการทหารเรือ

ผ่านตำแหน่งสำคัญ อาทิ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยาน

ต่อมาเป็นเจ้ากรมยุทธการทหารเรือ และผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ

ต.ค. 2559 เสนาธิการทหารเรือ และได้รับแต่งตั้งเป็น สนช.

ลงนามซื้อเรือดำน้ำหยวนคลาส เอส 26 ทีแล้ว

รวบรัดยิ่ง เพียงวันเดียวจาก พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. เดินทางเข้าพบ ผบ.ทร. เพื่อขอรายละเอียดสัญญาการจัดซื้อโครงการเรือดำน้ำ

ทั้งกระบวนการใช้งบประมาณ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำทีโออาร์ขึ้นไป ทั้งนี้ การตรวจสอบเป็นไปตามหลักสากล ในลักษณะของการทดสอบการใช้งบประมาณ บัญชีการจัดซื้อ รวมถึงค่าใช้จ่ายต่อจากนี้ในการดูแล

ผู้ว่าฯสตง.เผย จัดตั้งทีมงานพิเศษขึ้นมาเพื่อตรวจโครงการดังกล่าว ส่วนเอกสารที่ตรวจสอบเป็นเอกสารลับที่ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ ทั้งนี้คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ในการตรวจสอบหลักฐานก็จะได้รับความกระจ่าง

ตั้งแต่วันที่เอกสารเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ว่ามีเหตุผลความจำเป็นอย่างไร กระบวนการขั้นตอนต่างๆ ทำตามระเบียบแบบแผนหรือไม่ และกฎหมายระเบียบข้อบังคับตามกฎเกณฑ์การจัดหา ตลอดจนการเปรียบเทียบข้อมูลคุณสมบัติเรือหลายประเทศ รวมทั้งเหตุผลที่เลือกเรือดำน้ำจีน

เปิดเผยด้วย การตรวจสอบยึดหลักของ สตง. พร้อมทั้งนำประเด็นข้อสงสัยของสังคม เช่น นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ตั้งไว้ 7-8 ประเด็น ตลอดจนข้อชี้แจงของ ทร. ที่แถลงข่าวไปก่อนหน้านี้ มาประกอบการพิจารณา

เมื่อถามว่าระหว่างตรวจสอบเอกสาร ทร.สามารถเซ็นสัญญากับจีนได้หรือไม่ ตอบว่า ไม่มีข้อห้าม แต่หาก สตง.มีข้อสังเกต เพื่อรักษาผลประโยชน์ จะให้ข้อแนะนำประกอบการตัดสินใจ ทร. เป็นระยะ เนื่องจาก ทร.รับผิดชอบการบริหาร

ในฐานะที่ สตง.มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์เงินแผ่นดิน ถ้าระหว่างที่ ทร. กำลังเซ็นสัญญาซื้อเรือดำน้ำ ถ้าข้อสังเกตมีนัยสำคัญที่ควรนำไปประกอบการพิจารณาของ ทร. หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จะรีบแจ้งเตือน ทร.ทันที

ทั้งว่า จะดำเนินการตรวจสอบโครงการการจัดซื้อเรือดำน้ำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รับการส่งมอบ เนื่องจากเป็นงบประมาณผูกพัน หากเซ็นสัญญาเมื่อไหร่ จะไม่ละเลยการตรวจสอบ เช่นกระบวนการจัดซื้อได้ทำแล้ว การจ่ายเงินงวดเป็นไปตามเนื้องานหรือไม่ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ไม่บรรลุตามข้อสัญญา

นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผ่านหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เคยเป็น ผอ.สำนักตรวจสอบกิจการพิเศษ และผอ.สำนักงานการตรวจเงิน แผ่นดินภูมิภาคที่ 5

ผอ.สำนักงานกฎหมาย และรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

22 ส.ค. 2557 เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

“ยืนยันว่า สตง.มีอิสระในการตรวจสอบ จากผลงานที่ผ่านมา เห็นได้ว่าไม่มีเรื่องใดที่ สตง.จะกลัวอิทธิพลทางการเมือง ทุกอย่างดำเนินการตามหลักฐานข้อเท็จจริง ทั้งการเงิน การคลัง และงบประมาณ ตลอดจนการทำสัญญารัฐต่อรัฐ (จีทูจี) แต่โครงการนี้ไม่ใช่ขายลมส่งลมกัน ดังนั้นจะต้องมีตัวของที่เป็นเรือดำน้ำ”

ทำให้หลายคนประหวัดถึงผลการตรวจสอบโครงการราชภักดิ์ คราวนี้สอบโครงการซื้อเรือดำน้ำจีน และมีการลงนามซื้อขายกันฟ้าแลบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน