‘น้ำ’วาระแห่งชาติ

สทนช.-บาดาลสู้แล้ง

กปน.รับมือประปาเค็ม

คอลัมน์ ข่าวทะลุคน

‘น้ำ’วาระแห่งชาติสทนช.-บาดาลสู้แล้งกปน.รับมือประปาเค็ม – ภัยแล้งกระหน่ำประเทศไทยเดือดร้อนหนักตั้งแต่พ้นฤดูฝนหมาดๆ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่ต้องแบกทุกข์สาหัส ด้วยภาวะรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี แล้งทั่วไปทุกภาค ทั้งคาดว่าจะต่อเนื่องยาวนานถึงเดือนมิ.ย.-ก.ค.

ที่ประชุมครม. 7 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเรื่องน้ำเป็นวาระแห่งชาติ

ครม.เห็นชอบกรอบโครงสร้าง ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ กำหนดโครงสร้างตามระดับสาธารณภัยด้านน้ำที่เกิดขึ้น 3 ระดับ

ระดับ 1 ภาวะสถานการณ์มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีความรุนแรงในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 10

ระดับ 2 ภาวะรุนแรง (หรือคาดว่าจะรุนแรง) และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยและมีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้นในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 30

ระดับ 3 ภาวะวิกฤต (หรือคาดว่าจะเกิดวิกฤต) มีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้นในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 60

โดยเฉพาะระดับ 3 มีนายกฯ เป็นผู้บัญชาการ

สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ในฐานะหัวขบวนหน่วยงานบูรณาการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ ระบุว่า สถานการณ์แล้งปีนี้ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนน้อยและฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10-16% ต่ำสุดรอบ 4 ปี

สำคัญยังต้องรับมือปัญหาน้ำเค็มหนุนสูง กระทบต่อการผลิตน้ำกินน้ำใช้

เผยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าฤดูฝนปีนี้จะมาช้ากว่าปกติ 1-2 สัปดาห์ และช่วงต้นฤดูทุกภาคจะมีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยส่งผลให้เกิดสภาวะฝนแล้ง รวมทั้งขณะนี้มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อย 9 แห่ง และพบว่ามีอ่างเก็บน้ำ 5 แห่ง ได้แก่ ทับเสลา, กระเสียว, จุฬา ภรณ์, อุบลรัตน์ และลำพระเพลิง ที่มีน้ำน้อยกว่า 15 % และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จะส่งผลให้หลายพื้นที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค และเพาะปลูก

สทนช.จึงขอเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำ เตรียมความพร้อมรองรับความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ เนื่องจากสภาวะฝนแล้ง คาดว่าจะต่อเนื่องถึงเดือนมิ.ย.นี้

อายุ 59 เกิด 27 พ.ย. 2503

วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (ชลประทาน) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพัฒนาทรัพยากรน้ำ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ปริญญาเอกสาขาเกษตรกรรมและวิศวกรรมชลประทาน มหาวิทยาลัยยูทาห์ สหรัฐ อเมริกา

ลูกหม้อกรมชลประทาน เริ่มรับราชการที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน อยู่ฝ่ายจัดสรรน้ำในสำนักงานชลประทานที่ 5 ครอบคลุมพื้นที่ จ.อุดรธานี หนองคาย เลย หนองบัวลำภู สกลนคร บึงกาฬ

เป็นผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ ก่อนโยกไปฝ่ายแผนงานและโครงการพิเศษ กองแผนงาน และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา

เป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ และรองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายวิชาการ

ก.ย.2560 ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน กระทั่งพ.ย.ปีเดียวกัน โยกเป็น ผอ.สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ

ต้นปี 2561 หลังจัดตั้ง สทนช. ได้นั่งเก้าอี้เลขาธิการ

หนึ่งกำลังสำคัญแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ระบุ มีน้ำบาดาลที่นำมาใช้ได้โดยไม่มีผลกระทบราว 4.5 หมื่นล้าน ลบ.ม. และยังเหลือที่ยังไม่นำมาใช้อีกประมาณ 3.6 หมื่นล้าน ลบ.ม. จำนวนนี้เองสามารถนำไปช่วยเหลือประชาชนได้

บอกด้วยว่า ปี 2563 ได้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ภัยแล้ง โดยประชาชนขอความช่วยเหลือสถาน การณ์ภัยแล้ง ผ่านช่องทาง http: //1310.ogr.go.th หรือโทรศัพท์ 0-2666-7000 กด 1 หรือ 09-5949-7000 รวมถึงเปิดจุดจ่ายน้ำสะอาด 136 แห่ง และจัดชุดเจาะน้ำบาดาล

อายุ 58 เกิด 19 พ.ย. 2504

จบโรงเรียนป่าไม้แพร่ ปริญญาโทการบริหารทรัพยากรป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เส้นทางราชการสังกัดกรมป่าไม้ เริ่มที่ อ.คลองใหญ่ ตราด

ย้ายปฏิบัติงานหลายจังหวัด ก่อนรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 8

เป็นผู้อำนวยการสำนักระดับ 9 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตามด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ปัตตานี

ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและควบคุมไฟป่า กรมอุทยานฯ

นั่งรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แล้วเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

ยุครัฐมนตรีวราวุธ ศิลปอาชา คุมทส. ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

อีกปัญหาใหญ่ที่เชื่อมโยงกับน้ำแล้ง คือ ประปาเค็ม แจงจาก ปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ว่า ตามที่เกิดภาวะภัยแล้งและน้ำในเขื่อนมีน้อย ไม่เพียงพอที่จะปล่อยมาผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงปีนี้ยังมีความรุนแรงสูงสุดในรอบ 50 ปี

จึงยังคงมีความเค็มผ่านเข้ามาในระบบ ประกอบกับระบบผลิตน้ำของ กปน. ไม่สามารถกำจัดความเค็มออกจากน้ำดิบได้ ส่งผลให้รสชาติของน้ำประปาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนไป โดยความเค็มในรูปคลอไรด์เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร มีปริมาณสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่มีผลต่อความน่าดื่มและการยอมรับของผู้บริโภค

จึงขอแนะนำตามคำแนะนำของกรมอนามัย ว่า 1.ผู้ที่มีสุขภาพปกติ บริโภคน้ำประปาได้โดยยังไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ด้วยรสชาติที่เปลี่ยนไปอาจส่งผลต่อความน่าดื่ม

2.การใช้น้ำประปาเพื่อปรุงอาหารในช่วงเวลานี้ ควรลดการเติมเครื่องปรุงรส และ 3.กลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค ได้แก่ ผู้เป็นโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันสูง โรคเบาหวาน โรคทางสมอง ผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก

ที้งนี้ กปน.จัดให้บริการน้ำประปาดื่มได้ ประชาชนสามารถนำภาชนะมารับได้ที่สำนักงานประปาสาขาใกล้บ้าน

อายุ 59 เกิด 12 ส.ค. 2503

ปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า และวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เริ่มงานกับ กปน. ตั้งแต่ปี 2528 ก้าวหน้าตามลำดับ

2557 เป็นผู้ช่วยผู้ว่าการ (ก่อสร้าง) และขึ้นเป็นรองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง)

11 เม.ย.2560 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ กปน.

ทุกฝ่ายบูรณาการครบด้าน ขณะที่ประชาชนรอคอยการทำงานที่บรรลุผล อย่างเร่งด่วน เพื่อผ่านพ้นภัยแล้งไป ให้ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน