คอลัมน์ ทะลุคนทะลวงข่าว

หลังจากกระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าผลักดันแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หรือบัตรทอง รวม 14 ประเด็น บวกเพิ่ม 2 ประเด็น

ทั้งปรับสัดส่วนคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และสัดส่วนคณะกรรมการติดตามประเมินผล แก้ไขข้อกำหนดคุณสมบัติเลขาธิการ สปสช.

แก้ไขเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบัตรทองในระยะยาว คือ การแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว

รวมถึงแก้ไขการใช้งบต่างๆ เช่นจากเดิมโรงพยาบาลไม่สามารถใช้เงินเพื่อ จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟหรือซ่อมเครื่องมือแพทย์ได้ เพราะติดปัญหาว่ากฎหมายกำหนดให้ใช้เงินเพื่อดูแลประชาชนโดยตรงเท่านั้น

โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการยกร่างที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งขึ้น ที่มี วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน

ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ได้เริ่มทำประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ในระบบออนไลน์เมื่อ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา

กระจายอีก 4 ภูมิภาค ในช่วงวันที่ 10-18 มิ.ย.นี้

ผลจากการเสนอแก้ไขดังกล่าว ทั้งจากภาคประชาชน นักวิชาการ อดีต ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข อดีต ผู้บริหารสปสช. ต่างออกมาคัดค้าน

หวั่นทำลายเจตนารมณ์และหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพหลายร้อยคน นำโดย สุภัทรา นาคะผิว

ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ยุติกระบวนการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง และให้เริ่มต้นกระบวนการใหม่ทั้งหมด

เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมา ไร้ธรรมาภิบาล ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

วัย 52 ปี นิติศาสตรบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เริ่มทำงานที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี กลุ่มเพื่อนหญิง, หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี และประธานมูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์

เคยร่วมชุมนุมกับ กปปส.

ต่อมาคสช.คัดเลือกเป็น สปช.ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม รวมกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ

ระบุว่าการแก้บัตรทองของกระทรวงสาธารณสุข จะ ส่งผลให้ประชาชนกว่า 48 ล้านคนได้รับผลกระทบต่อการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะการเข้าถึงยารักษาโรคที่อาจมีราคาสูงขึ้น และยาบางตัวอาจไม่มีรักษาผู้ป่วย เนื่องจากแนวทางแก้ไขกฎหมายจะให้กระทรวงสาธารณสุขเป็น ผู้ซื้อยาแทนสปสช.

กระบวนการรับฟังประชาพิจารณ์ในพื้นที่ 4 จังหวัดใหญ่คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ และกทม. ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

กระบวนการแก้ไขพ.ร.บ.ครั้งนี้ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เพราะดำเนินการโดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ ที่รัฐธรรมนูญกำหนด ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าร่วม ในกระบวนการแก้กฎหมายอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

เช่นเดียวกับ นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรมว.สาธารณสุข ยุครัฐบาลขิงแก่

แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และปริญญาโทสาธารณสุขศาสตร์ ประเทศเนเธอร์แลนด์

อดีตผอ.โรงพยาบาลพิมาย จ.นครราชสีมา เคยเป็นอธิบดี กรมการแพทย์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

เป็น รมว.สาธารณสุขรัฐบาลหลังปฏิวัติ ก.ย. 2549 หลัง ร่วมลงนามทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอนายกฯพระราชทาน

ร่วมม็อบกปปส.ขับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ ภายหลังออกมายอมรับเป็นความผิดมหันต์ในชีวิต เพราะเห็นว่ารัฐบาลรัฐประหารจำกัดสิทธิเสรีภาพมากกว่า

โพสต์ข้อความถึงนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบ

หากปล่อยให้มีการแก้ไขตามที่กำลังทำอยู่ จะเป็นการทำลายหลักการแยกผู้ซื้อบริการออกจากผู้จัดบริการ

ผู้ซื้อบริการคือสปสช.ที่ทำหน้าที่แทนประชาชน ออกจาก ผู้ให้บริการ เพราะหากเงินเอาไปใส่มือให้ผู้ให้บริการแล้ว จะไม่มี หลักประกันใดๆ ว่าผู้บริการจะควักกระเป๋าเอาเงินมาจ่าย ค่าบริการให้ประชาชนอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ยังเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน และ ใช้งบประมาณแผ่นดินที่ไม่เป็นธรรม

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรักษาการเลขาธิการสปสช. ก็ออกมาคัดค้านเช่นกัน

แพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล(มม.)

ศิษย์เก่าสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน

ปี 2526 ผอ.โรงพยาบาลราษีไศล จ.ศรีสะเกษ, ผอ.ร.พ. อำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ

2544 เป็นผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ด้านบริการ)

ศิษย์เอก นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ก่อเกิดแนวคิดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 30 บาทรักษาทุกโรค จนเกิดพ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

ปี 2546 นั่งรองเลขาธิการ สปสช. และรักษาการเลขาฯสปสช.มาตั้งแต่ ก.ค. 2558

ลาออกจากเลขาฯสปสช.เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2559

ห่วงว่าหลังแก้ไขแล้ว ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากขึ้นจริงหรือไม่ หน่วยบริการขนาดเล็กทั้งของรัฐและเอกชนในระบบของ สปสช. นับหมื่นแห่งในพื้นที่ จะได้รับการแก้ไขปัญหาทางการเงินและกำลังคนที่ขาดแคลนได้จริงหรือ

รัฐบาลจะควบคุมงบประมาณค่าใช้จ่ายผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพ ไม่ให้บานปลายเหมือนสวัสดิการรักษาพยาบาล ของข้าราชการได้หรือไม่

หรือยิ่งแก้ พ.ร.บ.นี้ จะยิ่งเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความขัดแย้งของคนในสังคม และสร้างปัญหาทางการเมืองให้ต้องแก้ไขมากขึ้น

อาจเกิดปัญหาความน่าเชื่อถือทางการเมืองต่อผู้นำรัฐบาลได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน