เป็นอันคดีถึงที่สุด แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) รวม 13 คน ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นเงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี จากกรณีร่วมกันปิด ล้อมสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551

ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิจารณาเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิจารณายกคำร้องของจำเลยมานั้น ชอบแล้วตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง

ทั้งนี้คดีแพ่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนให้ 13 แกนนำพันธมิตรร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายกว่า 522 ล้านบาท ต่อมาช่วงที่จะยื่นฎีกา ปรากฏว่าทนายความฝ่ายแกนนำพันธมิตรฯ ดำเนินการไม่ทันเวลา 30 วัน โดยเมื่อทนายความพยายามยื่นคำร้องขอขยายเวลาฎีกาซึ่งอ้างเหตุสุดวิสัยการปิดหมายแจ้งคดีต่อศาลแพ่งที่เป็นศาลชั้นต้น ปรากฏว่าศาลยกคำร้อง

ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2559 เช่นเดียวกัน เห็นว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีร่วมกันปิดสนามบินโดยชอบแล้ว และเมื่อศาลฎีกายกคำร้องขอขยายเวลาฎีกาของจำเลยแล้ว ผลแห่งคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ชดใช้

จำเลย 13 แกนนำ พธม. มี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง สนธิ ลิ้มทองกุล พิภพ ธงไชย สุริยะใส กตะศิลา สมศักดิ์ โกศัยสุข ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อมร อมรรัตนานนท์ นรัญยู หรือศรัณยู วงษ์กระจ่าง สำราญ รอดเพชร ศิริชัย ไม้งาม มาลีรัตน์ แก้วก่า และเทิดภูมิ ใจดี

สุริยะใส กตะศิลา ระบุ ศาลฎีกายกคำร้องฝ่ายจำเลย 13 คน ขอให้ขยายฎีกา แต่ศาลไม่ขยาย มีผลให้จำเลยทั้ง 13 คนต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับ ทอท.

ระบุ น้อมรับคำพิพากษาของศาล แม้จะมีแง่มุมที่เห็นต่าง แต่ต้องยอมรับ และต้องรับผลที่จะเกิดทุกอย่างต่อจากนี้ ซึ่งคงได้นัดหมายคุยกันพร้อมหน้าจำเลยทุกคนรวมทั้งทนายทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเจรจากับโจทก์ (ทอท.) การบังคับคดี หรือการฟ้องล้มละลายในอนาคต ซึ่งยังคงมีเวลาอีกนับปี

อ้างว่าสิ่งที่ได้กระทำลงไปเพื่อประโยชน์สาธารณะและต่อต้านรัฐบาลที่ฉ้อฉลทรราชในตอนนั้น ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว หรือทำไปเพราะแรงจูงใจแห่งผลประโยชน์ส่วนตนแต่ประการใด

ว่าด้วย ไม่เสียใจกับคำพิพากษาวันนี้ แต่จะเสียใจมาก ถ้าไม่อยู่ร่วมสู้กับพี่น้องในวันนั้น

อีกเสียงจาก สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จำเลยที่ 7 ว่า ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ ไม่ต้องการผลประโยชน์ส่วนตัวอยู่แล้ว และไม่กลัวการล้มละลาย

ว่า ยินดีรับคำพิพากษาทุกประการ ไม่หนีศาล ศาลจะทำอย่างไรหรือบังคับคดี ก็ยินดี

แต่อยากจะบอกประชาชนว่า ได้ต่อสู้อย่างเต็มที่แล้ว เสียดายนิดเดียว เป็น พันธมิตรฯ แต่ไม่ได้ต่อสู้คดีในชั้นของศาลฎีกา

สุริยะใส กตะศิลา

ปัจจุบันเป็นรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย

อายุ 45 เกิด 27 มี.ค. 2515 ที่อำเภอราษีไศล ศรีสะเกษ

ปริญญาศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาโทศิลปศาสตร์ สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง มหาวิทยาลัยรังสิต และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาและสถาบันเดียวกัน

เคยเป็นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

ทั้งเคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ที่มีจำเลยด้วยกัน พิภพ ธงไชย เป็นประธาน

แกนนำเวทีพธม. ยาวถึงแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

หลังวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ.2556-2557 ศาลอาญาอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาคดีกบฏ และความผิดอื่นอีก 8 ข้อหา

รวมคดีที่ถึงที่สุดแล้ว ต้องชดใช้เงินมากกว่า 522 ล้านบาทแก่ ทอท. ร่วมกับ 12 จำเลย

อีกหนึ่งคืออดีตนักแสดงที่ทุกวันนี้ผันตัวมาอยู่เบื้องหลัง เป็นผู้กำกับฯและคนเขียนบท ศรัณยู วงษ์กระจ่าง ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น นรัณยู วงษ์กระจ่าง

อายุ 57 เกิด 17 ต.ค. 2503 ที่อำเภอบางคนที สมุทรสงคราม

จบชั้นมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ปริญญาตรีสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เข้าวงการบันเทิงจากที่เล่นละครเวทีที่เรียกกันว่า ละคอนถาปัด โด่งดังมาตั้งแต่ยังเป็นนิสิต

เป็นพระเอกยอดนิยม มีผลงานการแสดงทั้งละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และละครเวทีมากกว่า 100 เรื่อง นอกจากนี้ยังเป็นพิธีกร และผู้กำกับฯ ทั้งละครและภาพยนตร์

ปัจจุบันเป็นผู้จัดละครและผู้กำกับการแสดง ผลิตละครโทรทัศน์ในนาม สามัญการละคร

จากขาประจำร่วมการชุมนุม ขึ้นเวทีเป็นแกนนำม็อบ รวมถึงนำบุกยึดสนามบิน

และเป็น 1 ใน 13 จำเลยแพ้คดี

รวมถึง มาลีรัตน์ แก้วก่า อดีตส.ส. และส.ว.สกลนคร

อายุ 64 เกิด 15 ต.ค. 2496

สำเร็จปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกษตร) จากคณะเกษตรศาสตร์ มหา วิทยาลัยขอนแก่น และนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปริญญาโทศิลปศาสตร์ (รัฐศาสตร์) จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เคยเป็นสหายในเขตเทือกเขาภูพาน ออกจากป่าหลังรัฐบาลออกคำสั่งที่ 66/23

ลงสนามเลือกตั้งส.ส. สอบตกหลายสมัย ก่อนจะสอบได้ในปี 2538 และเป็นส.ว. ในปี 2543

ร่วมเป็น พธม. และเป็น 13 จำเลย

ในคดีอันถึงที่สุด ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายกว่า 500 ล้านบาท เพราะร่วมกันพาม็อบเสื้อเหลืองปิดล้อมสนามบิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน