ทะลุคน ทะลวงข่าว

พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ตั้งคำถาม 6 ข้อ ขอถามตรงๆ กับประชาชน ถึงอนาคตการเมืองไทย

6 คำถาม ที่ประกอบด้วย

ข้อที่ 1 เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมาหรือไม่ในวันนี้ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ ให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป การมีพรรคเดิม นักการเมืองหน้าเดิมๆ มีรัฐบาลจะทำให้ประเทศชาติ เกิดการปฏิรูปและทำงานต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์หรือไม่

ข้อที่ 2 การที่คสช.จะสนับสนุนพรรคใด หรือนายกฯ จะสนับสนุนใครเป็นสิทธิ์หรือไม่

ข้อที่ 3 สิ่งที่คสช.และรัฐบาลนี้ดำเนินการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้าง หรือไม่

ข้อที่ 4 การเอาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีต มาเปรียบเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองก่อนหน้าที่ คสช. และรัฐบาลนี้จะเข้ามา ได้พบเห็นแต่ความขัดแย้ง ความรุนแรง การแบ่งแยกประเทศเป็นกลุ่มๆ เพื่อมาสนับสนุนทางการเมืองใช่หรือไม่

ข้อที่ 5 รัฐบาลและการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมาของไทย ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล และมีการพัฒนาประเทศที่มีความต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอหรือไม่

ข้อที่ 6 ข้อสังเกตเพื่อพิจารณา เหตุใดพรรคการเมือง นักการเมือง จึงออกมาเคลื่อนไหวด้อยค่า คสช. รัฐบาล รัฐมนตรี นายกฯ มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงในช่วงนี้มากผิดปกติเพราะอะไร

ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านอย่างหนักทั้งจากนักการเมือง และนักวิชาการ

เชื่อว่าหวังผลต่อท่ออำนาจหลังเลือกตั้ง

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ตอบโต้ทันควัน

ลูกชายของ อนันต์ ฉายแสง อดีตส.ส.หลายสมัย

อดีตส.ส.ฉะเชิงเทราหลายสมัย ทั้งประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ และส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย

อดีตรองนายกฯ รมช.คลัง รมต.ประจำสำนักนายกฯ รมว.ยุติธรรม รมว.ศึกษาธิการ

หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ก่อนถูกแช่แข็ง 5 ปีเมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค

พ้นโทษออกมาลงสนามต่อ เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ถูกทหารควบคุมตัวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ

ถูกไต่สวนในศาลทหารเนื่องจากไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.

เดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมจนได้รับในที่สุด

ระบุคำถาม 6 ข้อของนายกฯ เป็นความพยายามชี้นำสังคม ขัดแย้งในตัวเองและยังแสดงเจตนาทำผิดกฎหมายชัดแจ้ง

เพราะทั้ง 6 ข้อล้วนพยายามชี้นำสังคมอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล และมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง

ทั้ง 6 ข้อ ยิ่งทำให้ “รัฐบาล-คสช.” ด้อยค่า

เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ ณัฏฐ์ บรรทัดฐาน รองโฆษกพรรค ก็ออกมาวิพากษ์ 6 ข้อคำถามเช่นกัน

ลูกชาย บัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

เริ่มต้นทำงานบริษัทเอกชน ก่อนหันมาลงสนามการเมืองระดับชาติในปี 2554 ได้เข้าสภาครั้งแรกในฐานะส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์

ระบุพล.อ.ประยุทธ์ เข้าใจประชาธิปไตยดีแค่ไหนถึงตั้งคำถามแบบนี้ เพราะพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลา

โดยเฉพาะหลังปฏิวัติรัฐประหาร จะเห็นทหารเก่ากลายเป็นนักการเมืองใหม่อยู่เสมอๆ เช่น ในการรัฐประหารปี’35 ปี’49 ถามว่าบุคคลเหล่านั้นทำให้ประเทศเกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอย่างที่ควรจะเป็นได้หรือไม่

อีกประเด็นเมื่อคสช.ยังอยู่ แล้วสนับสนุนพรรคใดก็ตาม หากพรรคนั้นบริหารประเทศเลวทรามในสายตาประชาชน ไม่มีหลักประกันว่าคสช. จะไม่ลากปืนใหญ่ รถถังออกมาเป็นเกราะปกป้องพรรคนั้น

ถ้าคสช.ทำเลว แล้วใครจะตรวจสอบ

ขณะที่ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 มีบทบาทเป็นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) แต่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ทหารปราบประชาชน 18-20 พ.ค.

2541 เริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มธ.

ขึ้นเป็น ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาในปี 2547

2548 เป็นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา

กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขานิติศาสตร์

ชี้ชัด 6 คำถามนายกฯ หวังเช็กเรตติ้ง เพื่อใช้ประชาชนมาสร้างความชอบธรรม

เตือนคสช. ถ้าลงสนามการเมือง จะเสียความเป็นกลาง อีกทั้งถ้าลงเล่นเอง จะนำชาติกลับสู่ปกติได้จริงหรือ

ฝากถึงนักการเมืองด้วยว่า ต้องปฏิวัติตัวเองเพื่อแย่งศรัทธาประชาชนคืนมาให้ได้

ถ้าประชาชนเห็นว่าการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งดีกว่า ท้ายสุด คสช.และทหารต้องกลับกรมกองของตัวเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน