ทะลุคนทะลวงข่าว : บิ๊กป้อมรีโนเวตพลังประชารัฐส่ง‘วิชญ์’คุมยุทธศาสตร์พรรค‘พีระพันธุ์-สมศักดิ์’กุนซือหัวหน้า

บิ๊กป้อมรีโนเวตพลังประชารัฐส่ง‘วิชญ์’คุมยุทธศาสตร์พรรค : พลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล จัดทัพปรับขบวนใหญ่อีกครั้ง หลังแกนนำพรรคคือธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค ถูกปลดจากรมช.เกษตรและสหกรณ์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค ถูกปลด จากรมช.แรงงาน

ตามมาด้วยปัญหาความแตกปริภายในรัฐบาล โดยเฉพาะพี่น้อง 3 ป. หัวขบวนอำนาจปัจจุบัน ป.ป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กับ ป.ประยุทธ์-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ป.ป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

หลังจากนายกฯ ปลด 2 รมต.พลัง ประชารัฐ โดยไม่แจ้งบอกกล่าวหัวหน้าพรรค นำมาสู่บรรยากาศตึงเครียดมึนตึงไม่ปกติ

กระทั่งน้องเล็กอย่างพล.อ.ประยุทธ์ พร้อมด้วยพี่รอง-พล.อ.อนุพงษ์ ต้องเข้าเคลียร์ใจพี่ใหญ่-พล.อ.ประวิตร สร้างภาพรักกันแนบแน่น โอบเอวส่งขึ้นรถ

ช่วงระหว่างวุ่นๆ นั้น พล.อ.ประวิตร แต่งตั้งพล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา คนสนิทระดับมือวางอันดับหนึ่ง เข้ามาเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ เพิ่มความแข็งแกร่งภายในพร้อมๆ เสริมเกราะป้องกันแรงกระแทกภายนอก

ขณะเดียวกันยังไว้วางใจธรรมนัสกับนฤมลอยู่ในตำแหน่งเดิม เพื่อขับเคลื่อนพรรคเตรียมพร้อมเลือกตั้งที่คาดว่าจะมาเร็วกว่ากำหนด

ถือโอกาสเชื่อมกระชับพรรคให้เหนียวแน่น พล.อ.ประวิตรแต่งตั้ง สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แกนนำกลุ่มสามมิตร มุ้งใหญ่ในพลังประชารัฐ เป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคอีกตำแหน่ง ผูกพันมัดใจไปต่อด้วยกัน

และแต่งตั้ง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ เป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคอีกคน เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย รองรับคำประกาศสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ต่ออีกสมัย

แต่ได้ตำแหน่งไม่ทันไรก็ถูกส.ส.ต้อนรับด้วยวาทะ เปรียบเปรย “พระบวชใหม่”

การเมืองภายในรัฐบาล ภายในพลัง ประชารัฐ เหมือนแก้วร้าวที่ยังไงก็ไม่เหมือนเดิม ฉากหน้าเหมือนสงบ ทว่าหลังฉากเต็มไปด้วยความคับข้อง ขบเหลี่ยม และแย่งชิง

พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา

ชื่อเล่น ‘น้อย’ เกิด 19 ต.ค. 2493 อายุย่าง 71 ปี

ลูกชายคนโตของ พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตรองผบ.ทบ. อดีตราชองครักษ์พิเศษ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ รัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และ คุณหญิงเพลิน เทพหัสดิน ณ อยุธยา

ตท.11 จปร.22 เหล่าทหารราบ

ปี 2545 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41

ปี 2547 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11

ปี 2548 ราชองครักษ์ – รองแม่ทัพภาค ที่ 1
ปี 2549 แม่ทัพน้อยที่ 1

ปี 2551 หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา

ปี 2552 ตุลาการศาลทหารสูงสุด

ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก

ผู้ช่วยผบ.ทบ. ขุนพลข้างกาย พล.อ. ประวิตร ช่วงดำรงตำแหน่งรมว.กลาโหม สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นั่งในศอฉ. ได้รับมอบหมายภารกิจเจรจาแกมกล่อม ‘เสธ.แดง’ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล เพื่อนตท.11 ก่อนปราบม็อบเสื้อแดง ปี 2553

เลขาธิการราชตฤณมัยสมาคมฯ หรือสนามม้านางเลิ้ง

1 ในแม่น้ำ 5 สายคสช. อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ช่วยงาน นายป้อม ที่ควบหลายตำแหน่ง ประธานโอลิมปิคไทย, นายกสมาคมกีฬา ว่ายน้ำ, ประธานบอร์ดการกีฬาแห่งประเทศ ไทย (กกท.)

ล่าสุด รับตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ทำหน้าที่ตัวแทนนายป้อมเชื่อมประสานระหว่างหัวหน้ากับลูกพรรค

ลงลึกรายละเอียดแบบถึงลูกถึงคนถึงใจ

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

ชื่อเล่น ‘ตุ๋ย’ เกิด 21 ก.พ. 2502 อายุ 62 ปี

เป็นบุตรของ พล.ท.ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ อดีตเจ้ากรมการพลังงานทหาร ผู้ก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหาร

นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เนติบัณฑิตไทย ปริญญาโทด้านกฎหมายอเมริกันทั่วไปและกฎหมายเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา

เป็นผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการ ก่อนลาออกมาเล่นการเมือง

ปี 2539 ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เข้าสภาต่ออีกหลายสมัย

อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติ มิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ปี 2544-2548

รมว.ยุติธรรม รัฐบาลอภิสิทธิ์

พ.ค. 2562 ลงชิงหัวหน้าพรรคประชา ธิปัตย์ แข่งกับ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ แต่ พ่ายแพ้

9 ธ.ค. 2562 ลาออกจากสมาชิกพรรค ทำให้พ้นจาก ส.ส.ทันที

17 ธ.ค. 2562 ครม.มีมติแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนถึงปัจจุบัน

ได้รับมอบหมายทำหน้าที่ ประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นผู้นำ กปปส. และยังสนิทสนมอดีตผู้นำกองทัพ เซนต์คาเบรียลคอนเน็กชั่น

ถือตั๋วตึกไทยคู่ฟ้า สมัครเข้าพรรคพลังประชารัฐ

ให้สัมภาษณ์หลังนั่งที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค

“ท่านให้ดูทุกเรื่อง ให้ช่วยทุกเรื่อง”

สมศักดิ์ เทพสุทิน

เกิด 13 ม.ค. 2498 อายุ 66 ปี

สมรสกับนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน อดีตรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีบุตร-ธิดา 2 คน

วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมไฟฟ้า) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง

รัฐศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารรัฐกิจ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส.ส.สุโขทัยหลายสมัย อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง

ปี 2526 ส.ส.สุโขทัย สมัยแรก สังกัดพรรคกิจสังคม

เม.ย.2535 รมช.สาธารณสุข รัฐบาลพล.อ.สุจินดา คราประยูร

ก.ค.2538 รมช.คมนาคม รัฐบาลชวน หลีกภัย

ต.ค.2540 รมว.สาธารณสุข รัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

รัฐบาลชวน 2 เป็นรมช.อุตสาหกรรม

ปี 2544 ย้ายมาอยู่พรรคไทยรักไทย เป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

ต.ค.2545 รมว.อุตสาหกรรม รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

จากนั้นเป็นรมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.แรงงาน

มิ.ย.2548 รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย หัวหน้ากลุ่มวังน้ำยม

หลังรัฐประหารปี 2549 ลาออกจากไทยรักไทย ตั้งกลุ่มมัชฌิมา

ปี 2550 ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี กรณียุบพรรคไทยรักไทย

ตั้งพรรคมัชฌิมาธิปไตย แต่ถูกยุบพรรคอีก จึงไปร่วมกับกลุ่มเพื่อนเนวิน ในนามพรรคภูมิใจไทย

เลือกตั้งปี 2557 อยู่พรรคเพื่อไทย เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ

หลังรัฐประหาร พ.ค.2557 สร้างกลุ่ม สามมิตร ย้ายมาซบพรรคพลังประชารัฐ

เลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 เป็น ส.ส.บัญชี รายชื่อ

นั่งเก้าอี้รมว.ยุติธรรม รัฐบาลประยุทธ์ 2 แบบไม่ค่อยตรงใจเพราะหมายปองกระทรวงใหญ่

หลังกลุ่ม 4 กุมาร ผู้ปลุกปั้นพลัง ประชารัฐโบกมือลาจากพรรค ผลักดัน อนุชา นาคาศัย ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคได้สำเร็จ แต่ ไม่นานต้องหลีกทาง ธรรมนัส พรหมเผ่า เสียบเก้าอี้แทน

สามมิตรกลุ่มใหญ่ในพลังประชารัฐ ส.ส.ในสังกัดหลายเสียง ทว่าพลังอำนาจในพรรคไม่ค่อยเปรี้ยงปร้าง ความสำคัญถูกกลุ่มอื่นมุ้งอื่นเบียดทับ จนออกอาการเหมือนรอวันตัดสินใจ

หัวหน้าพลังประชารัฐเลยรีบตั้งเป็น ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค

หวังผูกมัดซื้อใจไปต่อด้วยกัน เพื่อกลับมาร่วมครม.กันอีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน