กลายเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองและสังคมขณะนี้

เมื่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แก้ไขเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

โดยเแก้ไขมาตรา 75 เรื่องข้อห้ามการหาเสียง

ตัดถ้อยความที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เสนอห้ามให้มีการแสดงมหรสพ งานรื่นเริง มาประกอบการหาเสียง แล้วแก้ไขหลักการ ของกรธ.

ให้มีการแสดงมหรสพและงานรื่นเริง เพื่อใช้ประกอบการหาเสียงได้

เสรี สุวรรณภานนท์ ในฐานะกมธ.วิสามัญ อ้างเหตุผล

หากเปิดเวทีหาเสียงอย่างเดียว โดยไม่มีการจูงใจเรื่องมหรสพ จะมีประชาชนมาฟังนโยบายหาเสียงน้อย มีแต่เฉพาะคนที่สนใจการเมืองมาฟังเท่านั้น

ซึ่งมหรสพ เป็นสิ่งรื่นเริง อาทิ ดนตรี ลิเก จึงถือเป็นกลยุทธ์จูงใจให้ประชาชนมาฟังการหาเสียงมากขึ้น

ส่งเสริมให้คนตื่นตัวทางประชาธิปไตย

นอกจากนี้ยังให้โอกาสประชาชนออกมาค้าขาย ทำมาหากิน ทำให้ ทุกๆพื้นที่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งมีเศรษฐกิจดีขึ้น ชาวบ้านใช้เงินในตลาดอย่างถูกกฎหมาย

ที่สำคัญมหรสพ มิได้ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือไม่เท่าเทียมอย่างที่บางคนอ้าง เพราะการจัดมหรสพนั้น จะถูกนำไปคิดคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายเลือกตั้งของผู้สมัครหรือของพรรคการเมือง

ขณะที่นักการเมือง นักเลือกตั้ง จาก 2 พรรคใหญ่ ทั้งเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ ต่างคัดค้านและ ไม่เห็นด้วย

ชี้ชัดการแก้ไขดังกล่าวเป็นการย้อนยุค และสร้างความไม่เป็นธรรม

สามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส. เชียงราย พรรคเพื่อไทย

รัฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) สาขาการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อดีตส.ส.เชียงรายหลายสมัย สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ ปี 2540

ที่ปรึกษารมว.วัฒนธรรม, ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.คมนาคม

โฆษกคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล

อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เมื่อปี 2551

ย้ำว่า หลักกฎหมายเลือกตั้งที่ ผ่านมา ห้ามไม่ให้กระทำบางอย่าง เช่น ออกทีวีหรือวิทยุ ไม่ให้จัดงานรื่นเริง

ด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันความเหลื่อมล้ำของผู้สมัครหรือพรรคที่มีทุนน้อย จึงให้กกต.เป็นผู้จัดเวทีปราศรัย แล้วเฉลี่ยเวลาให้กับผู้สมัครได้พูดในเวลาที่เท่าๆ กัน

ดังนั้น การจะกลับไปให้จัดงานมหรสพช่วงหาเสียงได้ เท่ากับเอื้อให้ผู้สมัครหรือพรรคที่มีทุนหนา

เพราะมีโอกาสจ้างนักร้องลูกทุ่งหรือหมอลำชื่อดังมาแสดง จึงดึงดูดประชาชนได้มากกว่า

เช่นเดียวกับ องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

มีน้องชายคือ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ

ปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ปริญญาโท 2 สาขา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เคยทำงานหนังสือพิมพ์ และมีผลงานเขียนหนังสือหลายเล่ม

ทำงานการเมืองในระดับท้องถิ่น เป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร

อดีต ส.ส.กทม.หลายสมัย และโฆษกพรรค

เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ครม.อภิสิทธิ์ 5) เมื่อ 6 มิ.ย. 2553

ระบุไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของกมธ.

แม้ในระยะหลังประชาชนจะสนใจฟังการปราศรัยหาเสียงลดลง เนื่องจากมีช่องทางรับรู้ข้อมูลข่าวสารของนักการเมือง พรรคการเมือง ผ่านการสื่อสารอื่นๆ มากมาย

แตกต่างจากอดีตที่มีไม่กี่ช่องทาง

แต่ยุคนี้เป็นยุคปฏิรูปการเมือง จึงควรยึดแนวทางให้มีการใช้จ่ายเงินที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์ของการทำงานการเมืองอย่างแท้จริง

จึงน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า การส่งเสริมให้มีช่องทางการใช้จ่ายที่ เพิ่มมากขึ้น

เสรี สุวรรณภานนท์ ปริญญาตรีและปริญญาโท สาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เนติบัณฑิตไทย

อดีตเลขาธิการสภาทนายความ, สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี2539

อดีตส.ว.กทม.ปี 2543, สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550

ปี 2554 เป็นหัวหน้าพรรคประชาสันติ

รัฐประหาร ปี 2557 ได้รับแต่งตั้งเป็น สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) จากนั้นเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)

ย้ำด้วยว่า ไม่ต้องห่วงจะมีการซื้อเสียงโดยอาศัยมหรสพ เพราะเรามีมาตรการทางกฎหมายที่เข้มข้น

ขณะนี้เทคโนโลยีต่างๆ ก้าวหน้าไปมาก มีโทรศัพท์สามารถถ่ายคลิปการทุจริตซื้อเสียงได้ คงไม่มีใครกล้าเสี่ยงทำผิด

ฉะนั้น การแสดงมหรสพจึงไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้งแต่ประการใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน