ดร.อรุณี-โฆษก
โละ‘กก.ยุทธฯ’
‘บิ๊กตู่’เรตติ้งตก
ชาวบ้านสะท้อน
โพลจี้ฟังทุกกลุ่ม
หาทางออกปท.

เพื่อไทยจัดทัพใหม่ สะพัด ‘สมพงษ์ อมร วิวัฒน์’ คัมแบ๊กหัวหน้า ‘ประเสริฐ จันทรรวงทอง’ นั่งเลขาฯพรรค โละกก.ยุทธศาสตร์ ‘สุทิน’ ยังเป็นประธานวิปฝ่ายค้าน เผยมี 2 เรื่องอยากทำ ลุยแก้รธน.-ซักฟอกรัฐบาล ‘ชูศักดิ์’ ยอมรับพรรคคิดปรับโครงสร้างนานแล้ว ก้าวไกลมั่นใจเพื่อไทยไม่เปลี่ยนจุดยืน เย้ยตั้งรัฐบาลแห่งชาติ แค่โยนหิน ห่วงร่างฉบับไอลอว์ หวั่นถูกตีตก เด็กปชป.ซัดรัฐบาล ยื้อแก้รธน. จี้‘บิ๊กตู่’ สยบปัญหาวุ่นวายได้ แค่ประกาศสัญญาประชาคมจะแก้ประเด็นใดบ้าง พปชร.โต้วุ่น ยันไม่ได้เตะถ่วง อ้างต้องฟังเสียง ให้รอบด้าน นิด้าโพลเผยเรตติ้ง ‘บิ๊กตู่’ ลดต่ำลง ขณะที่พรรคเพื่อไทยยังครองใจชาวบ้าน แนะรัฐบาลต้องรับฟังทุกกลุ่ม

พท.คิดปรับโครงสร้างนานแล้ว

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. นายชูศักดิ์ ศิรินิล รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงวาระการประชุมกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดรักษาการ วันที่ 28 ก.ย.ว่า วาระการประชุมหลัก คงเป็นเรื่องการกำหนดการประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือก กก.บห.ชุดใหม่ โดยต้องกำหนดวัน เวลา และองค์ประกอบของที่ประชุมใหญ่ตามกฎหมายพรรคการเมือง และข้อบังคับพรรค ซึ่งองค์ประชุมต้องไม่ต่ำกว่า 250 คน อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างพรรค ครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องแตกแยก แต่เป็นความพยายามปรับปรุงโครงสร้างของพรรค ทั้งในส่วนองค์ประกอบของกก.บห. และโครงสร้างการบริหารงานภายในพรรค ซึ่งมีความคิดกันมานานแล้ว แน่นอนอาจมีความเห็นไม่เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ความแตกแยก

นายชูศักดิ์กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีการวิเคราะห์กันต่างๆ นานาเรื่องคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ จะเข้ามาบริหารพรรคนั้น เข้าใจว่าวิเคราะห์คาดเดากันไปเองมากกว่า ทั้งนี้ ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่ทุกคนในพรรคให้ความเคารพ แต่ท่านก็ทำอะไรด้วยความระมัดระวังเสมอมา ตนยังไม่เห็นท่าทีอะไรที่มาจากการวิเคราะห์คาดเดากันเลย

ยันพรรคไม่ได้แตกแยก

วันที่ 27 ก.ย. นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษก พท. กล่าวถึงกระแสข่าวพท.ระส่ำ แพแตก หลังจากนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ลาออกจากหัวหน้าพรรคและ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลาออกจากประธานยุทธศาสตร์พรรคว่า การลาออกของบุคคลทั้งสอง ไม่ได้เกิดจากความ ขัดแย้งแตกแยกภายในพรรค สมาชิกพรรคตระหนักและสัมผัสได้ถึงความเสียสละทุ่มเทแรงกายแรงใจทำงานหนักเพื่อพรรคตลอดมา

นายอนุสรณ์กล่าวว่า หลังการเลือกตั้งกก.บห.ชุดใหม่ ไม่ว่าบุคคลใดจะได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกพรรค เลือกให้มาบริหารพรรค เชื่อมั่นว่าจะขับเคลื่อนพรรคให้เดินหน้าต่อไปได้ ประชาชนไม่ต้องกังวล กก.บห.ชุดใหม่ จะเดินหน้าสร้างความเข้มแข็ง มุ่งมั่นนำเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประเทศและประชาชนอย่างเต็มที่ต่อไป

สุทินไม่ปิดทางนั่งหัวหน้าพรรค

ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหา สารคาม พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพรรคว่า ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะพรรคเป็นสถาบันการเมือง ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทุกคนก็มีสิทธิคิด มีสิทธิแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ท้ายที่สุดพรรคมีวัฒนธรรมที่จะหาข้อสรุป ส่วนการลาออกของฝ่ายต่างๆ เพื่อเปิดทางให้การเปลี่ยนแปลงนั้นราบรื่น ยืนยันว่าพรรคไม่ได้ขัดแย้งหรือแตกแยก ส่วนที่มีส.ส.อีสานเสนอชื่อแคนดิเดตหัวหน้าพรรคออกมาหลายชื่อนั้น เป็นเพียงความเห็นที่หลากหลาย เป็นความงดงามทางประชาธิปไตยในพรรค เท่าที่เห็นก็เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนความเห็นในกลุ่มไลน์ของส.ส. ซึ่งไม่ใช่เพื่อการต่อรองหรือกดดัน

เมื่อถามว่ามีชื่อนายสุทิน เป็นหนึ่งในแคนดิเดตหัวหน้าพรรคด้วย พร้อมหรือไม่หากถูกเสนอให้รับตำแหน่งดังกล่าว นาย สุทินกล่าวว่า ตนคงไม่ประเมินตัวเอง ต้องให้คนอื่นประเมินว่าเราเป็นอย่างไร แต่ตนรู้ว่าหัวใจของตนเป็นอย่างไร ตนรักพรรคและพร้อมต่อสู้กับเผด็จการ ไม่คิดถึงเรื่องตำแหน่งหรือความขัดแย้งใดๆ ขณะนี้มีเพียง 2 เรื่องที่อยากจะทำ คือแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรให้สำเร็จ และการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลหลังจากนี้

ดัน‘ประเสริฐ’เลขาฯพรรค

รายงานข่าวจากพท. แจ้งว่า ในการปรับโครงสร้างของ พท.ครั้งนี้ จะเป็นการปรับโฉมใหม่ ให้มีกก.บห. 26 ตำแหน่ง ซึ่งผสมผสานระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต โดยตำแหน่งสำคัญ อาทิ รองหัวหน้าพรรคซึ่งมีหลายคน ตำแหน่งเลขาธิการพรรค จะเปลี่ยนให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา รองหัวหน้าพรรค มานั่งแทนน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ โดยจะดันให้น.อ.อนุดิษฐ์ นั่งรองหัวหน้าพรรคแทน และตำแหน่งโฆษกพรรค จะให้ ดร.อรุณี กาสยานนท์ แทนนายอนุสรณ์ ส่วนนายอนุสรณ์ ขึ้นนั่งรองหัวหน้าพรรคเพื่อดูแลงานในกรอบที่ใหญ่และกว้างขึ้น

‘สมพงษ์’หัวหน้าตามเดิม

รายงานข่าว แจ้งอีกว่า ตำแหน่งหัวหน้าพรรค ยังคงให้นายสมพงษ์ กลับมานั่งตามเดิม ขณะที่นายสุทิน ยังคงนั่งตำแหน่งประธานวิปฝ่ายค้านตามเดิมเช่นกัน ส่วนตำแหน่งอื่นๆ มีการปรับออกและเพิ่มเติมเข้ามาบ้างจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้สำหรับโครงสร้างคณะกรรมการยุทธศาสตร์นั้นจะยุบทิ้ง ไม่มีคณะกรรมการชุดนี้อีก ต่อไป

ก้าวไกลเชื่อเพื่อไทยแค่ปรับทัพ

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชี รายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงนายสมพงษ์ลาออกจากหัวหน้าพท. ทำให้หลุดจากตำแหน่งผู้นำพรรคฝ่ายค้านว่า ถือเป็นการจัดการภายในของพท. พรรคก้าวไกลต้องเคารพ เหมือนที่เราเคารพการทำงานกันและกันมาตลอด เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของพท.ครั้งนี้ ไม่ส่งผลกระทบการทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน เราทำงานร่วมกันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาด้วยกัน เชื่อว่าในภาพรวมของพท.จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังมั่นใจว่าพรรคก้าวไกล พท.และพรรคร่วมฝ่ายค้านในเชิงยุทธ ศาสตร์แล้วทุกอย่างยังเหมือนเดิม

นายรังสิมันต์กล่าวว่า ส่วนที่มีกระแสข่าวพท.จะเปลี่ยนจุดยืนด้วยนั้น เชื่อว่ายัง ไม่ไปไกลถึงขนาดนั้น เพราะการเปลี่ยนจุดยืน เช่น จากอยู่ฝ่ายค้านเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย แล้วเปลี่ยนเป็นฝ่ายตรงข้ามอย่างนั้น มันไปไกลเกินไป และประชาชนที่เลือกตั้ง คงยอมไม่ได้ โดยเฉพาะส.ส.ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ การจะให้เปลี่ยนจุดยืนแบบนั้นไม่ใช่เชื่อง่ายดังนั้น โอกาสที่จะเป็นแบบนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เชื่อว่าภาพรวมของการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญ รวมถึงอนาคตที่จะอภิปราย ไม่ไว้วางใจจะไม่มีอะไรมากระทบ แต่เราต้องรอดูเรื่องการจัดการการเปลี่ยนผ่าน ของพท.ว่าจะนำไปสู่อะไร ตนยังมองโลกในแง่ดีว่าไม่มีผลกระทบต่อพวกเรา

ชี้รัฐบาลแห่งชาติเกิดยาก-แค่ลือ

เมื่อถามถึงกระแสความเป็นไปได้ของรัฐบาลแห่งชาติ นายรังสิมันต์กล่าวว่า โยนหินถามทางกันมาเรื่อยๆ เนื่องจากที่ผ่านมาก็พูดกันหลายครั้งแล้ว แต่ไม่เกิดเสียที ตนคิดว่าโอกาสที่จะเป็นรัฐบาลแห่งชาติไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจุดยืนหลายเรื่องเห็นไม่ตรงกัน ถ้าเป็นรัฐบาลแห่งชาติที่เคารพสิทธิมนุษยชน เคารพหลักการความเท่าเทียมกันของมนุษย์ เราจะไม่ยอมให้เกิดรัฐประหารต่อไป เรียกร้องการปฏิรูปกองทัพ คำถามคือ ถ้ารัฐบาลแห่งชาติเป็นแบบนั้น แล้วพรรคที่ไม่มีอุดมการณ์ หรือมีแนวคิดแบบนั้น จะยอมหรือไม่ เช่นเดียวกัน ถ้ารัฐบาลแห่งชาติไม่เอาประเด็นเหล่านั้นมาพูดคุยกัน จะเกิดคำถามอีกว่าฝ่ายค้านจะยอมได้หรือเปล่า ดังนั้น คำว่ารัฐบาลแห่งชาติ ตนยังนึกไม่ออกว่าจะมีจุดร่วมกันตรงไหนนำไปสู่การตั้งรัฐบาลแห่งชาติได้ ยังเชื่อว่าเป็นแค่ข่าวลือที่ปล่อยออกมาเป็นระยะเท่านั้น และต้องติดตามต่อไป

อัดตั้งกมธ.แค่ซื้อเวลาอยู่ยาว

จากนั้นนายรังสิมันต์กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง พรรคการเมืองกับการแก้รัฐธรรมนูญ ตอนหนึ่งว่า การที่ส.ว.โหวตตั้งกมธ.ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ แม้จะเป็นไปตามข้อบังคับของรัฐสภา แต่ฝ่ายค้านยืนยันว่ากระบวนการนั้นคือการซื้อเวลา เพราะรัฐบาลชุดนี้อยากอยู่ยาวและครบเทอม เมื่อใดที่มีการแก้รัฐธรรมนูญ จะทำให้รัฐบาลไม่ได้อยู่ยาว ดังนั้น รัฐบาลจึงใช้กลไกกมธ.เข้ามาซื้อเวลา ตอนนี้ต้องรอสมัยประชุมหน้า ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 พ.ย. เป็น วันแรก แต่การประชุมจริงจะเริ่มวันที่ 4 พ.ย. และใช้เวลามากกว่านั้นกว่าจะถึงวันประชุมร่วมรัฐสภา

นายรังสิมันต์กล่าวว่า ข้อสรุปจะรับหรือไม่รับในทุกร่าง เร็วที่สุดคือเดือนพ.ย. แต่มีปัญหาว่าหากผลสรุปออกมาว่าส.ว. 84 คน ใน 250 คน โหวตไม่รับร่าง ท้ายสุดก็จะทำให้ 6 ร่างตกในวาระที่ 1 ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถเสนอร่างที่มีเนื้อหาและหลักการเดียวกันได้ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยในสมัยประชุมหน้าที่สิ้นสุดในเดือนก.พ.2564 ดังนั้น ถ้าต้องการเสนอร่างอีกครั้ง ต้องรอไปถึงวันที่ 22 พ.ค.2564 หรือช่วงกลางปี 2564 ซึ่งจะเป็น 8 เดือนที่รัฐบาลไม่ต้องมาปวดกบาลกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั่นคือข้อจำกัด ทำให้ส.ส.ไม่สามารถเสนอแก้รัฐธรรมนูญได้

กังวลร่างฉบับไอลอว์ถูกตีตก

ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์จะเป็นความหวังได้หรือไม่ คือสิ่งที่ทำให้ตนกังวลใจ เพราะมีปัญหาว่า ถ้าร่างนี้เข้าสู่การประชุมสมัยหน้า แล้วนำไปประกบกับร่างของฝ่ายค้านเพราะมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน สิ่งที่จับตาคือหากไปประกบแล้ว ส.ว.ไม่เห็นด้วย แสนกว่าชื่อที่เสนอกฎหมายก็อาจจะตกไปด้วย ที่ทำมาจะเสียเปล่า

“เราต้องจับตาและดูการบรรจุร่างของประธานสภาจะเป็นอย่างไร ถ้าบรรจุไปพร้อมกับร่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเสนอไปด้วยกัน จะทำให้เราเสียโอกาสมาก เพราะถ้าแก้รัฐธรรมนูญใหม่แล้ว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจไม่ได้เป็น นายกฯ เขาก็ไม่อยากแก้ สิ่งสำคัญจากนี้คือ เราจะจัดการอย่างไรกับส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. การแก้วิกฤตทางการเมืองนี้คือต้องถอด รื้อ หรือทำลายคนบางกลุ่มที่บอกว่าดีกว่าพวกเราออกไปให้ได้” นายรังสิมันต์กล่าว

อันวาร์อัดรัฐบาลครอบงำสว.

นายอันวาร์ สาเเละ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงที่ประชุมรัฐสภา ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับก่อนรับหลักการว่า ความวุ่นวายเมื่อวันที่ 24 ก.ย. ส่วนหนึ่งเกิดจากฝ่ายรัฐบาลเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้ามาพิจารณาเพื่อให้รับหลักการวาระที่ 1 แต่กลับพลิกพลิ้ว เสนอขอตั้งกมธ.ขึ้นมาศึกษาก่อนรับหลักการ จนเกิดวิกฤตในรัฐสภา ภาพพจน์รัฐสภาที่ถูกกล่าวหาว่าถูกครอบงําก็ชัดเจนขึ้น นายกฯ ได้ออกมาแถลงว่า ไม่ได้อยู่เบื้องหลัง ไม่ได้ชี้นําส.ว. แก้ตัวเรื่องส.ว.เพราะรู้ดีว่าส.ว. 250 คน ต้องตกเป็นเป้า และเป็นอุปสรรคต่อการบริหารภายใต้ระบอบประชาธิปไตย สังคมยังคงเชื่อว่าส.ว.ต้องทําตามคําสั่งของนายกฯ แต่ส.ว.บางส่วนอภิปรายปกป้องตัวเอง คำถามคือ เมื่อ ลุกขึ้นแสดงเหตุผลคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเรียกร้อง ทําไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือของ ตัวเอง คุ้มค่ากับเงินเดือนที่รัฐต้องจ่ายให้ไปปีละกว่า 300 ล้านบาท หรือไม่ ควรจะต้องตอบสังคมหรือไม่

จี้‘บิ๊กตู่’สั่งเดินหน้าแก้รธน.

นายอันวาร์กล่าวต่อว่า ตนได้อธิบายประเด็นนี้กับพี่น้องชาวใต้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหามาก ตั้งแต่การร่างและการทําประชามติที่ห้ามคนเห็นต่าง แต่ยังมีคนบางคนกล่าวด้วยความชื่นชมว่าผ่านประชามติมาแล้ว กว่า 16.8 ล้านเสียง อย่างไม่ละอายใจ และตนมั่นใจว่า ปัญหาความวุ่นวายทั้งในเเละนอกรัฐสภา นายกฯ แก้ไขได้ด้วยตัวเอง หากนายกฯ เป็นตัวของตัวเอง โดยการออกมาประกาศให้เป็นสัญญาประชาคมว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในประเด็นใด อย่างไรบ้าง ต้องเลิกพูดว่าเรื่องทั้งหมดต้องว่ากันตามกฎหมาย เป็นเรื่องของสภา เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ สังคมฟังเรื่องทํานองนี้มาซํ้าแล้วซํ้าเล่าเริ่มไม่เชื่อ ล่าสุดเห็นได้อย่างชัดเจนเรื่องการจัดซื้อเรือดํานํ้า ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกัน แต่พอนายกฯ เอ่ยปาก กองทัพเรือก็ถอย

พปชร.ลั่นไม่มีเจตนาเตะถ่วง

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ยืนยันว่ารัฐบาลและพปชร. โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค มีความจริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีเจตนาเตะถ่วง แต่รัฐธรรมนูญนี้มาจากประชามติของประชาชน 16.8 ล้านเสียง เป็นสิ่งที่รัฐบาลและพปชร.ต้องระมัดระวัง เพราะไม่ใช่มีแต่ประชาชนที่สนับสนุนให้แก้ไข แต่ยังมีผู้คัดค้านการแก้ไขด้วย เพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ จึงต้องฟังเสียงส่วนใหญ่แต่ไม่ละเลยเสียงส่วนน้อย ต้องหาจุดที่สมดุล ยอมรับกันได้ ดังนั้น การตั้งกมธ.ขึ้นมาศึกษา จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมในช่วงเวลานี้ ต้องฟังเสียงประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ใช่จะเอาเฉพาะที่ถูกใจนักการเมือง หากเป็นอย่างนั้นก็จะเกิดความวุ่นวายขึ้น

น.ส.ทิพานัน กล่าวถึงเพจคณะก้าวหน้ารณรงค์ปิดสวิตช์ ส.ว. โดยระบุเป็นสิ่งแปลกปลอมในระบอบประชาธิปไตยที่กวนใจประชาชนว่า เท่าที่ตนสังเกต สิ่งแปลกปลอมในระบอบประชาธิปไตย ก็คือปรากฏการณ์ของการรณรงค์โจมตีกลุ่ม ผู้เห็นต่างทางการเมือง ทั้งที่สังคมประชาธิปไตยควรยอมรับความเห็นต่าง ถกเถียงกันด้วยเหตุผล ไม่ใช่การยกพวกไปรุมประชาทัณฑ์ทางโซเชี่ยล แบนสินค้าและบริการของคนที่แสดงความเห็นนั้นๆ ถือเป็นการตื่นตัวทางการเมืองในลักษณะถดถอย ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นแกนนำอย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล หรือน.ส.พรรณิการ์ วานิช ออกมาเตือน หรือห้ามปรามผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว อาจทำให้เข้าใจว่าเห็นดีเห็นงามด้วยกับพฤติกรรมเช่นนี้ ดีแต่เสี้ยมให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในประเทศ

‘ตู่’คะแนนนิยมลด-‘หน่อย’พุ่ง

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจเรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 3” ซึ่งสำรวจระหว่างวันที่ 18-23 ก.ย. จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปกระจายทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 2,527 หน่วยตัวอย่าง ถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ในวันนี้ พบว่า ร้อยละ 54.13 ระบุยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ ร้อยละ 18.64 ระบุพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเป็นคนจริงจังกับการทำงาน ทำงานตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ บ้านเมืองสงบไม่วุ่นวาย ช่วยเหลือประชาชนได้จริง ขณะที่บางส่วนระบุว่าอยากให้ดำรงตำแหน่งต่อไป ร้อยละ 10.57 ระบุคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เพราะมีประสบการณ์การทำงานบริหารงานที่ผ่านมาได้ดี พูดจริง ทำจริง และชื่นชอบส่วนตัว ร้อยละ 5.70 ระบุนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพราะอยากได้คนรุ่นใหม่มาบริหารประเทศ เป็นคนที่มีความคิดทันสมัย มองการณ์ไกล และ ชื่นชอบนโยบายพรรค

ร้อยละ 3.92 ระบุพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ร้อยละ 1.54 ระบุ นายกรณ์ จาติกวณิช ร้อยละ 1.07 ระบุ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และร้อยละ 4.00 ระบุ อื่นๆ ได้แก่ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา, นายเทวัญ ลิปตพัลลภ, นายชวน หลีกภัย, นายอานันท์ ปันยารชุน, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจครั้งที่ 2 เดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าผู้ที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ นายกรณ์ ให้เป็นนายกฯ มีสัดส่วนลดลง ส่วน ผู้สนับสนุนคุณหญิงสุดารัตน์ นายพิธา นายสมพงษ์ และยังหาคนที่เหมาะสม ไม่ได้นั้นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

พท.-ก้าวไกลเรตติ้งนำพปชร.

ส่วนพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ ร้อยละ 41.59 ระบุไม่สนับสนุนพรรคใดเลย ร้อยละ 19.39 ระบุพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 12.70 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 12.39 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 7.44 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 1.70 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 1.58 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 0.79 พรรคกล้า ร้อยละ 0.59 พรรคเพื่อชาติ และร้อยละ 0.55 ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ ร้อยละ 0.36 ระบุพรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 0.28 พรรคชาติพัฒนา และพรรคประชาชาติ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 0.24 พรรครวมพลังประชาชาติไทย และร้อยละ 0.12 ระบุพรรคเศรษฐกิจใหม่

เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ครั้งที่ 2 เดือนมิ.ย. พบว่าผู้ที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีรวมไทย พรรคกล้า พรรคเพื่อชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และไม่ตอบ/ไม่สนใจ มีสัดส่วนลดลง ขณะที่ผู้สนับสนุนพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคประชาชาติ พรรครวมพลังประชาชาติไทย และไม่สนับสนุนพรรคใดเลยมีสัดส่วน เพิ่มขึ้น

ชี้รัฐบาลต้องจริงใจแก้ขัดแย้ง

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจกรณี “ระดมสมองหาทางออกความขัดแย้ง” จำนวน 1,263 คน (สำรวจทางออนไลน์) วันที่ 23-25 ก.ย พบว่า ร้อยละ 91.87 ระบุถึงเวลาแล้วที่ต้องช่วยกันหาทางออกของความ ขัดแย้ง ร้อยละ 8.13 ระบุยังไม่ถึงเวลา ขณะที่ทางออกของความขัดแย้ง ร้อยละ 88.44 ระบุว่ารัฐบาลรับฟังความคิดเห็นอย่างจริงใจ ร้อยละ 87.57 ไม่ใช้ความรุนแรง ร้อยละ 82.03 ไม่สองมาตรฐาน ร้อยละ 74.19 จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ และร้อยละ 69.36 ระบุว่า ถอยคนละก้าว

ส่วนใครควรเป็นผู้นำหาทางออก ร้อยละ 27.40 ระบุแกนนำ ตัวแทน ผู้นำกลุ่มต่างๆ ร้อยละ 26.77 ระบุว่า นายกฯ ร้อยละ 24.37 ภาคประชาชน ร้อยละ 12.81 ภาครัฐ และร้อยละ 8.65 ระบุว่านักเรียน นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ความคาดหวังของประชาชนต่อความสำเร็จในการหาทางออก ร้อยละ 75.12 ระบุน่าจะสำเร็จ และร้อยละ 24.88 ระบุน่าจะไม่สำเร็จ

หนุนแก้รธน.-ห้ามแตะหมวด 1-2

ซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจเรื่องมหามิตรต่างชาติ กับการแทรกแซงชาติไทย จากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 1,069 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 21-26 ก.ย. เมื่อถามถึงประสบการณ์การอ่านรัฐธรรมนูญปี 2540 พบว่าร้อยละ 81.5 ระบุไม่เคยอ่านเลย ร้อยละ 16.0 เคยอ่านทั้งฉบับ และ ร้อยละ 2.5 เคยอ่านบางมาตรา ส่วนการอ่านรัฐธรรมนูญปี 2560 ร้อยละ 71.7 ระบุไม่เคยอ่านเลย ร้อยละ 26.2 เคยอ่านทั้งฉบับ ร้อยละ 2.1 เคยอ่านบางมาตรา

เมื่อถามว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเพราะ ฟังคนอื่นว่ามา หรืออ่านด้วยตนเอง ร้อยละ 85.3 ระบุฟังคนอื่นเขาว่ามาเป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 14.7 ระบุอ่านด้วยตนเองอย่างละเอียด ครบถ้วน ทุกมาตรา ทั้งนี้ ร้อยละ 95.6 ระบุถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญแก้ได้บางมาตรา แต่ห้ามแตะต้อง ล่วงละเมิดหมวด 1 และ 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ร้อยละ 4.4 ระบุว่าแก้หมวด 1 และ 2 ได้

เมื่อถามว่าต่างชาติแทรกแซงไทย เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การชุมนุมม็อบต่างๆ ร้อยละ 75.1 ระบุมี ต่างชาติแทรกแซง ร้อยละ 24.9 ระบุ ไม่มี

โหรคมช.ยันมีรบ.แห่งชาติแน่

นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ เจ้าของฉายาโหรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้ว่า บอกเลยคำสัมภาษณ์ตนตั้งแต่ต้นปีจนถึงบัดนี้ไม่มีเปลี่ยนแปลง ภาพการชุมนุมต่างๆ จะเกิดขึ้นเหมือนไฟไหม้ฟาง การชุมนุมเดือนต.ค. ไม่มีอะไรน่าห่วง ซึ่งเกิดจากนักการเมืองไม่ได้ดั่งใจ บางคนบางกลุ่มที่คอยแสวงหาประโยชน์แต่ไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อบ้านเมือง แต่คอยยุยง คนเหล่านี้ถอยหมดไป จากนี้ขอให้รอดูจะเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแน่นอน กลุ่มที่เคยอยู่ตรงข้ามจะมาร่วมกันขับเคลื่อน เพราะเริ่มจะรู้ตัวว่าสิ่งต่างๆ ที่มาขับเคลื่อนได้สร้างความเดือดร้อน ตนขอยืนยันตั้งแต่เดือนต.ค. ไม่เกินสิ้นปีนี้ จะเกิดการรวมตัวจับมือกันคล้ายรัฐบาลแห่งชาติ บางกลุ่มในพรรคเพื่อไทยจะมาร่วมมือหรือพรรคอื่นๆ ที่เคยอยู่ฝั่งตรงข้ามจะมาร่วมขับเคลื่อนคล้ายรัฐบาลแห่งชาติ

“รอดูไม่สิ้นปีนี้เกิดขึ้นแน่นอน กลุ่มพรรคเพื่อไทยจะเข้ามาจับมือกันร่วมรัฐบาล เดี๋ยวมีข่าวออก รอดูจากทีม พรรคร่วมรัฐบาล จะเกิดการพูดคุยกัน ของกลุ่มพรรคต่างๆ ภาพจะปรากฏชัด จะมีการประกาศเปิดตัวจับมือกัน อาจจะเกิดไล่เลี่ยกับการได้รมว.คลังคนใหม่” นายวารินทร์กล่าว

‘สุดารัตน์’ครองใจชาวอีสาน

วันที่ 27 ก.ย. นายกัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม ผอ.ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน หรืออีสานโพล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า จากการสำรวจเรื่อง “เก็บคะแนนรางวัลแห่งปีของคนอีสาน ประจำปี 2563 ช่วงที่ 1 หรือครึ่งปีแรกของปี 2563 ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ย. จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,120 ราย ในเขตพื้นที่ 20 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะเก็บข้อมูลอีกครั้งช่วงปลายปี เพื่อสรุปคะแนนภาพรวมทั้งปีอีกครั้ง พบว่า คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก นักการเมือง อันดับที่ 1 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 25.1 รองลงมาคือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร้อยละ 23.9 และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 12.6 อื่นๆ

ผู้บริหารภาคเอกชนแห่งปี อันดับที่ 1 นายธนินท์ เจียรวนนท์ ร้อยละ 19.3 นายปัญญา นิรันดร์กุล ร้อยละ 10.1 และนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ร้อยละ 9.4 นักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมแห่งปี/เอ็นจีโอแห่งปี อันดับที่ 1 นายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ร้อยละ 30.6 น.ส.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี หรือบุ๋ม ร้อยละ 24.6 และ ตูน บอดี้สแลม ร้อยละ 12.0 สถานีโทรทัศน์แห่งปี อันดับที่ 1 สถานีโทรทัศนกองทัพบกช่อง 7 ร้อยละ 28.0 สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ร้อยละ 27.5 และช่องเวิร์คพอยท์ ร้อยละ 12.8

พระเอกแห่งปี อันดับที่ 1 เวียร์ ศุกลวัฒน์ ร้อยละ 17.9 หมาก ปริญ ร้อยละ 9.4 และเจมส์ จิรายุ ร้อยละ 9.3 นางเอกแห่งปี อันดับที่ 1 เบลล่า ราณี ร้อยละ 11.2 ญาญ่า อุรัสยา ร้อยละ 9.3 และอั้ม พัชราภา ร้อยละ 7.7 นักร้องชายแห่งปี อันดับที่ 1 ไผ่ พงศธร ร้อยละ 17.8 มนต์แคน แก่นคูณ ร้อยละ 13.0 และเบิ้ล ปทุมราช ร้อยละ 7.0 นักร้องหญิงแห่งปี อันดับที่ 1 ต่าย อรทัย ร้อยละ 22.9 จินตหรา พูนลาภ ร้อยละ 12.3 และลำไย ไหทองคำ ร้อยละ 9.0

รางวัลเพลงดังแห่งปี อันดับที่ 1 คือสิมาฮักหยังตอนนี้ ร้อยละ 6.0 อ้ายเก่งกะด้อ ร้อยละ 5.5 และใส่ใจได้แค่มอง ร้อยละ 5.1 วงดนตรี/คณะหมอลำ/คณะลิเกแห่งปี อันดับที่ 1 คณะเสียงอีสาน ร้อยละ 19.2 คณะประถมบันเทิงศิลป์ ร้อยละ 17.1 และ คณะสาวน้อยเพชรบ้านแพง ร้อยละ 10.1 ผู้ประกาศข่าว/พิธีกรชายแห่งปี อันดับที่ 1 นายกรรชัย กำเนิดพลอย ร้อยละ 21.5 นายอนุวัต เฟื่องทองแดง ร้อยละ 10.0 และ นายธีมะ กาญจนไพริน ร้อยละ 8.7 และรางวัลผู้ประกาศข่าว/พิธีกรหญิงแห่งปี อันดับที่ 1 น.ส.พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ ร้อยละ 21.0 น.ส.เปรมสุดา สันติวัฒนา ร้อยละ 15.7 และ น.ส.จิตดี ศรีดี ร้อยละ 13.4

‘บิ๊กตู่’ห่วงโจ๋ติดพนันออนไลน์

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นห่วงเรื่องการเข้าถึงเว็บไซต์พนันออนไลน์ในปัจจุบันว่าสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายและจากหลากหลายช่องทาง เป็นปัญหาอย่างยิ่งต่อสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำกับดูแลการโฆษณาการพนัน และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพนันที่มีเป้าหมายหลักไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชนจะต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันการเข้าถึงการเล่นพนันบนอินเตอร์เน็ต

อย่างไรก็ตาม ทราบว่าเมื่อวันที่ 23 ก.ย. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ติดตามขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) และผู้ให้บริการมือถือ (โอปะเรเตอร์) ทุกราย ให้เร่งระงับการเข้าถึงเว็บไซต์การพนันออนไลน์ ภายหลังได้ส่งคำสั่งศาลไปแล้ว 982 คำสั่ง และเพิ่มเติมอีก 220 เว็บไซต์ รวมเป็น 1,202 เว็บไซต์ ที่เข้าข่าย ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.การพนัน ซึ่งหากเลยกำหนดระยะเวลา 15 วัน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการเอาผิดกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต(ไอเอสพี) และ โอปะเรเตอร์นั้น ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 27 ทันที

ทั้งนี้มีผลการวิจัยพบว่า คนเล่นออนไลน์มีแนวโน้มติดการพนันง่ายและเสี่ยง สูญเสียเงินมากกว่าการพนันออฟไลน์ เพราะความยับยั้งชั่งใจต่ำ ยิ่งคนที่ใช้มือถือเล่นพนันออนไลน์ยิ่งมีโอกาสเสียพนันมากขึ้น ดังนั้นจึงขอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันจัดการเว็บไซต์พนันออนไลน์อย่างเข้มงวดและจริงจัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน