เพื่อไทยล็อกเป้า‘บิ๊กตู่’
จี้ลาออกในศึกซักฟอก
ยุทธพงศ์บี้เรือดำน้ำอีก
สว.แตก3กลุ่ม-แก้รธน.

กกต.ชงครม.วันนี้ ไฟเขียวร่างพ.ร.บ. ประชามติให้สอดคล้องกับรธน.ปี60 สภาเปิดซักฟอกทั่วไปโดยไม่ลงมติเริ่ม 9 ก.ย. ถกวิกฤตเศรษฐกิจ-การเมือง ขณะที่เพื่อไทยล็อกเป้า จี้‘บิ๊กตู่’ ลาออก ด้านส.ว.เสียงแตก 3 ฝ่ายปมแก้รธน. กลุ่มอดีตทหาร-ตำรวจ-สนช.เยอะสุดกว่า 100 คนยังสงวนท่าที ส่วนกลุ่มอิสระย้ำจุดยืนตัดอำนาจโหวตนายกฯ-ไม่เอาส.ส.ร. ‘วิรัช’ เผยสัญญาณดีกล่อมส.ว.หนุนปลดล็อกมาตรา 256-ตั้งส.ส.ร. ‘ยุทธพงศ์’ แฉซ้ำยันมีหลักฐานน็อกเรือดำน้ำกลางสภา ‘ปารีณา’ อ่วม ป.ป.ช.แจ้ง 2 ข้อกล่าวหา ซุกบัญชีทรัพย์สิน-รุกที่ป่า

กกต.ชงร่างพ.ร.บ.ประชามติ

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 8 ก.ย. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)จะเสนอพิจารณาอนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ….เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกเสียงประชามติ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 166 และมาตรา 256(8) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

ทั้งนี้ เนื่องด้วยตามที่ได้มีการประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 เรื่อง ให้ร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ 7 มิ.ย.2557 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติ จึงทำให้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ยังมีผลบังคับใช้ต่อไปนั้น สำนักงานกกต.จึงยกร่างพ.ร.บ.เรื่องนี้ และยกเลิกประกาศคสช. ฉบับที่ 57/2557 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ซึ่งกกต.ได้ดำเนินการตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนแล้ว

ขณะที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) พิจารณามีความเห็นตามที่สำนักงาน กกต.เสนอ โดยเรื่องนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในด้านการบริหาราชการแผ่นดิน การปรับปรุงระเบียบอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ตามมติครม.เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2563 (เรื่อง แนวทางปฏิบัติการเสนอเรื่องต่อครม.) และร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

สภาซักฟอกวิกฤตชาติ 9 ก.ย.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาผู้แทนราษฎร นัดประชุมวันที่ 9 ก.ย. เพื่อพิจารณาญัตติ เปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในเรื่องวิกฤตทางเศรษฐกิจและทางการเมือง โดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 152 ตามที่ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย ยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

นายสมบูรณ์ อุทัยเวียน เลขานุการของประธานสภา เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนนายชวน ได้นัดตัวแทนแต่ละฝ่ายหารือ โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้น คือ ฝ่ายค้านได้เวลา 10 ชั่วโมง, ฝ่ายรัฐบาล ทั้งส.ส. และการชี้แจงของรัฐมนตรี ได้เวลา 5 ชั่วโมง และมีเวลาการทำหน้าที่ประธานสภา 2 ชั่วโมง เวลาที่จัดสรรดังกล่าวเป็นเพียงกรอบเบื้องต้น เพราะหากในการอภิปรายพบประเด็นที่ถูกอภิปรายเพิ่มเติม รัฐมนตรีมีสิทธิได้เวลาชี้แจงเพิ่มเติมเช่นกัน

10 ก.ย.ถกรายงานแก้รธน.

นายสมบูรณ์กล่าวว่า ในวันที่ 8 ก.ย. คาดว่า แต่ละฝ่ายจะได้หารือต่อเวลาการประชุม และอภิปรายในรายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้ง เพราะในการหารือนั้นมีผู้เสนอในเบื้องต้นด้วยว่า จะให้เวลาฝ่ายค้าน 7 ชั่วโมงและฝ่ายรัฐบาล 5 ชั่วโมงก่อนจะได้ข้อสรุปเบื้องต้นที่ 10 ชั่วโมง ต่อ 5 ชั่วโมงดังกล่าว ส่วนตัวแทนรัฐบาลที่จะเข้ารับฟังข้อเสนอแนะ หรือตอบข้อชี้แจงนั้นล่าสุดยังไม่มีรายงานว่ารัฐบาลประสานส่งรัฐมนตรีคนใดเข้าร่วมประชุม

“สำหรับการอภิปราย ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายต่างๆ หารือด้วยว่า ควรจะให้แล้วเสร็จไม่เกินเที่ยงคืนของวันที่ 9 ก.ย. เพื่อให้สมาชิกพร้อมกับการประชุมในวันที่ 10 ก.ย. ที่มีวาระพิจารณาเป็นรายงานของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งกมธ.พิจารณาแล้วเสร็จ” นายสมบูรณ์กล่าว

ส.ว.เสียงแตก 3 ฝ่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาถึงความเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า ขณะนี้ ส.ว. 250 คน ยังคงเสียงแตก มีความเห็นไม่ตรงกันว่า จะสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาร่างใหม่ทั้งฉบับ ที่เสนอโดยส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านหรือไม่ โดยแบ่งความเห็นเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่สงวนท่าทีขอรอดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆ ค่อยตัดสินใจ เป็นกลุ่มใหญ่สุด มีอยู่ประมาณ 100 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม อดีตข้าราชการทหาร ตำรวจ และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

2.กลุ่มที่พร้อมสนับสนุนการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญของส.ส.รัฐบาล และส.ส.ฝ่ายค้าน ที่มีอยู่ประมาณ 20-30 คน มีจุดยืนชัดเจนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการตั้งส.ส.ร. หรือการแก้ไขเป็นรายมาตรา เพื่อ ลดความขัดแย้งในประเทศ อาทิ นายวันชัย สอนศิริ นายคำนูณ สิทธิสมาน รวมถึงส.ว.แถบภาคอีสาน ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ รับรู้ถึงความต้องการของชาวบ้าน

3.กลุ่มส.ว.อิสระ 60 คน ที่ถึงแม้จะแสดงเจตนาพร้อมแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ให้ลดอำนาจส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นการแก้เฉพาะรายมาตราเท่านั้น ไม่เอาการตั้งส.ส.ร. มายกร่างใหม่ทั้งฉบับ ทำให้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ส.ว.กลุ่มนี้จะสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านหรือไม่ ดังนั้น ความ ชัดเจนของส.ว.ทั้ง 250 คน คงต้องรอการ ส่งสัญญาณสุดท้ายมาจากฝั่งรัฐบาลว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร

‘เสรี’เชื่อปล่อยฟรีโหวต

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวว่า ในภาพรวมของ ส.ว. 250 คนขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนจะตัดสินใจไปแนวทางใด หลายคนขอรอฟังเหตุผลให้รอบด้านก่อน เพราะขณะนี้ไม่ใช่มีเพียงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้งส.ส.ร.ของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเท่านั้น แต่อาจมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ฝ่ายต่างๆ จะเสนอเข้ามาเพิ่มเติมอีก ส.ว.จึงต้องขอพิจารณาใช้เหตุผล ฟังความให้รอบด้าน ไม่ใช่ตั้งธงไว้ก่อน แต่สุดท้ายแล้วเชื่อว่าที่ประชุมวุฒิสภาคงให้ส.ว.ทุกคนฟรีโหวตลงมติจะรับร่างแก้รัฐธรรมนูญวาระแรก ในวันที่ 24 ก.ย.นี้หรือไม่

เมื่อถามว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคร่วมรัฐบาลยื่นมาด้วย จะเป็นตัวกดดันให้ส.ว.ต้องลงมติรับร่างวาระแรกหรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นความจริงใจของรัฐบาลในการ แก้รัฐธรรมนูญ นายเสรีกล่าวว่า คิดว่า ส.ว.คงไม่ได้ลงมติไปทางเดียวกันทั้งหมด ความเห็นของส.ว.แต่ละคนไม่ได้ยึดโยงกับร่างของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่ส่งสัญญาณอะไรมาให้ส.ว.ในการลงมติ เพราะเป็นการก้าวก่ายการทำหน้าที่ของส.ว.

กลุ่มอิสระย้ำจุดยืนไม่เอาส.ส.ร.

ด้านนายกิตติศักดิ์ รัตนะวราหะ ส.ว. ในฐานะกมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา และแกนนำ ส.ว.กลุ่มอิสระ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไป อินไซด์ไทยแลนด์ ถึงการรวมตัวของส.ว. ต่อการแสดงจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่คัดค้านให้ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ขณะนี้มีส.ว.ที่เห็นด้วยเข้ากลุ่มเกิน 60 คนแล้ว ยอมรับว่าส.ว.ที่รวมกลุ่มนั้นยังมีความเห็นที่ไม่ตกผลึกร่วมกัน และมีบางคนที่เข้ากลุ่ม และขอถอนตัวออกไปแล้ว 1 คน กลุ่มที่รวมตัวนั้นส่วนใหญ่เป็นพลเรือนและมีส.ว.ที่เป็นอดีตข้าราชการทหาร 1-2 คนเท่านั้น ซึ่งในวันที่ 8 ก.ย.จะหารือร่วมกันหลังจากที่ให้โจทย์ไป ช่วยคิด ประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

“แนวคิดเบื้องต้นคือไม่เห็นด้วยกับการ มีส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่ทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะที่ผ่านมามีส.ส.ร.มาแล้วหลายชุด หากเลือกตั้งส.ส.ร. เท่ากับจะได้ตัวแทนของนักการเมือง และเมื่อได้เงาของส.ส.ยกร่างเนื้อหาเชื่อว่าความขัดแย้งไม่จบสิ้นและรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอาจมีความเห็นที่ไม่ตรงกับอีกกลุ่ม” นายกิตติศักดิ์กล่าว

ปัดร่วมเลือก‘บิ๊กตู่’เป็นนายกฯ

นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีข้อเสียและมีปัญหาต้องแก้ไข และยังมีข้อดี โดยเฉพาะที่ถูกขนานามว่าเป็นฉบับปราบโกง ดังนั้นคนโกงจึงไม่ชอบ ส่วนที่สังคมระบุว่ารัฐธรรมนูญเอื้อการสืบทอดอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะมีมาตรา 272 ให้ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ ซึ่งส.ว.หารือกันแล้วไม่มีปัญหา และเคยหารือในกมธ.การเมือง ก่อนเกิดการชุมนุม ว่า ส.ว.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ เพราะเสียงของส.ส.มีเพียงพอแล้ว และหากพล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ต่อ ต้องลงเลือกตั้ง

‘วิรัช’เผยสัญญาณวุฒิดีขึ้น

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิป รัฐบาล) กล่าวถึงการพูดคุยกับส.ว.เพื่อร่วมพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 โดยมีส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า ยังอยู่ระหว่างการประสานและถือว่าขณะนี้เริ่มมีสัญญาณที่ดี โดยส.ว.ส่วนหนึ่งเริ่มเข้าใจและเห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ ยังตอบไม่ได้ว่ามีมากน้อยแค่ไหนขณะนี้ถือว่ายังมีเวลาในการทำความเข้าใจจนกว่าจะถึงการประชุมรัฐสภา วันที่ 23-24 ก.ย. ที่จะพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึง ไม่อยากจะเร่งรัดอะไร

ส่วนที่มีกลุ่มส.ว.อิสระระบุว่า อยากให้แก้ไขรายมาตรานั้น คงต้องค่อยๆ พูดคุยกับ ทุกกลุ่ม เพราะตอนนี้มีความเห็นที่หลากหลาย ทั้งเสนอแก้มาตรา 272 ไม่ให้อำนาจส.ว.เลือก นายกฯ ทั้งปิดสวิตช์ส.ว.ตัดอำนาจส.ว.ทั้งหมด และข้อเสนออื่นๆ มีความเห็นหลากหลายมาก แม้แต่ในพรรคร่วมรัฐบาลยังมีความเห็นที่แตกต่าง หากดูตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอก็เป็นการยืนยันให้อำนาจส.ว.ในการตัดสินใจจนถึง ขั้นสุดท้าย หากส.ส.ร.ยกร่างมาแล้ว ส.ว.ยังมีสิทธิ์ลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบได้

“จะรู้ว่าส.ว.โหวตให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ตอนที่ลงมติ มาตอบตอนนี้คงยัง ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน ยังมีเวลาที่จะพบปะพูดคุยกัน สัญญาณในขณะนี้ก็น่าจะดีขึ้น ทั้งหมดอยู่ในร่างแก้ไข ที่ให้ส.ส.ร.ยกร่างมา เมื่อดูแล้วไม่เห็นด้วย ส.ว.ก็มีสิทธิไม่รับร่างก็ได้ ส.ว.ยังมีสิทธิอยู่ ถือเป็นช่องให้ส.ว.ได้หายใจ ถ้าไม่มีช่องเลย ใครจะมาร่วมมือกับส.ส. สำหรับกรอบเวลาในการอภิปรายนั้น จะแบ่งเวลากันระหว่างส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และส.ว.ฝ่ายละ 8 ชั่วโมง โดยจะใช้เวลาพิจารณา 2 วัน” นายวิรัชกล่าว

‘นิพิฏฐ์’อุ้มปชป.แตกแถว

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ดูแลพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า ตนฟังข่าวมีส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายท่าน ไม่ทราบจำนวนเท่าไหร่ ลงชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งเป็นเรื่องการให้อำนาจส.ว.250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งเลือกนายกฯได้ ผู้ลงชื่อแก้ไขตัดมาตรา 272 แถลงทำนองว่า ท่านคือ กบฏของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคมีมติให้ตั้ง ส.ส.ร.มาแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนส.ส.ร.จะแก้อย่างไรก็แล้วแต่ส.ส.ร. เท่ากับมอบอำนาจที่ประชาชนให้มา ไปให้คนอื่นใช้อำนาจนั้นแทนอีกทอดหนึ่ง ก็ดูแปลกๆ อยู่

“ผมว่าท่านที่ขอแก้มาตรา 272 ไม่ใช่กบฏ เพราะตอนหาเสียงเลือกตั้ง พรรคก็ประกาศไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตอนนั้นพรรคให้เหตุผลว่า มาตรา 272 ทำให้ประชาธิปไตยวิปริต เพราะเป็นการสืบทอดอำนาจผ่านทาง ส.ว. ส่วนจะสืบทอดอำนาจให้ใครก็แล้วแต่จะคิดกันไป น่ายินดีที่ส.ว.หลายคนยินยอมที่จะตัดอำนาจของตนเอง ต้องขอบคุณส.ว. เหล่านั้น ส่วนการที่ท่านลงชื่อตัดมาตรา 272 จึงเป็นการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อประชาชน หากใครถือว่ากบฏต่อพรรค แต่จงรักภักดีต่อคำมั่นสัญญาที่มีต่อประชาชน ผมว่าการเลือกซื่อตรงต่อประชาชนน่าจะมีเหตุผลกว่า ส่วนจะแก้ได้หรือไม่ได้ ก็สามารถบอกประชาชนได้ว่า ท่านได้พยายามทำตามจุดยืนที่ประกาศไว้แล้ว” นายนิพิฏฐ์กล่าว

‘วันนอร์’แนะนายกฯ กล่อมส.ว.

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชี รายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคประชาชาติได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่ว่าด้วยอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ เพราะเห็นว่าควรจะตัดอำนาจ ส.ว.ในเรื่องนี้ทิ้ง การเลือกนายกฯ ควรเป็นอำนาจของ ส.ส. เมื่อพรรคก้าวไกลขอ แก้มาตรา 272 ตรงกับความคิดเห็นพรรคประชาชาติจึงร่วมลงชื่อ มีเสียงสนับสนุนของพรรคประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่ง ซึ่งรวมทั้งหมดครบ 100 เสียง โดยจะยื่นกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาในวันที่ 8 ก.ย.

การแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา หากมองในแง่ดีตอนนี้ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน เห็นตรงกันว่าต้องแก้มาตรา 256 ควรตั้ง ส.ส.ร.แต่มีอุปสรรคว่า ส.ว.ต้องเห็นด้วย หากไม่เห็นด้วยเพียง 84 คนก็ถือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ก็ล้มแก้ไขไม่ได้ จึงอยากให้ ส.ว.ให้ความร่วมมือ เพราะประชาชนต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย ที่สำคัญ ส.ว.ทั้งหมด นายกฯ ตั้งขึ้นมา ฉะนั้น เมื่อบ้านเมืองกำลังจะมีปัญหา หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อยากให้บ้านเมืองเรียบร้อยควรคุยกับ ส.ว.ให้เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 256 และการตั้ง ส.ส.ร. ส่วนจะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรก็ให้เป็นอำนาจ ส.ส.ร.ที่ได้รับการเลือกจากประชาชน

พท.เปิดไทม์ไลน์ชี้ชะตา‘บิ๊กตู่’

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค เพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของส.ว.ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 256 ให้ตั้งส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับว่า แม้ในขณะนี้ ส.ว.จะยังเสียงแตก มีทั้งฝ่ายสนับสนุนให้ตั้งและไม่ให้ตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ที่สุดสถานการณ์จะกดดันจนส.ว.เสียงส่วนใหญ่ต้องตัดสินใจ ก่อนที่สถานการณ์จะยกระดับกลายเป็นความตึงเครียดและนำไปสู่การเผชิญหน้า 5 ไทม์ไลน์ ปัจจัยไล่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สุกงอม ประชาชนจะให้คำตอบว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์จะจบลงอย่างไร

1.วันที่ 9 ก.ย. ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิเศษ เพื่ออภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 โดยเป็นญัตติที่ฝ่ายค้านจะสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง ที่จะเปิดแผลการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล 2.วันที่ 10 ก.ย. คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รายงานผลการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พิสูจน์ความจริงใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล

จับตา 19 ก.ย.ลาออก-ยุบสภา

3.วันที่ 16-18 ก.ย. จะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เข้าสู่การพิจารณาของสภา ในวาระที่ 2 และ 3 ประชาชนจะได้เห็นว่ารัฐบาลจัดงบตอบโจทย์แก้ปัญหาประเทศหรือไม่ 4.วันที่ 19 ก.ย. 14 ปีรัฐประหาร 2549 วันชุมนุมใหญ่ เช็คบิลรัฐบาล ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ถึงวันนั้นจะมีความชัดเจนว่าพล.อ.ประยุทธ์จะลาออก หรือยุบสภา และ 5.วันที่ 23-24 ก.ย. เป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการ

“ผลไม้พิษ จากต้นไม้ที่เป็นพิษ กำลังส่งผล รัฐธรรมนูญ ที่เขียนเพื่อให้ฝ่ายตัวเองได้เปรียบ แต่บ้านเมืองเสียหาย วันนี้กำลังกลายเป็นปัจจัยที่สุกงอม นำไปสู่การขับไล่รัฐบาล” นายอนุสรณ์กล่าว

ล็อกเป้าซักฟอกให้ไขก๊อก

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวถึงการเตรียมพร้อมของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพื่ออภิปรายในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อครม. ในวันที่ 9 ก.ย.ว่า พรรคฝ่ายค้านได้รับเวลาอภิปราย 10 ชั่วโมง และได้จัดสรรให้พรรคร่วมฝ่ายค้านให้อภิปราย โดยส่วนของพรรคเพื่อไทยได้รับเวลาทั้งสิ้น 310 นาที มี ส.ส.อภิปราย 11-12 คน อภิปรายในสาระสำคัญ 3 ประเด็น คือ 1.วิกฤตเศรษฐกิจภาพรวม ซึ่งรัฐบาลล้มเหลวด้านแก้ไข รวมถึงมีความเสี่ยงต่อการทุจริตในภาระงานด้านต่างๆ 2.ปัญหาระดับเจาะลึก เช่น ปัญหาสินค้าเกษตรแต่ละด้าน และ 3.วิกฤตทางการเมือง

“การอภิปรายของพรรคฝ่ายค้านพุ่งเป้าไปที่นายกฯ โดยตรง โดยในภาพรวมของการอภิปรายฝ่ายค้านจะเสนอให้นายกฯ ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อปลดล็อกปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด ข้อเสนอดังกล่าวไม่สุดโต่งเกินไป เพราะทำได้ตามรัฐธรรมนูญ เมื่อนายกฯ ลาออกเท่ากับว่าครม.ต้องพ้นไปและต้องเลือกนายกฯ และรัฐมนตรีคณะใหม่ ซึ่งกระทำได้ภายใต้การประชุมรัฐสภา มีการเสนอชื่อบุคคลที่อยู่ในบัญชีบุคคลที่พรรคเสนอให้รัฐสภาเลือกเป็นนายกฯ หรือหากไม่มีบุคคลในบัญชีสามารถขอเสียงจากรัฐสภาเพื่องดเว้นได้ ซึ่งไม่เหมือนกับการเคลื่อนไหวนอกสภา และข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่การให้เกิดรัฐบาลแห่งชาติ” นพ.ชลน่าน

‘โจ้’ยันมีหลักฐานน็อกเรือดำน้ำ

จอมแฉ – นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย งัดหลักฐาน กรณีนายปรีดี ดาวฉาย ลาออกจากรมว.คลัง โดยระบุว่ามาจากเรื่องการต่อสัญญารถไฟฟ้า สายสีเขียวออกไปอีก 40 ปี เมื่อวันที่ 7 ก.ย.

ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย แถลงตอบโต้กองทัพเรือ ระบุว่าแผนการจัดซื้อเรือดำน้ำรวม 3 ลำเป็นไปตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงเหมือนเยอรมันว่า เรื่องที่ระบุว่าไทยมีทะเลขนาบ 2 ด้านเหมือนเยอรมันอันนี้ตนไม่ขอเถียง เพราะเป็นเรื่องทางยุทธการ แต่ที่ชี้แจงว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นแบบจีทูจี โดยระบุว่าสัญญาของท่านถูกต้องนั้น ตนเห็นว่าสุดท้ายต้องไปจบที่รัฐธรรมนูญ โดยในมาตรา 178 ระบุชัดว่าหนังสือสัญญาอื่นที่อาจจะกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

ตนจึงขอถามว่าจะมีกฎหมายไหนใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ เพราะจากการที่ตนตรวจสอบจนถึงวันนี้ ยังไม่เคยมีสัญญาจีทูจีเรือดำน้ำให้รัฐสภาเห็นชอบเลย ซึ่งยืนยันว่าคู่สัญญานั้นไม่ใช่รัฐบาลจีนแน่นอน และตนจะเปิดหลักฐานเด็ดในการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติในวันที่ 9 ก.ย. จะได้พิสูจน์ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลต่อรัฐบาล และไม่ใช่จีทูจี ย้ำว่าถ้าเปิดมาจะกระเทือนไปถึงการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 1 แน่นอน

ส่วนกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์พูดเองว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำเพราะได้ดีลพิเศษ ซื้อ 2 แถม 1 นั้น ขอเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาชี้แจงที่ว่าฟรีนั้นฟรีลำไหน เพราะมีแต่การจ่ายเงินทั้ง 3 ลำ

ขยี้ปม‘ปรีดี’ไขก๊อกพ้นขุนคลัง

นายยุทธพงศ์กล่าวถึงสาเหตุที่นายปรีดี ดาวฉาย ลาออกจากรมว.คลัง แม้ก่อนหน้ามีกระแสข่าว เป็นเพราะขัดแย้งกับนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในการแต่งตั้งอธิบดีกรมสรรพสามิต แต่เหตุผลลึกๆ คือ การต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 40 ปี ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องยืดยาว ในการต่อขยายสายสีเขียวเหนือ เส้นทางสถานีหมอชิต เซ็นทรัลลาดพร้าว ไปสิ้นสุดสถานีคูคต จ.ปทุมธานี ส่วนอีกเส้นคือ สีเขียวใต้ สถานีโรงเรียนนายเรือ ไปสิ้นสุดสถานีเคหะบางปู จ.สมุทรปราการ

เรื่องนี้บีทีเอสต้องการต่อสัญญาโดยไม่ต้องเปิดประมูลใหม่ แต่ต่อมาพล.อ.ประยุทธ์ลงนามคำสั่งที่ 3/2562 ตามมาตรา 44 เรื่องการดำเนินการต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลงวันที่ 11 เม.ย.2562 ทั้งที่เวลานั้นได้หมดอำนาจจากหัวหน้าคสช.แล้ว ซึ่งในเอกสารสัญญาข้อ 3 ระบุชัดว่าการต่อส่วนขยายให้กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการให้ดำเนินเจรจากับบีทีเอส และแก้ไขสัญญาผู้ได้รับสัมปทานให้แล้วเสร็จใน 30 วัน หมายความว่า ให้แก้ไขสัญญาเดิมที่จะหมดอายุในอีก 10 ปี คือปี 2572

ขณะเดียวกันยังมีสัญญาเก่าอยู่ ซึ่งการจะได้สัญญาใหม่ต้องไปยกเลิกสัญญาเก่าก่อน แต่ที่พิสดาร ที่ทำให้นายปรีดีรับไม่ได้คือ คงเป็นข้อ 6 ที่ระบุว่าหากดำเนินการแล้วเสร็จ ได้ผลเจรจาเป็นที่ยุติ ให้ถือว่าการดำเนินการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ หมายความว่ากรรมการที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน หากไปเจรจาเรียบร้อยต่อขยายเขียวเหนือ เขียวใต้ และเมื่อใช้มาตรา 44 ไปด้วยแล้ว เจรจาแล้วให้ยกเว้นไม่ต้องเข้าเงื่อนไขพ.ร.บ.ร่วมทุน แบบนี้เข้าข่ายไปเอื้อประโยชน์ให้บางบริษัทหรือไม่

แฉ‘สันติ’ลักไก่สัญญารถไฟฟ้า

นายยุทธพงศ์กล่าวว่า ในการประชุมสภากทม.เรื่องการเสนอต่อขยายสายเขียวเหนือ เขียวใต้ออกไป แต่สภากทม.อนุมัติดำเนินการไม่ได้ เพราะการต่อสัญญาสายเขียวเหนือยาวไปถึงจ.ปทุมธานี และสมุทรปราการ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในกทม. และยังพบว่าก่อนที่นายอุตตม สาวนายน ลาออกจากรมว.คลัง 1 วัน คือ วันที่ 15 ก.ค. 2563 ได้ทำหนังสือขอถอนเรื่องออกจากครม.ขอให้ทบทวน เพราะนายอุตตมก็กลัวทำผิดกฎหมาย

ยังทราบอีกว่านายสันติได้สอดไส้อะไรบางอย่างหรือไม่ เพราะในวันที่ 16 ก.ค.2563 หลังจากนายอุตตมลาออก นายสันติที่ต้องทำหน้าที่รักษาการรมว.คลังได้นำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมครม.ในเวลาต่อมา นายสันติ วางยานายปรีดี ส่งเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวเสียบเข้าครม.ทั้งที่นายอุตตมได้ทำหนังสือขอทบทวน และขอให้ถอนออกจากครม.ไปแล้วเพราะผิดกฎหมาย มีเรื่องพ.ร.บ.ร่วมทุนที่เกี่ยวกับกระทรวงการคลัง แต่นายสันติ รีบเสียบเข้าที่ประชุมครม.ทันที ส่วนรายละเอียดเป็นอย่างไรจะนำมาแฉในวันที่ 9 ก.ย.

นายปรีดีเข้าประชุมครม.นัดแรก 13 ส.ค. และที่ประชุมมีเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวโผล่เข้าไป ทำให้นายปรีดีตกใจ เพราะเรื่องนี้ส่อจะเป็นการทำผิดกฎหมาย เลยถอนเรื่องออกจากครม.ทันที รวมทั้งนายปรีดีไม่เคยลงนามเรื่องดังกล่าวด้วย ขณะเดียวกันมีความพยายามจากบิ๊กรัฐบาลบีบให้นายปรีดีนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมครม. ทำให้นายปรีดีตัดสินใจลาออก นายสันติต้องตอบให้ได้ การบริหารราชการแผ่นดินรัฐมนตรีต้องดำเนินตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เปิดเผย รอบคอบต่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนหรือไม่

จี้ถามเอาวุฒิอะไรมาเป็นรมต.

นายยุทธพงศ์กล่าวอีกว่า นายสันติต้องตอบและชี้แจงเรื่องวุฒิการศึกษา เพราะจากคำสั่งมหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อวันที่ 4 ส.ค.2542 ลงโทษให้ออกจากทะเบียนนักศึกษา เนื่องจากนายสันติให้บุคคลอื่นเข้าสอบแทน ปลอมบัตรประจำตัวนักศึกษา และใบอนุญาตขับรถยนต์ตลอดชีพ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยเห็นว่า เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งมหาวิทยาลัยเรื่องข้อปฏิบัติในการสอบไล่ ที่ผิดวินัยนักศึกษาอย่างร้ายแรง จึงให้ลบชื่อนายสันติออกจากทะเบียนนักศึกษาตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นไป

“เรื่องนี้นายสันติต้องชี้แจงว่าจริงหรือไม่ ได้ให้คนอื่นสอบแทน มีการปลอมใบขับขี่รถยนต์จริงหรือไม่ เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ระบุชัดว่า รัฐมนตรีต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี แต่ถ้านายสันติถูกไล่ออก ดังนั้น เอาวุฒิอะไรมาเป็นรัฐมนตรี ซึ่งมีผลต่อคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของนายสันติด้วย” นายยุทธพงศ์กล่าว

‘เอ๋’อ่วม-ปปช.ฟัน2ข้อกล่าวหา

รายงานข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการป.ป.ช.ตั้งไต่สวน น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จนั้น ตอนนี้คืบไปกว่า 90% โดย ป.ป.ช.ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ น.ส.ปารีณาแล้ว เพื่อให้ได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อไปตามขั้นตอน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2561

ส่วนกรณีบุกรุกที่ดิน แยกเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่ตำรวจทรัพยากร หรือ ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ได้ส่งเรื่องมาให้ป.ป.ช.ดำเนินการ เนื่องจากตำรวจทรัพยากรได้พิจารณาเห็นว่า เป็นการที่เจ้าหน้าที่รัฐบุกรุก แต่ทางป.ป.ช.เห็นว่า เป็นการกระทำความผิดในฐานะส่วนตัวและไม่ชัดเจนว่าเป็นการกระทำในฐานะส.ส. ดังนั้นการกระทำจึงเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งในส่วนนี้เราได้ส่งเรื่องกลับไปให้ตำรวจทรัพยากรแล้ว

สำหรับกรณีที่มีการบุกรุกที่ดินนี้ ป.ป.ช. กำลังพิจารณาในแง่ของจริยธรรม ซึ่งพบว่าอาจมีประเด็นจงใจ ที่จะกระทำความผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ที่ตามกฎหมายระบุว่าป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนจริยธรรมอย่างร้ายแรง จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อน.ส.ปารีณาแล้ว หากไต่สวนพบว่า มีมูลความผิดจริง จะส่งเรื่องไปยังอัยการ เพื่อให้ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ถ้าผิดจริง-ถึงขั้นหลุดส.ส.

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตร พ.ศ.2561 ตามมาตรา 87 วรรคสอง ประกอบมาตรา 81 ที่ระบุไว้ว่า หากคณะกรรมการป.ป.ช. ไต่สวนและมีความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการป.ป.ช.เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย และหากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาฯ จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ในกรณีที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้ต้องคำพิพากษานั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้หากผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่ากรณีใด ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน