สั่งปิดรวม188
กระทบ2ล.คน

พบอีก 106 แห่งโกงบัตรทองล็อต 3 สปสช.เผยพบทุจริตแล้ว 188 แห่ง ทำเสียหาย 195 ล้าน จำเป็นต้องยกเลิกเป็นหน่วยบริการทั้งหมด แจ้งความกองปราบฯดำเนินคดี พร้อมเรียกค่าเสียหายแล้ว ยอมรับมีผู้ป่วยได้รับผลกระทบล็อตแรก 2 แสน ล็อตสอง 8 แสน และล็อตสามอีกร่วม 1 ล้าน รวมทำเดือดร้อนร่วม 2 ล้านราย ส่วนแนวทางช่วยเหลือกระจายผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการต่างๆ ดูแลต่อแล้ว

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงข่าว “สปสช.แจงยกเลิกสัญญา 64 คลินิก-ร.พ.เอกชนด้วยเหตุทุจริต” โดยนายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขเกินจริง

โดยนายจิรวุสฐ์กล่าวว่า จากการตรวจสอบคลินิกชุมชนอบอุ่นและร.พ.เอกชนพื้นที่ กทม.ที่เป็นคู่สัญญากับ สปสช. ในการเบิกจ่าย เบื้องต้นพบว่ามีการนำสิทธิประชาชนมาแอบอ้างเบิกค่าใช้จ่ายโดยประชาชนไม่ได้เข้าใช้บริการจริง เป็นการจงใจสร้างหลักฐานเท็จ ถือว่าเป็นการทุจริต เป็นความผิดอาญา ซึ่งก่อนหน้านี้ตรวจพบและแจ้งความไปแล้ว 2 ล็อต คือ ล็อตแรก 18 แห่ง ล็อตที่ 2 อีก 64 แห่ง ล่าสุดให้สปสช.แจ้งความกับกองปราบปรามล็อตที่ 3 เพิ่มอีก 106 แห่ง รวมทั้งหมดเป็น 188 แห่ง และจะเรียกค่าเสียหาย คืนทั้งหมด หากไม่คืนจะฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อ

นายจิรวุสฐ์กล่าวว่า สปสช.มีความจำเป็นต้องยกเลิกสัญญาการเป็นหน่วยบริการที่พบการทุจริตทั้ง 188 แห่ง เนื่องจากในสัญญามีการเขียนไว้ชัดเจนว่า ถ้าเบิกเท็จหรือไม่ถูกต้อง สปสช.มีอำนาจเลิกสัญญา เพราะฉะนั้นสปสช.ต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้ หากไม่ดำเนินการก็จะเข้าข่ายละเว้นไม่ปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม การทุจริตที่ตรวจสอบพบยังเป็นโครงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเพียง 1 รายการ คือ รายการของกลุ่มโรคเมตาบอลิก จากที่มีทั้งหมด 18 รายการ และเป็นการตรวจสอบเฉพาะการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2562 ส่วนอีก 17 รายการจะทยอยตรวจสอบหลังจากตรวจสอบรายการที่ 1 เสร็จ อีกทั้งจะเสนอบอร์ด สปสช.ขยายการตรวจสอบการเบิกจ่ายโครงการนี้ย้อนหลังไปถึงปีงบ ประมาณที่เริ่มต้นโครงการ จะทำให้บอกได้ว่ามีการทุจริตเบิกจ่ายโครงการนี้ไปเท่าไร

นายจิรวุสฐ์กล่าวอีกและว่า อนุกรรมการได้ตั้งคณะทำงาน 2 ชุด เพื่อให้ข้อเสนอแนะ สปสช.ในการป้องกันปัญหาในอนาคต คือ 1.คณะทำงานดูความเสี่ยงทั้งหมดของระบบเบิกจ่ายเงิน และ 2.คณะทำงานดูระบบบริการทั้งหมด รวมถึงการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการต่างๆ และการเลือกคลินิกที่มีความมั่นใจ

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การตรวจสอบพบทุจริตในล็อตที่ 3 จำนวน 106 แห่ง มีประชาชนที่จะได้รับผลกระทบอีกราว 9 แสน – 1 ล้านคน อยู่ระหว่างการประสานและดำเนินการเพื่อหาหน่วยบริการรองรับ ส่วนมูลค่าความเสียหายรวมทั้ง 3 ล็อตเป็นเงิน 195 ล้านบาท โดยทั้ง 188 แห่ง สปสช.ได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาที่กองปราบปราม และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว โดยแยกรายละเอียดเป็นรายหน่วยบริการ ฟ้องร้องคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายคืน ยกเลิกสัญญาการเป็นหน่วยบริการ แจ้งสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง และแจ้งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เข้าตรวจสอบตามกฎหมายสถานพยาบาล รวมทั้งจะขยายผลตรวจสอบย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2561 ในช่วงที่ดำเนินโครงการนี้ด้วย

สำหรับการดูแลผู้อยู่ในสิทธิบัตรทองที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น ล็อตที่ 1 ยกเลิกสัญญา 18 แห่ง กระทบราว 2 แสนคน ได้จัดหาให้เข้าสู่หน่วยบริการแล้ว ล็อตที่ 2 ยกเลิกสัญญา 64 แห่ง กระทบราว 8 แสนคน ดำเนินการ 3 ส่วน ได้แก่ 1. โรคที่ต้องอาศัย ร.พ.ในการดูแล เช่น ผ่าตัด คลอดบุตร ล้างไต มีร.พ.ถูกยกเลิกสัญญา 6 แห่ง สปสช.ได้ประสานผู้ป่วยเพื่อแจ้งสถานพยาบาลที่จะได้รับบริการให้ทราบแล้ว โทร.สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 09-0197-5271 หากยังมีข้อสงสัย 2. กลุ่มโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ได้ประสานสำนักอนามัย กทม.ดูแลผู้ป่วยในระยะสั้นก่อน โดยเข้ารับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ใกล้ที่ไหนไปที่นั้น สปสช.ได้ส่งข้อมูลประวัติผู้ป่วยให้ศูนย์ในพื้นที่แล้ว และ 3. โรคทั่วๆไป อาการเจ็บป่วยที่ไม่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง เข้ารับบริการผู้ป่วยนอก จะถือเป็นสิทธิว่าง ได้รับวีซ่าพิเศษหากเจ็บป่วยสามารถเข้าหน่วยบริการบัตรทองได้ทั้งของรัฐและเอกชนที่ใดก็ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะหน่วยบริการจะเบิกมายังสปสช.เอง โดยส่งหนังสือถึงหน่วยบริการต่างๆ ทราบแล้ว

ทั้งนี้การตรวจสอบพบทุจริตและยกเลิกสัญญาเฉพาะในพื้นที่ กทม. อีก 76 จังหวัดไม่ต้องกังวล สิทธิบัตรทองของประชาชนอยู่ครบเหมือนเดิม กรณีผู้ที่อยู่ในกทม.ได้รับผลกระทบ หากได้รับการจัดหน่วยบริการใหม่ให้แล้วพบว่าไม่เหมาะสม สามารถเปลี่ยนเป็นหน่วยบริการที่ใกล้ได้ ขณะนี้สปสช.อยู่ระหว่างการเปิดรับหน่วยบริการรองรับในพื้นที่กทม.เพิ่มเติม

ที่รัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล รับยื่นหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านเขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ซึ่งได้รับผลกระทบกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกสัญญา 64 คลินิก ทั่วกรุงเทพฯ ว่า แม้ทางสปสช.ได้ออกมาประกาศว่ามีแผนรองรับแล้ว แต่ก็เป็นเพียงการยัดเข้าไปในโรงพยาบาลภาครัฐ ซึ่งปริมาณผู้ป่วยนั้นมากเกินกว่าที่จะรับได้แล้ว ผู้ป่วยหลายรายได้รับแจ้งว่าแม้ครั้งนี้จะได้รับการอนุโลมค่าใช้จ่าย แต่ถ้ามีอาการเกิดขึ้นอีกครั้งจะต้องมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น วันนี้ที่สปสช.ทำเพื่อปราบปรามทุจริตกลายเป็นความลำบากของประชาชน การเร่งรัดตัดสิทธิ์โรงพยาบาลต่างๆ ทั้งที่วันนี้โรงพยาบาลต่างก็ออกมาร้องต่อศาลปกครองว่าไม่ทราบข้อมูลว่ามีความผิดอย่างไร และความสำคัญนั้นถึงขนาดต้องตัดสิทธิ์โดยทันทีทันใดเลยหรือ ทั้งนี้ยังมีกระแสข่าวว่ามีคนของสปสช.ร่วมกับกลุ่มนายทุน พยายามกว้านซื้อคลินิกที่กำลังเจ๊งจากผลกระทบที่ไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลืออีก หากมีการทุจริตเกิดขึ้นจริง ควรมีการลงโทษสถานพยาบาลนั้น ไม่ใช่ปล่อยให้โทษนั้นลงกับประชาชน 8 แสนคน

“อยากให้สปสช.ยกเลิกการระงับสิทธิ์ 64 โรงพยาบาล จนกว่าจะมีการคืบหน้าของคดีความทุจริตที่ชัดเจน เพราะวันนี้ต้องอนุโลมให้ประชาชนได้พยุงชีวิตต่อไปคือสิ่งสำคัญ” นายณัฐชากล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน