ค้านใช้รุนแรงกับม็อบ
นายกอ้างสื่อชี้จัดฉาก
ฝ่ายค้านไม่เชื่อเร่งรธน.
ก้าวหน้าอัดคดี‘กู้เงิน’
ลั่นฟ้องกลับกกต.แน่

ตะลึงทั้งสภา ส.ส.เพื่อไทย กรีดเลือดประท้วง ‘บิ๊กตู่’ วอนอย่าทำร้ายผู้ชุมนุม ฝ่ายค้านอภิปราย ตอกย้ำนายกฯ ต้องลาออก เปิดทางคนใหม่เข้ามาแก้ รัฐธรรมนูญ ส.ว.ดาหน้าอ้างนายกฯ ลาออกไม่ได้ ส.ส.รัฐบาลยังเน้นโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุม ‘ชวน’ สั่งคณะทำงานศึกษาการตั้งกรรมการสมานฉันท์ พรรคร่วมรัฐบาลขานรับ ‘สุทิน’ ข้องใจตั้งเป็นกันชนให้รัฐบาล ‘ชูศักดิ์’ ไม่เชื่อนายกฯ แถลงเร่งแก้รัฐธรรมนูญ แค่หวังลดกระแสต้าน อดีตกก.บห.อนาคตใหม่ ซัดกกต.สั่งฟ้องคดีอาญาปมเงินกู้ เจตนาสกัดคณะก้าวหน้าเคลื่อนไหว ลั่นฟ้องกลับทั้งกกต.-ศาลรัฐธรรมนูญ

หารือ – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พูดคุยกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระหว่างประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญหาทางออกวิกฤตประเทศ ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 27 ต.ค.

‘ชวน’สั่งศึกษาตั้งกก.สมานฉันท์

เวลา 08.15 น. วันที่ 27 ต.ค. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวกรณีจะนัดหารือ 4 ฝ่ายอีกครั้ง เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า กำลังพิจารณาว่าควรรอร่างไอลอว์ เพื่อพิจารณาไปในคราวเดียวกับ 6 ร่างแก้ไขหรือไม่ หากไม่รอก็สามารถพิจารณาได้ทันทีที่เปิดสมัยประชุม แต่ถ้ารอพิจารณาพร้อมกันต้องบรรจุเข้าสู่วาระหลังวันที่ 12 พ.ย. เพราะต้องรอขั้นตอนการตรวจรายชื่อว่ามีคนคัดค้านหรือไม่จึงจะบรรจุระเบียบวาระ

ส่วนที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น ได้ให้คณะทำงานศึกษาอยู่ว่าเป็นไปได้หรือไม่ หากคณะกรรมการชุดนี้เข้ามาทำงานก็จะทำเฉพาะกรณีนี้

พรรคร่วมรัฐบาลขานรับ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้จะหารือกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาปัญหาของประเทศทุกเรื่องว่าจะหาทางออกอย่างไร เมื่อถามว่าหมายถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แก้ปัญหาประเทศใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ ส่วนการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญนั้นเร็วเท่าไรได้ก็ยิ่งดี

นายจุรินทร์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ หัวหน้า ปชป. ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ เท่าที่พูดคุยกับฝ่ายต่างๆ มีสัญญาณที่ดี มีเสียงตอบรับพอสมควร โดยพูดคุยกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคร่วมรัฐบาลอื่น มีสัญญาณตอบรับที่ดี วันนี้วิป 3 ฝ่ายจะหารือกัน

ฝ่ายค้านซัด-กันชนรัฐบาล

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.เพื่อไทย (พท.) ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงข้อเสนอตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า ต้องคิดก่อนว่าาเป็นทางออกได้จริงหรือไม่ เพราะบางข้อเสนอใช้ได้ในอดีต แต่บริบทวันนี้ใช้ได้หรือไม่ ข้อเสนอตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์หรือการประชามติหรือข้อเสนออื่นๆ นอกจากเชิญวิปแต่ละฝ่ายแล้ว ควรเชิญตัวแทนประชาชนร่วมด้วย ถามประชาชนเลยว่าตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ จะเอาด้วยหรือไม่ วันนี้ทันเวลาหรือไม่ ตั้งเป็นกันชนให้รัฐบาลหรือไม่ ต้องสื่อว่าจริงใจก็เป็นทางออกที่ดี

เมื่อถามถึงข้อเสนอทำประชามติว่าให้ นายกฯ ลาออกหรือไม่ลาออก นายสุทินกล่าวว่า กลไกประชาธิปไตยมีอยู่แล้ว ใครจะลาออกหรือไม่ลาออก ไม่เห็นประเทศใดในโลกต้องมาทำประชามติ ถ้าคิดว่าประชาชนยังมีเสียงก้ำกึ่งกันอยู่ ผู้นำที่ดีถ้าต้องการเซฟสังคม เซฟประชาชน ตัดสินใจลาออกก่อนก็ได้ แต่ถ้าคิดว่าประชาชนอีกฝ่ายยังอยากให้อยู่ก็ลงเลือกตั้งใหม่ การทำประชามติที่ดีคือการเลือกตั้ง

ยืนยันบิ๊กตู่ต้องลาออก

การเลือกตั้งใหม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ แก้กติกาใหม่ จะได้แก้ปัญหาได้ครบถ้วน ส่วนจะต้องแก้รัฐธรรมนูญหรือกติกาก่อนลาออกนั้น เรื่องนี้ทำได้เลย ถ้าคิดว่าจะลงเลือกตั้งใหม่ก็ควรแก้กติกา แต่ถ้าไม่คิดหวนกลับมาก็ลาออกตั้งแต่วันนี้ได้เลย และให้นายกฯ คนใหม่ทำกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ส่วนการยุบสภาหากยุบสภาเวลานี้รัฐธรรมนูญยังไม่ได้แก้ ปัญหาก็ยังไม่คลี่คลาย หากเป็นรัฐธรรมนูญเดิมการสืบทอดอำนาจยังคงอยู่ การไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่ก็จะเกิดขึ้นอีก ส่วนการทำประชามติถามประชาชนก่อนแก้รัฐธรรมนูญต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้ประชาชนมองว่ารัฐบาลกำลังซื้อเวลา และต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น

ฝ่ายค้านตามบี้นายกฯต้องออก

เวลา 09.30 น. มีการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 เป็นวันที่สอง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ส.ส.ซีกฝ่ายค้านยังคงยืนยันว่าทางออกคือนายกฯ ต้องลาออกทันที ขณะที่ซีกรัฐบาลยังเน้นการอภิปรายโจมตีผู้ชุมนุม

นางมนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม พท. อภิปรายว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่พล.อ. ประยุทธ์ จะต้องนั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อไป ถึงแม้รัฐสภาจะไม่มีพล.อ.ประยุทธ์ ก็ดำเนินไปได้ รัฐบาลควรเลิกอ้างว่าการปกป้องสถาบันต้องมีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เท่านั้น เพราะคนไทยส่วนใหญ่เคารพเทิดทูนสถาบัน

ตู่ฉะความจำสั้น-ไล่ดูอดีตปี 57

นายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายว่า นายกฯมี 4 ทางเลือก 1.ซื้อเวลา ไม่ออก ไม่สนใจ อยู่แบบนี้ ปล่อยให้ชุมนุม ทำร้ายประเทศไปเรื่อยๆ 2.ลาออกและยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าตัวเองเป็นต้นตอปัญหาทั้งหมด หากไม่ยึดอำนาจในวันนั้นคงไม่มีเหตุการณ์ในวันนี้ ถ้าเสียสละ ลาออกจะแก้ปัญหาได้ นายกฯใหม่ที่เข้ามาจะมาพูดคุยหาข้อสรุปของผู้ชุมนุมได้ 3.ยุบสภา เชื่อว่าถ้าไม่มีทางออกคงเลือกข้อนี้มากที่สุด แต่ยุบสภาจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ การชุมนุมจะบานปลายทำให้รัฐล้มเหลว เลือกตั้งต้องใช้เวลานาน การยุบสภาจึงไม่ใช่ทางออก และ 4.ยึดอำนาจ ไม่อยากคิดเลยว่าถ้าเกิดขึ้นจริง หายนะจะเกิดขึ้น แผ่นดินจะนองเลือด

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ชี้แจงทันทีว่า การที่ให้ตนทำ 1,2,3,4 ตนเข้ามาด้วยอะไร หน้าที่ตนจบหรือยัง ถ้ายังไม่จบตนจำเป็นต้องทำให้จบ แต่จะจบด้วยอะไรก็แล้วแต่ ตนไม่ต้องการรักษาอำนาจให้นานที่สุด แต่เป็นหน้าที่ของตน

“มองว่าผมเป็นต้นตอปัญหาทั้งหมด ท่านก็พูดแต่เรื่องยึดอำนาจ รัฐประหาร ไม่เคยพูดถึงเผด็จการรัฐสภาที่เกิดมาก่อนหน้า และรัฐธรรมนูญปี 2560 ผมไม่ได้ไปก้าวล่วง ไปยุ่งเกี่ยวกับการร่าง วันนี้อยากจะแก้ผมก็ให้แก้ อย่าโยงตรงนั้นตรงนี้ทำให้เข้าใจผิด วันนั้นหากไม่มีการยึดอำนาจท่านทราบดีจะเกิดการจลาจลเพราะสองฝ่ายมีจำนวนมาก” นายกฯ กล่าวและว่า หลายอย่างเกิดขึ้นก่อนตนจะเข้ามาลืมแล้วหรือยัง ความวุ่นวาย การทุจริตที่มีหลักฐานชัดเจนเชิงประจักษ์ ลืมหมดแล้วหรือ กรุณาไปทบทวนใหม่ว่าเกิดอะไรขึ้นในปี 2557 วันนี้บ้านเมืองวุ่นวายเพราะอะไรขอให้ทุกคนทบทวน หลายคนอาจความจำสั้นไปนิด”

พช.เย้ยรัฐบาลอยู่จนเบื่อ

นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ อภิปรายว่า ต้นตอปัญหาคือการยึดอำนาจและร่างรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ ไม่ได้อยู่ยาวแต่อยู่จนเบื่อ บริหารบ้านเมืองเสียหาย สร้างหนี้สิน และข้ออ้างที่บอกว่าจะปกป้องสถาบัน แต่สถาบันได้รับผลกระทบมากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา แต่นายกฯยังนิ่งเฉย ไม่แก้ไข ยิ่งอยู่นานปัญหายิ่งบานปลาย

นายถวิล เปลี่ยนศรี ส.ว. อภิปรายว่า ศัตรูของคนรุ่นใหม่ที่แท้จริงคือนักการเมืองไม่ดี ข้าราชการทุจริต นายทุนที่เห็นแก่ตัว คนไม่ดีเหล่านี้ปลุกปั่นเยาวชน ตนขอประณามไอ้โม่ง อีแอบที่เอาความคิด ความเกลียดชังสถาบันใส่ไปในความคิดเด็กๆ เพื่อสนองความมักใหญ่ใฝ่สูง การบริหารงานของนายกฯยังไม่ได้ทำผิดอะไรรุนแรงถึงขั้นจะขับไล่กันทั่วประเทศเหมือนอดีตนายกฯคนหนึ่ง

ก้าวไกลฉะอำนาจนิยมกดทับ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า เมื่อนายกฯที่เป็นแกนกลางของปัญหายืนกรานตัวเองไม่ผิด ปัญหาจึงเป็นไฟลามทุ่ง ไม่ต่างเอาน้ำมันก๊าดราดกองเพลิง และที่ให้อภัยไม่ได้คือพฤติกรรมที่พยายามซ้ำเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ด้วยการ ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดชังกัน โศกนาฏกรรมแบบนี้เกิดการผลิตซ้ำมาแล้วอีกครั้งในเหตุการณ์สังหารประชาชนที่ทุ่งสังหารราชประสงค์ พ.ค.53 มีประชาชนเสียชีวิต 99 ศพ ผ่านไป 10 ปีไม่มีการชำระประวัติศาสตร์ ฆาตกรยังลอยนวล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่คิดจะเรียนรู้ แต่เอาคำว่าชังชาติ ล้มเจ้า มาปลุกปั่นสร้างความเกลียดชัง เอาแต่หลอกตัวเองซ้ำๆว่าการชุมนุมมีคนอยู่เบื้องหลัง ดูถูกประชาชนอยู่ตลอดเวลา ใช้มุขเดิมๆ สร้างปีศาจและยัดเยียดให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งเป็นศัตรู เอาประชาชนเป็นเหยื่อ พอเกิดเหตุปะทะก็ใช้อำนาจพิเศษ ใช้กฎหมายจัดการประชาชนที่คิดต่างอย่างเลือกปฏิบัติ

ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมต้องเข้าใจก่อนว่า ท่าทีที่ตรงไปตรงมาซึ่งเราไม่คุ้นเคยจนกลายเป็นความเกรี้ยวกราดในบางครั้ง เพราะถูกกดทับด้วยอำนาจนิยมที่บอกว่าต้องเชื่อ ห้ามตั้งคำถาม แต่ปัจจุบันการบอกว่าเดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด พวกเขาก็ตั้งคำถามว่าต้องห่างกี่เมตรหมาจึงไม่กัด การแก้ปัญหาจะใช้อำนาจนิยมกดเข้าไปอีกต่อไปไม่ได้ เมื่อประชาชนหวังพึ่งให้รัฐบาลนี้สร้างพื้นที่ปลอดภัยไม่ได้ เลี่ยงไม่ได้ที่ประชาชนจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยด้วยตัวเอง

ขอนายกฯอิสระจากคสช.

“การพูดคุยเรื่องต่างๆ ต้องมีฉันทามติร่วมกัน เพียงแต่พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรู้ตัวเองว่าได้ทำผิดอะไรลงไป ไม่ได้อยู่ในสถานะที่เป็นตัวกลางแก้ปัญหานี้ได้ จึงขอเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ เสียสละลาออกจากตำแหน่ง ขอให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว และเลือก นายกฯ คนใหม่ที่เป็นอิสระจากกลไก คสช. และร่างรัฐธรรมนูญจากส.ส.ร. ที่ยึดโยงกับประชาชน จากนั้นจึงยุบสภา คืนอำนาจให้กับประชาชน ต้องยอมรับว่ารัฐนาวานี้ได้นับถอยหลังลงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออก เพื่อให้ประชาชนได้อนาคตของพวกเขาไปข้างหน้า” นายวิโรจน์กล่าว

หลังนายวิโรจน์ อภิปราย นายถวิล ประท้วงว่าเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 แตกต่างจากช่วงมี.ค.-พ.ค.53 ปี 53 ผู้ชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ มาจากการเลือกตั้ง และที่บอกรัฐบาลล้อมปราบประชาชนที่แยกราชประสงค์ ในฐานะเลขาธิการศอฉ. รัฐบาลแก้ปัญหาโดยไม่มีการสลายการชุมนุม เพียงแต่กระชับวงล้อม ใช้ กำลังศอฉ.ทำลายเครื่องกีดขวาง ไม่มีการสลายการชุมนุม จนนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.ก้าวไกล ประท้วงว่าประธานไม่ควรให้ฝ่ายใดมาชี้แจงใส่ร้ายประชาชนในเหตุการณ์ปี 53 แต่นายชวนอนุญาตให้นายถวิล ชี้แจง โดยกล่าวว่า “ขออย่ากลัวความจริง ผมตัดสินแล้วอนุญาตให้ชี้แจงต่อ”

ส.ส.พปชร.ซัดม็อบเต็มๆ

เวลา 11.45 น. บรรยากาศดุเดือดขึ้น เนื่องจากนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.พปชร. ใช้ถ้อยคำรุนแรง หมิ่นเหม่และเสียดสีผู้ชุมนุมหลายครั้ง จนถูกประท้วงจากส.ส.ก้าวไกล เป็นระยะ นายชวน ก็เตือนเป็นระยะเช่นกัน

นายชัยวุฒิ อภิปรายว่า ต้องดูด้วยว่าผู้ชุมนุมคิดอย่างไรกับบ้านเมือง คนไทยรู้กันหมดไม่อย่างนั้นคงไม่ออกมาใส่เสื้อเหลืองทั้งประเทศ การปราศรัยที่สนามหลวง 1 ชั่วโมง โจมตีรัฐบาล 10 นาที ที่เหลือโจมตีสิ่งที่เหนือกว่ารัฐบาล เรียกตัวเองว่าคณะราษฎร 2563 จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่วนการใช้โซเชี่ยลแชร์ข้อมูล ส่งภาพบิดเบือน ถึงเวลาต้องเอาอำนาจการสื่อสารกลับมาเป็นของคนไทย ปล่อยต่างชาติเอาโซเชี่ยลมาทำร้ายคนไทยต่อไปไม่ได้ มีนักการเมืองสร้างกระแสเรื่องสถาบันโดยใช้โซเซี่ยล มีเงินทุนเคลื่อนไหวมาจากต่างชาติและผู้ไม่หวังดีสนับสนุน ผู้จุดประเด็นเป้าหมายไม่ใช่แค่เป็นนายกฯ แต่เป็นอะไรมากกว่านั้น นักการเมืองคนนี้คนทั้งประเทศรู้ว่าเป็นใครที่ไปฝั่งชิพหลอกลวงคนรุ่นใหม่

ส.ว.ป้องนายกฯออกไม่ได้

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลฯ ชี้แจงว่า เนื้อหาในโซเชี่ยลแสดงออกรุนแรงมาก ทั้งยุยง ปลุกปั่น ทำลายสถาบันหลัก 2,000 กว่าราย ที่ถูกดำเนินคดี ดูแล้วว่าจำเป็นไม่ได้ใช้ความรู้สึกของรัฐบาลแต่อาศัยกระบวนการยุติธรรม ที่ระบุปิดกั้นสื่อก็ไม่เป็นความจริง ยังทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ เราแค่เตือนว่าสิ่งที่เสนอหากไม่ได้ตั้งใจขอให้ลบออก แต่ถ้าไม่ดำเนินการใดๆ จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า นายกฯไม่มีความผิด ไม่ได้ทุจริตหรือคอร์รัปชั่น หากลาออกจะเกิดบรรทัดฐานไม่ได้ทำผิดแต่ม็อบมากดดันก็ต้องลาออก และหลายคนพูดว่าลาออกก็ไม่จบ เพราะไม่ได้แค่ต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออก และพล.อ.ประยุทธ์ ลาออกไม่ได้โดยเด็ดขาด โดยเฉพาะสถานการณ์ที่มีผู้จาบจ้วงสถาบัน พล.อ.ประยุทธ์ คือตัวเลือกตัวเดียวที่เหมาะสมที่สุดในการปกป้องสถาบัน ตนเสนอให้ตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนพูดคุย รวมทั้งฝากรมว.ต่างประเทศให้เชิญทูตในประเทศที่มีแกนนำไปอยู่ เข้ามาพบเพื่อให้หยุดการ กระทำ อาศัยการแลกเปลี่ยนที่เป็นประโยชน์ คุยเฉยๆ คงไม่ได้เพราะเขามีอิทธิพล ส่งข้อมูลทางโซเชี่ยลมีเดียมายังผู้ชุมนุม

ภท.จี้เอาผิดม็อบไปสถานทูต

นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) อภิปรายว่า รัฐบาลทุ่มเทแก้โควิด-19 แทนที่จะได้แก้เศรษฐกิจต่อ กลับต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมือง ที่สุดถ้าตั้งกรรมการให้ทุกฝ่ายเข้ามาพูดคุย ภท.สนับสนุน แต่เราไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง และวันนี้น่าเป็นห่วงว่ามีการจาบจ้างสถาบันเกินกว่าจะยอมรับได้ เหตุการณ์ที่สถานทูตเยอรมันเมื่อ 26 ต.ค. เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องดำเนินคดีกับ ผู้กระทำผิดที่หมิ่นสถาบัน

ด้านน.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พท. อภิปรายว่า การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดูเหมือนจะเปิดโอกาสให้เกิดม็อบชนม็อบมากกว่า เยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี หรือนักข่าวก็ยังถูกควบคุมตัว ขณะที่กลุ่มคนใส่เสื้อเหลืองที่ทำร้ายนักศึกษาไม่มีใครถูกดำเนินคดี สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ ทำได้เลยคือลาออกทันที แล้วปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาดำเนินการต่อไป

ส.ว.ยันตู่ไม่ได้สั่งสลายม็อบ

พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ส.ว. อภิปรายเรื่องขัดขวางขบวนเสด็จว่า วันดังกล่าว ผบช.น.จัดกำลัง 1 กองร้อยถวายความปลอดภัย ฝ่ายตรงข้ามเมื่อรู้ว่ามีขบวนเสด็จก็เริ่มส่งเสียง ไปรวมกันเป็นกลุ่มย่อยๆ เชิง สะพานชมัยมรุเชฐ มีการออกคำสั่งให้ชูนิ้ว ทำให้เกิดเรื่อง ส่วนการสลายการชุมนุมแยกปทุมวันนายกฯไม่เคยสั่ง เป็นหน้าที่ข้าราชการประจำดำเนินการ และเป็นไปตามลำดับ 7 ขั้นตอน การฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมเป็นขั้นตอนที่ 2 ไม่ได้รุนแรงอะไร น้ำที่ใช้ฉีดไม่เป็นอันตรายมากมาย และไม่ไปถึงขั้นใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ตาข่าย

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายว่า ขอเสนอให้เพิกถอนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และคดีที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุม และให้แกนนำได้เข้ามาหารือกับรัฐบาลในบรรยากาศและสถานที่ที่ปลอดภัย เปิดเวทีเสวนาเรื่องสถาบันได้ ถ้าในสภาหรือในกมธ.พูดเรื่องนี้ไม่ได้เรื่องนี้จะถูกนำไปพูดบนท้องถนน ต้องยืนยันในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ด้วยเจตจำนงธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราจำเป็นต้องการเหตุและผล รวมถึงการเปิดให้พิจารณารัฐธรรมนูญได้ทุกหมวด โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

วันชัยจี้ปลดล็อกคดีการเมือง

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง ปชป. อภิปรายว่า ต้องยอมรับความจริงทุกการชุมนุมยากจะจบแบบสวยๆ หรือแฮปปี้เอ็นดิ้ง การชุมนุมใหญ่ที่ผ่านมา 3 ครั้งจบด้วยรัฐประหาร ครั้งนี้ไม่มีใครอยากเห็นจุดจบประเทศเดินสู่รัฐประหารอีก ที่อาจเป็นทางออกได้ 1.การแก้รัฐธรรมนูญมีไทม์ไลน์ชัดเจน 2.การเสนอตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ทั้ง 2 ประเด็นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อาจทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเพียงชั่วขณะ แต่การบังคับใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็น เป็นธรรมและเท่าเทียมนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลควรคิดอย่างจริงจัง รวมถึงการปฏิรูปสถาบัน บรรยากาศขณะนี้อาจไม่ใช่เวลาจะพูดเรื่องนี้แต่โจทย์เรื่องนี้จะยังอยู่ต่อไป

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายว่า ความปรองดองสมานฉันท์เป็นสิ่งสำคัญ การใช้กฎหมายและอำนาจไปต่อสู้กับความคิดทางการเมืองนั้นจบยาก ถ้าปล่อยไปแบบนี้ประเทศย่อยยับแน่ จึงควรใช้หลักเมตตาธรรม คนที่จะทำให้ประเทศปรองดองได้คือ พล.อ.ประยุทธ์ จึงอยากให้พิจารณาเรื่องปรองดองคดีที่เกี่ยวกับการเมืองทั้งหมดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะยกเลิกหรือยุติได้หรือไม่ ถ้าทำได้จะสร้างความปรองดองได้

น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พท. อภิปรายว่า พล.อ.ประยุทธ์คือศูนย์รวมและเป็นสารตั้งต้นของปัญหา เป็นนักไล่ล่าจับกุมคุมขังผู้เห็นต่างทางการเมือง และยังเป็น นักปฏิเสธการปฏิรูป วันนี้นายกฯ ควรเสียสละลาออก อย่ามาอ้างว่าถ้าไม่มีพล.อ.ประยุทธ์ ประเทศจะไม่มั่นคง เพราะพล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่ความมั่นคงของคนทั้งประเทศ

‘วิสาร’กรีดเลือดกลางสภา

จากนั้น นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พท. อภิปรายถึงการชุมนุมของนักเรียน นิสิตนักศึกษา ไม่ต้องการให้รัฐบาลใช้ความรุนแรง และอยากให้นายกฯลงมารับฟังปัญหาของเด็กๆ ด้วยตัวเอง มีหลายเรื่องอยากพูดและคิดแล้วว่าต้องทำอะไรสักอย่าง ตนเป็นส.ส.มาตั้งแต่ปี 2529 รักสภา มิบังอาจทำให้เสื่อมเสีย แต่วันนี้คิดไม่ออกว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ไม่อยากให้เด็กๆ เลือดตกยางออก สิ่งที่ตนเรียกร้องวันนี้อาจผิดข้อบังคับการประชุมสภา แต่ต้องทำ ขออนุญาตกรีดเลือดให้พล.อ.ประยุทธ์ เห็นว่าตนตั้งใจจริงๆ

กรีดเลือด – นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กรีดเลือดตัวเองกลางสภา เรียกร้องให้พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่ง ระหว่างอภิปรายทางออกวิกฤตประเทศ ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 27 ต.ค.

จากนั้นนายวิสาร ถลกแขนเสื้อหยิบมีดขึ้นมา กล่าวเสียงดังว่า “ขออนุญาตประธานว่าขอเป็นตัวอย่างสุดท้าย ขออย่าให้มีอีก 3 แผลเอาไปเลยครับ 3 แผลท่านประยุทธ์ พล.อ.ประยุทธ์ ท่านจะเป็นทรราชหรือจะเป็นวีรบุรุษ” แล้วใช้มีดกรีดที่แขนซ้าย 3 ครั้ง ท่ามกลางความตกใจของสมาชิก

ขณะที่นายชวนกล่าวว่า ไม่อนุญาตให้กรีดเลือด จากนั้น นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม ขึ้นอภิปรายต่อได้ไม่นาน นายสมชาย แสวงการ สมาชิก ส.ว. ใช้สิทธิ์ลุกหารือว่า ขอให้ประธานใช้ข้อบังคับข้อ 5 เพราะมีหลายเรื่องไม่สบายใจ มีการถ่ายทอดสดการประชุมซึ่งเรามาหาทางออกร่วมกัน แต่มีสมาชิกเอาอาวุธเข้ามาในห้องประชุมเพื่อเฉือนตัว อาจมีตัวอย่างนำไปเลียนแบบในการชุมนุมได้ อยากให้ประธานพิจารณาว่าจะประชุมต่อ หรือยุติการประชุม ขณะที่ นายชวน ชี้แจงว่า การประชุมจะดำเนินต่อ ไม่มีเหตุให้ต้องยุติ จากนั้นนายชวน ประสานให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลและส่งตัวนายวิสาร ไปที่ร.พ.วชิระ

อึดอัด-ลั่นพร้อมฆ่าตัวตาย

นายวิสาร ให้สัมภาษณ์หลังกลับจากร.พ. ว่า เล่นการเมืองมา 34-35 ปี ไม่มีครั้งไหนกดดัน ที่ตัดสินใจเพราะตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. เห็นเด็กๆอยู่ที่ราชประสงค์จึงคิดว่าควรทำอะไรสักอย่าง อยากให้เป็นเลือดสุดท้ายของคนไทย ตนผ่านมาทั้ง 6 ตุลา 19, พฤษภาทมิฬปี 35, ปี 53 และปี 2556 ตนตั้งใจสื่อสารถึงนายกฯ โดยตรง อย่าไปฟังเสียงอวยอย่างเดียว จึงนึกว่าควรเรียกร้องอะไรให้นายกฯสนใจ ขณะนี้มีอำนาจล้นฟ้า ลดลงมานั่งคุยกับเด็ก อย่างการลาออก นายกฯให้เหตุผลได้ว่ารัฐธรรมนูญยังไม่ได้แก้ก็ต้องรอ ให้สองฝ่ายพูดคุยกัน นายกฯต้องลดทิฐิ และจะแก้รัฐธรรมนูญได้เร็วขึ้นหรือไม่

“เรียนด้วยความอัดอั้น ผมตัวคนเดียวพร้อม suicide (ฆ่าตัวตาย) แต่ถึงตรงนี้มันไม่เป็นประโยชน์ ที่สำคัญอยากให้นายกฯรู้ว่าท่านควรลงมาแก้ปัญหา จะลาออกหรือไม่ ก็ต้องรับฟังความเห็นจากเด็กๆ ขอให้ใช้โอกาสตรงนี้”

แผลลึก-เย็บ 9 เข็ม

เมื่อถามว่าหากเจอพล.อ.ประยุทธ์จะทำอย่างไร นายวิสารกล่าวว่า ยินดีกราบ ถ้าทำอย่างที่ตนว่าอย่างน้อยก็อย่าให้เด็กต้องเลือดตกยางออก เขาไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ขอฝากเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นนายวิสารโชว์แผลให้สื่อมวลชนดูพร้อมระบุ แผลแรกไม่ลึก แผลที่สองเริ่มลึก แผลที่สามพอเห็นก็ตกใจ เพราะแผลเริ่มกว้าง ทั้งหมดเย็บ 9 เข็ม ฉีดยากันบาดทะยักอีก 2 เดือน ส่วนมีดยืมมีดปอก ผลไม้จากแม่บ้านของรัฐสภา

ระหว่างให้สัมภาษณ์ นายชวน ลงมาเจอ นายวิสารได้กราบขออภัยนายชวน ส่วนนายชวนกล่าวว่า ห้ามแล้วว่าไม่ให้ทำ แต่เมื่อเกิดขึ้นก็เป็นห่วงอาการบาดเจ็บจึงจะไปเยี่ยม เมื่อถามว่าแม่บ้านคนที่ให้ยืมมีดจะเดือดร้อนหรือไม่ นายชวนกล่าวว่านายวิสารไม่ได้นำอาวุธเข้าสภาแต่ใช้มีดปอกผลไม้ที่อยู่ในสภา ถึงอย่างไรก็ไม่เห็นด้วย ตนห้ามแล้วแต่ต้องเข้าใจอารมณ์ การเมืองต้องอดทน ระบอบประชาธิปไตยต้องอดทน และตนยังไม่ได้คุยกับนายกฯถึงเรื่องนี้

ถกรธน.-รัฐบาลรอร่างไอลอว์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภา แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการถึงข้อเสนอตั้งคณะกรรมการเพื่อหาทางออกให้ประเทศ ฝ่ายรัฐบาลส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย ทั้งนี้มีการเสนอสัดส่วนคณะกรรมการ ที่มีฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล ครม. วุฒิสภา และบุคคลภายนอก โดยมีหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ เข้าร่วมด้วย และวันที่ 28 ต.ค. วิป 3 ฝ่ายจะพูดคุยถึงข้อสรุป ทางออกของปัญหา และทิศทางการแก้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งการตั้งคณะกรรมการ แต่เป็นไปได้ยากเพราะฝ่ายค้านยังไม่เห็นด้วย

ส่วนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ พปชร.เสนอว่าให้รอบรรจุญัตติร่างของไอลอว์เสนอ คาดจะเสนอเข้าวาระแรกได้กลางพ.ย. และจะพิจารณาทั้ง 3 ร่างของรัฐบาลและไอลอว์ ไปพร้อมกัน ก่อนสรุปขมวดให้เป็นร่างเดียว

พท.ไม่เชื่อรัฐบาลเร่งแก้รธน.

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าและประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พท. กล่าวกรณีพล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงรัฐสภาถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านวาระ 3 ได้ภายในเดือนธ.ค. และสัปดาห์หน้ารัฐบาลจะเสนอร่างพ.ร.บ.ประชามติ ว่า การพิจารณาวาระ 1-3 ให้เสร็จในเดือนธ.ค. ทำได้อย่างเดียวคือลดบางขั้นตอนลง เช่น การพิจารณาวาระที่ 2 แทนที่จะตั้งกมธ.พิจารณา อาจใช้กมธ.เต็มสภา ลดขั้นตอนและระยะเวลาลงได้อย่างน้อย 30-40 วัน

แต่ปัญหาใหญ่คือไม่ได้มีร่างแก้ไขเพียงร่างเดียว มี 6 ร่าง และยังมีร่างของประชาชนอีก แต่ละร่างยังแตกต่างกันในสาระสำคัญ เช่น ร่างของฝ่ายค้าน มีส.ส.ร.ใช้วิธีเลือกตั้งทั้งหมด แต่ของพรรคร่วมรัฐบาลเลือกตั้งบางส่วน แต่งตั้งหรือสรรหาบางส่วน ร่างของฝ่ายค้านเมื่อผ่านวาระ 3 ให้ทำประชามติแล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ แต่ของพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อผ่านวาระ 3 แล้ว นำขึ้นทูลเกล้าฯได้ทันที จะทำประชามติต่อเมื่อรัฐสภาไม่ผ่านวาระ 3 และยังมีปัญหาการทำประชามติ เพราะสมาชิกรัฐบาลบางส่วนและส.ว.บางส่วน เห็นว่าต้องทำประชามติก่อนแก้ไข และยืนยันจะร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ความเห็นที่ไม่ลงรอยกันนี้เป็นสาระสำคัญ หากจะใช้กมธ.เต็มสภาดูจะเป็นเรื่องยากมาก เว้นแต่ทุกฝ่ายต้องการยกร่างฉบับใหม่โดยเร็วที่สุดเพื่อแก้ปัญหาการเมือง มีคำสั่งมาถึงฝ่ายตนเองว่าอย่าเรื่องมาก ยอมละเลิกความเห็นต่าง และถ้าจะทำให้เร็วก็ต้องเร่งรัดทำกฎหมายประชามติ อาจต้องใช้วิธีพิจารณา 3 วาระรวด โดยกมธ.เต็มสภา แต่คิดว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะนี้ยังไม่เห็นร่างกฎหมายประชามติที่รัฐบาลจัดทำ ตนเชื่อว่าอาจมีปัญหาห้ามประชาชนรณรงค์และกำหนดเป็นความผิดอาญา เหมือนการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งยังมีคดีความที่เอาผิดกับประชาชนผู้เห็นต่างค้างอยู่จำนวนมาก เหตุนี้จึงไม่มั่นใจในถ้อยแถลงของนายกฯ และเชื่อว่าพูดเพื่อลดกระแสมากกว่า

สุทินฉะใช้สถาบันป้อง

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.พท. ประธานวิปฝ่ายค้าน อภิปรายสรุปว่า การเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลอื่น นายกฯไปทำตัวเป็นแนวร่วมคนที่จะล้มล้างสถาบันหรือเปล่า อยู่ในตำแหน่ง 7 ปี ใช้ต้นทุนจากสถาบันเปลืองไปหรือเปล่า เขาเรียกร้องให้ลาออกใน 3 วัน แต่ไม่ลาออก เขาจึงยกระดับขึ้นอีก นี่คือการเลยป้าย ต้องใช้สติปัญญาอย่างประณีตปกป้องสถาบัน อย่าใช้อารมณ์ชี้หน้าคนอื่น เลิกคิดได้แล้วว่าม็อบเด็กมีเบื้องหลัง ต้องยอมรับว่ารัฐบาลยิ่งเปราะบางในสายตาต่างชาติ ถ้าพูดไม่มีหลักฐานว่าต่างชาติอยู่เบื้องหลัง เขาเล่นงานเราตายเลย

พร้อมย้ำว่านายกฯเป็นศูนย์รวมปัญหา อยู่ที่ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จะเลือกอะไร จอมพลถนอม กิตติขจร ไม่ลาออกก็เกิด 14 ตุลา แต่เบื้องบนปลอดภัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร ไม่ออกก็เกิดพฤษภาทมิฬ ข้างบนไม่ด่างพร้อย ถ้านายกฯ ลาออกวันนี้ ตัดปัญหาทีละเปลาะ เอาปัญหาของท่านออกจากปัญหาของเบื้องบน จะแก้จะง่ายขึ้น แต่ถ้าปัญหายังพันกันอยู่ จับทั้งหมดไว้เป็นตัวประกัน หรือท่านถวายเผือกร้อนแบบนี้มันยาก ฝ่ายค้านก็ไม่มีปัญญาไปบังคับ ท่านจะเป็นคนขีดเขียนประวัติศาสตร์ จะนองเลือดหรือไม่อยู่ที่ท่าน ฝากให้คิด หากเกิดอะไรขึ้นต้องรับผิดชอบ คนที่บอกว่าอย่าออก ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

ตู่ชี้เชือดแขนจัดฉาก

เวลา 21.20 น. พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงว่า ตนรักลูกหลานทุกคน แต่ควรสร้างความเข้าใจ มีการชี้นำที่ถูกต้อง สงบ ตนยอมรับฟังเสียงของทุกคน มีทั้งทำได้ ทำไม่ได้ การ ชุมนุมในกทม. ตนไม่โทษเขาแต่มีอะไรหรือเปล่าตนไม่ทราบ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังขับเคลื่อน สร้างความเชื่อมั่น

“ผมได้รับข้อมูลจากนักข่าวข้างล่างว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสักครู่ว่ามีเบื้องหลังพอสมควร ช็อตเด็ด เพื่อแพร่ไปสู่เวทีโลกให้มีเลือดตกยางออก ผมก็เสียใจเพราะไม่เคยเกิดขึ้นในสภามาก่อน” นายกฯ กล่าวและว่า ตนยินดีร่วมมือแก้ปัญหา แต่ต้องไม่ลิดรอนสิทธิของคนอื่น เห็นด้วยกับแนวทางตั้งคณะกรรมการ เพื่อนำไปสู่แนวทางพูดคุยหาทางออกกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐบาล รัฐสภา ผู้เห็นต่าง หรือกลุ่มใด ซึ่งต้องนำสู่การปฏิบัติให้ได้

ส่วนการลาออก การแก้รัฐธรรมนูญอยู่ในขั้นตอนของรัฐสภาอยู่แล้ว ตนไม่เคยยึดติดกับตำแหน่ง ต้องถามคนร่างตนไม่ได้เป็นคนร่าง แต่มาไล่ทุกวัน ก็ให้ความเป็นธรรมกับตนบ้าง ตนจะไม่ตัดช่องน้อยแต่พอตัวเพื่อหนีปัญหา จะไม่ละทิ้งหน้าที่ด้วยการลาออกในยามบ้านเมืองมีปัญหา ตนจะยังแก้ปัญหาต่างๆ ตนจะปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่อไปจนกว่าจะไม่มีโอกาสได้ทำ ชัดไหม

ก้าวหน้าฟ้องกลับกกต.-ศาลรธน.

นายชำนาญ จันทร์เรือง สมาชิกคณะก้าวหน้า อดีตกกก.บห.อนาคตใหม่ กล่าวถึงสำนักงานกกต. มีมติดำเนินคดีอาญากับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อมอดีตกก.บห.พรรค 15 คน จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ผิดมาตรา 66 ประกอบมาตรา 72 พ.ร.ป.รรคการเมือง ปมกู้ยืมเงิน 191.2 ล้านบาท ว่า เรื่องนี้ก็สู้คดีกันไป แต่ความผิดเหล่านี้ต้องดูเป็นรายบุคคล ไม่ใช่เหมาทั้งกก.บห.พรรค และไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่เป็นนิติสงครามที่ใช้เล่นงานเรามาตลอด กก.บห.อนาคตใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในคณะก้าวหน้า ขับเคลื่อนเรื่องท้องถิ่น ผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขาก็เอาเรื่องนี้มาทำให้เราเคลื่อนไหวลำบาก

ตามหลักกฎหมายการยุบพรรคตัดสิทธิ์ ไม่เข้ากฎหมายมาตั้งแต่แรก แต่เขาบิดเบือนหลักกฎหมายมาใช้เล่นงานเรา ทั้งที่คดีพวกนี้ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน ตนยังมองว่ากกต.วางยารัฐบาลหรือเปล่า เพราะมาดำเนินคดีเราตอนนี้ทำให้เชื้อปะทุขึ้นอีกทาง อยู่ดีๆ มาเร่งเครื่องให้คนไม่พอใจอีก ผิดสังเกต แต่เราเตรียมรับมือไว้แล้ว พร้อมฟ้องกลับเป็นรายบุคคล เรื่องการใช้อำนาจยุติธรรมสุจริตหรือไม่ ทั้งกกต.และศาลรัฐธรรมนูญ

“วัตถุประสงค์คือต้องการหยุดเราเท่านั้น พอรู้ว่ายุบพรรคแล้วหยุดไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีนี้ เรารู้อยู่แล้วต้องมาเจออะไรแบบนี้ เพียงแต่มันจะมาเมื่อไรเท่านั้น เราไม่กลัว น้องๆ นักศึกษาหรือคนอื่น ลำบากกว่าเราเยอะ พวกเขาต่อสู้มากกว่าเราอีก” นายชำนาญกล่าว

64 ส.ส.ระทึก-นัดชี้คดีหุ้นสื่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 28 ต.ค. ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือและลงมติ รวมทั้งอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีที่ประธานสภาผู้แทนฯส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกสภาพ ส.ส. 32 คน ของฝ่ายรัฐบาล และอีก 32 คนของฝ่ายค้าน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ ด้วยเหตุถือครองหุ้นสื่อ โดยเวลา 15.00 น. ศาลนัดอ่านคำวินิจฉัยส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เวลา 16.00 น. อ่านคำวินิจฉัยส.ส.ฝ่ายค้าน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน