ศาลไม่ให้หมายจับมายด์-เพื่อนอีก4
ชี้เป็นนักศึกษา-ชุมนุมแค่ระยะสั้น
ม็อบยังคับคั่งปทุมวัน-ถนนสีลม

อดีตนายกฯ‘อานันท์ ปันยารชุน’ออกโรง ถาม‘บิ๊กตู่’ได้ยินเสียงเรียกร้องของม็อบหรือไม่ ส่วนจะตัดสินใจลาออกหรือไม่ถือเป็นสิทธิ หนุนแก้รธน.โละ 250 ส.ว.ด้วย ศาลอาญากรุงเทพใต้ยกคำร้องตำรวจ ขอหมายจับ ‘น้องมายด์’ และเพื่อนรวม 5 คน ข้อหามาตรา 116 คดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน ชี้เป็นนักศึกษา ชุมนุมระยะสั้น ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต้องออกหมายเรียกก่อน ด้านตำรวจสน.ทุ่งมหาเมฆเรียกเข้ารับทราบข้อหาวันที่ 3 พ.ย. ด้านม็อบราษฎรฮือชุมนุมอีกสกายวอล์กแยกปทุมวัน รำลึกรัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน ขณะที่ถนนสีลมจัดเวทีแสดงงานศิลปะประชาชน ปูพรมแดงแสดงงานตั้งแต่หน้าวัดแขก

ศาลยกคำร้องหมายจับ‘มายด์’

เมื่อวันที่ 29 ต.ค.63 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอหมายจับ จ.489/2563 ที่พ.ต.อ.พิทักษ์ สุทธิกุล รอง ผบก.อคฝ. รักษาราชการแทน ผกก.สน.ทุ่งมหาเมฆ ยื่นขอออกหมายจับ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ อายุ 25 ปี, นายกรกช แสงเย็นพันธ์ อายุ 28 ปี, นายชนินทร์ วงษ์ศรี อายุ 20 ปี, นายชลธิศ โชติสวัสดิ์ อายุ 21 ปี และน.ส.เบนจา อะปัญ อายุ 21 ปี

ในความผิดฐาน ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามมาตรา 116 และข้อหาอื่นๆ จากกรณีที่เป็นเเกนนำไปชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมัน ย่านสาทร กทม. เมื่อค่ำวันที่ 26 ต.ค.

ตร.ยังไม่มีหลักฐานเอาผิด‘ไผ่’

โดยนัดไต่สวนวันนี้ ผู้ร้องมาศาลไต่สวนพยานผู้ร้องได้ 1 ปาก เป็นผู้ร้องเบิกความประกอบกับส่งสำเนาสำนวนการสอบสวนและพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องพร้อมวีซีดีจำนวน 1 แผ่น โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาการชุมนุมระยะเวลาสั้น ยังไม่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนีประกอบกับผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จึงเห็นควรให้ผู้ร้องไปดำเนินการออกหมายเรียกก่อนในชั้นนี้ให้ยกคำร้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการไต่สวนหมายจับในวันนี้มาจากกรณีที่ทางพนักงานสอบสวนได้ยื่นขอออกหมายจับ 5 ผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 28 ต.ค.

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ที่เข้าไปยื่นหนังสือในสถานทูตเยอรมัน ตำรวจยังไม่มีหลักฐานเอาผิด เพราะไม่แน่ชัดว่ายื่นเอกสารอะไรในสถานทูต และไม่ได้ปราศรัย ขณะที่ตำรวจเตรียมเอาผิดผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาต่างประเทศด้วย

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ครั้งที่ 10 โดยนายกฯ กำชับผู้เข้าร่วมประชุมว่าสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในช่วงที่อ่อนไหว ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง

รองโฆษกตร.อ้างไม่มี 2 มาตรฐาน

ด้านพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. แถลงภาพรวมสถานการณ์การชุมนุมวันเดียวกันนี้ว่า มีการนัดชุมนุม จำนวน 3 จุด คือ ที่หน้าตึกสำนักข่าวเนชั่น บางนา, หน้าวัดแขก ถนนสีลม และสกายวอล์ก MBK ซึ่งมีเพียงจุดบริเวณสกายวอล์ก MBK ที่ได้แจ้งการชุมนุม

พ.ต.อ.กฤษณะเปิดเผยถึงภาพรวมการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ดังนี้ การทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายบริเวณ ม.รามคำแหง เมื่อวันที่ 21 ต.ค. สน.หัวหมากได้ตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนขึ้นมา ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เบื้องต้นมีผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า 5 ราย สอบปากคำพยานไป 10 กว่าปาก และกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหากับผู้กระทำผิดต่อไป

สำหรับการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสถานทูตเยอรมัน บก.น.5 ได้รวบรวมพยานหลักฐานตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเตรียมออกหมายเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องของกลุ่มราษฎร 5-6 ราย ในความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร และมาตรา 116 ซึ่งขณะนี้ตนไม่ทราบรายชื่อว่าเป็นใครบ้างทั้งนี้ขอเรียนว่าเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ไม่ได้ทำแบบ 2 มาตรฐาน

รัฐรุนแรง – กลุ่มนิสิตนักศึกษาจัดกิจกรรม ‘รัฐและความรุนแรง ความทรงจำที่ยากจะ ลืมเลือน’ เพื่อพูดถึงเรื่องความรุนแรงของรัฐที่กระทำต่อประชาชน และนั่งชู 3 นิ้วร้องเพลงชาติ สะท้อนถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ที่สกายวอล์กปทุมวัน กทม. เมื่อวันที่ 29 ต.ค.

สกายวอล์กปทุมวันรำลึกรุนแรง

เมื่อเวลา 17.00 น.ที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะจุฬาฯ ได้จัดงานรัฐร้าวเราไม่ลืม รำลึกถึงความรุนแรงที่รัฐดำเนินการกับประชาชน ทั้งในเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อปี 2553 ที่วัดปทุมวนาราม และการสลายม็อบถนนราชประสงค์ ซึ่งบรรยากาศมีกลุ่มเหยื่อความรุนแรงที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ได้นัดรวมตัวกันในเวลา 17.30 น. เพื่อมาสมทบกับกลุ่มชุมนุมได้นัดรวมตัวกันในวันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.ปทุมวัน ทั้งในและนอกเครื่องแบบ กว่า 20 นาย ดูแลความสงบเรียบร้อยบริเวณโดยรอบ และมีสื่อมวลชนมารอทำข่าวจำนวนมาก

กลุ่มผู้จัดได้ขออนุญาตจัดการชุมนุมตั้งแต่เวลา 17.30- 20.30 น. ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มผู้จัดได้เชิญชวนกลุ่มนักเรียนเยาวชนที่ไม่เห็นด้วยกับการสลายการชุมนุมคณะราษฎร ที่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ให้มาร่วมกิจกรรมชุมนุมที่บริเวณสกายวอล์กหน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ มีแกนนำแนวร่วมที่อยู่ในเหตุการณ์การสลายการชุมนุม อาทิ นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ เดอะ บอททอม บลูส์ ที่จะนำเสนอถึงเหตุการณ์ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรง จับกุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563, นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ หนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมพฤษภา 2553 ที่จะมาเล่าถึงประสบการณ์การสลายการชุมนุมในปี 2553 และ นายอับดุลเลาะ สิเดะ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ที่จะมาพูดถึงการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งนายณัชปกร นามเมือง จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ที่จะพูดถึงการยุติความรุนแรงของรัฐด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เรียกตัวมายด์-เพื่อนอีก 4 รับข้อหา

รายงานข่าวแจ้ง คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีความมั่นคง ได้ประสาน พนักงานสอบสวนสน.ทุ่งมหาเมฆ รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลอาญากรุงเทพใต้ ออกหมายจับแกนนำกลุ่มราษฎร 5 คน กรณีการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน ถนนสาทร เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1.น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ อายุ 25 ปี แกนนำที่ยื่นหนังสือและอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูต 2.นายกรกช แสงเย็นพันธ์ อายุ 28 ปี 3.นายชนินทร์ วงษ์ศรี อายุ 20 ปี 4.นายชลธิศ โชติสวัสดิ์ อายุ 21 ปี 5.น.ส.เบนจา อะปัญ อายุ 21 ปี โดยทั้ง 4 เหลือนอกจากน.ส.ภัสราวลี มายด์ คือผู้อ่านแถลงการณ์เป็นภาษาไทย

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษา การชุมนุมระยะเวลาสั้น ยังไม่ปรากฏว่า กลุ่มผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี ประกอบกับผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จึงเห็นควรให้ผู้ร้องไปดำเนินการออกหมายเรียกก่อน ในชั้นนี้ให้ยกคำร้อง โดยทางพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ ได้ออกหมายเรียกแกนนำดังกล่าวทั้งหมด 5 คน รับทราบข้อกล่าวหาฐานความผิดร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามมาตรา 116 และข้อหาอื่นๆ ในวันที่ 5 พ.ย.นี้ที่สน.ทุ่งมหาเมฆ ต่อไป

คณะราษฎรชุมนุมหน้าสื่อเนชั่น

เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ริมถนนบางนาตราด ฝั่งตรงข้ามตึกอินเตอร์ลิงก์ ทาวเวอร์ หรือ อาคารเนชั่นทาวเวอร์ กลุ่มคณะราษฎร รวมตัวชุมนุมภายใต้ชื่อ “เปิดความจริง ปิดความบิดเบือน! “เพื่อเรียกร้องให้มีการนำเสนอข่าวด้วยความเป็นกลางไม่ยุยงปลุกปั่น ใส่ร้ายกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เพื่อให้เกิดความแตกแยกของประชาชน

ด้านนายนุ้ก หรือจัสติน ไทยแลนด์ กล่าวว่า อยากให้ทางสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ตรวจสอบการทำหน้าที่สื่อมวลชนของสำนักข่าวเนชั่น ที่บิดเบือน ไม่มีความเป็นกลาง สร้างความแตกแยกให้หมู่มวลชน เท่าที่เราเฝ้าติดตามการนำเสนอข่าวของสำนักข่าวนี้ ไม่มีจรรยาบรรณของสื่อ ยกตัวอย่างกลุ่มผู้ชุมนุมถูกคุกคาม แต่เนชั่นไม่เคยมีการตรวจสอบหรือการนำเสนอใดๆ เลย มีแต่ข้อมูลมาใส่ร้ายโดยที่ไม่ได้ดูเลยว่าสื่ออื่นนำเสนออย่างไร พยายามโจมตีพวกเราให้ดูแย่ เป็นพวกหัวรุนแรง ทั้งๆ เราไม่เคยไปทำร้ายใคร เราแค่ออกมาเรียกร้องตามสิทธิ์ของเรา จึงคิดว่าวันนี้มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องตรวจสอบสื่อที่ไม่เป็นกลางบ้าง

นายนุ้กกล่าวว่าในวันที่ 30 ต.ค.นี้ จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย หลังจากเราชุมนุมเสร็จก็จะกลับโดยจะไม่มีการรุกล้ำหรือคุกคามเข้าไปยังพื้นที่ของเนชั่นอย่างเด็ดขาด

คณะจุฬาฯจัดรัฐร้าวเราไม่ลืม

เวลา 17.50 น. คณะจุฬาฯ จัดกิจกรรม รัฐร้าวเราไม่ลืม “รัฐและความรุนแรง ความทรงจำที่ยากจะลืมเลือน” เพื่อต้องการสื่อสารและพูดถึงเรื่องการถูกกระทำด้วยความรุนแรงจากรัฐ ที่กระทำต่อประชาชน โดยมีนิสิต นักศึกษา และนักเรียน ที่ร่วมทำกิจกรรมเพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ นั่งเอามือไพล่ไว้หลัง ปิดปาก บนเก้าอี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นเหตุการณ์สลายการชุมนุม ที่แยกปทุมวัน 16 ต.ค.และจับกลุ่มผู้ชุมนุมไปหลายราย ซึ่งนั้นหมายถึงการกระทำรุนแรงจากรัฐที่ทำกับประชาชน ที่เห็นต่างในทุกยุคทุกสมัย

เวลา 18.00 น. ทางกลุ่มได้ประกาศให้ผู้ที่มาชุมนุม นั่งลงเพื่อเคารพธงชาติ และชูสามนิ้ว เพื่อแสดงถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่สามารถพึงกระทำได้ เพื่อประท้วงกรณีเด็กนักเรียนหญิงรายหนึ่งถูกแม่ค้าทำร้ายร่างกาย เพราะไม่ยอมยืนตรงเคารพธงชาติที่สถานีรถไฟใน จ.พระนคร ศรีอยุธยา

18.05 น. ทางกลุ่มได้ขึ้นปราศรัยเรื่องการสลายการชุมนุม ที่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. โดยกล่าวโจมตีในการกระทำของรัฐ ที่จับกุมผู้ชุมนุมและการปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกจับกุม ซึ่งทำให้หมดสิ้นอิสรภาพ ที่ประชาชนแสดง ออกด้วยสิทธิของตัวเองของตัวเองที่เห็นต่างจากรัฐ นั้นคือความผิด

‘แอมมี่’เปิดดนตรีที่ไม่มีเสียง

เวลา 18.30 น. นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ ได้ย้ำจุดยืนว่า เสียงดนตรีถูกปิด เช่นเดียวกับเสียงของประชาชนที่กําลังถูกปิด จึงสนับสนุนให้ประชาชนมีอิสระในการส่งเสียง

พร้อมข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการพูดและแสดงออกทางความคิดอย่างเท่าเทียม โดยไม่ถูกแทรกแซงจากอํานาจรัฐ ตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 2.ขอให้ปลดปล่อยประชาชนที่ถูกควบคุมตัว และ 3.รัฐต้องคืนอิสรภาพในการแสดงออกให้แก่สื่อมวลชน ไม่ใช้อํานาจตั้งข้อจํากัด หรือปิดกั้นการนําเสนอข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชน ซึ่งประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

นอกจากนั้น ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บนถนนราชดำเนิน และแยกปทุมวัน โดยมีตัวแทนนักศึกษานั่งอยู่บนเก้าอี้พร้อมทั้งนำริบบิ้นสีขาวมาผูกไว้ตามทั่วร่างกาย พร้อมระบุข้อความว่า “#แก้ได้ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ” เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

เดิน-เต้น-ร้องเพลงต้านรัฐบาล

เมื่อเวลา 17.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ยานนาวา นำเครื่องขยายเสียงมาประกาศกับผู้ชุมนุมให้ยกเลิกการชุมนุมในเวลา 19.00 น. เนื่องจากไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งถือเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ระหว่างนั้น ผู้ชุมนุมก็ได้ตะโกนโห่ไล่ตำรวจด้วย

เวลา 18.00 น. บริเวณถนนสีลม ซึ่งปิดการจราจรทั้ง 2 ฝั่ง โดยบริเวณพื้นที่ทางม้าลายเยื้องโรงแรมนารายณ์ นายธัชพงศ์ แกดำ หรือ บอย กลุ่ม YPD ขี่รถซาเล้งบรรทุกลำโพง เปิดเพลงของวง Rap Against Dictatorship หรือ RAD มีเนื้อหาเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ ส.ว. 250 รายในสภา โดยชักชวนให้ผู้ชุมนุมร่วมปราศรัยในสิ่งที่ตัวเองอัดอั้น จากนั้นบุคคลสวมใส่ชุดมินเนียน ร่วมเต้นตามเพลง โดยเปิดเพลง “ประเทศกูมี”

นอกจากนี้ ยังกางป้ายไวนิลเขียนข้อความและลายการ์ตูนต่างๆ วางลงบนพื้นถนน ก่อนเดินเท้ามุ่งหน้าสู่สวนลุมพินีตามธีมงานลานแฟชั่นวีก โดยมีมวลชนพากันจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งการร้องเพลงต่อต้านรัฐบาล รวมถึงการแต่งกายในชุดมาสคอตเป็นตัวการ์ตูนมินเนียน หรือแต่งกายด้วยชุดไทยและสากลพร้อมเปิดเพลงเดินเต้น

ฮาลั่น-ล้อบุคลิกพล.อ.ประยุทธ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้จัดกิจกรรม “ปูพรมแดง” ซึ่งผู้ชุมนุมได้จัดเดินแฟชั่นโชว์ชุดต่างๆ มีการผลัดเปลี่ยนนางแบบและนายแบบที่แต่งกายในชุดแฟนซีต่างๆ ซึ่งแฝงไปด้วยนัยทางการเมือง โดยชุดที่สามารถเรียกเสียงฮือฮาได้คือ “กระบือ”

เวลา 18.20 น. นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ ขอนแก่นพอกันที ปรากฏตัวบนถนนสีลม โดยมีผู้ชุมนุมขอถ่ายภาพและเข้าร่วมพูดคุยจำนวนมาก นายอรรถพลกล่าวว่า วันนี้ตนมาเดินชมตลาด ไม่มีกำหนดการปราศรัยแต่อย่างใด

ต่อมา เวลา 18.45 น. บรรยากาศบริเวณปากซอยสีลม 14 กลุ่มนักศึกษาเปิดวงเต้นและแสดงล้อเลียนบุคลิกของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีผู้ให้ความสนใจนั่งล้อมวงรับชมเป็นจำนวนมาก

ย้อนเหตุตากใบ – พฤษภา 53

เวลา 19.00 น. ที่เวทีถนนสีลม นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ปราศรัยถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ทั้งนี้ในพื้นที่ กลุ่มพลเมืองโต้กลับได้มีการแจกคู่มือ “รู้สิทธิของเรา” เพื่อให้ข้อมูลสำคัญเรื่องสิทธิของผู้ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ โดยมีการใส่หัวข้อสิทธิต่างๆ สร้างคิวอาร์โค้ดเพื่อให้ผู้สนใจสแกนข้อมูลคู่มือปกป้องสิทธิ์ดังกล่าวด้วย

เวลา 19.30 น. ขณะที่เวทีสกายวอล์ก ปทุมวัน นายอับดุลเลาะ สิเดะ จากสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย เล่าเรื่อง เหตุการณ์ตากใบและความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตัวแทน iLaw เล่าเรื่องความรุนแรงจากรัฐ ทางออกผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ ขณะที่กิจกรรมไฮไลต์ คือการร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา เพื่อส่งกำลังใจให้แกนนำที่อยู่ในเรือนจำ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการวางกำลังเฝ้าระวังตามจุดบริเวณใกล้เคียง ไม่มีการตั้งแนวแถวแต่อย่างใด ส่วนการจราจรยังคงเป็นปกติ รถไฟฟ้าบีทีเอสยังคงเปิดให้บริการ รวมถึงห้างสรรพสินค้าเปิดตามปกติ

เมื่อเวลา 20.30 แกนนำได้ประกาศยุติการชุมนุมที่หน้าวัดแขก ถนนสีลม พร้อมให้มวลชนเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย พร้อมกับฝนที่ตกลงมาพอดีทำให้มวลชนยังติดฝนไม่สามารถเคลื่อนตัวออกได้ ทั้งนี้แกนนำยังประกาศจะไปยื่นหนังสือกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์ฯ ให้ตรวจสอบสื่อสำนักหนึ่ง และยังไม่ได้นัดหมายว่าจะชุมนุมกันเมื่อไหร่ พร้อมให้ทุกคนติดตามได้จากโซเชี่ยลที่เป็นทางการของกลุ่มราษฎรและประชาชนปลดแอก

ชุมนุมต่อ – น.ส.ภัสราวลี หรือมายด์ ธนกิจวิบูลย์ผล ร่วมชุมนุมที่ถนนสีลม กทม. ขณะที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ยกคำร้องตำรวจขอออกหมายจับ โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่ายังเป็นนักศึกษา จึงเห็นควรให้ออกหมายเรียกแทน เมื่อวันที่ 29 ต.ค.

‘มายด์’ย้ำปฏิรูป-ไม่ใช่ล้มล้าง

เมื่อเวลา 19.00 น. ที่ถนนสีลม น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ แกนนำกลุ่มราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า การที่เราออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ตนถือว่ามันเป็นหน้าที่สิทธิพลเมือง นอกจากเราเป็นประชาชนแล้ว เราต้องตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลด้วย และอีกเรื่องที่ผ่านมา เราได้เห็นการใช้ความรุนแรงในรัฐบาลคสช. นั่นจึงเป็นเหตุที่ตนและประชาชนออกมาเฝ้าดู ติดตามการทำงานของรัฐบาลว่าได้เอื้อประโยชน์ให้ประชาชนมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ข้อเรียกร้องในข้อที่ 3 การปฏิรูปสถาบัน ต้องบอกว่าการปฏิรูปไม่ใช่การล้มล้าง เพราะมีการเข้าใจผิดคิดว่าที่ประชาชนออกมาชุมนุม ให้ปฏิรูปสถาบัน เป็นการล้มล้างสถาบัน ซึ่งจริงๆแล้วการปฏิรูปคือการทำให้ดีขึ้น การหาทางออกเพื่อให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างไร ปัจจุบันพล.อ.ประยุทธ์ได้ขยายพระราชอำนาจของสถาบันให้ออกไปไกลห่างประชาชน และประชาธิปไตย ซึ่งสิ่งที่เราเรียกร้องคืออยากให้สถาบันกลับมาอยู่ใกล้กับประชาชน และอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อจะได้อยู่คงคู่เป็นมิ่งขวัญให้กับชาวไทยอย่างสง่างาม

น.ส.ภัสราวดีกล่าวว่า กลุ่มของเราทุกคนคือแกนนำ ไม่จำเป็นต้องไปยึดติดกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ฉะนั้น ทุกคนสามารถออกมาเรียกร้องสิ่งที่ตนเองต้องการได้ ส่วนประชาชนที่เห็นต่างจากเราอยากให้พวกเขาเปิดใจหาเหตุผลมาคุยกันอย่างจริงใจ เพราะเชื่อว่าการคุยกันอย่างมีเหตุมีผลเป็นการแก้ปัญหาและเป็นทางออกที่ดีสุด เพราะถ้าเราไม่คุยกันก็จะขัดแย้งกันไปแบบนี้ตลอด

เตือนบิ๊กตู่-ประชาชนหมดทน

น.ส.ภัสราวลีกล่าวอีกว่าถ้า 3 ข้อเรียกร้องง่ายๆ ของเรา รัฐบาลยังไม่มีท่าทีโต้ตอบอะไร ตนขอบอกว่าประชาชนก็หมดความอดทนแล้ว เพราะประชาชนทนกับพล.อ.ประยุทธ์มา 6 ปีแล้วและคงไม่อยากทนอีกต่อไป ไม่อยากส่งต่อสังคมที่การเมืองไม่มั่นคงอย่างแน่นอน ส่วนเงื่อนไขการยุติการชุมนุมนั้นต้องบอกว่าไม่มีใครกำหนดได้ เพราะทุกคนคือแกนนำ นั่นหมายความว่าทิศทางการเมืองจะเป็นอย่างไรมันอยู่ที่ประชาชนจะเห็นพ้องต้องกันอย่างไร

เมื่อถามถึงการตั้งกรรมการสมานฉันท์ น.ส.ภัสราวลีกล่าวว่า การตั้งคณะนี้ขึ้นมา ขอให้ไม่เป็นการตั้งมาเพื่อปาหี่เฉยๆ แต่ต้องตั้งเพื่อพูดคุยหาทางออกให้ทุกคนได้อยู่ร่วมกัน และถ้าสัมฤทธิผลจริงๆ ต้องดูว่ารัฐบาลจะรับฟังประชาชนมากแค่ไหน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการพูดคุยกันต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่ารัฐบาลต้องจริงใจกับเราก่อน ซึ่งตอนนี้ประชาชนถอยชิดฝาไปมากแล้ว ถ้าให้ถอยไปกว่านี้คงไม่ได้แล้ว สิ่งที่รัฐบาลควรจะให้เราคือการถอยบ้าง อย่างน้อยๆ พล.อ.ประยุทธ์ต้อง ลาออกให้เราก่อนแล้วประชาชนจะรับฟังรัฐบาลมากขึ้น

อานันท์ชี้สงบ-ต้องไม่ใช่บังคับ

ที่โรงแรมแมริออท สุขุมวิทพาร์ค มีการจัดเวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 13 “จากรุ่นแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล เราจะลดช่องว่างการสื่อสารด้วยความจริงใจและความงามได้อย่างไร” จัดโดยภาคีโคแฟค ประเทศไทย (Cofac) สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น มูลนิธิฟรีดิช เนามัน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ กล่าวว่า วันนี้หลายคนเข้าใจว่าสถานการณ์บ้านเมืองเราอยู่ในภาวะวิกฤต แต่คนในรุ่นตน มองว่าไม่ได้ผิดปกติ เพราะเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาไม่รู้กี่ครั้งในระยะ 88 ปี ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ปัจจุบันปัญหาของเมืองไทย เป็นปัญหาที่เรียกว่า เป็นการเมืองเหมือนที่เคยมีในอดีต พอมีปัญหาทางการเมืองทำไปทำมาสู้รบกันเสร็จ ก็มีรัฐประหาร จากนั้นเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ พอเขียนเสร็จก็เลือกตั้งและตั้งรัฐบาล ต่อมาอีก 7-8 ปี ก็วนเวียนกลับมา มันไม่พ้นวงจรนี้

นายอานันท์กล่าวต่อว่าสิ่งที่เราทำในอดีต 88 ปี ไม่ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญ การตั้งรัฐบาลหรือมีนโยบายต่างๆ เป็นเรื่องของการมองผลในระยะสั้นเท่านั้น ไม่ได้มองประเด็นถึงแก่นราก มองประเด็นแต่เพียงผิวเผิน จึงไม่รู้ว่าเหตุที่ทำให้เกิดประเด็นนี้มันมาจากอะไร ดังนั้น ทางออกที่ผ่านมาในอดีต เป็นทางออกระยะสั้น เหมือนอย่างที่เมืองไทยต้องการความสงบเรียบร้อย ซึ่งต้องเป็นความสงบที่ไม่ได้เกิดจากการบังคับ ไม่ได้มาจากเบื้องบนและไม่ได้มาจากเบื้องล่าง แต่เป็นความสงบที่ทุกฝ่ายพูดคุยกันแล้วยอมรับ

เห็นด้วยแก้รธน.ตัดมือส.ว.-112

นายอานันท์กล่าวว่า ตนพูดได้เลยว่า อันนี้เป็นข้อขัดแย้งระหว่างคนละรุ่น ซึ่งการใช้อินเตอร์เน็ตแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจเกิดขึ้น ไม่เหมือนพูดคุยกันต่อหน้า ดังนั้น จึงต้องเปิดกว้างและรับฟังกันให้มาก สรุปแล้วตนคิดว่าปัญหาของทุกประเทศ เป็นเรื่องที่น่าวิตกในเรื่องการสื่อสารสมัยใหม่ จึงเกิดเฟกนิวส์ต่างๆ ขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องระวัง ต้องฟังและพิจารณาอย่างเที่ยงธรรมด้วย และความรุนแรงทางวาจาหรือเฮตสปีช จะทำให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพทันที

นายอานันท์ตอบคำถามผู้ร่วมสัมมนาเกี่ยวกับประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญว่า การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เราต้องวางหลักเกณฑ์ว่าควรให้สั้น ไม่ลงรายละเอียดมากเกินไป และต้องดูมาตราที่สร้างปัญหา ที่มีปัญหาแน่นอนคือ การแต่งตั้ง 250 ส.ว. และให้อำนาจตั้งนายกฯ อันนี้ต้องออกไปแน่ๆ เป็นประเด็นทำให้เกิดการเดินขบวน เป็นสิ่งที่เยาวชนรุ่นใหม่ และรุ่นเก่าอย่างตน อยากเห็นว่าไม่มีมาตรานี้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป รวมทั้งมาตรา 112 คุณจะเขียนอย่างไรก็ได้ แต่จะต้องไม่เป็นคดีอาญา คือไม่มีการลงโทษ และเป็นคดีแพ่ง มีค่าปรับเท่านั้น และไม่ใช่ปรับในอัตราที่สูงเกินไป ต้องวางหลักเกณฑ์แน่นอนว่าอยากเห็นอะไร อีกหลายมาตราก็ต้องปรับปรุงกันไป

ถาม‘ตู่’ได้ยินเสียงม็อบมั้ย

“อีกเรื่องที่จะเป็นปัญหา ผมไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะพูดว่าจะทำหรือไม่ทำ เด็กยืนยันว่านายกฯ เป็นตัวปัญหา คนรุ่นใหม่มองว่านายกฯ เป็นคนเดียวที่ปลดล็อกได้ จะปลดล็อกด้วยวิธีลาออกหรือไม่ ผมไม่รู้ ถ้าไม่ลาออก ผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะเป็นสิทธิของท่าน แต่ต้องรู้ว่าเขาเรียกร้องอย่างนั้น ท่านฟังหรือได้ยินหรือไม่ ผมก็ไม่รู้ แต่ถ้าเกิดจะเถียงกับเด็กรุ่นใหม่ โดยอ้างกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ มันไม่ไปถึงไหน เพราะเริ่มต้นผิดมาตลอดแล้ว ผิดมา 7 ปีแล้ว คุณอาจจะไม่เห็นด้วย ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยทุกอย่าง แต่พยายามเข้าใจ ผมก็พยายามเข้าใจสถานะของนายกฯ สถานะของรัฐบาลเหมือนกัน ถ้าไม่เข้าใจกันก็ต้องคุยกัน ผมไม่สนใจจะเข้าไปร่วมด้วยทั้ง 2 ฝ่าย เพราะเริ่มต้นก็ผิดแล้ว เด็กมันเริ่มต้นมาตั้ง 7 ปีแล้ว นายกฯถามว่าผมทำอะไรผิด เป็นการพูดคนละภาษา เด็กพูดภาษาดิจิทัล แต่รัฐบาลยังพูดภาษาอนาล็อก สงครามการต่อสู้ก็คนละสนาม เด็กเล่นสนามนี้ ผู้มีอำนาจเล่นอีกสนามหนึ่ง ไม่เคยเจอกันและพูดกันคนละประเด็น ผมเห็นว่าสังคมโลกเขาพูดกันว่า คุณจะมีสันติภาพไม่ได้ ถ้าไม่มีความยุติธรรม และคุณจะไม่มีความยุติธรรม ถ้าคุณไม่มีความจริงใจระหว่างกัน” นายอานันท์กล่าว

ศิลปะราษฎร – คณะราษฎรจัดงานเดินแบบ แสดงดนตรี และศิลปะราษฎร บริเวณหน้าวัดแขก เป็นทางยาวไปตลอดถนนสีลม โดยมีนักเรียนนักศึกษาและประชาชนมาร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก เมื่อวันที่ 29 ต.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน