ไม่ฟันธงมี-ไม่มีปฏิวัติ
‘ปชป.-สว.’วอนฝ่ายค้าน
ร่วมเป็นกก.สมานฉันท์

‘บิ๊กตู่’ ตอบ ‘อานันท์’ ยันฟังม็อบเด็ก-นักศึกษา กับสื่อโซเชี่ยลมาตลอด ได้ยินทุกอย่าง ไม่ฟันธงมีหรือไม่มีปฏิวัติ บอกแค่ไม่มีใครอยากทำ วอนทุกคนรักษา-ต่อยอดเสาหลักประเทศ ‘วิษณุ’ บอกอย่าหวังปัญหาทุกอย่างจะจบที่คณะกรรมการสมานฉันท์ ด้านสถาบันพระปกเกล้าเร่งออกแบบ เสนอสภายึดหลักเปิดพื้นที่รับฟัง-อดทน-มีสติ ปชป.-ส.ว.วอนพรรรคฝ่ายค้านร่วมวง เพื่อสร้างความปรองดอง เพื่อไทยย้อนถามถ้ากรรมการเสนอให้ ‘บิ๊กตู่’ ลาออก จะยอมหรือไม่

‘บิ๊กตู่’บอก‘อานันท์’ฟังม็อบตลอด

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 30 ต.ค. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสภากลาโหมถึงกรณีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ เสนอให้นายกฯรับฟังความคิดเห็นของกลุ่ม ผู้ชุมนุมว่า ด้วยความเคารพเป็นการส่วนตัว นายอานันท์เป็นอดีตนายกฯ ตนก็รับฟัง ข้อเสนอมาตลอด ทั้งทางสื่อโซเชี่ยลและจาก คำพูดที่ออกมา ตนได้ยินทุกอย่าง ขอให้เข้าใจกันและกันด้วย

การเปิดรัฐสภาประชุมสมัยวิสามัญที่ผ่านมา ตนก็รับฟังความคิดเห็นเรื่องความต้องการของกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่แล้ว ถือว่าจบ ส่วนขั้นตอนต่อไปก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาว่า มีประเด็นไหนที่เป็นไปได้ และประเด็นไหนที่เป็นไปไม่ได้ ต้องยึดหลักการกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้อยู่ถึงปัจจุบัน ส่วนวันหน้าจะแก้ไขอย่างไรก็ค่อยว่ากันอีกครั้ง

ซัด 2 พรรคกดดันรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ เป็นการซื้อเวลา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นี่คือกลไกของรัฐสภาในการแก้ไขปัญหา เมื่อเราปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องเคารพระบบรัฐสภา และคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ อยากให้ทบทวนตรงนี้ว่าควรเป็นอย่างไรต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 พรรคฝ่ายค้านที่ไม่ได้การเข้าร่วม ตนถามว่าแล้วจะเข้าร่วมประชุมรัฐสภาทำไม ในเมื่อเป็นส.ส.สะท้อนความคิดเห็นจากประชาชนทุกคนและทุกฝ่าย ไม่ใช่นำความคิดเห็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาเสนอกดดันและเร่งรัด ตนคิดว่าไม่ถูกต้อง นี่หรือประชาธิปไตยไทย เป็นเช่นนี้ใช่หรือไม่ ตนคงพูดได้แค่นี้ ไม่มีความคิดเห็นใดเพิ่มเติม ต้องดูที่เจตนา

ไม่ฟันธง-ไร้ปฏิวัติ

ผู้สื่อข่าวถามว่านายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชา ธิปไตย เสนอให้ปฏิวัติ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องไปถามคนพูด เราไม่เคยคิดเรื่องเหล่านี้ ต้องระมัดระวังสถานการณ์ไม่ให้บานปลายไปเรื่อยๆ ตนไม่ได้หมายความว่าจะมีปฏิวัติ หรือไม่มี เพียงแต่ไม่มีใครอยากทำ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตอบไปแล้วว่าไม่ทำปฏิวัติ

ต่อมาเวลา 16.00 น. ที่ถนนข้าวสาร พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานพิธีเปิดงาน “สวัสดีข้าวสาร” เพื่อเปิดตัวถนนข้าวสารโฉมใหม่ และส่งเสริมการท่องเที่ยวพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะรัฐมนตรี(ครม.) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาคมผู้ประกอบการถนนข้าวสาร เข้าร่วมงาน ซึ่งทันทีที่นายกฯ มาถึงได้กดปุ่ม เปิดฝาถังข้าวสาร ที่เป็นสัญลักษณ์ของถนนข้าวสารแห่งนี้

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์เดินทักทายประชาชน พ่อค้าแม่ค้า และนักศึกษาที่มาเดินภายในงาน โดยเข้าไปสอบถามว่าเรียนที่ไหน พร้อมกล่าวว่า “ช่วยๆ กันนะ” แล้วเดินชมการแสดงดนตรีสดจากวงเนตรีคันทรีที่ประกาศขอมอบบทเพลง “You are my sunshine” ให้กับพล.อ.ประยุทธ์

ชู 3 เสาหลักเป็นพื้นฐานประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเปิดงานว่า ขอขอบคุณที่ร่วมกันทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น โดย เฉพาะในช่วงโควิดที่เราต้องมองหาศักยภาพมาขับเคลื่อนก่อนเหมือนถนนข้าวสาร รวมทั้งเรามีมาตรการผ่อนคลายเรื่อยๆ ย้ำว่าวันนี้เราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่ยังต้องเฝ้าระวังต่อไป จึงขอให้ช่วยกันในมาตรการด้านสุขภาพและการจับจ่ายใช้สอย โดยต้องมีเหตุมีผลมีความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยร่วมมือกันมายาวนานตลอด 800 ปีไม่ใช่เพิ่งมี และยาวนานมาจนถึงปัจจุบันและต่อไปอีกหลายร้อยปีบนพื้นฐาน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นหลักชัยของประเทศ

“ผมไม่รู้จะพูดอะไรมันตื้นตันพอมาเจอสิ่งดีๆ ผมมีความสุข ได้พบปะพวกเรา ได้ส่งรอยยิ้มให้กัน นี่คือประเทศไทย นี่คือศักยภาพของประเทศไทย มีรอยยิ้ม มีอาหารอร่อยและธรรมชาติที่สวยงาม เราอย่าทำลายสามสิ่งนี้ เราแตกแยกกันไม่ได้ แต่แตกต่างกันได้ และวันนี้เตรียมพร้อมเปิดประเทศในช่วงต่อไป รัฐบาลพยายามอย่างยิ่งยวดแก้ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ พร้อมการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด ซึ่งหลายประเทศพยายามทำแบบเราแต่ไม่ทัน การกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญที่สุดคือการจับจ่ายใช้สอย มีเม็ดเงินในระบบ จึงต้องจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและเตรียมพร้อมเปิดประเทศที่จะมีการคลายล็อกและทยอยทำไปเรื่อยๆ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ต้องรักษา-ต่อยอดสถาบัน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สิ่งสำคัญเราต้องสร้างสตอรี่ เรื่องราว ซึ่งเรามีประวัติศาสตร์ เอาสิ่งดีๆ ให้จดจำ เรามีประวัติศาสตร์เป็นเล่มๆ แต่ก็พยายามตัดทอนออกไป ตนว่ามันไม่ใช่ ต้องร่วมกันเดินหน้าต่อไปในสิ่งที่ดีๆ ส่วนสิ่งที่ไม่ดีอย่าทำ เพื่อเดินหน้ากันต่อไป ซึ่งวันนี้อยากให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ช่วยถนนข้าวสารและหลายพื้นที่ ขอให้ทุกคนช่วยกัน เพราะนี่คือประเทศไทยของพวกเราทุกคน ไม่ใช่ของตนคนเดียว

“ประเทศไทยเป็นของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล นักการเมือง หรือข้าราชการ แผ่นดินนี้เป็นของเรา เราเกิดที่นี่และหลายคนก็ตายไปตามวัฏจักรชีวิต เกิดและตายกันแบบนี้ ด้วยความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นหลักนำสำคัญ ซึ่งสถาบันไม่ใช่แค่วันนี้ สถาบันมียาวนานจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นต้องสืบสาน รักษาและต่อยอด ไม่ใช่ทำลายทุกอย่าง ผม ขอฝากแค่นี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

หลังเปิดงาน พล.อ.ประยุทธ์เดินทักทายและเยี่ยมชมร้านค้าต่างๆ โดยมีกลุ่มผู้สนับ สนุนตะโกนให้นายกฯสู้ๆ ตลอดเส้นทาง ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวขอบใจ พร้อมชูนิ้วโป้งมือให้เป็นการขอบคุณ และยังได้โชว์ฝีมือการผัดไทย ซึ่งเป็นอาหารเลื่องชื่อของถนนข้าวสารด้วย

สำหรับงาน “สวัสดีข้าวสาร” ระหว่างวันที่ 30-31 ต.ค. เริ่มเวลา 14.00-24.00 น. หลังจากนั้นนักท่องเที่ยวและประชาชนสามารถมาท่องเที่ยวถนนข้าวสารโฉมใหม่ได้ทุกวัน เวลา 09.00-24.00 น.

เวลา 18.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมด้วยนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา และครม. ร่วมงานสืบสานประเพณีลอยกระทง “ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย” บริเวณคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ได้อธิษฐาน ขอให้บ้านเมืองเป็นสุข

‘วิษณุ’โนคอมเมนต์ฟังเสียงม็อบ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายอานันท์ ระบุพล.อ.ประยุทธ์ควรฟังเสียง ผู้ชุมนุมว่า ไม่ได้ยิน ยังไม่เห็น ยังไม่รู้ ผู้สื่อข่าวถามว่าความเห็นนี้จะต้องนำมาพิจารณาด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ยังไม่ได้ยิน

ผู้สื่อข่าวถามว่าความเห็นของนายอานันท์ จะมีผลต่อรัฐบาลหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ยังไม่รู้เรื่อง จึงยังไม่รู้จะพูดอะไร อย่าเอาสิ่งที่ใครคนใดพูด แล้วมาถามต่ออีกคนหนึ่ง ทำให้บานปลายเพราะเป็นเรื่องของความคิดเห็น เมื่อถามว่าการแสดงความเห็น อาจไปเพิ่มความชอบธรรมให้กับผู้ชุมนุมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่วิจารณ์ ถ้าตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ทุกอย่างควรไปสู่การรับฟังความคิดเห็นของแต่ละคน แล้วเอามาคิดหาทางออก

อย่าหวังจบที่กก.สมานฉันท์

นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านแสดงท่าทีชัดเจนจะไม่เข้าร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า ไม่ทราบ ต่อข้อถามว่าถ้าไม่มีฝ่ายค้านจะตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ตอบ แต่เขายังไม่ได้ปฏิเสธขนาดนั้น เพราะยังไม่ได้เห็นรูปแบบ และยังไม่รู้ว่าจะออกมาหน้าตาอย่างไร ไม่ว่าฝ่ายไหนที่ยังไม่เห็นรูปแบบ ก็คงลังเลทั้งนั้น ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าตั้งคณะกรรมการแล้ว ทุกฝ่ายควรเข้าร่วมและพูดถึงปัญหาเพื่อหาทางแก้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า อย่าเพิ่งพูดตอนนี้ ตีปลาหน้าไซ พูดตอนนี้ก็จะแตกตื่นตกใจว่ามีเล่ห์กระเท่

ส่วนเสียงวิจารณ์การตั้งคณะกรรมการ เป็นการซื้อเวลานั้น นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่รู้ว่าคณะกรรมการจะชื่ออะไร โดยโจทย์ ที่จะส่งถึงกรรมการชุดนี้มีหลายข้อ รวมทั้ง ข้อเสนอนี้ที่จะให้กรรมการชุดนี้ไปขอความเห็นประชาชน หรือทำประชามติก็ได้ แต่ตนท้วงติงไปว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 รัฐบาลอาจจะจัดรับฟังความคิดเห็นประชา มติหรือประชาพิจารณ์ แต่ห้ามถามเรื่องตัวบุคคล

ถ้าตั้งโจทย์เป็น ก็อาจจะได้คำตอบให้แก่สังคมโดยไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล และทุกอย่างต้องใช้เวลา แต่ถ้าใช้เวลานานเกินไป ก็เป็นการซื้อ แต่ถ้าใช้เวลาไม่นานก็ไม่ซื้อ อย่าหวังว่า ทุกอย่างต้องจบที่คณะกรรมการสมานฉันท์หาทางออกแล้วเลิก และจบลงด้วยดี คงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะทางออกอาจเสนอได้หลายทาง

สถาบันพระปกเกล้าเร่งชงรูปแบบ

ที่สถาบันพระปกเกล้า นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือร่วมกับนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันพระปกเกล้า เพื่อออกแบบโครงสร้างและรูปแบบวิธีการทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ ตามที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา มอบหมายว่า สถาบันมีหน้าที่หาคำตอบให้กับสภาเท่านั้น ไม่ได้เป็นฝ่ายดำเนินการเองทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างคิดค้นโครงสร้างที่เหมาะสม โดยเฉพาะโครงสร้างกรรมการปรองดองในอดีต และข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากการอภิปรายของรัฐสภาเมื่อวันที่ 26-27 ต.ค. ว่ามีอะไรบ้าง ก่อนจะรวบรวมเสนอต่อประธานรัฐสภาอย่างเร็วสุดในวันที่ 2 พ.ย.

โดยจะเสนอว่าแต่ละโครงสร้างมีข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดอย่างไรบ้าง รวมถึง ข้อห่วงใยของสถาบัน แต่ยอมรับว่าเงื่อนไขการตั้งคณะกรรมการครั้งนี้ ยังไม่มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการไปถึงจุดไหนอย่างไร อะไรที่เป็นเนื้อหาที่ต้องเอามาพูดคุยบ้าง ดังนั้น สถาบันออกแบบได้เพียงโครงสร้างและวิธีทำงานในเชิงวิชาการเท่านั้น รวมถึงรวบรวมประสบการณ์จากต่างประเทศมานำเสนอด้วย ส่วนกรรมการชุดนี้จะมีองค์ประกอบใดบ้าง เป็นเรื่องที่ประธานรัฐสภาต้องกลับไปหารือผู้เกี่ยวข้อง สถาบันมีหน้าที่เสนอทางเลือกต่างๆ ให้เท่านั้น

ยึดหลักเปิดพื้นที่รับฟังกัน

นายวุฒิสารกล่าวว่า ที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการลักษณะนี้หลายครั้ง เช่น คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชุดที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธาน คณะกรรมการค้นหาความจริง ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน หรือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ซึ่งจะทำให้เห็นว่าการทำงานของแต่ละคณะ มีบรรยากาศและสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน เพื่อให้เห็นเงื่อนไขในแต่ละด้าน

ส่วนที่นายชวนเสนอให้มีทุกฝ่ายเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการนั้น นายวุฒิสารกล่าวว่า โดยหลักการแล้ว สถานการณ์ตอนนี้สิ่งสำคัญคือต้องมีพื้นที่ให้แต่ละฝ่ายได้รับฟังกัน ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ไม่เปิดเผยเนื้อสาระ โดยขอให้ฟังการชี้แจงของนายชวน ยืนยันว่าการรวบรวมทางออกครั้งนี้ ไม่ได้รวบรวมจากงานของสถาบันพระปกเกล้าเท่านั้น แต่รวบรวมถึงประสบการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์ที่แต่ละรัฐบาลมีมาด้วย ซึ่งเงื่อนไขสำคัญของการออกแบบโครงสร้างคณะกรรมการครั้งนี้ คือทำแล้วต้องมีความเชื่อมั่นว่าแก้ปัญหาได้จริง

ยันไม่ซื้อเวลา-ให้‘อดทน-มีสติ’

ผู้สื่อข่าวถามว่าการออกแบบโครงสร้างครั้งนี้จะต้องหารือร่วมกับคณะรัฐมนตรี รัฐสภาและฝ่ายต่างๆ ด้วยหรือไม่ นายวุฒิสารยืนยันว่าไม่ถึงขนาดนั้น เพราะสถาบันพระปกเกล้ามีหน้าที่เสนอรายงานต่อประธานรัฐสภาเท่านั้น ส่วนประธานรัฐสภาจะนำไปพิจารณาดำเนินอย่างไรต่อ เป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภา เงื่อนไขสำคัญของการออกแบบโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ คือทำแล้วต้องให้มีความเชื่อมั่นว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง ส่วนการคัดเลือกตัวบุคคลเป็นคณะกรรมการนั้น ยืนยันว่ายังไม่มีการกำหนดรูปแบบหรือทาบทามบุคคลใด เพราะไม่มีหน้าที่ทาบทามตัวบุคคล เนื่องจากการแต่งตั้งบุคคลเป็นอำนาจประธานรัฐสภา อีกทั้งยังไม่ทราบใครจะเป็นคนแต่งตั้ง

เมื่อถามว่าบุคคลที่จะเป็นประธานคณะกรรมการ ควรมีคุณสมบัติอย่างไร นายวุฒิสารกล่าวว่า ขอไม่ตอบ แต่ยืนยันว่าสถาบันพระปกเกล้าตั้งใจดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายให้รอบคอบที่สุด ไม่ใช่หน่วยงานที่ไปซื้อเวลา ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความกดดันหรือไม่ นายวุฒิสารกล่าวว่า ยอมรับว่ามีความกดดันอย่างแน่นอน แต่คิดว่าเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องทำให้เกิดอนาคตที่สังคมอยู่ร่วมกันได้ ให้ความขัดแย้งถือเป็นเรื่องปกติ และทุกฝ่ายต้องใช้ความอดทน สติ ระงับตัวเองไม่ให้สร้างความรุนแรง เพื่อปกป้องไม่ซ้ำรอยเหมือนในอดีต แต่ยอมรับว่าสิ่งที่สร้าง คือการสร้างความมั่นใจกับทุกฝ่ายว่าจะเกิดความเชื่อมั่นได้อย่างไร

กสม.แนะวิธีแก้วิกฤต

นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำหน้าที่แทนประธาน กสม. ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า เชื่อว่าน่าจะเป็นแนวทางออกได้ หากกระบวนการถูกต้อง โดยจะต้องมีการรับฟังจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ภายใต้คนกลางที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานการประชุม เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย อาจให้แต่ละฝ่ายเลือกผู้ประสานการประชุมฝ่ายละคนก็ได้ เป็นรูปแบบผู้ประสานการประชุมร่วม

นอกจากนั้นต้องมีวิธีในการฟังในรูปแบบกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ไม่ใช่รูปแบบเดิมๆ ที่ตั้งแค่กรรมการแล้วประชุมกันแบบเดิม โดยในเวทีการพูดคุยควรพูดคุยกันโดยที่ยังไม่ต้องออกสื่อ เมื่อได้ข้อตกลงแล้วค่อยให้สัมภาษณ์ออกสื่อ เพราะหากให้มีการถ่ายทอดระหว่างการพูดคุย ตัวตนของแต่ละฝ่ายจะยอมกันไม่ได้ กองเชียร์ข้างนอกอาจจะไม่พอใจ ที่สำคัญคณะกรรมการสมานฉันท์ไม่ควรตั้งเฉพาะระดับประเทศเท่านั้น เพราะอาจจะรับฟังปัญหาไม่รอบด้าน ควรตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด ระดับอำเภอด้วย เพื่อให้เกิดการพูดคุยและรับฟังกันมาเป็นระดับ

ปชป.กล่อมทุกฝ่ายร่วมเวที

ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคและประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า อยากฝากสถาบันพระปกเกล้าให้เร่งพิจารณาหาข้อสรุปส่งให้ประธานรัฐสภา เพื่อดำเนินการต่อให้ทันกับสถานการณ์การเมืองที่มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่เร็วและแรงมากขึ้นทุกวัน

ส่วนที่บางฝ่ายวิตกว่าจะเป็นการซื้อเวลานั้น ก็พอเข้าใจได้ แต่ความเป็นจริงเรื่องนี้ไม่ได้เสนอโดยรัฐบาล หรือครม. จึงไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลซื้อเวลา เพราะการตั้งคณะกรรมการ 7 ฝ่าย เป็นข้อเสนอของนายจุรินทร์ ลักษณ วิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เสนอบนพื้นฐานความตั้งใจจริงที่อยากสร้างพื้นที่ มีเวทีที่ฝ่ายต่างๆ ได้มาพูดคุย เพื่อหาทางออกร่วมกัน การมีเวทีให้พูดคุยกันน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะการปล่อยให้แต่ละฝ่ายต่างคนต่างพูดโดย ไม่หันหน้ามาคุยกัน ยิ่งจะสร้างความไม่เข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ

“อยากวิงวอนทุกฝ่าย อย่ารีบปฏิเสธเข้าร่วมเวทีพูดคุย เพื่อหาทางออกให้ประเทศ เพราะเราเป็นคนไทยเหมือนกัน แม้จะมีความคิดเห็นต่างกัน เมื่อมีปัญหาขัดแย้ง ควรหันหน้าเจรจาพูดคุยกัน เพื่อหาจุดสมดุลที่เห็นพ้องต้องกัน เชื่อมั่นว่าการมีพื้นที่ มีเวทีให้พูดคุยกัน จะเป็นส่วนสำคัญทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้บ้าง เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ในที่สุด” นายองอาจกล่าว

จับมือก้าวข้ามความขัดแย้ง

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส่วนตัวต้องการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันหน้าเข้ามาหารือพูดคุยกัน เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศ โดยนายชวนได้มอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นองค์กรด้านวิชาการ ด้านการเมืองการปกครองในกำกับของรัฐสภาที่มีความน่าเชื่อถือ มีความเป็นกลางทางการเมืองวางโครงสร้าง จึงเชื่อว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ที่จะตั้งขึ้นนี้จะมีความน่าเชื่อถือ เป็นการเปิดพื้นที่ที่ทุกฝ่ายจะได้ร่วมกันหารือแสดงความคิดเห็น รวมถึงให้ข้อเสนอแนะอย่างเต็มที่และไม่สูญเปล่า เนื่องจากทุก ข้อสรุปจะถึงรัฐบาลอย่างเเน่นอน และเป็นคณะกรรมการที่สังคมให้ความหวังที่จะสามารถหาทางออกให้กับประเทศได้

ดังนั้น ภายหลังจากที่สถาบันพระปกเกล้าได้ออกแบบโครงสร้างและบทบาทคณะกรรมการสมานฉันท์แล้ว อยากให้พรรคการเมืองที่เคยออกมาปฏิเสธการเข้าร่วมก่อนหน้านี้มีการทบทวนท่าที และหันมาเข้าร่วม เพื่อใช้เวทีของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นพื้นที่ในการพูดคุยหาทางออกให้กับประเทศ และนำพาประเทศเดินไปข้างหน้า ก้าวข้ามความขัดแย้งได้

จี้นายกฯฟังเสียงเตือนสติ

นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ขอให้ นายกฯ รับฟังข้อเสนอของนายอานันท์และขอเตือนลิ่วล้อ อย่าระรานผู้ใหญ่ จิ้งจกทักยังต้องหยุด ถ้าใครได้ฟังการแสดงความเห็นทางการเมืองของนายอานันท์ ซึ่งแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมือง ในฐานะผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ เป็นนายกฯบริหารยามบ้านเมืองเกิดวิกฤตถึง 2 ครั้ง และปัจจุบันแค่ผู้อาวุโสคนหนึ่ง ที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองใดๆ ถือเป็นผู้มีความเป็นกลางทางการเมืองคนหนึ่ง

ดังนั้น ข้อเสนอของนายอานันท์ ที่ได้ฉายาว่าเป็นผู้ดีรัตนโกสินทร์ กำลังเตือนสติต่อ นายกฯ ที่หลายคนกล่าวขานว่า เป็นคนดีของบ้านเมืองคนหนึ่ง เป็นเรื่องที่ควรรับฟังและนำไปไตร่ตรองให้ถ่องแท้ โบราณเคยกล่าวว่าจิ้งจกทัก ก็ยังต้องหยุด แต่นี้เป็นการเตือนสติ ให้ข้อคิดที่สำคัญในยามบ้านเมืองมีความ ขัดแย้งรุนแรง ผู้ถูกเตือนพึงรับฟังอย่างยิ่ง ไม่ควรปล่อยให้ลิ่วล้อหรือกองเชียร์ออกมาตอบโต้การแสดงความเห็นของนายอานันท์ ที่ไม่มีส่วนได้เสียทางการเมือง มีแต่เจตนาดีและความหวังดีต่อประเทศ ขอให้ยึดหลักที่ว่า “ผู้วิจารณ์ไม่ผิด ผู้ถูกวิจารณ์พึงสังวร” จะดีที่สุด

ส.ว.ระบุปฏิวัติไม่ใช่ทางออก

นายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวถึง ข้อเสนอของนายสนธิ ให้ปฏิวัติ ว่า ตนไม่เห็นด้วย เพราะการปฏิวัติไม่ใช่ทางออก และไม่ควรให้เกิดขึ้น ส่วนกรณีที่นายอานันท์ ระบุให้พล.อ.ประยุทธ์ ฟังเสียงผู้ชุมนุมนั้น ตนไม่ขอแสดงความเห็น นายอานันท์เป็นผู้ใหญ่ที่ตนเคารพ และในฐานะอดีตนายกฯ ก็เหมือนกับบุคคลที่เคยเป็นนายกฯ ท่านอื่นๆ ที่แสดงความเห็น เช่น นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์อาจรับไปพิจารณาประกอบกับข้อเสนออื่นๆ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ก็ได้

“ผมประเมินการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนในประเด็นที่เกี่ยวกับรัฐบาลนั้น คลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง และเมื่อรัฐสภาเปิดสมัยสามัญ ช่วงเดือนพ.ย.นี้ สถานการณ์จะดีขึ้น” นายสมชายกล่าว

‘เสรี’ชี้ฝ่ายค้านเมิน-ปรองดองยาก

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวว่า ตนสนับสนุนและเห็นว่าเวทีของรัฐสภาจะคลี่คลายปัญหาได้ แต่การดำเนินการต้องคำนึงถึงคนทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีทั้งฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล และฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ส่วนที่พรรคฝ่ายค้านจะไม่เข้าร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น อาจทำให้การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ทำได้ยากมากขึ้น

“กรรมการสมานฉันท์ ผมมองว่าตั้งได้ แต่คนที่จะเข้าร่วมต้องอดทน มีเหตุผล และคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลักมากกว่ายึดความต้องการทางการเมือง ซึ่งผมสนับสนุนให้ใช้การถ้อยทีถ้อยอาศัย และ ลดราวาศอกกัน ไม่ใช่คุยกันบนฐานข้อเรียกร้องของม็อบเยาวชนเป็นหลัก” นายเสรีกล่าว

พท.ถาม‘บิ๊กตู่’จะออกหรือไม่

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ฟังมาตอนแรกๆ เข้าใจว่ารัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพ ฝ่ายค้านโดยรวมจึงพร้อมใจกันปฏิเสธการเข้าร่วม เพราะมองว่าเป็นการซื้อเวลา และรัฐบาลหมดความชอบธรรมแล้ว ยืนยันว่าพล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออก แม้สถานการณ์จะเปลี่ยนไปโดยสภารับมาเป็นเจ้าภาพเอง การมีกรรมการแบบนี้ ต้องดูว่าองค์ประกอบจะมาจากส่วนใดบ้าง มีความเป็นกลางขนาดไหน และหากกรรมการเสนอให้นายกฯ ลาออก เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของปัญหาแล้วนายกฯ จะลาออกหรือไม่ ตนจึงไม่แน่ใจว่าจะบังเกิดผลเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ต้องดูว่าโจทย์ของประเทศคืออะไร ตีโจทย์แตกหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าโจทย์ใหญ่คือการยึดอำนาจ สืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย บริหารจนประเทศแตกแยกเป็นเสี่ยง รุนแรงหนักกว่าเก่า ถ้าตั้งโจทย์ถูก คำตอบก็ไม่ยากว่าจะต้องทำอย่างไร แล้วรัฐบาลจะทำหรือเปล่า คิดว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องดูเรื่องนี้ให้ถ่องแท้เสียก่อนที่จะบอกว่าจะร่วมหรือไม่ร่วม

เปิดตัว – นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ขึ้นรถแห่เปิดตัวนาย ศรัญ ฤกษ์อัตการ ว่าที่ผู้สมัครนายกอบจ. นครสวรรค์ และทีม ผู้สมัครส.อบจ. ตระเวนแนะนำไปทั่วตัวเมืองนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.

เพื่อชาติไม่ขอเป็นเครื่องมือรัฐ

ส่วนนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ (พช.) ให้สัมภาษณ์ว่า การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เป็นเพียงการซื้อเวลา หากมีการประมวลข้อเสนอแนะจากพรรคฝ่ายค้านที่นำเสนอในการอภิปราย เชื่อว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ที่ผ่านมาครั้งที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ตั้งนายคณิต ณ นคร เป็นประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ต่อมาสมัยพล.อ.ประยุทธ์ ตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ พล.อ.ประยุทธ์ยังนั่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) สุดท้ายทั้ง 3 คณะเหลว เพราะรัฐบาลไม่มีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาขัดแย้งอย่างแท้จริง

“คณะกรรมการสมานฉันท์ที่จะตั้งขึ้นนั้น หากไม่มีแนวทางชัดเจนว่าจะทำอย่างไร เป้าหมายคืออะไร และใช้เวลานานแค่ไหน จะนำผลไปสู่การปฏิบัติหรือไม่ พรรคเพื่อชาติคงไม่เข้าร่วม เพราะไร้ประโยชน์ ไม่ต้องการเป็นเครื่องมือของรัฐ ยื้ออำนาจให้กับ พล.อ. ประยุทธ์อย่างแน่นอน” นายสงครามกล่าว

ตู่นำครม.สัญจรสุราษฎร์ฯ-ภูเก็ต

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า การลงพื้นที่และประชุมครม.นอกสถานที่หรือครม.สัญจร ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และรัฐมนตรี วันที่ 2-3 พ.ย. จะมีการพูดคุยกับกลุ่มจังหวัดที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เขตอันดามัน ทั้งเรื่องนักท่องเที่ยว ที่เตรียมเปิดให้เดินทางเข้ามา ซึ่งทราบว่ากระทรวงการต่างประเทศได้พูดคุยกับนานาประเทศที่จะนำเครื่องบิน บินตรงเข้ามายังภูเก็ต ส่วนนี้นายกฯจะไปดูการคัดกรองเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและมีความพร้อม รวมทั้งเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับคนไทยว่าจะไม่เกิดปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบที่ 2

นอกจากจะประชุมครม.สัญจร และการประชุมการขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ ฝั่งอันดามันร่วมกับผู้ว่าฯ 6 จังหวัดอันดามัน ได้แก่ กระบี่ ตรัง ภูเก็ต พังงา ระนองและสตูล เร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงอ่าวไทยกับอันดามันแล้ว นายกฯจะประชุมร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคท่องเที่ยว โดยมีวาระสำคัญ เช่น โครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจ.ภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก มาตรการส่งเสริมการจัดแพ็กเกจท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการจัดสัมมนาของภาครัฐในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบรุนแรงด้วย

ส่วนภารกิจของครม.ในพื้นที่ อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “กระทรวงแรงงานพบประชาชน@ภูเก็ต” เยี่ยมชมโครงการผลิตน้ำจืด จากน้ำทะเล ที่สำนักงานการประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ติดตามการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านในไร่ และเยี่ยมชมกิจการรีสอร์ตประชารัฐตำบลนาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ติดตามการจัดการศึกษาอาชีวศึกษากำลังสอง ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน