ป่วยอีก12
จากตปท.
คนไทย6

ส่ง 5 ตำรวจพัทลุงชุดจับ10 ต่างด้าวแรงงานพม่าคาด่านกักตัวร.พ.ตำรวจ หลังพบติดโควิด 1 คน ส่วนฝ่ายปกครอง อีก 1 คน รวมทั้งครอบครัว-กลุ่มเสี่ยงใกล้ชิด สั่งกักตัวแล้ว สสจ.ตรวจไทม์ไลน์เคยทำงานที่ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา นาน 2 เดือน รอผลตรวจเชื้อว่าแพร่กระจายได้หรือเป็นแค่ซากชิ้นส่วนที่ตายแล้ว ด้านสธ.แถลงยังไม่นับเป็นผู้ติดเชื้อในไทย ผลตรวจ 2 แล็บพบสารพันธุกรรมน้อยมาก มีโอกาสสูงเคยเป็นผู้ติดเชื้อมาก่อน ศบค.แถลงพบติดเชื้ออีก 12 มีชาวไทย 6 คนกลับจากต่างประเทศ ทั่วโลกพุ่งกว่า 45.3 ล้านคน รายใหม่ 5.45 แสน สูงสุดเท่าที่เคยระบาด แพทย์จุฬาฯ ห่วงสแกนแอพฯ ไทยชนะลดลง

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยข้อมูลผ่านศูนย์ข้อมูล COVID 19 ว่า วันนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 12 ราย หายป่วย 15 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมรวม 3,775 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,451 ราย มาจากสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 827 ราย หายกลับบ้านรวม 3,585 ราย ยังรักษา ในร.พ. 131 ราย เสียชีวิตรวม 59 ราย โดยผู้ป่วย รายใหม่มาจากต่างประเทศได้แก่

1.ฟิลิปปินส์ 1 ราย เป็นวิศวกรชาย ชาวบราซิล อายุ 24 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 22 ต.ค. เข้าพักในอัลเทอร์เนทีฟ สเตต ควอรันทีน กทม. ตรวจหาเชื้อวันที่ 27 ต.ค. ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ 2.สหรัฐอเมริกา 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 34 ปี ทำธุรกิจส่วนตัว เดินทางจากไต้หวัน ถึงไทยวันที่ 23 ต.ค. เข้าพักในสเตต ควอรันทีน จ.ชลบุรี ตรวจหาเชื้อวันที่ 28 ต.ค. พบเชื้อ ไม่มีอาการ 3.อินเดีย 3 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 31 ปี พนักงานนวด/สปา, ชายอินเดีย อายุ 32 ปี พนักงานบริษัท และหญิงแม่บ้านอินเดีย อายุ 45 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 23 ต.ค. คนไทยเข้าพักในสเตต ควอรันทีน จ.ชลบุรี คนอินเดียเข้าพักในอัลเทอร์เนทีฟ สเตต ควอรันทีน กทม. ตรวจเชื้อวันที่ 28 ต.ค. ผลพบเชื้อ ทั้งหมดไม่มีอาการ โดยหญิงอินเดียเคยมีประวัติติดเชื้อ โควิด-19 เมื่อวันที่ 28 ก.ย.

4.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 4 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 26 ปี พนักงานนวด/สปา, แม่บ้าน อายุ 30 ปี ชายไทย อายุ 42 ปี พนักงานร้านอาหาร และพนักงานบริษัท อายุ 52 ปี โดย 3 รายแรกเดินทางถึงไทยวันที่ 23 ต.ค. อีกรายถึงวันที่ 24 ต.ค. ทั้งหมดเข้าพักในสเตต ควอรันทีน จ.ชลบุรี รายที่ 1 2 และ 4 ตรวจเชื้อวันที่ 28 ต.ค. และรายที่ 3 ตรวจหาเชื้อวันที่ 27 ต.ค. ทั้งหมดผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ 5. จอร์แดน 1 ราย เป็นนักศึกษาชายไทย อายุ 25 ปี เดินทางจากกาตาร์ถึงไทยวันที่ 27 ต.ค. เข้าเกณฑ์ ผู้ป่วยสอบสวนโรคคัดกรองที่ด่านสุวรรณภูมิ วันที่ 27 ต.ค. ผลพบเชื้อ มีอาการน้ำมูก 6.เอธิโอเปีย 1 ราย เป็นชายเอธิโอเปีย อายุ 43 ปี มารักษาด้วยโรคอื่น เดินทางถึงไทยวันที่ 28 ต.ค. เข้าพักในโรงพยาบาลกักกันทางเลือก กทม. ตรวจหาเชื้อวันที่ 28 ต.ค. ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ และ7.หญิงพม่า อายุ 30 ปี 1 ราย มารักษาด้วยโรคอื่น เดินทางถึงไทยวันที่ 28 ต.ค. เข้าพักในโรงพยาบาลกักกันทางเลือก กทม. ตรวจหาเชื้อวันที่ 29 ต.ค. เคยมีประวัติติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 23 ก.ย.

ด้านสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อรวม 45,319,630 ราย เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 545,903 ราย อาการรุนแรง 82,228 ราย รักษาหายแล้ว 32,991,627 ราย เสียชีวิต 1,186,214 ราย โดยสหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 9,212,767 ราย เป็นรายใหม่ 91,530 ราย 2.อินเดีย 8,088,046 ราย รายใหม่ 49,281 ราย 3.บราซิล 5,496,402 ราย รายใหม่ 26,647 ราย 4.รัสเซีย 1,581,693 ราย รายใหม่ 17,717 ราย 5.ฝรั่งเศส 1,282,769 ราย รายใหม่ 47,637 ราย

ส่วนสถานการณ์ในยุโรปการระบาดรุนแรงขึ้น โดยหลายประเทศมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกินกว่าหมื่นราย เช่น สเปน เพิ่มขึ้น 23,580 ราย อังกฤษ 23,065 ราย อิตาลี 26,831 ราย เยอรมนี 18,732 ราย เบลเยียม 21,048 ราย เนเธอร์แลนด์ 10,264 ราย และโปแลนด์ 20,156 ราย

สำหรับพม่ามีรายใหม่เพิ่ม 1,331 ราย ยอดสะสม 50,403 ราย ส่วนมาเลเซียเพิ่มขึ้นอีก 649 ราย ยอดสะสมรวม 30,090 ราย

ส่วนกรณีเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ป่าบอน จ.พัทลุง จับกุมแรงงานต่างด้าวชาวพม่า 10 คน ชาย 9 คน และหญิง 1 คน ทั้งหมดมากับรถกระบะอีซูซุ แค็บสีดำ ทะเบียน บร-1758 ชุมพร ได้ที่ ริมถนนเอเชียขาขึ้น ท้องที่ อ.ป่าบอน โดยมีนายยาดดานา โซ อายุ 31 ปี เป็นคนขับ สอบสวนเบื้องต้นทราบว่าไปรับแรงงาน ชาวพม่านำไปส่งให้นายจ้างรายหนึ่งในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี โดยเรียกค่าโดยสารคนละ 1,500 บาท

ความคืบหน้า เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พัทลุง นพ.ไพศาล เกื้ออรุณ นายแพทย์สสจ.พัทลุง ในฐานะเลขาฯ คณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดพัทลุง แถลงข่าวว่า เบื้องต้นพบชิ้นส่วน ของเชื้อโรคโควิดจากสารคัดหลั่งของแรงงานต่างด้าวชายวัย 27 ปี ขั้นตอนต่อไปต้องตรวจโดยละเอียดอีกครั้งว่า ชิ้นส่วนเชื้อมีชีวิตอยู่ ในสภาวะแพร่กระจายได้หรือเป็นแค่ซากชิ้นส่วนที่ตายและแพร่กระจายไม่ได้แล้ว ซึ่งต้องรอผลการตรวจจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อีก ช้าสุด 2 วันหลังจากนี้

นพ.ไพศาลกล่าวต่อว่า ล่าสุดเจ้าหน้าที่ ได้ดำเนินการตามกระบวนการอย่างเข้มงวด โดยกักกลุ่มเสี่ยง 16 คน แยกเป็นแรงงานพม่า 10 คน และบุคลากรภาครัฐอีก 6 คน โดยแรงงานพม่าที่พบเชื้อได้แยกออกไปกักตัวที่โรงพยาบาล และได้รับรายงานว่าแรงงานพม่ากลุ่มนี้มาอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 2 เดือนแล้ว โดยทำงานอยู่ใน จ.สงขลา ที่ อ.หาดใหญ่ 8 คน และ อ.รัตภูมิ 2 คน โดยชาย วัย 27 ปี ที่พบชิ้นส่วนเชื้อโควิดอยู่ใน อ.รัตภูมิ

ด้านเจ้าหน้าที่ของ ร.พ.ป่าบอน ได้เข้าทำความเข้าใจและข้อปฏิบัติตัวเองใน 14 วัน กับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมแรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าว ทั้ง 5 นาย เพื่อให้การดูแลเฝ้าระวัง ในการกักเก็บตัวของบุคลากรในครอบครัวของตำรวจชุดดังกล่าวด้วย

จากการตรวจไทม์ไลน์เบื้องต้นพบว่า แรงงานต่างด้าวที่ตรวจพบชิ้นส่วนของเชื้อ โควิด อยู่แคมป์ก่อสร้างในพื้นที่ อ.รัตภูมิ เป็นเวลา 2 เดือนเศษ แต่ผู้ป่วยไม่สามารถบอกจุดที่ออกจากแคมป์ก่อสร้างได้ถูกต้องว่ามีจำนวนกี่จุด ต่อมาวันที่ 27 ต.ค. ได้ขึ้นรถกระบะคันที่ถูกจับกุมออกจากแคมป์ก่อสร้างพร้อมกับเพื่อนคนงานรวม 10 คน โดยมี เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย และฝ่ายปกครอง 1 คน เข้าจับกุม ที่บนถนนเพชรเกษม หน้าที่ว่าการอำเภอป่าบอน โดยมีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร 2 นาย และชั้นประทวนอีก 1 นาย เป็นชุดจับกุม ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอัตราเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโควิด โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ถูกส่งตัวไปกักเก็บตัวที่ร.พ.ตำรวจ กรุงเทพฯ แล้ว โดยมีคณะแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ร.พ.ดูแลในการกักตัวอย่างใกล้ชิด

ต่อมานายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผวจ.สงขลา กล่าวว่า ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สสจ.สงขลา และเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 12 สงขลา ดำเนินการสอบสวนโรคแรงงานต่างด้าวในพื้นที่แล้ว และได้สั่งให้ฝ่ายปกครอง อ.รัตภูมิ ลงสอบสวนแบบ ปูพรมทุกหมู่บ้าน แต่ไม่พบข้อมูลต่างด้าวพักอาศัย ส่วนแรงงานต่างด้าวแต่ละคนพูดจา วกไปวนมา บอกไม่รู้จักพื้นที่หลบซ่อน บางคนบอกว่าเดินทางมาทางเรือขึ้นฝั่งที่ จ.สตูล จึงให้นายอำเภอรัตภูมิลงพื้นที่เรียกผู้นำ ท้องที่ และชาวบ้านพื้นที่เป้าหมายมาสอบถามทุกหมู่บ้าน ซึ่งยังไม่พบข้อมูลความเคลื่อนไหว ต่างด้าวในพื้นที่เลย แต่ต้องดำเนินต่อไปจนกว่า ได้ความจริงให้เร็วที่สุด

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการตรวจแรงงานต่างด้าวที่มีเชื้อโควิด พบสารพันธุกรรม ในปริมาณน้อย ทั้งการตรวจที่ร.พ. และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จังหวัดตรัง โดยมีโอกาสสูงที่เป็นผู้ติดเชื้อรายเก่า เนื่องจาก เจอสารพันธุกรรมน้อยมาก ไม่มีอาการป่วย และคนรอบข้างที่อยู่ระหว่างการเฝ้าระวังก็ยังไม่มีใครตรวจเจอเชื้อ

“สธ.ยังไม่ถือว่าแรงงานพม่ารายนี้เป็น ผู้ติดเชื้อยืนยันของไทย เนื่องจากผลการตรวจทั้ง 2 แล็บ ตรงกันว่ามีสารพันธุกรรมในปริมาณน้อยมาก และรายนี้ให้ประวัติว่า เดินทางเข้าไทยผ่านด่าน อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อ 2 เดือนก่อน คือเดือนส.ค. ที่พม่ามีการระบาดแล้ว จึงต้องเจาะเลือดส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูภูมิคุ้มกัน จึงสรุปได้อย่างชัดเจนว่าเป็นผู้ติดเชื้อรายเก่าที่ติดมานานแล้วหรือติดใหม่ กรณีนี้เทียบเคียงได้กับกรณีหญิงไทยที่กลับจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจะเดินทางกลับไปทำงานใหม่แล้วมาตรวจว่าพบเชื้อ แต่เมื่อนำไปเพาะเชื้อก็ไม่ขึ้นแสดงว่าเป็นซากเชื้อ และเมื่อตรวจเลือดก็เจอภูมิคุ้มกัน แสดงว่าเคยติดเชื้อมาก่อนนานแล้ว ประเทศไทย ก็ไม่ได้รายงานผู้หญิงรายนี้ว่าเป็นผู้ติดโควิด-19 ยืนยันแต่อย่างใด” น.พ.โสภณกล่าว

ที่ร.พ.ราชวิถี นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวภายหลังเปิดงาน Virtual Policy Forum : Updating on Diagnosis, Treatment and Vaccine of COVID-19 ว่า ตนมองว่าการระบาดระลอก 2 ย่อมต้องเกิดขึ้น ทั้งกรณีเดินทางเข้ามาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือลักลอบเข้าตามช่องทางธรรมชาติ ซึ่งยังไม่ สามารถควบคุมได้เต็มระบบ แต่การเข้าออกทางสนามบินมีระบบที่ค่อนข้างมั่นใจ ล่าสุดรัฐบาลใช้เงินไปเกือบ 100 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเรามีการสร้างงานโดยการจ้างคน โดยต้องยิงเงินเข้าไปในระบบประมาณ 5 แสนล้านบาท ไม่รวมกับ 4.5 แสนล้านบาทที่อัดเข้าไปในระบบการเงิน อย่างไรก็ตาม วันนี้อีก 1 ปีหรือ 1 ปีครึ่ง โลกเราจะเดินทางไปสู่ความเป็นปกติสุข เนื่องจากจะมีวัคซีนป้องกันโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นโคแวกซ์ (COVAX) หรือแอสตราเซเนกา

ด้านศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ อภิปรายว่า สำหรับพม่า ถ้าเข้าออกตาม กฎเกณฑ์ไม่น่ากลัวเลย แต่ที่กลัวคือปีนรั้ว เข้ามาโดยไม่ได้เข้าออกตามประตู และจังหวัดที่น่ากลัวคือ ระนอง อีก 1-2 เดือนมรสุมหมด จะมีผู้อพยพทางทะเลที่จะไปต่อมาเลเซีย จุดพวกนี้ที่ลักลอบเข้ามาน่ากลัวกว่า ซึ่งของพม่าตายไปกว่า 1 พันรายแล้ว

“ไทยถือว่ารับมือได้ดี อย่างสูงสุดผู้ป่วย 188 คน ยกตัวอย่าง หากจังหวัดมี 1 ล้านคน มีผู้ป่วยวันละ 5 คน ประเทศไทยรับได้ เพราะรู้ว่า ผู้ป่วยจริงๆ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ มีส่วนน้อยที่มีอาการมากจนต้องเข้าไอซียู ที่น่ากังวลคือ ปัจจุบันคนกลับสแกนไทยชนะน้อยลง ซึ่งจริงๆควรทำอย่างสม่ำเสมอ” ศ.นพ.ยงกล่าว

หาเชื้อ – เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตำรวจสภ.ป่าบอน จ.พัทลุงหลังจับกุมแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองเมื่อวันที่ 27 ต.ค.(รูปเล็ก) แล้ว 1 ในผู้ต้องหาตรวจพบติดเชื้อ ที่ห้องประชุมสภ.ป่าบอน เมื่อวันที่ 30 ต.ค.

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน