สว.ขู่ยืนศาลปมปิดสวิตช์
ถกเดือดศึกรธน.
ตู่ก็ค้านแก้ม.144

รัฐสภาเดือด ถกร่างแก้ไข รธน. 13 ฉบับ ส.ส.-ส.ว.ซัด กันนัว ‘น้องวิษณุ’ ขู่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญปมปิดสวิตช์ส.ว. ยันต้องทำประชามติก่อน ‘สิงห์ศึก’ ลั่น หากพปชร.ยังฝืนแก้ ม.144 กับ ม.185 เจอโหวตคว่ำวาระ 3 แน่ ‘บิ๊กตู่’ ก็ไม่เห็นด้วย ชี้เป็นหัวใจป้องกันทุจริต เด็ก พปชร.ตะเพิดฝ่ายค้าน ห้ามแตะ ‘ตู่-ป้อม’ ก้าวไกลย้ำต้องยกเลิก ม.272 หยุดสืบทอดระบอบประยุทธ์ เพื่อไทยรับไม่ได้ร่างของ พปชร.จี้ทบทวนตีตกญัตติมาตรา 256 ตั้งส.ส.ร. ‘ชวน’ ยกคำวินิจฉัยโต้ ชี้ถ้าบรรจุ หวั่นผิดรัฐธรรมนูญ ‘บิ๊กป้อม’ ปัดจ่อตั้งรัฐบาลพรรคเดียว อ้างเป็นเรื่องอนาคต เพื่อไทยฉะนายกฯ ไฟเขียวกลาโหมซื้อเครื่องบินใหม่

‘บิ๊กป้อม’ยันไม่แก้ม.144 และ 185

วันที่ 23 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ยืนยันจะไม่แก้มาตรา 144 เกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ห้ามไม่ให้สมาชิกรัฐสภาแปรญัตติได้ และมาตรา 185 ห้ามสมาชิกรัฐสภาการเกี่ยวข้องกับการโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งเรื่องนี้นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพปชร.ในฐานะเป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ บอกแล้วว่าจะมีการปรับร่างที่ยื่นไปแล้วของพปชร. และคงต้องไปพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลในทุกเรื่อง รวมทั้งประเด็นบัตรเลือกตั้งด้วย

เมื่อถามว่าพปชร.กับพรรคเพื่อไทย มีโอกาสจับมือกันในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เป็นเหตุการณ์ข้างหน้า เป็นเรื่องอนาคต ตอบได้ว่าไม่รู้จริงๆ ยังไม่คิดอะไรทั้งนั้น

ชี้เรื่องอนาคต-ตั้งรบ.พรรคเดียว

ต่อข้อถามว่ามั่นใจว่าพปชร.จะเป็นพรรคอันดับหนึ่งใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่รู้ ก็บอกเป็นเรื่องข้างหน้า จะไปรู้ได้อย่างไร วันนี้ต้องการให้พรรคเข้มแข็ง มีความคิดเป็นหนึ่งเดียว ไม่แตกแยก อยู่พรรคเดียวกันก็ให้มีความคิดเหมือนๆ กัน คิดในทางสร้างสรรค์ ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ให้ประเทศเจริญก้าวหน้า ส่วนการสร้างพรรคให้เป็นสถาบันการเมือง เป็นเรื่องของกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.)

เมื่อถามย้ำว่าในอนาคต พปชร.จะตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า จะไปรู้ได้อย่างไร อนาคตข้างหน้า ยังไม่ได้เลือกตั้งเลย ยังเหลืออีกตั้ง 2 ปี และตอนนี้รัฐบาลยังอยู่ได้แน่นอน ส่วนตนจะอยู่ต่อหรือไม่ ยังไม่รู้เพราะแก่แล้ว ส่วนการวางกลยุทธ์ขับเคลื่อนพปชร.จะเป็นอย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มี เราอาสาสมัครมา ไม่ใช่นักการเมือง

‘บิ๊กตู่’ก็ค้านแก้ 144-185

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกฯ ได้ติดตามการอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยืนยันไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 144 และ 185 เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันการทุจริตและปิดช่องว่างไม่ให้มีการแทรกแซงการจัดทำงบประมาณและการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับการป้องกันการทุจริตและ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการใช้จ่ายงบ ต้องมีความรับผิดชอบตามกฎหมายทั้งทางตรงทางอ้อม

วิษณุเชื่อพรรคเล็กยื่นศาลรธน.ได้

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงพรรคเล็กเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นบัตร 2 ใบ อาจขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญว่า หากพรรคเล็กติดใจก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งยอมรับว่ามีผลกระทบต่อพรรคเล็ก

ส.ว.ย้ำแก้ ม.272 ต้องทำประชามติ

ที่รัฐสภา พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา กล่าวถึงนายไพบูลย์ยอมถอยในส่วนของมาตรา 144 และมาตรา 185 โดยการพิจารณาวาระ 2 ในชั้นกมธ.จะเสนอให้แก้ไขกลับไปใช้ตามหลักการเดิมของรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า เป็นเรื่องน่ายินดี และขอบคุณนายไพบูลย์ เมื่อพูดคุยกับส.ว.แล้ว ได้ขอให้ส.ว.ช่วยรับไปแก้ไขในวาระที่ 2 หากไม่เป็นไปตามที่พูดคุยกัน จะยอมให้ส.ว.ล้มใน วาระที่ 3 ทำให้ส.ว.คลายกังวล จะได้ไม่เป็นแพะรับบาป ส่วนส.ว.จะรับร่างแก้ไขของ พปชร.หรือไม่นั้น อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เราเห็นด้วย

เมื่อถามถึงการลงมติร่างแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจส.ว.เลือกนายกฯ พล.อ.สิงห์ศึกกล่าวว่า มาตรา 272 มาตามประชามติของประชาชน ดังนั้น การจะแก้ไขต้องถามประชาชนก่อน และต้องดูว่าจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งส.ว.ไม่หนักใจ เพราะได้พิจารณากลั่นกรองร่างรัฐธรรมนูญทุกร่างแล้ว เรามีวุฒิภาวะที่จะตัดสินใจ อะไรที่ถูกที่ดีมีประโยชน์ก็รับได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของส.ว.แต่ละท่าน

เพื่อไทยจี้ทบทวนแก้ม.256

เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 13 ฉบับ โดยพปชร. 1 ฉบับ พรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 ฉบับ และพรรคร่วมรัฐบาล 8 ฉบับ ก่อนเข้าสู่วาระ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้สอบถามถึงเหตุผลไม่บรรจุญัตติแก้ไขมาตรา 256 ของพท. เรื่องการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากฝ่ายรัฐสภาเห็นว่าญัตติดังกล่าวเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่ใช่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ และในวันนี้ได้ทำหนังสือถึงประธานรัฐสภา ขอให้ทบทวนความเห็นและบรรจุร่างแก้ไขมาตรา 256 เพราะคำวินิจฉัยศาลระบุ หากจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้ทำประชามติก่อน ศาลไม่ห้ามทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นพ.ชลน่านกล่าวว่า การยื่นแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ เป็นเพียงกระบวนการจัดทำการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดช่องรองรับไปสู่การทำรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น หากรัฐสภาเห็นชอบก็ให้จัดทำประชามติต่อไป รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังไม่ถูกยกเลิก แต่การไม่บรรจุญัตติเท่ากับห้ามแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสิ้นเชิง ไม่อยากให้ตีความเกินคำวินิจฉัย ขอให้ทบทวน การไปยึดติดคำวินิจฉัยจนสมาชิกทำหน้าที่ไม่ได้ ขอให้เป็นหน้าที่สมาชิกวินิจฉัย ไม่ใช่ประธานวินิจฉัยเอง

ก้าวไกลโวยไม่รอร่างประชาชน

ด้านนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขณะนี้ภาคประชาชนที่รณรงค์โครงการขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ ล่าชื่อประชาชนได้ 40,000 กว่าคนแล้ว ใกล้ครบ 50,000 ชื่อ เสียดายที่ร่างที่ถูกเสนอโดยประชาชน ไม่ถูกบรรจุเข้าพิจารณา หากสามารถรวมร่างทั้งหมดมาพิจารณาได้ จะช่วยประหยัดงบ และเกิดภาพสง่างามการรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชน แต่ดูเหมือนฝ่ายรัฐบาลเร่งรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะกลัวถ้ายุบสภาแล้ว อาจแก้รัฐธรรมนูญไม่ทัน อยากถามว่า ถ้าภาคประชาชนล่าชื่อครบ 50,000 คน โดยที่พิจารณาแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ยังไม่จบวาระ 3 ร่างของภาคประชาชนจะถูกพิจารณาอย่างไร

‘ชวน’ลั่นไม่มีใครสั่งประธานได้

จากนั้นนายชวนชี้แจงว่า กระบวนการพิจารณาญัตติจะมีเจ้าหน้าที่รัฐสภาดูแลอยู่แล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นว่าบรรจุไม่ได้ จึงส่งให้ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายรัฐสภาช่วยพิจารณา ก็มีความเห็นตรงกันว่าบรรจุไม่ได้ จากนั้นส่งมาให้ตนพิจารณา ตนพิจารณาด้วยความรอบคอบ เหตุที่ไม่บรรจุญัตติดังกล่าว เพราะมีมาตรา 15/1 เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งตรวจพบว่าหลักการและเหตุผลของญัตตินี้ มีสาระสำคัญเหมือนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ศาลเคยวินิจฉัยไปแล้วว่ามีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 และให้ไปทำประชามติก่อนว่าประชาชนประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จึงมีความเห็นไม่บรรจุ ถ้าบรรจุแสดงว่าไม่ยอมรับคำวินิจฉัย

“ผมขอยืนยัน 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครมาสั่งประธานได้ นายกฯ ไม่เคยมายุ่ง ขอให้มั่นใจว่าการวินิจฉัยเป็นไปด้วยความสุจริต ยึดมั่นกฎหมาย ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ส่วนร่างภาคประชาชน ถ้าส่งมาเมื่อใดก็จะพิจารณาและบรรจุให้ทันที ไม่มีลับลมคมใน ถ้าไปท้าทายคำวินิจฉัย ด้วยการบรรจุญัตติ ก็เท่ากับผมทำผิดรัฐธรรมนูญ” นายชวนกล่าว

โวร่างพปชร.ปลดล็อกขัดแย้ง

จากนั้นเวลา 10.55 น. ได้เปิดให้ตัวแทนแต่ละพรรคที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อภิปรายถึงหลักการและเหตุผล โดยนายไพบูลย์ระบุว่า ร่างแก้ไขของพปชร.เป็นจุดเริ่มต้นคลี่คลายความขัดแย้ง และยืนยันจะผลักดันให้มีการแก้ไขมาตรา 144 และมาตรา 185 กลับไปใช้ตามหลักการเดิม จึงขอให้ส.ว.สบายใจได้ และมั่นใจว่าสมาชิกรัฐสภาน่าจะช่วยกันสนับสนุนให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับสำเร็จลุล่วงได้

ขณะที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่และหัวหน้าพท. กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอแก้ไข 4 ร่าง เนื่องจากการเสนอร่างแก้ไขมาตรา 256 และการเพิ่มหมวด 15/1 ไม่ได้รับการบรรจุ จนทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะฝ่ายกฎหมายรัฐสภาอ้างว่าติดขัดข้อกฎหมาย ดังนั้น เพื่อหาทางให้ประเทศแม้จะมีเพียงบางส่วน ก็จำเป็นต้องทำ หวังว่าร่างแก้ไขทั้ง 4 ร่างจะได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมของรัฐสภาต่อไป

ปชป.ย้ำโหวตรับทั้ง 13 ร่าง

นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า ภท.เห็นว่าเราจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ชาติ แต่การกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้นไม่เหมาะสม จึงควรแก้มาตรา 65 กำหนดยุทธศาสตร์ชาติสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ รวมถึงแก้ไขมาตรา 159 ในเรื่องที่มาของนายกฯ และยกเลิกมาตรา 272 การให้อำนาจส.ว.เลือกนายกฯ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายสนับสนุนร่างแก้ไขทั้ง 6 ฉบับของพรรค โดยเฉพาะการยกเลิกมาตรา 272 ที่ ไม่ได้กีดกันบุคคลใด ไม่ให้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งเห็นว่าวุฒิสภายังมีความจำเป็น แต่ควรมีหน้าที่จำกัดแค่ออกกฎหมาย และกำกับดูแลการบริหาร ไม่ควรมีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ พร้อมระบุว่า ปชป.มีมติเห็นชอบทั้ง 13 ร่าง ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ แต่เพื่อแสวงหาความร่วมมือและความเห็นพ้องตามจุดยืนที่พรรคกำหนดไว้ แม้ร่างของพปชร. จะมีข้อท้วงติงในมาตรา 144 และมาตรา 185 แต่เห็นว่าสามารถแปรญัตติในวาระ 2 ได้

‘วันชัย’อัดสส.-เจอประท้วงวุ่น

จากนั้นเปิดให้สมาชิกรัฐสภา อภิปรายแสดงความเห็น โดยนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายว่า เรื่องปิดสวิตช์ส.ว. ตนยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าสนับสนุนให้ตัดมาตรานี้ แต่สิ่งที่ส.ส.และพรรคเสนอนั้น ตนอยากใช้คำพูดว่า กินอยู่กับปาก อยากอยู่กับท้อง ทำทีเรียกร้องประชาธิปไตย เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่ส.ว. ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ พรรคเล็กจะหายไป พรรคใหญ่จะผงาด นายทุนจะครอบงำพรรคลูกพรรคหรือส.ส.จะเป็นเหมือนพนักงาน ธุรกิจการเมืองจะกลับมาอีก เรากำลังปิดสวิตช์คนยากคนจน

ทำให้นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พปชร. ประท้วงว่าเป็นการเสียดสี และอยากให้นายวันชัย แสดงออกในการอภิปรายครั้งนี้ ด้วยการลาออกจากส.ว. เพื่อไม่ให้เกิดรอยด่างของระบอบประชาธิปไตย จะเอาดีใส่ตัวไม่ได้ ขณะที่นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงเช่นกันโดยระบุ การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเทศดีขึ้น ไม่ใช่ว่า คนอื่นแย่ หรือเลวหมด

นายวันชัยกล่าวต่อว่า ตนไม่ได้ว่าใครเลย ยืนยันว่าในการเลือกนายกฯ คือส.ส. และทุกวันนี้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ได้ด้วยพรรคและส.ส.ไม่ใช่อยู่ได้ด้วยส.ว. อย่างไรก็ตาม หลังจากนายวันชัย อภิปรายเสร็จ โดยนายคารมย้ำว่าอย่าทำตัวเป็นผู้วิเศษขอให้ควบคุม ขณะที่นายวันชัยตอบโต้ว่า ขอให้หาพรรคอยู่ให้ได้ก็แล้วกัน

พปชร.เดือด-ห้ามแตะ‘ตู่-ป้อม’

บรรยากาศการประชุมยังคงดุเดือด เมื่อนายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายเสียงดัง วิจารณ์การกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบอย่างรุนแรง เพราะพล.อ.ประยุทธ์กับพล.อ.ประวิตร ต้องการทำเพื่อตัวเองให้กลับมาเป็นใหญ่ เป็นการแก้ไขเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ ขอให้พปชร. ถอนญัตติไป หากดันทุรังแก้ไข แล้วเลือกตั้งแพ้พท.อีก อย่าไปแย่งจัดรัฐบาล ขอให้มียางอาย

ทำให้ส.ส.พปชร.หลายคน ประท้วงว่า พูดพาดพิงถึงพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ. ประวิตร การพูดแบบนี้ไม่ควรเป็นสมาชิกรัฐสภาควรไปอยู่ข้างถนนดีกว่า จนนาย พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ต้องตักเตือนบ่อยครั้ง เพื่อควบคุมการประชุม กระทั่งนายวิรัตน์อภิปรายจบ

สุรชัยยันจำเป็นต้องมีส.ว.

ต่อมานายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. อภิปรายว่า เรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ อดห่วงไม่ได้ว่าจะถอยหลังไปสู่รัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะไปตัดสิทธิมาตรา 45 การมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคออก ขณะที่การแก้ไขมาตรา 144 มีการไปตัดบทลงโทษของส.ส. และส.ว.ที่ไปแทรกแซง งบประมาณลงไป ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมสนใจ จึงเห็นกระแสต่อต้านค่อนข้างสูง

ส่วนการตัดมาตรา 272 นั้น ตนไม่ขัดข้อง เพราะส.ว.เป็นแค่อำนาจปลายทางในการเห็นชอบนายกฯ แต่ต้นทางอยู่ที่ส.ส.เป็นผู้เสนอชื่อ ส่วนประเด็นสิทธิเสรีภาพประชาชน เชื่อว่าส.ว.เห็นด้วย แต่อย่าเอาเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นตัวประกันไปผูกรวมเรื่องอื่น ส.ว.หนักใจในการให้ความเห็นชอบที่มัดมือชก เอาสิทธิเสรีภาพบังหน้า เอาประโยชน์ส.ส.มาผูกรวมกัน นี่คือความจำเป็นต้องมี 2 สภาคอยกลั่นกรอง นี่คือคำตอบมีส.ว.ไว้ทำไม

สภาฮาลั่นปมสส.ปัดเศษ

เวลา 14.10 น. นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า พรรคเห็นว่าประเด็นที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุด คือการยกเลิกอำนาจส.ว.เลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 ซึ่งส.ว. คือกลไกสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์ ถือเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จนประชาชนนึกไม่ออกว่าจะมีส.ว.ไว้ทำไม วันนี้ข้อเสนอที่ไปไกลกว่าการยกเลิกมาตรา 272 แต่อาจคิดไปถึงการยุบส.ว. เหลือสภาเดียว วันนี้หวังว่าส.ว.จะสำเหนียกตัวเองสละอำนาจ อย่าทำบาปทำกรรมกับประเทศไปมากกว่านี้เลย

ทำให้นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ประท้วงว่า ส.ว.ในบทเฉพาะกาลมีประชาชนลงมติ 16 ล้านคน แต่ส.ส.ที่กำลังอภิปรายมีพื้นที่หรือไม่ คะแนนที่ได้มาก็มาจากการปัดเศษ ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้าน อาทิ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พท. ประท้วงประธานที่ปล่อยให้ ส.ว.ลุกขึ้นประท้วงโดยไม่ชี้แจงว่าผิดข้อบังคับข้อไหน

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงนายกิตติศักดิ์ ที่พูดถึงส.ส.ปัดเศษว่า ท่านกำลังเสียดสีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ขอให้ถอน ให้เกียรตินายไพบูลย์ด้วย ส่งผลให้ที่ประชุมหัวเราะกันครื้นเครง

โรมจี้หยุดระบอบประยุทธ์

นายรังสิมันต์อภิปรายต่อว่า พปชร.ต้องการแก้บางมาตรา เพื่อให้เป็นไปตามแผนการรวบอำนาจของคสช.เท่านั้น แค่อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ เรื่องสิทธิเสรีภาพก็แค่เติมแต่งเข้าไป แต่หากแก้รัฐธรรมนูญยังเป็นแบบที่พปชร.เสนอ ต่อให้แก้เรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างไร สุดท้ายคนเห็นต่างก็ยังถูกข่มขู่คุกคามอยู่ดี เป็นแค่ปรับแต่งรัฐธรรมนูญ 60 ให้กลายพันธุ์ดูดีน่าคบหาเท่านั้น ขอเรียกร้องให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และร่วมกันเห็นชอบยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญช่วยหยุดสืบทอดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ และหากญัตติยกเลิกมาตรา 272 ถูกคว่ำลงอีกครั้ง ยิ่งตอกย้ำว่า ละครฉากนี้เป็นแค่ละครปาหี่ เพื่อกินรวบอำนาจทั้งกระดาน จึงขอให้หยุดทำตัวเป็นหางเครื่องค่าตัวหลักแสน ให้กับละครสืบทอดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ และฝ่ายเผด็จการคสช.เสียที

ชลน่านรับไม่ได้ร่างพปชร.

เวลา 15.40 น. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พท. อภิปรายสนับสนุนทั้ง 4 ร่างที่พท.และพรรคฝ่ายค้านเสนอ ทั้งการเพิ่มสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การยกเลิกมาตรา 65 ว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ การแก้ให้นายกฯ มาจากสภา อยู่ในบัญชีพรรค หรือเป็นส.ส. ไม่ควรเอาคนนอกมา ที่สำคัญไม่ให้ส.ว.เข้ามาเลือกนายกฯ และการ กลับไปใช้เหมือนบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 จึงอยากให้สมาชิกรัฐสภาเปิดใจให้ร่างแก้ไข 4 ร่างนี้ ส่วนร่างของพปชร.ที่มีการแก้ไขมาตรา 144 และ 185 ที่ให้เอางบไปใช้ในพื้นที่ตัวเอง รวมถึงการตัดบทลงโทษส.ส.-ส.ว. ที่กระทำผิดเรื่องงบนั้น พท.มีมติชัดเจนว่าถ้ามีเรื่องเช่นนี้อยู่ก็รับไม่ได้

น้องวิษณุขู่ร้องศาลรธน.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายในช่วงเย็นและค่ำ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งส.ส.และส.ว.สลับอภิปราย โดยเวลา 19.15 น. พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายว่า หากต้องการปิดสวิตช์ ส.ว.ต้องถามประชาชน ไม่เช่นนั้นอาจถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ดังนั้น หากจะทำประชามติ ต้องเตรียมไว้ 2 คำถาม ทั้งการแก้รัฐธรรมนูญ และการยกเลิกอำนาจของส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ

พล.อ.ต.เฉลิมชัยกล่าวต่อว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 144 และมาตรา 185 ดังนั้น ขอให้ช่วยแปรญัตติแก้ไขกลับมาตามเดิม อย่าทำให้ประชาชนผิดหวัง และคิดว่าส.ว.จะไม่ถูกหักหลัง

สภานัดลงมติ 13 ฉบับ

กระทั่งเวลา 23.00 น. ประธานจึงสั่งปิดการประชุมและนัดประชุมในเวลา 09.30 น. วันที่ 24 มิ.ย. เพื่อเปิดให้อภิปรายต่อ และลงมติร่างแก้ไขทั้ง 13 ฉบับ โดยลงมติแยกแต่ละฉบับ

นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภา กล่าวว่า การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 24 มิ.ย. จากเดิม คาดการณ์ไว้ว่าเวลา 16.00 น. น่าจะล่าช้าออกไปเล็กน้อย เนื่องจากมีการอภิปรายของสมาชิกจำนวนมาก

‘ชวน’เห็นชอบร่างฉบับประชาชน

นายสมบูรณ์กล่าวว่า ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกลุ่ม Re-Solution นั้น วันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ และคณะ 20 คน ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ซึ่งประธานรัฐสภาวินิจฉัยหลักการของร่างแก้ไขแล้วว่าไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลง รูปแบบของรัฐ หลังจากนี้สภาจะแจ้งไปยังนายพริษฐ์ ให้ชักชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมลงลายมือชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 หมื่นรายชื่อ หากได้ชื่อครบแล้วนำมายื่นต่อประธานรัฐสภา จะได้ตรวจสอบรายชื่อว่าครบถ้วนถูกต้อง หรือไม่ เมื่อตรวจสอบเสร็จ สภาจะเปิดฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ หรือตามมาตรา 13 ของพ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 และจะบรรจุระเบียบวาระให้สภาพิจารณาต่อไป

พท.ซัดบิ๊กตู่ปล่อยซื้อเครื่องบิน

นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพท. กล่าวกรณีกระทรวงกลาโหมใช้งบประมาณกว่า 1,200 ล้านบาท จัดซื้ออากาศยานเพื่อการเดินทางของผู้บัญชาการและบุคคลสำคัญ ลำใหม่ว่า การระบาดของโควิด-19 ที่ยังวิกฤต ประชาชนทุกข์ยาก จึงไม่ควรใช้งบที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เช่นนี้ การที่โฆษกกระทรวงกลาโหมเรียกร้องให้ประชาชนเห็นใจ จะมี โควิดหรือไม่ก็ควรต้องซื้ออยู่ดีนั้น ยิ่งตอกย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ดีแต่พูดบอกรักประชาชน ปากว่าตาขยิบ ไม่เคยเห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ในช่วงนี้สิ่งที่ต้องทำคือการแก้ปัญหาปากท้อง และใช้จ่ายเงินภาษีอย่างคุ้มค่ามากกว่า ต้องเจรจาการจัดซื้อและรับมอบโดยยืดเวลาออกไปก่อน โดยเฉพาะการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และยานพาหนะราคาแพง

“การกระทำของกลาโหม เหมือนลูกอยากได้รถสปอร์ตคันใหม่ ไม่สนใจว่าพ่อแม่พี่น้องกำลังกัดก้อนเกลือกิน พล.อ.ประยุทธ์ปล่อยผ่านเรื่องนี้ไปได้อย่างไร” นายชนินทร์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน