‘ศักดิ์สยาม’ดัน!
เชื่อม2ทะเลไทย

เร่งศึกษาแลนด์บริดจ์เชื่อมระหว่างอ่าวไทย-อันดามันโยงอีอีซี ไม่ลงทุนคอคอดกระ เพราะลงทุนสูงแต่ดันสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ที่ชุมพรกับระนองแทน ด้านรมต.ศักดิ์สยามเปิด 4 มิติ ระบบราง-ทางบก-ทางน้ำ-อากาศ เปิดประเทศ ขับเคลื่อนอนาคตไทย ผลักดันศูนย์กลางคมนาคมขนส่งภูมิภาค ลดต้นทุนระบบ โลจิสติกส์ ตั้งเป้าเป็นเสือเศรษฐกิจของเอเชีย

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) หนังสือพิมพ์มติชน จัดสัมมนารูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านเฟซบุ๊กในเครือมติชน หัวข้อ “EMPOWERING THAILAND 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน” มีนาย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “EMPOWERING THAILAND 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน” จากนั้นเสวนาหัวข้อ “ลงทุนไทย เคลื่อนประเทศ ไทย” โดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นวิทยากร และหัวข้อ “เปิดแผนคมนาคม เปิดประเทศ ขับเคลื่อนอนาคตไทย” โดยนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผอ.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย นายปัญญา ชูพินิช ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยาน ไทย จำกัด (มหาชน)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการไลฟ์สตรีมมิ่งครั้งนี้ จัดที่อาคาร บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) มีนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายวรศักดิ์ ประยูรศุข บรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์มติชน และผู้บริหารเครือมติชนให้การต้อนรับ มีผู้สนใจติดตามรับชมจำนวนมาก

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 ที่ได้รับ 1.8 แสนล้านบาท โดยเบิกจ่ายแล้วประมาณ 50% หรือ 9 หมื่นล้านบาท แม้ปี 2565 งบประมาณเหลือ 1.1 แสนล้านบาท ทางกระทรวงมีการจัดหาแหล่งเงินจากช่องทางอื่น ได้แก่ การเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรัฐ (พีพีพี) การระดมทุนจากกองทุนฟิวเจอร์ฟันด์ และแหล่งเงินกู้จากสำนักงานบริหารหนี้ จะมาเติมเต็มงบประมาณที่ลดลงทำให้เกิดการลงทุนจากโครงการภาครัฐมากกว่างบประมาณที่ได้รับจัดสรร 1.1 แสนล้านบาท

ตอนนี้ได้ศึกษาการพัฒนาและลงทุน โครงการใหม่ๆ เช่น พัฒนาเส้นทางแลนด์บริดจ์ ท่าเรือน้ำลึก และเชื่อมต่อด้วยโครงข่ายทางถนนมอเตอร์เวย์ และรถไฟ เพื่อผลักดันให้อนาคตจะเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ใหม่ของอาเซียน โดยปี 2565 จะเห็นรูปแบบชัดเจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นเสือเศรษฐกิจของเอเชียในอนาคต

นายศักดิ์สยามกล่าวกระทรวงคมนาคม มีแผนขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีความได้เปรียบมีที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ต้องดำเนินการพิจารณาวางแผนให้ครบ 4 มิติ คือ มิติทางบก ถนนหนทางต่างๆ จะต้องมีคุณภาพในการเดินทาง มิติที่สองคือ ระบบราง ในอนาคตระบบรางของไทยจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของการลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ

มิติที่สาม คือ ทางอากาศ ตอนนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก อย่างกรณีการเปิดประเทศในวันที่ 1 ก.ค.นี้ นักท่องเที่ยวจะเดินทางมาที่จังหวัดภูเก็ต หรือภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ จะเป็นการบินตรง ตอนนี้การขอจองตารางการบิน (สล็อต) เข้ามาแล้วประมาณ 80-90% แต่ต้องติดตามการเดินทางในวันจริงอีกครั้งว่าจะมีจำนวนเท่าไร

เริ่มจากโครงสร้างคมนาคม “ทางบก” เกิดเป็นโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Land bridge) ซึ่งแต่เดิมมีความพยายามเชื่อมต่อการเดินทางจากอันดามันมาฝั่งอ่าวไทยด้วยการขุด คอคอดกระ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนา ไปมาก การเดินทางเชื่อมสองฝั่งไม่จำเป็นต้องขุดคลอง เพราะใช้งบประมาณมหาศาลและเป็นการทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคมจึงศึกษาและพัฒนาเป็นโครงการแลนด์บริดจ์ พัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพรและท่าเรือน้ำลึกระนอง พร้อมนำระบบออโตเมชั่นเข้ามาใช้ เชื่อมด้วยโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกับระบบราง (MR-Map) ซึ่งจะไปสนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยอีกทางหนึ่ง เพื่อสร้างให้เป็น เส้นทางโลจิสติกส์ใหม่ในภูมิภาคอาเซียน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจถูกต้องและมีความชัดเจนมากในการประกาศเปิดประเทศใน 120 วัน เพราะคงเห็นว่าจำนวนวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่อยู่ในมือรัฐบาล อย่างน้อยต้องฉีดเข็มแรกให้กับประชาชนได้ถึง 50 ล้านคน ส่วนนี้คือเงื่อนไขแรกของการเปิดประเทศ ส่วนเงื่อนไขที่สองคือ มีความมั่นใจว่าภาคสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานในการวางมาตรการควบคุมสภานการณ์ ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ภาคเอกชนมีความพร้อม และเชื่อว่าโควิด-19 ยังจะอยู่ไปอีกนาน ดังนั้นสิ่งที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้คือวัคซีน ซึ่งรัฐบาลจะต้องหามาให้ได้ภายในปีนี้ ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านโดส เพื่อการเตรียมพร้อมเปิดประเทศ

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การพัฒนาระบบขนส่งคมนาคมไม่ใช่เรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการแข่งขันของประเทศ โดยทำหน้าที่หลักในการขนส่ง 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.ขนส่งคน และ 2.ขนส่งสินค้า จากต้นทางไปสู่ปลายทาง ผ่านระบบ 4 มิติ คือ ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ นอกจากนี้ จะต้องทำให้ประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางในการขนส่งเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ทั้งการขนส่งสินค้าและบริการ รวมถึงขนส่งคนจากการท่องเที่ยว ที่เป็นเป้าหมายใหญ่ ซึ่งคาดว่า จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มแบบมหาศาล โดยการขนส่งสินค้าจะสะดวกมากขึ้น

“แผนการทำงานของกระทรวงคมนาคม ภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่ส่งลงมา เป็นการสร้างอนาคตให้กับประเทศไทย ที่มองข้ามการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในอีก 120 วันแล้ว ถือเป็นการมองไปไกลกว่านั้น แต่การเปิดรับต่างชาติใน 120 วัน กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หารือร่วมกันในทุกมิติไว้แล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย” นายชยธรรม์กล่าว

นายปัญญา ชูพานิช ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ทาง สนข.รับผิดชอบในเรื่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และแผนของกระทรวงคมนาคม โดยแยกออกเป็นการขนส่งสินค้าและการขนส่งคน ในเรื่องของการขนส่งสินค้า จะผลักดันให้ปรับเปลี่ยนการขนส่งทางถนน ไปเป็นระบบรางและน้ำให้เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดประโยชน์ในเรื่องของต้นทุนที่ ถูกลง สินค้าที่ไปค้าขายต่างประเทศก็จะมีราคาถูก สู้กับต่างประเทศได้

ส่วนการขนส่งคนจะต้องมีการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลให้น้อยลง ลดการใช้ถนนลง ลดมลพิษ ลดอุบัติเหตุ การจะเกิดแบบนั้นได้ต้องมีระบบการขนส่งมวลชนที่ดี การที่มีรถไฟฟ้าครบก็ยังไม่พอ จากบ้านไปรถไฟฟ้าต้องเดินทางอย่างไร ต้องหาระบบป้อน (Feeder) ให้คนออกจากบ้านไปยังรถไฟฟ้าด้วยระบบลำลอง ไปยังจุดหมายปลายทาง แล้ว ก็ต้องมีระบบลำลองพาไปยังที่ทำงานต่ออีก

นายปัญญากล่าวว่า ต่อมาสิ่งที่ สนข. รับผิดชอบ ได้รับมอบหมายคือ โครงการแลนด์บริดจ์ที่กำลังศึกษาอยู่ ภายในต้นปีหน้ารูปแบบโครงการจะแล้วเสร็จ โดยประโยชน์ที่คาดหวังคือ ประเทศไทยจะมีประตูการค้าทางด้านใต้ ทั้งด้านตะวันออก และด้านมหาสมุทรอินเดีย ที่ไม่มีท่าเรือน้ำลึกที่จะสามารถนำเข้าส่งออกสินค้าได้ ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์ทำสำเร็จ ประเทศไทยจะมีประตูการค้าอยู่ด้านใต้ จะเป็นประตูสำคัญสำหรับภูมิภาคอาเซียน สินค้าต่างๆ สามารถส่งผ่านมายังตรงนี้ได้ ผ่านทางรางผ่านทางมอเตอร์เวย์ ที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ไปสู่ประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน