เสนอแผนช่วย
ผู้ประกอบการ
ลูกจ้างหัว3พัน

‘สุชาติ ชมกลิ่น’ รมว.แรงงาน ผลักดันช่วยเหลือ ‘เอสเอ็มอี’ รองรับเปิดประเทศ 1 พ.ย. โดยธุรกิจขนาดเล็กลูกจ้าง 200 คนลงมา จ่ายหัวละ 3 พันบาท ระยะเวลา 3 เดือน แต่มีข้อแม้ต้องรักษาการจ้างงานร้อยละ 95 เช่นมีพนักงาน 100 คน ห้ามเลิกจ้างเกิน 5 คน ต้องจ้างคนไทยเท่านั้น คาดเปิดให้ผู้ประกอบการลงทะเบียน 20 ต.ค.นี้ จ่ายเงินให้นายจ้างในช่วงเดือนพ.ย.64 ถึงม.ค.65

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง อธิบดีกรมต่างๆ เข้าพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ ผู้บริหารเครือมติชน และให้สัมภาษณ์ถึงการ เตรียมการด้านแรงงาน ทั้งการจ้างงาน และการช่วยเหลือแรงงานภายหลังเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ว่าหลังจากนี้คาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของการช่วยเหลือนั้น กระทรวงแรงงานยังคงดำเนินการต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีแผนช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี

นายสุชาติกล่าวว่า ในประเทศไทยมีการจ้างงาน และมีผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11 ล้านคน มีผู้ประกอบการทั้งหมด 489,000 กว่ากิจการ จากการตรวจสอบพบว่าในจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ทั้งหมดอยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอี 5.6 ล้านราย เรียกได้ว่าครึ่งหนึ่งที่อยู่ในธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งในการจะรักษาการจ้างงานในช่วงที่จะเปิดประเทศ ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีว่าธุรกิจขนาดเล็กที่มีลูกจ้าง 200 คนลงมา ไม่ต้องดูว่าจะเป็นธุรกิจอะไรทั้งสิ้น ช่วยเหลือเขาให้หมดหัวละ 3,000 บาท คิดเป็น 3,000 บาท คูณลูกจ้าง 200 หัว ก็จะได้ 600,000 บาท ช่วยเหลือเป็นระยะเวลาทั้งหมด 3 เดือน แต่มีข้อแม้ว่าเมื่อเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือแล้วนั้น จะต้องรักษาการจ้างงานร้อยละ 95 หมายความว่าหากมีพนักงาน 100 ราย ห้ามเลิกจ้างเกิน 5 ราย แต่ถ้าจ้างเกินเราก็จ่ายให้อีก เป็นต้น

รมว.แรงงานกล่าวอีกว่า สำหรับการจ้างงานจะต้องมีเงื่อนไขว่าจ้างคนไทยเท่านั้น ซึ่งมาตรการนี้หากได้รับความเห็นชอบตาม ขั้นตอนแล้ว คาดว่าจะให้ผู้ประกอบการลงทะเบียนในวันที่ 20 ต.ค.นี้ โดยไทม์ไลน์ที่วางไว้คือจะเริ่มจ่ายเงินให้นายจ้าง สถานประกอบการในช่วงเดือนพ.ย.2564 ถึงเดือนม.ค.2565

นายสุชาติกล่าวว่า ส่วนแรงงานต่างชาตินั้น ขณะนี้มีการสำรวจพบว่าบางประเภทงานที่คนไทยไม่ทำ และนายจ้าง สถานประกอบการจำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างชาติ พบว่ามีความต้องการอีก 4.2 แสนคน ดังนั้นจึงมีแผนนำเข้าแรงงานต่างชาติตามเอ็มโอยู โดยการนำเข้าตามเอ็มโอยูครั้งนี้ จะให้นายจ้าง สถานประกอบการที่มีความต้องการจ้างแรงงานต่างชาติ ทำเรื่องแจ้งความต้องการไปที่อธิบดีกรมการจัดหางานโดยตรง เพื่อขออนุมัติจำนวนเท่านั้น

รมว.แรงงานกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในช่วงปี 2563 ที่ได้เกิดโรคระบาดโควิด ก็ไม่ได้นำเข้าเอ็มโอยู เนื่องจากกลัวเกิดการนำเชื้อ โควิดเข้ามาแพร่ระบาด ดังนั้นแรงงานที่อยู่ในประเทศไทยช่วงที่เกิดโควิด ก็เดินทางกลับบ้าน และกลับเข้ามาอีกครั้งจนเกิดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ จ.สมุทรสาคร ทางกระทรวงแรงงานเลยจัดให้ลงทะเบียนแรงงานต่างชาติในขณะนั้น เมื่อขึ้นทะเบียนไปได้ 4-5 แสนราย ในวันนี้พบว่ายังมีแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายอยู่ในสถานประกอบการ จึงเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมครม. นำแรงงานที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมายทั้งหมด

นายสุชาติกล่าวว่า แต่วิธีการนั้น จะใช้วิธีการสุ่มตรวจ หากเจอสถานประกอบการใดที่ไม่ได้นำลูกจ้างมาขึ้นทะเบียน จะให้ขึ้นทะเบียน ณ ขณะนั้นเลย และถึงจะปล่อยให้ดำเนินกิจการต่อไป โดยแรงงานต่างชาติที่ขึ้นทะเบียนใหม่จะให้เข้าระบบประกันสังคม เพื่อได้สิทธิในการรักษาพยาบาล แต่ในระหว่าง 3 เดือน ที่รอให้เกิดสิทธินั้น นายจ้างจะต้องซื้อประกันสุขภาพให้แก่ลูกจ้างนั้นๆ ด้วย เพื่อหากเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุจะได้มีค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ แรงงานต่างชาติที่เข้ามาใหม่ นายจ้างจะต้องรับผิดชอบค่าตรวจโควิดจำนวน 3 ครั้ง ค่ากักตัว และค่าขึ้นทะเบียนแรงงานด้วย ส่วนรัฐบาลจะจัดหาวัคซีนฉีดให้ทุกคน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน