อุตุเตือนรับมือคมปาซุ
ขึ้นฝั่งที่เวียดนามวันนี้

รับมือพายุ ‘คมปาซุ’ ขึ้นฝั่งที่เวียดนามวันนี้ กระทบไทยหลายภาค เจ้าพระยายังล้นตลิ่งเจิ่งนองอยุธยา-ปทุมธานี- อ่างทอง 11 จังหวัดอ่วมน้ำท่วมสูง ทั้งอีสาน ภาคกลางและตะวันออก เกือบแสนครัวเรือนทนทุกข์ ด้านผู้ว่าฯ อัศวินยืนยันกทม.ปลอดภัย เมืองจันท์-ตราดน้ำป่าไหลหลาก บ้านเรือนสวนผลไม้หลายอำเภอจมบาดาล ขนของหนีไม่ทัน บางจุดท่วมสูงกว่า 2 ม. เร่งตั้งศูนย์อพยพที่ศาลากลางจ.จันทบุรี ร.พ.พระปกเกล้าน้ำท่วมห้องผ่าตัด ยานพาหนะเสียหาย ตำรวจทางหลวงสรุปถนน 19 เส้นทางใน 13 จังหวัดยังสัญจรไม่ได้

อุตุฯเตือนอีสานรับมือคมปาซุ

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 13 ต.ค. นาย ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่อง พายุ “คมปาซุ” ฉบับที่ 7 ลงวันที่ 13 ต.ค. ความว่า พายุโซนร้อนกำลังแรง “คมปาซุ” บริเวณเกาะไหหลำ ประเทศจีน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 19.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 110.2 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนลงสู่อ่าวตังเกี๋ย และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 13-14 ต.ค. และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงวันดังกล่าว

อนึ่ง ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 16 ต.ค.

ชี้น้ำเจ้าพระยาไม่กระทบกทม.

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำเหนือไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาว่า วันนี้ (เวลา 06.00 น.) ปริมาณน้ำของกรมชลประทานที่ อ.บางไทร ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านกรุงเทพมหานคร เฉลี่ย 2,820 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาดของกรุงเทพฯ อยู่ที่ระดับ 1.85 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งยังต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของ กทม.อยู่ประมาณ 1.15 เมตร จึงยังไม่ส่งผลกระทบในพื้นที่ กทม. โดยวันนี้ฐานน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงสุดเวลา 20.59 น. ที่ระดับ +1.10 ม.รทก.

สำหรับระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออก ณ ประตูระบายน้ำคลองสอง (สายใต้) อยู่ในระดับปกติ +1.07 (ระดับวิกฤต+1.80) ประตูระบายน้ำแสนแสบ (มีนบุรี) อยู่ในระดับปกติ +0.41 (ระดับวิกฤต+0.90) ประตูระบายน้ำลาดกระบัง อยู่ในระดับปกติ +0.05 (ระดับวิกฤต+0.60) ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา (07.00 น.) พื้นที่กรุงเทพมหานครฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ปริมาณฝนสูงสุดที่จุดวัด ปตร.ประชาร่วมใจ เขตมีนบุรี 44.5 ม.ม. จุดวัด ซ.สะพานขวา เขตบางซื่อ 34.5 ม.ม. จุดวัด ปตร.คลองแสนแสบ-บางชัน เขตสะพานสูง 32.5 ม.ม. จุดวัดสำนักงานเขตดุสิต 30.5 ม.ม. ไม่มีรายงานจุดเร่งการระบายน้ำในถนนสายหลัก ทั้งนี้สามารถติดตามสถานการณ์น้ำผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักการระบายน้ำ https://dds.bangkok.go.th/ ตลอด 24 ชั่วโมง

‘ตราด’จม – ภาพมุมสูงพื้นที่ อ.เขา สมิง จ.ตราด ถูกน้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือน เรือกสวน ถนนหนทาง จากฝนที่ตกหนักต่อเนื่องทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมากไหลบรรจบที่แม่น้ำเขาสมิง ก่อนล้นทะลักเข้าท่วมพื้นที่ รวมทั้ง อ.เมือง เมื่อ 13 ต.ค.

ย้ำอิทธิพล”คมปาซุ”ฝนตกหนัก

นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือทีมกรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ เปิดเผยถึงความคืบหน้าพายุคมปาซุว่า หลังจากทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมากที่ไหหลำแล้ว จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน คาดว่าจะเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามทางตอนเหนือของเมืองวิญ ในวันที่ 14 ต.ค. และเคลื่อนที่เข้าทางทิศตะวันตก มาปะทะกับมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน แล้วสลายตัวอยู่ที่เมืองโพนสะหวัน ประเทศลาว โดยมีหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนที่เข้าสู่เมืองดานัง ประมาณวันที่ 17 ต.ค. มีผลต่อประเทศไทยช่วงวันที่ 13-14 ต.ค. มีฝนตกเพิ่มขึ้นในภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน

คาดว่าจะมีฝนตกหนักเป็นหย่อมๆ ในพื้นที่อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ หล่มสัก วิเชียรบุรี นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด จากนั้นวันที่ 16-17 ต.ค. จะมีฝนตกเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักเป็นหย่อมๆ ในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ตามแนวร่องความกดอากาศต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี

ส่วนสภาวะน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและป่าสัก โดยเฉพาะในพื้นที่นอกคันกั้นน้ำของบางบาล เสนา บางไทร ปทุมธานี และนนทบุรี จะกลับคืนสู่ภาวะปกติในต้นเดือนพ.ย.นี้ โดยในพื้นที่ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ จะมีอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้งหนึ่ง ทำให้น้ำอัดเอ่อขึ้นท่วมในพื้นที่นอกคันกั้นน้ำสองตลิ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงสั้นๆ วันที่ 21- 22 ต.ค.

เผย 11 จ.ระทมทุกข์น้ำเจิ่งนอง

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลพายุ “เตี้ยนหมู่” ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 33 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม รวม 224 อำเภอ 1,189 ตำบล 8,099 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 331,440 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 14 ราย (ลพบุรี 11 ราย เพชรบูรณ์ 2 ราย ชัยนาท 1 ราย)

ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 22 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 11 จังหวัด รวม 48 อำเภอ 319 ตำบล 1,765 หมู่บ้าน 92,107 ครัวเรือน ดังนี้

1. ขอนแก่น มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ แวงน้อย, แวงใหญ่, โคกโพธิ์ชัย, ชนบท, มัญจาคีรี, พระยืน, บ้านแฮด, บ้านไผ่ และอ.เมือง ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำลดลง 2. มหาสารคาม มวลน้ำจากจ.ขอนแก่นไหลเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ โกสุมพิสัย, กันทรวิชัย และอ.เมือง ระดับน้ำทรงตัว 3. นครราชสีมา น้ำท่วมขังในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ โนนสูง, พิมาย, คง, ประทาย, ชุมพวง และอ.เมืองยาง 4. นครสวรรค์ น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง, พยุหะคีรี และโกรกพระ ระดับน้ำลดลง

อยุธยาเจ้าพระยาล้นตลิ่ง 10 อ.

5. ลพบุรี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง, บ้านหมี่ และโคกสำโรง ระดับน้ำลดลง 6. สระบุรี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ บ้านหมอและหนองโดน ระดับน้ำลดลง 7. สุพรรณบุรียังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ บางปลาม้า และสองพี่น้อง ได้ระบายน้ำจากประตูน้ำสําเภาทองลงสู่แม่น้ำท่าจีน ระดับน้ำลดลง 8. สิงห์บุรี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อินทร์บุรี อ.เมือง และพรหมบุรี ระดับน้ำลดลง

9. อ่างทอง น้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง, ไชโย, ป่าโมก, วิเศษชัยชาญ และอ.สามโก้ ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และคลองโผงเผง ระดับน้ำลดลง 10. พระนครศรีอยุธยา น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ ผักไห่, เสนา, บางบาล, อ.พระนคร ศรีอยุธยา, บางไทร, บางปะอิน, มหาราช, นครหลวง, บางปะหัน และบางซ้าย ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองโผงเผง และคลองบางบาล ซึ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำ ระดับน้ำลดลง 11. ปทุมธานี น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ริมน้ำ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองปทุมธานี และอ.สามโคก ระดับน้ำลดลง

จันทร์จมอ่วม – ถนนสายท่าแฉลบและอีกหลายสายในตัวเมืองจันทบุรี กลายสภาพเป็นคลองหลังฝนตกหนัก ระดับน้ำสูง 30-40 ซ.ม. ขณะที่ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ 10 อำเภอ ต่างได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน บางจุดสูงถึง 2 เมตร เมื่อวันที่ 13 ต.ค.

ร.พ.พระปกเกล้าน้ำท่วมห้องผ่าตัด

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า อิทธิพลของพายุ “คมปาซุ” ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยวันที่ 13 ต.ค.ได้รับรายงานว่า จ.จันทบุรี ตราด และปราจีนบุรี เกิดน้ำท่วมฉับพลัน สถานพยาบาลหลายแห่งได้รับความเสียหาย อาทิ โรงพยาบาล (ร.พ.) พระปกเกล้า จ.จันทบุรี มีน้ำท่วมบริเวณร.พ. น้ำท่วมขังบริเวณด้านหน้าอาคารรักษาพยาบาลผู้ป่วย และเข้าห้องผ่าตัด ฝ้าเพดานถล่มชำรุด ยานพาหนะบางส่วนได้รับความเสียหาย

น้ำท่วมระบบบำบัดน้ำเสียและบ้านพักบุคลากร/เจ้าหน้าที่ เบื้องต้นย้ายเข้ามาที่อาคารศูนย์แพทย์ในร.พ.ชั่วคราวแล้ว, จ.ปราจีนบุรี ระดับน้ำสูง 20 ซ.ม. ไหลเข้าท่วมรพ.สต.บ้านโคกอุดม และบ้านพักเจ้าหน้าที่ ขณะนี้น้ำเริ่มลดและสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ

n แก้มลิงบางบาลน้ำยังท่วมสูง

ที่จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มลดลง บางพื้นที่ยังทรงตัว แต่ยังมีระดับน้ำที่ท่วมสูง การใช้ชีวิตประจำวันของชาวบ้านยังยากลำบาก ส่วนชาวบ้านในต.กบเจา ต.สะพานไทย อ.บางบาล ในส่วนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แก้มลิงหรือทุ่งรับน้ำ ที่ชลประทานระบายเข้าทุ่ง ชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างมาก น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชน วัด โรงเรียน โดยเฉพาะที่บ้านโรงหมู่ 4 ต.สะพานไทย เดือดร้อนมาก มีบ้านเรือนถูกน้ำท่วมสูงกว่า 50 หลังคาเรือน

หนุ่มลมชักกำเริบจมน้ำดับสลด

ที่จ.จันทบุรี จากสถานการณ์เกิดน้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่เกษตรกรรมสวนผลไม้หลายแห่งใน จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นผลกระทบจากดีเปรสชัน ไลอ้อนร็อก และพายุคมปาซุ โดยเฉพาะในพื้นที่ตัวเมืองจันทบุรี ตลอดจนชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำ ส่งผลให้ 10 อำเภอ ของจ.จันทบุรี เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง และน้ำรอการระบายเป็นวงกว้างหลายแห่ง ในพื้นที่ลุ่มต่ำบางจุดปริมาณน้ำสูงกว่า 2 ม. โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในเขตอ.เมือง เขตเทศบาลเมืองจันทบุรี/เทศบาลเมืองท่าช้าง/เทศบาลพลับพลานารายณ์ /เทศบาลเกาะขวาง/อบต.ท่าช้าง ต่างได้รับผลกระทบน้ำท่วมเข้าบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ทางเจ้าหน้าที่ ปภ./กู้ภัยฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเร่งเข้าช่วยเหลือประชาชน ขนย้ายสิ่งของ และอพยพผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงตลอดทั้งคืน

ล่าสุดศูนย์วิทยุกู้ภัยสมาคมสว่างกตัญญู ธรรมสถานจันทบุรี ได้รับแจ้งมีผู้พบร่างผู้เสียชีวิตจมน้ำท่วมขังบริเวณหน้าอาคารพาณิชย์ ริมถนนสายท่าแฉลบ ต.วัดใหม่ อ.เมืองจันทบุรี ในที่เกิดเหตุพบร่างชาย 1 ราย สภาพคว่ำหน้าลอยอยู่ในน้ำที่ท่วมสูงบนฟุตปาธหน้าอาคารพาณิชย์ พบกระเป๋าแบบสะพายสีดำลอยอยู่บนผิวน้ำใกล้ร่างผู้เสียชีวิต ชื่อนายกมล ลิธรรม อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 136/5 ถ.เทศบาลสาย 3 ต.ขลุง อ.ขลุง จ.จันทบุรี

ภายในกระเป๋ายังพบขวดยาเฟนิโทอิน หรือชื่อ ไดแลนติน ซึ่งเป็นยากันชัก ทางตำรวจจึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน

เบื้องต้นไม่พบบาดแผลจากการถูกทำร้าย เสียชีวิตมาแล้ว 1-2 ช.ม. สาเหตุคาดว่าน่าจะเกิดจากโรคลมชักประจำตัวกำเริบ โดยเกิดอาการชักและล้มหน้าคว่ำลงไปในน้ำ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทำให้ขาดอากาศหายใจจมน้ำเสียชีวิต

จันท์เปิดศูนย์อพยพที่ศาลากลาง

ส่วนที่หมู่บ้านนาฏศิลป์ ต.ท่าช้าง เจ้าหน้าที่กู้ภัยฯ เข้าช่วยเหลือเคลื่อนย้ายครอบครัวเด็กแรกเกิด หลังจากที่มวลน้ำเอ่อเข้าท่วมภายในบ้านพัก ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นขนย้ายขึ้นที่สูงไม่ทันได้รับความเสียหายในส่วนพื้นที่ต่างอำเภอรอบนอก ได้รับรายงานว่า เกิดน้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 ม. ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ปภ.ร่วมกับปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกู้ภัยฯ เข้าให้การช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ พร้อมสำรวจความเสียหายเบื้องต้นแล้ว

นอกจากนี้ผู้ที่ใช้เส้นทางผ่านถนนบริเวณน้ำท่วม ขอให้เพิ่มความระมัดระวังเนื่องจากมีประชาชนขนย้ายสิ่งของ และนำรถขึ้นมาจอดบริเวณริมถนนจำนวนมาก ส่วนความเสียหายสะพานชำรุด บ้านเรือนประชาชน ที่สวน ที่นา ได้รับความเสียหาย เจ้าหน้าที่เร่งสำรวจและช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว โดยในเขตเทศบาลเมืองจันทบุรี ใช้ศาลากลางจังหวัดเปิดเป็นศูนย์อพยพผู้ประสบภัยชั่วคราว

เขาสมิงท่วมหนักสุดรอบ 15 ปี

ที่จ.ตราด นายชัยกร ลุนทา หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำ โครงการชลประทานตราด ได้ประสานงานสื่อมวลชน เพื่อขอความร่วมมือแจ้งเตือนประชาชนในอ.เขาสมิง อ.เมืองตราด เนื่องจากเกิดน้ำป่าไหลจากอ.บ่อไร่ ทำให้น้ำเริ่มทะลักเข้าพื้นที่เทศบาลอย่างรวดเร็ว

นายชัยกรกล่าวว่า สถานการณ์ฝนตกหนักครั้งนี้ ยังทำให้ 3 ต.ในอ.เมืองตราด ทั้งต.ห้วยแร้ง ที่บ้านฉางเกลือ เกิดน้ำท่วมจำนวนมาก และมีบ้านเรือนถูกน้ำท่วมเช่นกัน ซึ่งน้ำที่ท่วมในเขตเทศบาลตำบลเขาสมิงนั้น ถือว่าเป็นรอบ 15 ปีที่ไม่เคยเกิดน้ำท่วมมาก่อน

เตือนปชช. 4 ลุ่มน้ำรับมือพายุ

ที่จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯ นครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ ของจ.นครราชสีมาว่า จำเป็นต้องแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ ทั้ง 4 ลุ่มน้ำ ทั้งลุ่มน้ำลำตะคอง ลำพระเพลิง ลำมูลบน และลำเชียงไกร ต้องติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อน และปริมาณน้ำฝนอย่างใกล้ชิด ถึงแม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วหลายพื้นที่ แต่หากมีพายุฝนเข้ามาต่อเนื่อง ก็จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วม และส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนอีกครั้ง

ที่ผ่านมาช่วงไม่มีฝนได้ระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทุกอ่างโดยตลอด เพื่อรับน้ำใหม่ที่จะไหลเข้าอ่างแต่ละแห่ง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงน้ำใกล้เต็มความจุ 3-4 วันที่ผ่านมาได้ระบายน้ำออกจากอ่าง ประมาณวันละ 2 ล้านลบ.ม. ถือว่ามากกว่าทุกอ่างเก็บน้ำที่มีการปล่อยน้ำออกจากอ่าง ส่วนอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

จันทร์จมอ่วม – ถนนสายท่าแฉลบและอีกหลายสายในตัวเมืองจันทบุรี กลายสภาพเป็นคลองหลังฝนตกหนัก ระดับน้ำสูง 30-40 ซ.ม. ขณะที่ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ 10 อำเภอ ต่างได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน บางจุดสูงถึง 2 เมตร เมื่อวันที่ 13 ต.ค.

13 จว.สัญจรไม่ได้ 19 เส้นทาง

กองบังคับการตำรวจทางหลวง สรุปรายงานสถานการณ์อุทกภัยบนทางหลวง พื้นที่จังหวัดที่มีน้ำท่วม/ดินสไลด์ การจราจรผ่านไม่ได้ 19 แห่ง ใน 13 จ. โดยมีเส้นทางดังต่อไปนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น 1.เส้นทางหลวง 2 ท่าพระ-ขอนแก่น อ.เมือง ช่วงก.ม.ที่ 329+913 ระดับน้ำสูง 240 ซ.ม. การจราจรผ่านไม่ได้ 2.เส้นทางหลวง 12 ขอนแก่น-พรหมนิมิต อ.เมือง ช่วงก.ม.ที่ 565+600 ระดับน้ำสูง 30 ซ.ม. การจราจรรถเล็กผ่านไม่ได้ 3.เส้นทางหลวง 2065 พล-ลำชี อ.แวงน้อย ช่วงก.ม.ที่ 33+625 น้ำกัดเซาะคันทางสไลด์ การจราจรผ่านไม่ได้ 4.เส้นทางหลวง 2065 พล-ลำชี อ.แวงน้อย ช่วง ก.ม.ที่ 33+785 น้ำกัดเซาะคันทางสไลด์ การจราจรผ่านไม่ได้

จ.มหาสารคาม 5.เส้นทางหลวง 213 มหาสารคาม-หนองขอน อ.กันทรวิชัย ช่วงก.ม.ที่ 5+530 ระดับน้ำสูง 215 ซ.ม. การจราจรผ่านไม่ได้

ภาคกลาง จ.นนทบุรี 6.เส้นทางหลวง 302 สะพานพระนั่งเกล้า-ต่างระดับบางใหญ่ อ.บางบัวทอง ช่วง ก.ม.ที่ 16+950 ระดับน้ำสูง 25-30 ซ.ม. ใช้จุดกลับรถต่างระดับบางใหญ่ ที่ ก.ม.18+500 ทดแทน 7.เส้นทางหลวง 302 สะพานพระนั่งเกล้า-ต่างระดับบางใหญ่ อ.บางบัวทอง ช่วงก.ม.ที่ 17+000 ระดับน้ำสูง 25-30 ซ.ม. การจราจรผ่านไม่ได้

8.เส้นทางหลวง 307 แยกสวนสมเด็จ-สะพานนนทบุรี อ.ปากเกร็ด ช่วงก.ม.ที่ 0+942 ระดับน้ำสูง 75 ซม. การจราจรผ่านไม่ได้

จ.อ่างทอง 9.เส้นทางหลวง 32 นครหลวง-อ่างทอง อ.บางปะหัน ช่วงก.ม.ที่ 32+607 ระดับน้ำสูง 150 ซ.ม. จุดกลับรถผ่านไม่ได้ 10.เส้นทางหลวง 32 นครหลวง-อ่างทอง อ.บางปะหัน ช่วงก.ม.ที่ 33+200 ระดับน้ำสูง 90 ซ.ม. การจราจร ผ่านไม่ได้ 11.เส้นทางหลวง 33 นาคู-ป่าโมก อ.ป่าโมก ช่วงก.ม.ที่ 36+000 ถึง 36+200 ระดับน้ำสูง 20 ซ.ม. การจราจรผ่านไม่ได้

ขอความช่วยเหลือโทร. 1193

จ.พระนครศรีอยุธยา 12.เส้นทางหลวง 347 บางกระสั้น-บางปะหัน อ.พระนคร ศรีอยุธยา ช่วงก.ม.ที่ 40+860 ระดับน้ำสูง 50 ซ.ม. การจราจรผ่านไม่ได้ 13.เส้นทางหลวง 3263 อยุธยา-ไผ่กองดิน อ.บางบาล ช่วงก.ม.ที่ 10+940 ระดับน้ำสูง 175 ซ.ม. การจราจรผ่านไม่ได้ 14.เส้นทางหลวง 3263 อยุธยา-ไผ่กองดิน อ.บางบาล ช่วงก.ม.ที่ 11+100 ระดับน้ำสูง 175 ซ.ม. การจราจรผ่านไม่ได้

จ.สุพรรณบุรี 15.เส้นทางหลวง 33 สุพรรณบุรี-นาคู อ.เมือง ช่วงก.ม.ที่ 9+886 ระดับน้ำสูง 80 ซ.ม. การจราจรผ่านไม่ได้

16.เส้นทางหลวง 340 สาลี-สุพรรณบุรี อ.บางปลาม้า ช่วงก.ม.ที่ 59+674 ระดับน้ำสูง 130 ซ.ม. การจราจรผ่านไม่ได้

ภาคตะวันออก จ.ตราด 17.เส้นทางหลวง 3494 ท่าประดู่-ฉางเกลือ อ.เมือง ช่วงก.ม.ที่ 18+490 ถึง 18+570 ระดับน้ำสูง 120 ซ.ม. การจราจรรถเล็กไม่สามารถผ่านได้

จ.จันทบุรี 18.เส้นทางหลวง 3153 จันทบุรี-ท่าใหม่ อ.เมือง ช่วงก.ม.ที่ 0+650 ถึง 1+290 ระดับน้ำสูง 50 ซ.ม.

ทั้งนี้หากต้องการสอบถามเส้นทาง สภาพการจราจร หรือต้องการขอความช่วยเหลือ ติดต่อได้ที่สายด่วน 1193

น้ำป่าแม่วงก์ทะลักแก่งเกาะใหญ่

ที่ จ.นครสวรรค์ เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการ นักท่องเที่ยวขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ สำรวจระดับน้ำพร้อมทั้งเก็บเศษไม้ที่ไหลมากับน้ำบริเวณแหล่งท่องเที่ยวแก่งเกาะใหญ่ หมู่ที่ 24 ต.แม่เล่ย์ หลังน้ำป่าจากเทือกเขาแม่วงก์ไหลทะลักทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน