2เขื่อนระบาย
‘ท่าจีน’ก็ล้นฝั่ง

กรมชลฯ เพิ่มระบายเขื่อนเจ้าพระยา-ป่าสักฯ ฝนตก หนักภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง 4 อำเภอสุดแล้งเมืองกาญจน์ยังหนีไม่พ้น จมฝนบวกน้ำระบายเขื่อนกระเสียวสุพรรณฯ เมืองนครปฐมพ้นวิกฤต แต่ริมท่าจีน-นครชัยศรียังท่วม กรมทรัพยากรธรณีเตือน 22 จว. รับมือดินถล่ม-น้ำป่าไหลหลาก

เตือนดินถล่ม 22 จว.

วันที่ 18 ต.ค. ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แจ้งเตือนอาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยใน 22 จังหวัด ได้แก่ ตาก อุทัยธานี กำแพงเพชร กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครราชสีมา ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี พังงา และยะลา เฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ในระหว่างวันที่ 18-19 ต.ค.

ระบายเพิ่มเจ้าพระยา-ป่าสัก

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง โดยวัดปริมาณฝนสะสม 3 วัน ที่อ.เมือง จ.ตาก 169.4 มิลลิเมตร และ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร 70.8 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำจะไหลลงมาที่แม่น้ำปิงและรวมกับแม่น้ำน่าน ที่ จ.นครสวรรค์ คาดการณ์ว่าที่ สถานีอ.เมือง จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตราประมาณ 2,700-2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที ในช่วงเวลาประมาณ 13.00 น. ของวันที่ 19 ต.ค. เมื่อรวมน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 3,200-3,300 ลบ.ม.ต่อวินาที

จึงปรับแผนการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง โดยจะปรับเพิ่มการรับน้ำเข้าฝั่งตะวันตกลงแม่น้ำน้อยผ่านประตูระบายน้ำบรมธาตุ และฝั่งตะวันออกปรับเพิ่มการรับน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก ผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์ โดยพิจารณาถึงผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไว้ไม่เกิน 2,700 ลบ.ม.ต่อวินาที

ด้านสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำป่าสัก เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ต่อเนื่อง จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ ในอัตรา 600 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำและรักษาเสถียรภาพของตลิ่ง ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ไม่ให้เกิน 700 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมทั้งผันน้ำเข้าคลอง ระพีพัฒน์ผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ ในอัตรา 100-150 ลบ.ม.ต่อวินาที

เขื่อนมูลบนปริ่ม

นายนิวัฒน์ โชติชื่น ผู้อำนวยการส่วนแผนงาน รักษาการผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำมูลบน ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี เผยว่า อิทธิพลพายุโซนร้อน “คมปาซุ” ฝนตกหนักในผืนป่าต้นน้ำอุทยานแห่งชาติ ทับลานไหลเข้ามาในตัวเขื่อนต่อเนื่อง ล่าสุดมีปริมาณน้ำ 139.90 ล้านลบ.เมตร หรือร้อยละ 99.22 ของความจุกักเก็บ 141 ล้านลบ.เมตร เหลือไม่ถึง 1 เซนติเมตร ของระดับเก็บกักสูงสุด คาดการณ์ประมาณ 6 ชั่วโมง ปริมาณน้ำจะล้นอาคารระบายน้ำล้นหรือสปิลเวย์

ด้านโครงการชลประทานนครราชสีมา ออกประกาศด่วนที่สุดว่า พื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ลุ่มน้ำลำตะคอง ระดับน้ำในลำน้ำยังเพิ่มสูงขึ้นน้ำไหลหลากและเอ่อล้นตลิ่ง เข้าท่วมบ้านเรือนและเส้นทางสัญจรต่างๆ ให้ประชาชนเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำตามเส้นทางน้ำ ได้แก่ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมืองนครราชสีมา และอ.เฉลิมพระเกียรติ

จมรางรฟ. – ทางรถไฟระหว่างสถานีกุดจิก-โคกกรวด อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ระดับ น้ำสูงท่วมรางประมาณ 7 ซ.ม.และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุจากฝนตกสะสมและกระแส น้ำไหลเชี่ยว รฟท.จึงปิดเส้นทางเดินรถตั้งแต่ช่วงเช้า เมื่อวันที่ 18 ต.ค.

ท่วมรฟ.โคราช

นายอำพล รัตนิยะ นายสถานีรถไฟนครราชสีมา เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสถานีรถไฟกุดจิก อ.สูงเนิน ที่หลักเสาโทรเลขรถไฟ (สทล.) 244/1-245/1 เส้นทางระหว่างกุดจิก-โคกกรวด อ.เมือง มีปริมาณน้ำท่วมสูงสันรางประมาณ 7 เซนติเมตร และหินทางรถไฟบางช่วงขาดหายไป มีแนวโน้มจะสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุจากมีน้ำฝนสะสมตกและกระแสน้ำไหลเชี่ยว จึงปิดทางรถไฟดังกล่าว พร้อมจัดรถบัสโดยสารจอดรอรับ ผู้โดยสารขาขึ้นที่ต้องการเดินทางไปปลายทางสถานีกรุงเทพฯ ที่สถานีนครราชสีมา เพื่อนำ ผู้โดยสารไปส่งสถานีสูงเนินและบางขบวนนำไปส่งปลายทาง ส่วนผู้โดยสารขาล่องมุ่งหน้าปลายทางสถานีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดรถบัสจอดรอรับที่บริเวณหน้าสถานีสูงเนิน เพื่อนำมาส่งที่สถานีนครราชสีมา โดยมีขบวนรถไฟรอรับไปส่งสถานีปลายทางต่อไป

ชัยภูมิจมระลอก 2

ส่วนที่ จ.ชัยภูมิ หลังฝนตกหนักติดต่อกัน 3 วัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมสูงระลอก 2 รวม 6 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ภูเขียว อ.เกษตรสมบูรณ์ อ.จัตุรัส อ.บำเหน็จณรงค์ อ.เทพสถิต และ อ.บ้านเขว้า หนักสุดใน อ.ภูเขียว และ อ.เกษตรสมบูรณ์ น้ำป่าไหลทะลักท่วมในตัวอำเภอทั้ง 2 อำเภอ นอกจากนั้นระดับน้ำในลำน้ำชีเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง อาจสร้างผลกระทบให้กับพื้นที่ท้ายน้ำและริมฝั่งแม่น้ำชีทั้ง 2 ด้าน ที่ อ.บ้านเขว้า อ.จัตุรัส อ.โนนสง่า จนตลอดถึงเขตพื้นที่เชื่อมต่อ จ.นครราชสีมา รวมถึงพื้นที่ท้ายน้ำ ไปถึง จ.อุบลราชธานี จึงแจ้งเตือนประชาชนริมฝั่งลำน้ำชีและท้ายแม่น้ำชีให้เตรียมเฝ้าระวังและติดตามการแจ้งเตือนตลอด 24 ชั่วโมง

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพรม-เชิญตำบลชุมแพ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ประกาศแจ้งเตือนและเฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งฝั่งลำน้ำพรมและลำน้ำเชิญ หลังเขื่อนจุฬาภรณ์และเขื่อนห้วยกุ่ม จ.ชัยภูมิ จะเพิ่มการระบายน้ำส่งผลกระทบสองฝั่งลำน้ำเชิญ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ล่าสุดอยู่ที่ 2,379 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 97 ของความจุอ่าง เหลือพื้นที่รับน้ำเพียง 51 ล้านลบ.ม. ต้องเพิ่มการระบายเป็นวันละ 13 ล้านลบ.ม. ในวันต่อไป และปรับการระบายน้ำทุกวันอย่างต่อเนื่องทุกวันแบบขั้นบันได อาจจะสูงสุดที่วันละ 35 ล้านลบ.ม.

เขื่อนทับเสลาล้นแล้ว

นายสงกรานต์ ชลอศรีทอง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทับเสลา อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ประกาศเตือนส่วนราชการ อปท. ผู้นำชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนประชาชนด้านท้ายเขื่อนทับเสลาริมฝั่งลำคลองทับเสลาและลำห้วยสาขาให้เตรียมขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูง เนื่องจากเขื่อนทับเสลามีปริมาณน้ำ 173.82 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 108.64 ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนฯ อัตราวันละ 13.30 ล้านลบ.ม. มีความจำเป็นต้องระบายน้ำจากเดิมวันละ 3.72 ล้านลบ.ม. เป็น 7.08 ล้านลบ.ม. และมีปริมาณน้ำไหลล้นอาคารระบายน้ำฉุกเฉิน วันละ 9.44 ล้านลบ.ม.

ส่วนที่ จ.สุพรรณบุรี หลังฝนตกหนักติดต่อกัน 2 วัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ ม.1 ต.บางพลับ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ระดับน้ำสูงตั้งแต่ 80 เซนติเมตร-1 เมตร ท่วมวัด โรงเรียนและบ้านเรือนประชาชนจำนวนมาก ขณะเดียวกันอีกหลายอำเภอยังประสบปัญหาน้ำท่วมสูง จากฝนตกหนักตลอดทั้งวัน ประกอบการระบายน้ำจากเขื่อนกระเสียว อ.ด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี จึงให้ทุกพื้นที่เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ช.ม.

ด้าน 4 อำเภอถือว่าแห้งแล้งที่สุด ใน จ.กาญจนบุรี ประกอบด้วย หนองปรือ บ่อพลอย เลาขวัญ และห้วยกระเจา ถูกน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่เกษตรกรได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง ถนนถูกน้ำท่วมเกือบตลอดทั้งสาย ระดับอยู่ที่ 1-2 เมตร จากฝนที่ตกกระหน่ำติดต่อกันหลายวัน ประกอบกับน้ำที่ล้นสปิลเวย์ลงมาจากอ่างเก็บน้ำวังโหรา อ.ด่านช้าง และอ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อย อ.หนองปรือ รวมถึงน้ำห้วยลำตะเพินเอ่อสูงสมทบ

นครปฐมพ้นวิกฤต

สถานการณ์ในเขตเทศบาลนครนครปฐม อ.เมือง จ.นครปฐม เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว หลังเมื่อกลางดึกวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมาถูกน้ำท่วมฉับพลันจากฝนตกหนักติดต่อกันนานกว่า 10 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนระดมกำลังสูบน้ำออกทั้งคืน ส่วนแม่น้ำท่าจีนน้ำเอ่อล้นตลิ่งท่วมหลายพื้นที่ ใน จ.นครปฐม โดยเฉพาะ อ.นครชัยศรี บ้านเรือนที่อาศัยอยู่ภายในชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำบางจุดสูง 1 เมตร ชาวบ้านต่างกลัวจะถูกน้ำท่วมสูงและนานเหมือนปี 2554 อบต.หลายท้องท่ประกาศและกำชับให้ชาวบ้านยกของขึ้นที่สูงเพื่อหนีน้ำ

ท่วมอำเภอ – น้ำท่วมในเขตเทศบาลตำบลกุดเค้าและตำบลสวนม่วน เขตเศรษฐกิจย่านใจกลางอำเภอมัญจาคีรี จ.ขอนแก่น บริเวณรอบที่ว่าการอำเภอ และสภ.มัญจาคีรี ถูกน้ำท่วมโดยรอบ ประชาชนต้องลุยน้ำไปติดต่อราชการ เมื่อ 18 ต.ค.

ปภ.สรุปรายงานท่วม

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยตั้งแต่วันที่ 17-18 ต.ค. ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 8 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สระแก้ว สมุทรปราการ นครปฐม และกาญจนบุรี รวม 24 อำเภอ 43 ตำบล 107 หมู่บ้าน ประขาชนได้รับผลกระทบ 2,909 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 2 จังหวัด

ยังคงมีสถานการณ์ 6 จังหวัด 21 อำเภอ 40 ตำบล 104 หมู่บ้าน 2,909 ครัวเรือน ดังนี้ ขอนแก่น อ.โคกโพธิ์ไชย, ชัยภูมิ 9 อำเภอ ได้แก่ คอนสาร บ้านเขว้า บ้านแท่น เทพสถิต จัตุรัส บำเหน็จณรงค์ เกษตรสมบูรณ์ เนินสง่า และหนองบัวระเหว, บุรีรัมย์ 3 อำเภอ ได้แก่ นางรอง เมืองบุรีรัมย์ และเฉลิมพระเกียรติ, ศรีสะเกษ 2 อำเภอ ได้แก่ ภูสิงห์ และขุนหาญ, นครปฐม 4 อำเภอ ได้แก่ บางเลน นครชัยศรี สามพราน และเมืองนครปฐม, สระแก้ว 2 อำเภอ ได้แก่ เมืองสระแก้ว และวัฒนานคร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน