ชดใช้ทุกบัตร-ใน5วัน
บิ๊กเด่นหารือด่วนธปท.
ชี้ภัยคุกคามระดับชาติ
ให้ทุกสน.รับแจ้งความ
ยอดเสียหายทะลุ 130ล.

‘แบงก์ชาติ’สั่งคืนเงินเหยื่อแก๊งดูดเงิน ภายใน 5 วัน ถกสมาคมธนาคารไทย ยกระดับป้องกัน ตรวจสอบพบผิดปกติช่วง 14-17 ต.ค.ส่วนใหญ่จากธุรกรรมร้านค้าต่างประเทศ ยอดเสียหายพุ่ง 130 ล้าน ขณะที่ ‘บิ๊กปั๊ด’ เร่งหาต้นตอข้อมูลรั่วจากไหน อย่างไร ประสานหน่วยงานของสหรัฐให้ช่วยติดตาม ล่าจับตัวการ ส่วน ‘บิ๊กเด่น’ถก ‘ธปท.-กสทช.ปปง.’ ระบุแม้เป็นชาวต่างชาติก็จะดำเนินการให้ถึงที่สุด ชี้เป็นภัยคุกคามระดับชาติ ให้สถานีตำรวจทั่วประเทศรับแจ้งความจากผู้เสียหาย

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่สำนักงานตำรวจ แห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. เชิญประธานสมาคมธนาคารไทย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มาร่วมหารือถึงการแก้ไขปัญหากรณีประชาชนจำนวนมากถูกดูดเงินจากบัญชีธนาคาร โดยแก๊งคนร้ายลักลอบนำข้อมูลจากบัตรเครดิต และบัตรเดบิต จากการซื้อสินค้าออนไลน์ แล้วไปหักเงินจากบัญชีของผู้เสียหาย

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวว่า เบื้องต้นมีผู้เสียหายหลักหมื่นคน บางส่วนทยอยแจ้งความตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) และศูนย์ปราบปรามการอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (พีซีที) หากผู้ใดเดือดร้อนสามารถเข้าแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจทั่วประเทศ ก็จะเชื่อมโยงข้อมูลมาที่ส่วนกลางทันที ตำรวจจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามตัวผู้ก่อเหตุมาให้ได้ แม้ผู้ก่อเหตุเป็นชาวต่างชาติก็จะดำเนินการถึงที่สุด เนื่องจากเป็นภัยคุกคามระดับประเทศ

ขณะที่ พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกตำรวจ กล่าวว่าปัจจุบันมีการส่งข้อความให้ประชาชนเกิดความสับสน ไม่ว่าจะเป็นการให้สินเชื่อ ได้รับรางวัล เงินช่วยเหลือโควิด ช่วยเหลือน้ำท่วม ได้รับโบนัสเพื่อไปเล่นเว็บฯ พนัน บางครั้งเป็นลิงก์หลอกลวงให้กรอกข้อมูลส่วนตัว รหัส เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในทางทุจริต เช่น แฮ็กข้อมูล แฮ็กบัญชีธนาคาร หรือบัตรเครดิต เป็นต้น

โฆษกตำรวจกล่าวว่า โดยส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบข้อความเอสเอ็มเอส อี-เมล์ เว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ หลอกลวงให้ผู้ใช้งานกรอกข้อมูลส่วนบุคคล หรือติดตั้งมัลแวร์ตัวร้ายเข้าสู่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของท่าน เพื่อล้วงเอาข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ คลิปวิดีโอ รหัสผ่าน หมาย เลขบัตรประจำตัวประชาชน เลขที่หนังสือ เดินทาง รวมไปถึงข้อมูลลับทางการเงิน จากนั้นจะใช้ข้อมูลไปสร้างประโยชน์ให้กับตัวคนร้ายเอง หากประชาชนได้รับเอสเอ็มเอส ลักษณะดังกล่าว อย่ากดลิงก์ อย่ากรอกข้อมูล หรือดำเนินการใดๆ เป็นอันขาด

ที่กองบัญชาการกองทัพไทย พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์ว่าได้รับรายงานข้อมูลว่ามีตัวเลขยืนยันผู้เสียหายประมาณหมื่นกว่าราย แยกเป็นบัตรเครดิต 5,000 กว่าราย และบัตรเดบิต 4,000 กว่าราย แต่เชื่อว่าน่าจะมีผู้เสียหายมากกว่านี้ โดยตำรวจแยกแยะว่าคนร้ายนำข้อมูลมาจากไหน อย่างไร มาจากการซื้อขายออนไลน์จริง หรือไม่ หรือนำบัญชีไปผูกไว้กับโซเชี่ยลมีเดีย แอ๊กเคาต์ต่างๆ หรืออาจจะรั่วไหลมาจากระบบการชำระเงิน หรือสถาบันการเงิน

“เราไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามประสานงานอย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมาก็ประชุมติดตามเรื่องอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังนำคดีเก่ามาพิจารณาดูด้วยว่าพฤติกรรมคนร้ายที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เราพยายามที่จะทำให้เกิดความกระจ่างมากที่สุด เอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ อีกทั้งประสานงานกับหน่วยสืบราชการลับต่างประเทศ หน่วยซีเครต เซอร์วิส ของสหรัฐอเมริกา เพื่อติดตามเรื่องนี้ด้วย ต้องใช้ความร่วมมือหลายฝ่าย ขอยืนยันว่าเราดำเนินการต่อเนื่อง” ผบ.ตร.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าคนร้ายทำเป็นขบวนการหรือไม่ พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าวว่า อยู่ระหว่างตรวจสอบ เพราะมีผู้เสียหายจำนวนมาก ต้องหาให้ได้ก่อนว่าเขาเอาข้อมูลนี้ไปอย่างไร และได้กี่วิธีการ แบบไหนบ้าง เช่นได้ข้อมูลไปแล้วเอาไปจำหน่ายในตลาดมืด หรือคนที่เอาข้อมูลนำไปใช้เติม เครดิตเล่นเกม ไปซื้อของ ก็ถือเป็นวิธีหนึ่ง แต่ต้องไปหาให้เจอว่าเอาข้อมูลไปได้อย่างไร จะได้ปิดจุดอ่อนตรงนี้

วันเดียวกัน น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท. สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน กล่าวว่าจากการตรวจสอบเพิ่มเติมกับสมาคมธนาคารไทย พบจำนวนธุรกรรมที่มีความผิดปกติ โดยเฉพาะในวันที่ 14-17 ต.ค. ทั้งสิ้น 10,700 ใบ โดยประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากธุรกรรมบัตรเดบิตที่เกิดจากร้านค้าในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และเป็นธุรกรรมวงเงินขนาดเล็กเฉลี่ย 1 ดอลลาร์สหรัฐ และไม่ใช่รหัสยืนยัน หรือโอทีพี โดยมูลค่าความ เสียหายที่เกิดขึ้นจากบัตรเดบิตอยู่ที่ราว 30 ล้านบาท และบัตรเครดิตราว 100 ล้านบาท

น.ส.สิริธิดากล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว ธปท.และสมาคมธนาคารไทยจะยกระดับมาตรการเร่งด่วน โดยกำชับให้ธนาคารตรวจสอบธุรกรรมที่เกิดขึ้นในวงเงินจำนวนต่ำๆ และความถี่ในการตรวจสอบธุรกรรม และแจ้งเตือนข้อความ เมื่อทำธุรกรรมตั้งแต่บาทแรกผ่านโมบายแอพพลิเคชั่นหรืออี-เมล์ รวมถึงประสานความร่วมมือเครือข่ายบัตร เช่น วีซ่า และมาสเตอร์การ์ด เป็นต้น ในการตรวจสอบร้านค้าในต่างประเทศ เพื่อให้ใช้รหัสยืนยันในการทำธุรกรรม รวมถึงกำชับให้ธนาคารคืนเงินให้ลูกค้าที่ได้รับความเสียหายภายใน 5 วันในส่วนของบัตรเดบิต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน