บิ๊กเด่นลุยคลี่คดี
แบงก์ปรับใหญ่
ระบบยืนยันตน
บล็อกร้านมีพิรุธ
เหยื่อนับหมื่นคน
แห่ยื่นขอเงินคืน

เหยื่อนับหมื่นแห่ยื่นขอเงินคืน รวมเบื้องต้น 132 ล้าน คาดอาจมีเพิ่มอีก‘บิ๊กเด่น’ ถกแบงก์ชาติ กสทช. ปปง. สมาคมธนาคาร วางแนวทางคลี่คดีแก๊งดูดเงิน ตั้งชุดสืบสวนออนไลน์แต่ละจังหวัด สอบเส้นทางการเงินคนร้าย ขณะที่ตร.ไซเบอร์ไล่ตรวจสอบบัญชีต้องสงสัยพบอยู่ต่างประเทศ ผู้ก่อเหตุอยู่ในไทย ส่วนธนาคารสั่งยกระดับดูแลบัญชีลูกค้า บล็อกร้านออนไลน์ธุรกรรมผิดปกติ ปรับใหญ่มาตรการยืนยันตัวตนผู้ใช้บัตรเครดิต-เดบิต

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. ในฐานะผอ.ศูนย์ปราบปรามอาชญา กรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (พีซีที) เปิดเผยความคืบหน้าคดี และแนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้นให้แก่ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อแก๊งดูดเงินจากการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตว่า จากการประชุมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และสมาคมธนาคารไทย ได้ผลสรุปดังนี้

1.ธนาคารจะรับผิดชอบเป็นผู้เสียหายเอง โดยจะคืนเงินให้ประชาชนที่เสียเงินไปภายใน 5 วัน นับแต่ธนาคารรับทราบเรื่อง และจะรวบรวมพยานหลักฐานร้องทุกข์กับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญา กรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) โดยผู้เสียหายไม่ต้องมาแจ้งกับตำรวจเอง แต่หากผู้เสียหายไปแจ้งความไว้ก่อนแล้ว ตำรวจจะประสานโดยตรงกับธนาคารเอง 2.ปปง.จะเปิดศูนย์ ฮอตไลน์ 1710 ประสานงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างพนักงานสอบสวนกับธนาคาร ในการอายัดบัญชีคนร้าย เพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเทเงินในบัญชี 3.กสทช.จะประสานข้อมูลกับผู้ให้บริการเครือข่าย เพื่อช่วยให้การสืบหาข้อมูลของคนร้ายได้เร็วขึ้น

4.กระทรวงดิจิทัลฯ จะเป็นเจ้าภาพหลักในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนผ่านทุกช่องทาง เพื่อให้รู้เท่าทันพฤติกรรมคนร้าย และจะเป็นเจ้าภาพร่วมกับทุกหน่วยงานในการแก้ไขกฎเกณฑ์และวิธีการ เพื่อให้ทันกับรูปแบบอาชญากรรมมากยิ่งขึ้น 5. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศูนย์พีซีทีจะเป็นเจ้าภาพหลัก บูรณาการร่วมกับ บช.สอท. บช.น. บช.ภาค 1-9 ในการรวบรวมติดตามและเร่งรัดการดำเนินดดีจากทุกพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน โดยจะตั้งชุดสืบสวนสอบสวนออนไลน์แต่ละจังหวัด เพื่อช่วยสนับสนุนข้อมูลพนักงานสอบสวนด้วย

ที่บช.สอท. พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. พร้อมด้วยพล.ต.ต.ชูฉัตร ธารีฉัตร รองผบช.สอท. พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.สุรพล เปรมบุตร รองผบช.สอท. และพล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผบก.ตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตอท.) ประชุมร่วมกับนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานระบบชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้แทนธนาคารพาณิชย์ ผู้แทนศูนย์ประสานงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางการสืบสวนสอบสวนคดีแก๊งดูดเงิน และแนวทางป้องกันความปลอดภัยข้อมูลทางการเงิน

พล.ต.ท.กรไชยกล่าวว่ายังไม่เชื่อทั้งหมดว่าการกระทำดังกล่าวจะใช้เป็นบุคคล หรือใช้ระบบไซเบอร์กระทำ ไม่ว่าจะเป็นการหลอกให้เข้าไปกดเว็บไซต์ ลิงก์ และกรองข้อมูล ตำรวจต้องตรวจสอบให้ครบทุกมิติ ตลอดจนต้องพึ่งพาสมาคมธนาคารไทย ธปท.ตรวจสอบเส้นทางการเงินว่ามีใครนำออกไปใช้ และนำไปใช้ในจุดใด หากไม่ทราบปลายทางก็ต้องตรวจหาต้นทาง ใครเป็นผู้สั่งการให้ใช้ หรือแม้แต่ผู้ว่าจ้าง แล้วใช้บัตรของบุคคลอื่น หรือบัญชีที่ถูกรับจ้างเปิดบัญชี หรือบัญชีม้า และจากการตรวจสอบเงินที่หายแต่ละครั้งมักตรงกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ แม้กระทั่งสกุลเงินลีราของประเทศตุรกีก็มี

ผบช.สอท.กล่าวอีกว่าสำหรับแผนประทุษกรรมนั้น แบ่งเป็นหลอกลวงดูดเงิน กับ แฮ็กเกอร์บัตรเดบิต ต้องตรวจสอบข้อมูลคนร้ายทุกกลุ่ม แต่ยืนยันว่าไม่มีแก๊งที่มีโปรแกรมดูดเงินออกจากธนาคารได้ ตามข้อเท็จจริงเกิดจากเหยื่อหลงเข้าไประบุข้อมูล คนร้ายจึงดึงข้อมูลไป ใช้ความโลภของเหยื่อหลงเชื่อเข้าไปกรอกข้อมูลส่วนตัว จากนั้นนำข้อมูลไปสวมแทน ก่อนนำเงินในบัญชีออกไป โดยปลายทางมักเป็นบัญชีที่ถูกจ้างมาเปิด ตำรวจอยู่ระหว่างหารือกับธนาคาร ว่าเงินที่เข้าบัญชีต่อๆ ไปจนถึงบัญชีสุดท้ายที่สำคัญที่สุด โดยพบบัญชีเหล่านี้อยู่ต่างประเทศ ตั้งเซิร์ฟเวอร์ที่ต่างประเทศ ผู้ก่อเหตุอยู่ในไทย เชื่อว่ามีคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้องแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นตัวการหลัก หรือตัวจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งก็ตาม

ส่วนนายกอบศักดิ์ เลขาฯ สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่าธนาคารจะยกระดับดูแลบัญชีลูกค้าให้เข้มข้นมากขึ้น บล็อกร้านค้าที่มีความเสี่ยงต่อการทำธุรกรรมผิดปกติ รวมถึงปรับมาตรการยืนยันตัวตนของผู้ใช้บัตรเครดิตและเดบิตให้มากขึ้น ยอม รับหากจะให้แจ้งเตือนเอสเอ็มเอสการทำธุรกรรมทุกบาททุกสตางค์ เกรงจะรบกวนลูกค้ามากเกินไป จึงมองว่าหากต้นทางของรายการใดผิดปกติก็ไม่ควรเรียกเก็บเงิน ทางธนาคารยืนยันหากตรวจสอบพบเหยื่อรายถูกกระทำลักษณะนี้ ธนาคารจะคืนเงินให้ทั้งหมด ขณะนี้มีผู้ยื่นเรื่องกับธนาคารแล้ว 10,700 ราย รวมเป็นเงินที่ต้องคืน 132 ล้านบาท และอาจมีมาเพิ่มอีก

ขณะที่นายยศ ประธานระบบชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่าสำหรับผู้ที่มีแอพพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้งนั้น สามารถเข้าไปเรียนรู้การปรับวงเงิน หากต้องการป้องกันไม่ให้ถูกโจรกรรมเงินออกจากธนาคารโดยที่ไม่รู้ตัว ให้ปรับค่าให้เป็นศูนย์ หากจะต้องการใช้ในแต่ละครั้ง ให้ปรับค่าตามจำนวนที่ต้องการ อาจไม่สะดวกในขณะนี้ แต่ช่วยป้องกันได้อีกทาง

พล.ต.ต.นิเวศน์ ผบก.ตอท. กล่าวว่าธุรกรรมส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ หากเป็นการซื้อ ไอเทมเกม จะประสานบริษัทเกมในต่างประเทศที่มีกฎหมายระหว่างประเทศรองรับ เพื่อขอข้อมูลว่าใครเป็นคนนำข้อมูลไปใช้ซื้อไอเทมเกม และบางส่วนอาจเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์พนันออนไลน์ และจากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่าส่วนใหญ่โจรกรรมจากการซื้อสินค้าต่างประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน