ก.พลังงานเล็งกู้อีก2หมื่นล.
พยุงราคาไว้ห้ามเกิน30บาท
รถบรรทุกยัน-7วันหยุดวิ่งแน่

รมว.พลังงาน สุพัฒนพงษ์ลั่นเป็นไปไม่ได้ลดดีเซลเหลือลิตรละ 25 บาท ตามที่สมาคมขนส่งทางบก ร้องขอ- ขู่หยุดเดินรถ ขีดเส้นรัฐ 7 วัน ภายใน 25 ต.ค. แจ้งมติกรรมการนโยบายพลังงาน เลิกน้ำมันบี 6 กลับมาใช้ดีเซลปกติไม่เกินลิตรละ 30 บาท แจงวุ่นกลับมาขายดีเซล 3 ชนิด บี 7 กับ บี 10 อยู่ที่ 15 สตางค์ต่อลิตร ส่วนต่างขายปลีก บี 7 กับ บี 20 อยู่ที่ 25 สตางค์ต่อลิตร คงค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร ให้มีผล 1 พ.ย. ควักเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 5 พันล้านอุ้ม จากที่มีอยู่ 9.2 พันล้าน เล็งกู้ 2 หมื่นล้าน ลดภาษีสรรพสามิต เรือคลองแสนแสบ ร้องถ้าไม่ช่วยอุ้มดีเซล ขอขึ้นค่าตั๋ว 2 บาท หากน้ำมันพุ่งลิตรละ 29 บาท นายกฯ ยันสั่งตรึงดีเซลลิตรละ 30 บาท เห็นใจผู้ประกอบการ แต่น้ำมันราคาพุ่งตามตลาดโลก ต้องนำเข้าน้ำมันถึง 80% ส่วนที่ผลิตได้เอง แค่ 10% และคุณภาพต่ำ

เมื่อเวลา 11.10 น. วันที่ 20 ต.ค. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากราคาน้ำมันพุ่งสูงว่า รัฐบาลเข้าใจถึงความเดือดร้อนของสมาคมขนส่งหรือสมาคมรถบรรทุก ซึ่งได้พยายามดูแลอย่างเต็มที่ แต่สถานการณ์น้ำมันโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และยังไม่รู้ว่าจะขึ้นอีกเท่าไร ช่วงที่ผ่านมาทุกรัฐบาลได้บริหารจัดการเรื่องนี้มาตลอด โดยเอากองทุนน้ำมันออกไปช่วยตลอด ทั้งที่ความจริงแล้วราคาน้ำมันสูงมากกว่านี้ พยายามตรึงราคาให้ได้ลิตรละ 30 บาท ซึ่งราคานี้ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเดือนละ 6,000 กว่าล้านบาท และสถานการณ์ปัจจุบันนี้ติดลบแล้ว เราต้องมาพิจารณาว่าอีก 2 เดือนข้างหน้าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลเห็นใจ ผู้ประกอบการขนส่งทุกคน แต่ที่สำคัญต้องเข้าใจสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ยังมีความขัดแย้งในหลายส่วน หลายกลุ่มด้วยกัน สถานการณ์น้ำมันยังคงเป็นอย่างนี้อีกระยะ รัฐบาลพยายามตรึงให้ได้ลิตรละ 30 บาท ปัจจุบันเรามีน้ำมันอยู่หลายประเภท เช่น บี 7, บี 10, และบี 20 ซึ่งราคาต่างกัน เพราะมีส่วนผสมที่แตกต่าง โดยหากใช้เงินไปอุดหนุนราคาน้ำมันประเภทใดประเภทหนึ่งมากไป ก็จะทำให้น้ำมันอีกส่วนสูงขึ้น ต้องดูตรงนี้ด้วย แต่จะคุมราคาน้ำมันดีเซลให้ได้ 30 บาทต่อลิตรก่อน นอกจากนี้ จะทำอย่างไรให้กองทุนน้ำมันเกิดความคล่องตัว ต้องดูว่าหาเงินมาจากไหน กู้ได้หรือไม่ ถ้าได้จะได้เท่าไร สิ่งเหล่านี้นายกฯ ได้พิจารณามาตลอด และเตรียมพร้อม

“การเรียกร้องให้ราคาน้ำมันลิตรละ 25 บาท นั้นก็ต้องดูต้นทุนเป็นอย่างไร เรื่องน้ำมันมีปัญหาเยอะมาก เพราะเราใช้น้ำมันภายในประเทศมาก ต้องยอมรับว่า บ้านเราเจริญเติบโตถนนหนทางพอดี จึงมีการใช้น้ำมันเยอะ ส่วนที่มีคำถามว่า เพราะเหตุใดเราผลิตน้ำมันเองได้ แต่ราคายังแพงนั้น ต้องเข้าใจว่าการผลิตน้ำมันภายในประเทศไทยไม่ถึง 20% ซึ่งบางส่วนก็เป็นน้ำมันคุณภาพต่ำ นำมาใช้ได้ไม่มาก ซึ่งส่วนนี้เราจะส่งออกไปขายต่างประเทศ นำเงินเข้าประเทศ แต่อันไหนที่ผลิตได้เองมีอยู่เพียง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ไทยนำเข้าน้ำมันกว่า 80% ตามราคาน้ำมันโลกในส่วนนี้ก็จะมีภาษีในส่วนของกรมสรรพสามิต ซึ่งเราก็ต้องไปดูอีกครั้งว่ารายได้ต่างๆ ที่ได้จากกรมสรรพสามิต ต้องนำมาดูแลในส่วนต่างๆ หากลดภาษีกรมสรรพสามิตมากไป ก็จะไม่มีเงินมาดูแลในส่วนต่างๆ ในประเทศ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ขณะที่ นายชวลิต เมธยะประภาส เจ้าของบริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด ผู้ให้บริการเรือโดยสารคลองแสนแสบ กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงราคาน้ำมันดีเซล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน และผู้ประกอบการให้บริการระบบขนส่งมวลชน ซึ่งปัจจุบันได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ก่อนแล้ว รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลราคาน้ำมันดีเซล เพราะควบคุมต้นทุนการขนส่ง เพราะสงครามที่แท้จริงของประเทศไทยขณะนี้คือสงครามเศรษฐกิจ เฉพาะเรือคลองแสนแสบ ปัจจุบันต้องแบกภาระขาดทุนเดือนละ 1.5 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 1 ปี เต็มแล้ว เพราะ ผู้โดยสารหายไปเหลือแค่วันละ 4 พันคน เทียบกับช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาด ซึ่งอยู่ที่วันละ 4 หมื่นคน หากรัฐไม่ช่วยก็จะแย่ไปกันหมด เรายืนยันว่ายังไม่หยุดวิ่ง แม้ว่าจะขาดทุน แม้น้ำมันดีเซลมีแนวโน้มปรับราคาเพิ่มขึ้น เพราะต้องดูแลประชาชนผู้ใช้บริการ แต่หากรัฐบาลไม่แทรกแซง และปล่อยให้ราคาดีเซลปรับเพิ่มขึ้นถึงลิตรละ 29 บาท เรือคลองแสนแสบก็จำเป็นต้องปรับขึ้นค่าโดยสารอีก 2 บาท คือปรับจาก 18 เป็น 20 บาท แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้านนายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง นายกสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราคาน้ำมันดีเซลซึ่งมีแนวโน้มแพงต่อเนื่อง เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการขนส่งทำให้มีภาระต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้น ขณะที่การให้บริการเดินรถในปัจจุบันก็น้อยอยู่แล้ว จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้ล่าสุดผู้ประกอบการต้องหยุดวิ่งลดไปกว่า 20% เพราะทนแบกรับภาระการขาดทุนต่อไปไม่ไหว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. สมาคมได้เข้าหารือกับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการขนส่ง โดยยื่นข้อเสนอหลักๆ 3 ข้อ คือ

1.ให้รัฐบาลปรับลดเพดานราคาแทรกแซงน้ำมันดีเซล จากลิตรละ 30 บาท เป็นลิตรละ 25 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อเพิ่มแต้มต่อการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านมีต้นทุนขนส่งที่ถูกกว่าไทย อาทิ เมียนมา มีต้นทุนถูกกว่าไทยลิตรละ 7-10 บาท 2.ให้กระทรวงพลังงานปรับสูตรน้ำมันไบโอดีเซล โดยให้ยกเลิกการนำน้ำมันปาล์มเข้ามาผสม ซึ่งจะทำให้ต้นทุนราคาน้ำมันลดลงได้มากถึงลิตรละ 2 บาท และ 3.ให้กระทรวงการคลัง พิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิต ภาษีหัวจ่ายลง เพื่อลดต้นทุนน้ำมันดีเซล

“เราจะให้เวลารัฐบาลพิจารณาข้อเสนอและตัดสินใจ 7 วัน นับจากวันที่หารือ คือวันที่ 18 ต.ค. หากรัฐบาลยังไม่มีคำตอบ หรือให้คำตอบที่ยังไม่น่าพอใจ สมาคมขนส่งทางบกฯ จะเรียกประชุมสมาชิก เพื่อขอมติว่าจะขับเคลื่อนข้อเรียกร้องต่ออย่างไร” นายอภิชาติกล่าว

วันเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนาย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธาน ได้สั่งการให้ทบทวนมาตรการชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาราคาน้ำมันสูง โดยมีมติให้กลับไปจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วสูตรเดิมที่มี 3 ชนิด ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 7 น้ำมันดีเซลธรรมดา หรือน้ำมันพื้นฐาน บี 10 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 จากมติกบง.ก่อนหน้านี้ให้ปรับสูตรผสมไบโอดีเซลสูตร บี 6 และคงการจำหน่าย บี 20

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ที่ประชุมกำหนดให้ส่วนต่างราคาขายปลีกระหว่างบี 7 กับ บี 10 อยู่ที่ 15 สตางค์ต่อลิตร และส่วนต่างราคาขายปลีกระหว่าง บี 7 กับ บี 20 อยู่ที่ 25 สตางค์ต่อลิตร โดยยังคงค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 เป็นต้นไป เพื่อยึดนโยบายตรึงราคากลุ่มน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยจะใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวน 5,000 ล้านบาทจากที่เหลืออยู่ ณ วันที่ 17 ต.ค.2564 ประมาณ 9,207 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากเงินไม่พอสำหรับรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เนื่องจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังปรับขึ้นไปอีกต่อเนื่อง จะใช้สิทธิ์ภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ขอกู้เงินเพิ่มเติมภายใต้วงเงินที่กฎหมายเปิดช่องให้กู้ได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท แต่หากกรณีราคาน้ำมันดิบดูไบขึ้นไปสูงเกิน 87.5 เหรียญต่อบาร์เรล หรือสถานะภาพกองทุน บวกเงินกู้ไม่เพียงพอสำหรับรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรได้ จะประสานกระทรวงการคลัง เพื่อปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตเป็นลำดับต่อไป

“เป้าหมายแรกคาดว่าต้องใช้เงินเข้ามาอุดหนุนราคาน้ำมันไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท จึงอยู่ระหว่างหาช่องทางอื่นเพิ่มเติมให้กู้มากกว่า 20,000 ล้านบาทได้หรือไม่ ซึ่งคงต้องประสานกับกระทรวงการคลังว่าจะมีมาตรการอื่นเข้ามาช่วยเสริมอย่างไร แต่จากการประเมินเบื้องต้นเงินกองทุน ที่มีอยู่ 9,000 ล้านบาท บวกกับเงินกู้ 20,000 ล้านบาท น่าจะเพียงพอต่อการประคับประคองราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศให้มีเสถียรภาพไปได้อีก 3-4 เดือนนับจากนี้ ภายใต้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไม่เกิน 87.5 เหรียญต่อบาร์เรล หลังจากนั้นประเมินว่าจะเป็นเวลาที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะทยอยอ่อนตัวลง จากภูมิอากาศที่ค่อยๆ ร้อนขึ้น หรือหนาวน้อยลง แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง เพราะอาจมีปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงได้อีกเช่นกัน” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวอีกว่า ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังเคลื่อนไหวขึ้นลงในทิศทางที่ผันผวน หลังแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะขึ้นไปสิ้นสุดที่ระดับใด เพราะได้รับแรงกดดันจากตัวเลขภาคอุตสาหกรรมสหรัฐอเมริกา จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังหลายประเทศเตรียมเปิดประเทศ ประกอบกับวิกฤตการด้านก๊าซธรรมชาติ โดยกระทรวงพลังงาน จะติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน ทั้งด้านน้ำมัน ด้านก๊าซปิโตรเลียมเหลว ด้านไฟฟ้าให้ได้รับความเป็นธรรม เหมาะสมต่อไป

ส่วนกรณีผู้ประกอบการรถบรรทุกอยากให้ลดเหลือ 25 บาทต่อลิตรนั้น นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ไม่สามารถทำได้ ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีผ่านการสนับสนุนเงิน 3,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน ผ่านนายจ้าง และมาตรการทางการเงินช่วยประชาชนกลุ่มต่างๆ ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน