ลุยจับ-ซื้อเสียง
เลือกตั้ง‘อบต.’

ขอกำลังตร.จัดทีมเคลื่อนที่เร็ว 204 ชุดทั่วประเทศ กกต.ประสานตำรวจปรามกระทำผิดกฎหมาย เกี่ยวกับการเลือกตั้งอบต. ‘จรุงวิทย์’ เผยขณะนี้มีร้องเรียน 175 เรื่อง รับมาดำเนินการแล้ว 74 สำนวน เป็นเรื่องเกี่ยวกับการซื้อเสียง 34 เรื่อง ด้านสธ.ห่วงเสี่ยงติดโควิด แนะวิธีจัดเลือกตั้งปลอดภัย เน้นอากาศถ่ายเท ไม่แออัด มีจุดล้างมือเข้า-ออกคูหา ตรวจอุณหภูมิ หากเกิน 37.5 องศาฯ ให้เข้าคูหาพิเศษ สวมหน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่าง ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม พกปากกาไปเอง

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) โดยสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ร่วมกับนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 12 (พตส. 12) ออกสำรวจความเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อบต. ระหว่างวันที่ 6-14 พ.ย.ในพื้นที่ 42 จังหวัด จำนวน 1,500 ตัวอย่าง มีผลสำรวจที่สำคัญ ดังนี้

การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทราบว่ามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ในวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย. ร้อยละ 92.8 ไม่ทราบ ร้อยละ 7.2 โดยสื่อที่ทำให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือป้ายประชาสัมพันธ์เชิญชวน ร้อยละ 51.7 รถประชาสัมพันธ์ของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ร้อยละ 42.7 หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน ร้อยละ 38.8

เมื่อถามว่าการเลือกตั้งสมาชิกและนายก อบต. ทำให้นึกถึงเรื่องใดมากที่สุดพบว่า ร้อยละ 49.1 ถึงเรื่องการพัฒนาท้องถิ่น รองลงมา ร้อยละ 23.9 คือการมีประชาธิปไตย เมื่อถามถึงการไปตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงที่ทำการอบต. พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 61.8 ไปตรวจเรียบร้อยแล้ว รองลงมา ร้อยละ 26.3 ไม่ไป เพราะเชื่อมั่นว่ามีชื่ออยู่แล้ว ส่วนปัจจัยที่จะมีผลต่อการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.4 คิดว่าสถานการณ์โควิด รองลงมาร้อยละ 12.8 คือผู้สมัครรับเลือกตั้ง และร้อยละ 12.4 ฝนฟ้าอากาศ

เมื่อถามว่าจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย.หรือไม่ พบว่า ร้อยละ 73.5 ไปแน่นอน ส่วนร้อยละ 18.7 คิดว่าไม่ไป เมื่อถามว่าทราบถึงแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งจากแอพพลิเคชั่น Smart Vote หรือไม่ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 55.9 ทราบ

เมื่อถามต่อถึงช่องทางการแจ้งเหตุหาก พบการทุจริตการเลือกตั้ง หรือการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งผ่านแอพพลิเคชั่นตาสับปะรด พบว่า ร้อยละ 56.1 ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าสามารถแจ้งผ่านแอพฯ ดังกล่าว และเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นในการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าจะเป็นไปด้วยความสุจริต ยุติธรรม หรือ ไม่ พบว่า ร้อยละ 53.3 เชื่อมั่น ร้อยละ 30.9 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 15.8 ไม่เชื่อมั่น

ด้านพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ขณะนี้มีตัวเลขเรื่องร้องเรียน 175 เรื่อง เป็นเรื่องที่รับดำเนินการแล้ว 74 สำนวน ซึ่งเรื่องที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดเป็นเรื่องเกี่ยวกับการซื้อเสียง 34 เรื่อง เบื้องต้นเรื่องร้องเรียนในแต่ละจังหวัดจะยังอยู่ที่กกต.จังหวัด และแต่ละจังหวัดมีเรื่องร้องเรียน กระจายๆ กันไป ขณะนี้ ทราบว่ายังไม่พบเรื่องร้องเรียนที่ดูจะรุนแรงกับสถานการณ์การเลือกตั้ง และด้วยในช่วงของการเลือกตั้งทุกครั้งก็จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยตั้งจุดตรวจเรื่องความมั่นคงอยู่แล้ว ก็จะเป็นการลดปัญหาอาชญากรรมไปได้ในส่วนหนึ่ง

ผู้สื่อข่างวรายงานว่าตามที่ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ ในการนี้ เพื่อให้การป้องปรามและหาข่าวเกี่ยวกับการกระทำความผิดในการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สำนักงาน กกต.ได้ประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ขอรับการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อแต่งตั้งเป็นชุดเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 204 ชุด ซึ่งแต่ละชุดประกอบด้วยตำรวจ 3 นาย ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 9-28 พ.ย.

โดยมีหน้าที่ดังนี้ 1.ป้องปรามและหาข่าว เผชิญหรือระงับเหตุการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และพรรคการ เมือง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่รับผิดชอบ 2.การตรวจคัน จับกุม ควบคุม ผู้กระทำความผิดนำส่งพนักงานสอบสวนหรือนำส่งศาลแล้วแต่กรณี

นอกจากนี้ สำนักงาน กกต. ได้ประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด กำชับไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการให้การสนับสนุนข้อมูลข่าวสารแก่ผู้ตรวจการเลือกตั้งและพนักงานของสำนักงาน กกต.ในการลงพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาข้อมูลการกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. เปิดเผยถึงการเลือกตั้ง อบต. 28 พ.ย. นี้ว่าได้กำชับตำรวจทุกพื้นที่ เข้มงวดช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งอบต.โดยให้มีการตั้งจุดตรวจจุดสกัด จัดชุดเคลื่อนที่เร็วและชุดป้องกันปราบปราม ออกตรวจตามจุดเสี่ยงต่างๆ ป้องปรามเหตุอาชญากรรม ทั้งคดีอาวุธปืน ยาเสพติด และกฎหมายอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีแนวโน้มการแข่งขันสูง ในพื้นที่ภาค 8 และ 9 รวมถึงภาค 7 และ 2 แต่จากจากการประเมินด้านการข่าว ยังไม่พบสัญญาณบ่งชี้เหตุรุนแรง และยังไม่พบความเคลื่อนไหวของกลุ่มซุ้มมือปืน รวมทั้งยังไม่มีพื้นที่ใด ร้องขอกำลังรักษาความปลอดภัยตัวบุคคลเป็นพิเศษ

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวอีกว่า ในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ ครอบคลุมกว่า 5,000 อบต. และสมาชิก อบต. กว่า 50,000 คน ซึ่งตำรวจจะเฝ้าระวังการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และการกระทำผิดอื่นๆ ต่อเนื่องจนกว่าการเลือกตั้งจะแล้วเสร็จ

วันเดียวกัน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการเลือกตั้งอบต.ทั่วประเทศ ในวันที่ 28 พ.ย. อย่างปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ว่า ขอเชิญชวนคนไทยทุกคนที่มีสิทธิเลือกตั้งให้ไปใช้สิทธิโดยทั่วกัน โดยกระทรวงสาธารณสุข มีประเด็นเน้นย้ำการป้องกันโรคในการไปใช้สิทธิ เลือกตั้ง เพื่อให้คนที่เกี่ยวข้องปลอดภัย ในสถานการณ์โรคโควิด-19 เนื่องจากมี อบต. 5,300 แห่งทั่วประเทศที่จะจัดเลือกตั้ง วันที่ 28 พ.ย. ถือเป็นความเสี่ยงในการระบาดของโรคโควิด จากการใช้สถานที่ร่วมกัน ซึ่งอาจมีประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนาไปเลือกตั้ง การรวมกลุ่มมากกว่า 1 คน อาจมีผู้ติดเชื้อไม่มีอาการอยู่ร่วมสถานที่เดียวกัน จุดเสี่ยงคือจุดสัมผัสร่วมต่างๆ คือ ปากกา กระดาษ และโต๊ะที่ใช้ในหน่วยเลือกตั้ง นอกจากนี้ อนามัยสิ่งแวดล้อมของสถานที่ คณะอำนวยการเลือกตั้งท้องถิ่นต้องจัดการให้เกิดความปลอดภัย

สำหรับข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย สำหรับเจ้าพนักงานผู้คุมหน่วยเลือกตั้ง ดำเนินการดังนี้ 1.จัดหน่วยเลือกตั้งให้มีอากาศถ่ายเท ไม่แออัด 2.กำหนดจุดเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ทั้งก่อนเข้าคูหาและหลังออกคูหา โดยเฉพาะหลังสัมผัสสิ่งของต่างๆ 3.ให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิผู้มาใช้สิทธิ หากพบอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียส ให้แยกใช้สิทธิลงคะแนนในคูหาพิเศษ ซึ่งอยู่บริเวณหน่วยเลือกตั้งเดียวกัน หรือวิธีอื่นๆ ตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้ปะปนกับผู้เลือกตั้งคนอื่น และควรแจ้งหน่วยบริการสาธารณสุขดำเนินการต่อไป 4.ควบคุมดูแลให้ผู้มีสิทธิ ในหน่วยเลือกตั้ง สวมหน้ากากตลอดเวลา 5.จัดระยะห่างของ ผู้มาใช้สิทธิ ก่อนเข้าคูหาเพื่อไม่ให้แออัด 6.ทำความสะอาดอุปกรณ์หรือจุดที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อย

ส่วนประชาชนปฏิบัติดังนี้ 1.ก่อนไปเลือกตั้งจะคุ้นการเปิดดูบัญชีรายชื่อหน้าหน่วยเลือกตั้งเพื่อดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตนเอง ตอนนี้ยุคนิวนอร์มัล เพื่อลดเวลาในการอยู่หน่วยเลือกตั้งและลดการสัมผัสโดยไม่จำเป็น สามารถตรวจสอบสิทธิหน่วยเลือกตั้งและเลขกำกับของตนทางจดหมายที่ส่งไปที่บ้านหรือเว็บไซต์ของกรมการปกครอง 2.ประเมินความเสี่ยงตนเองผ่านไทยเซฟไทย แอพพลิเคชั่นต่างๆ ครอบคลุมพฤติกรรมเสี่ยง อาการเสี่ยง การตรวจคัดกรองหาเชื้อและการรับวัคซีน 3.ลดโอกาสสัมผัสร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะปากกาเซ็นรับรองการใช้สิทธิ หรือลงคะแนนเสียง จากการอ้างระเบียบคณะกรรมการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 การใช้ปากกาส่วนตัวที่เตรียมมาเองเพื่อเลือกตั้งทำได้ไม่ผิดกฎหมาย จึงควรนำปากกาส่วนตัวมาใช้เพื่อลดสัมผัสร่วม 4.ขอความร่วมมือเข้มมาตรการส่วนบุคคล เตรียมหน้ากากอนามัยสวมใส่ตลอดเวลา 5.ไม่ควรนำบุตรหลานหรือสมาชิกที่ไม่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเด็กเล็กไปยังหน่วยเลือกตั้ง และ 6.กรณีเดินทางโดยรถสาธารณะ ให้สวมหน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่าง และล้างมือหลังสัมผัสอุปกรณ์ต่างๆ เมื่ออยู่บนรถ

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า เมื่อถึงวันไปเลือกตั้ง เมื่อเดินทางไปถึงหน่วยเลือกตั้ง ควรปฏิบัติตนตามหลักการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา คือ สวมหน้ากากตลอดเวลา งดการรวมกลุ่มพูดคุยกัน เมื่อต้องต่อแถวเข้าคูหา ให้รักษาระยะห่างที่เหมาะสม ล้างมือทันทีเมื่อสัมผัสสิ่งใดที่ไม่ใช่ของส่วนตัว และใช้เวลาเท่าที่จำเป็นในหน่วยเลือกตั้ง เมื่อประชาชนกลับถึงบ้านอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีเพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดความเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อสู่บุคคลที่รักที่บ้าน

ที่ จ.เชียงใหม่ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการจัดกิจกรรมรณรงค์โค้งสุดท้ายเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ลานโดม อบต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม โดยมีกลุ่มพลังมวลชนในพื้นที่เข้าร่วมรณรงค์ พร้อมมอบสื่อประชา สัมพันธ์การเลือกตั้งแก่ตัวแทนหมู่บ้าน ก่อนที่จะตั้งขบวนรณรงค์โดยการขับขี่รถจักรยานยนต์ กว่า 200 คัน ออกไปตามหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง อบต.ในวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย.นี้ อบต.ถือเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เล็กที่สุดแล้ว เป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดพี่น้องประชาชนมากที่สุด รู้ปัญหามากที่สุดผู้ที่จะมาบริหารต้องได้รับการยอมรับจากพี่น้องประชาชน

นายนพดล สุยะ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ เผยแผนจัดเลือกตั้งในพื้นที่หมู่บ้านมีการแพร่ระบาดโควิด-19 และถูกสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุม ว่าทางกกต.จะมีการจัดส่งชุดป้องกันเชื้อหรือชุดพีพีอีให้กับคณะกรรมการประจำหน่วยได้สวมใส่ขณะดูแลการเลือกตั้งเพื่อป้องกันการสัมผัสโรคติดต่อ ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะเข้าคูหา กกต.จะร่วมกับคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด เข้าตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจเอทีเคก่อนที่จะเข้าคูหาทุกคน รวมทั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งทุกคน และขอความร่วมมือผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน สวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้านไปใช้สิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งต้องเข้าตรวจวัดคัดกรอง จาก อสม.ที่หน่วยเลือกตั้งด้วย โดยกกต.จะจัดคูหาพิเศษสำหรับผู้ใช้สิทธิที่ตรวจพบอุณหภูมิสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนด เบื้องต้นจากการสำรวจพบว่ามีหมู่บ้านที่เสี่ยงการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้แก่ บ้านแม่แจะ อ.แม่แจ่ม และที่ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ส่วนจะมีเพิ่มมากกว่านี้หรือไม่ ต้องรอประกาศจากคณะกรรมการควบคุมโรคอีกครั้ง

สำหรับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีการจัดการเลือกตั้ง อบต.ทั้งสิ้น 89 แห่ง มีจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวนทั้งสิ้น 212 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวนทั้งสิ้น 2,322 คน รวมผู้สมัครทั้งสิ้น 2,534 คน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน