เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ พระครูสังฆรักษ์เสาร์ ธัมมโชโต เป็น พระราชมงคลวัชรสิริ สุทธิสีลาจารนิวิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ สถิต ณ วัดโพธิ์ศรี จังหวัดมหาสารคาม มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค.2565 ประกาศ ณ วันที่ 6 พ.ค.2565 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลปัจจุบัน

“พระราชมงคลวัชรสิริ” หรือ “หลวงปู่เสาร์ ธัมมโชโต” เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี ต.หนองปลิง อ.เมือง จ.มหาสารคาม พระเกจิที่มีวัตรปฏิบัติเรียบง่าย ทรงวิทยาคม และ ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา

ปัจจุบัน สิริอายุ 103 ปี พรรษา 37 เป็นพระภิกษุที่มีอายุมากที่สุดในแวดวงคณะสงฆ์มหาสารคราม

มีนามเดิม เสาร์ ศิริพล เกิดเมื่อวันที่ 3 ม.ค.2462 ที่บ้านหนองแวง ต.แวงน่าง อ.เมือง จ.มหาสารคาม บิดา-มารดา ชื่อ นายแดงและนางตุ้ม ศิริพล ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา

ช่วงวัยเยาว์ จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนในหมู่บ้านแล้วออกมาช่วยงานครอบครัวด้วยความขยันขันแข็ง

ด้วยความเป็นคนมีน้ำใจ เข้าไปช่วยงานวัด จนเป็นที่ชื่นชมของพระภิกษุ-สามเณร และคนในหมู่บ้าน

อายุ 17 ปี เข้าพิธีบรรพชาที่วัดในหมู่บ้าน แล้วท่านกลับมาอยู่ที่วัดบ้านหนองแวง มุมานะศึกษาพระปริยัติธรรมด้วยความตั้งใจ ในเวลาไม่นาน สามารถท่องบทสวด 7 และ 12 ตำนานได้ภายใน 1 เดือน

จากนั้น เดินทางไปศึกษาพระธรรมวินัยที่สูงขึ้นกับพระครูสุตสารวิสิษฐ์ (หนู จันทสโร) วัดบ้านกุดแคน ต.โคกก่อ อ.เมือง จ.มหาสารคาม บวชเป็นเวลา 2 ปี ได้ ด้วยความจำเป็นจึงลาสิกขาออกมาช่วยเหลือพ่อแม่ทำนาเลี้ยงชีพ

หลังใช้ชีวิตฆราวาสมาจนถึงปี พ.ศ.2528 เห็นว่าความสุขในชีวิตไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้ง เข้าพิธีอุปสมบทที่อุโบสถวัดใต้แวงน่าง อ.เมือง จ.มหาสารคาม

มีพระครูชัยสิทธิคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ (ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพสารคามมุนี เจ้าอาวาสวัดอภิสิทธิ์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม), พระอธิการสุวรรณ อติภัทโท เป็นพระกรรมวาจารย์ และพระอธิการโสภณ จันทโชโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์

กลับมาจำพรรษาอยู่วัดบ้านเกิด ด้วยท่านเห็นว่าสังขารนั้นไม่เที่ยง ตราบที่ธาตุขันธ์ยังดีอยู่ ท่านออกจาริกแสวงหาโมกขธรรม ตามรอยพระตถาคต ไปตามป่าเขาหลายแห่งในภาคอีสาน โดยเฉพาะเทือกเขาภูพาน

ครั้งหนึ่งต้องเผชิญหน้ากับช้างป่าในระยะประชิด ด้วยความมีจิตใจที่หนักแน่นมั่นคง ท่านสวดแผ่เมตตาไม่นาน ช้างป่าก็เดินหายไปไม่ทำร้ายท่านแต่อย่างใด

จำพรรษาอยู่ที่วัดทรายมูล ต.จันทน์ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี และที่วัดอ้อมกอ ต.อ้อมกอ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี รวมเป็นเวลานานถึง 7 พรรษา จึงกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านหนองแวง

ต่อมาวัดโพธิ์ศรี บ้านโคกศรี จ.มหาสารคาม ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดว่างลง คณะสงฆ์เห็นว่าเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จึงได้แต่งตั้งให้ท่านมาอยู่จำพรรษาและให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสจนตราบจนปัจจุบัน

วัตรปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลาย ครองตนด้วยความสมถะ เรียบง่าย เจริญกัมมัฏฐานทั้งเช้าและเย็น อีกทั้งยังสืบสายธรรมศึกษาวิทยาคมจากพระเกจิหลายท่าน อาทิ หลวงปู่สิงห์ วัดหนองแวง จ.มหาสารคาม, หลวงปู่มุข วัดบ้านจันทน์ จ.อุดรธานี เป็นต้น

ด้วยวัตรปฏิบัติสุปฏิปันโน จึงเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ในแต่ละวันจึงมีพุทธศาสนิกชนในและนอกพื้นที่ เข้ามากราบนมัสการรับฟังธรรมอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งก็ให้ความอนุเคราะห์จนเป็นที่พึงพอใจทุกราย

สำหรับหัวข้อธรรมที่พร่ำสอนญาติโยมมาโดยตลอด เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต คือ การดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท และให้ยึดศีล 5 ไว้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตแล้วคุณพระจะรักษาคุ้มครอง

ล่าสุด พ.ศ.2565 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชมงคลวัชรสิริ

ทุกวันนี้ แม้จะมีอายุร้อยปีเศษ อยู่ในช่วงปัจฉิมวัย แต่จิตใจของท่านยังเข้มแข็ง และมีเรี่ยวแรงสนองศรัทธาสาธุชนได้เกินวัย

เป็นพระเกจิที่ควรแก่การยกย่องโดยแท้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน