เหนือ-อีสานฝนหนักเฝ้าระวังน้ำป่า-ท่วมซ้ำ

จับตาพายุโซนร้อน‘โนรู’จ่อขึ้นฝั่งเวียดนามตอนบน ช่วง 27-28 ก.ย. ส่งผลให้ภาคเหนือและอีสานฝนตกหนักถึงหนักมาก มีลมแรงถึง 29 ก.ย. ให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก กอนช.เตือน 25-27 ก.ย. เจ้าพระยาเอ่อเพิ่มหลังเขื่อนชัยนาทระบายเพิ่ม สั่ง 9 จังหวัดท้ายเขื่อน-กทม.-ปริมณฑล เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง พร้อมอพยพ กทม.สั่งรับเจ้าพระยาเอ่อเพิ่มหลังทะเลหนุน น้ำปริ่มตลิ่งวัดไชยวัฒนาราม อยุธยา ระดมแนวกั้นกันน้ำทะลักท่วมโบราณสถานภายในวัด

ท้ายเขื่อนรับเจ้าพระยาเอ่อ
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศ ฉบับที่ 40/2565 เรื่อง เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ระบุว่า ด้วยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์จะมีฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 21-26 ก.ย. บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล กอนช.ได้ประเมินสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 2,100-2,300 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที แม่น้ำสะแกกรัง สถานี Ct.19 อัตรา 200 ลบ.ม.ต่อวินาที ลำน้ำสาขาอัตรา 100 ลบ.ม.ต่อวินาที และการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งรวมจำนวน 200 ลบ.ม.ต่อวินาที จึงมีความจำเป็น ต้องให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 2,200-2,300 ลบ.ม.ต่อวินาที ในช่วงวันที่ 25-27 ก.ย. จะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 0.30-0.50 เมตร บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา อ.เสนา และผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา อ.อินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี และพรหมบุรี จ.สิงห์บุรี อ.ไชโย จ.อ่างทอง จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี กรุงเทพมหา นคร และสมุทรปราการ

ในการนี้เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยง ที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า

เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที และปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ระบบชลประทาน เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์

สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ขอให้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการนำเข้าคลองต่างๆ ทั้งด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพคลองชลประทาน ในแต่ละช่วงเวลาที่รองรับได้

9 จว.กลาง-กทม.เสี่ยงล้นตลิ่ง
ขณะที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่า จากการแจ้งเตือนของกอนช.ดังกล่าว กอปภ.ก จึงได้แจ้ง 9 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพฯ เฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนแจ้งจังหวัดประสานท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมจากมรสุม รวมถึงสถานการณ์ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขามีปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง โดยสถานการณ์ล่าสุดยังคงมีน้ำท่วมใน 8 จังหวัด ได้แก่ ตาก ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และปทุมธานี รวม 19 อำเภอ 134 ตำบล 699 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผล กระทบ 31,103 ครัวเรือน

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เร่งดำเนินการประสานแต่ละจังหวัดดูแลผู้ประสบภัย พร้อมระดมกำลังเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง ปภ. กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความช่วยเหลือและเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป

เตรียมสถานที่รับอพยพ
ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมทุกด้าน เพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำตามแนวปฏิบัติมาตรการฤดูฝน 13 มาตรการ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ที่อาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่สูงขึ้น

“รัฐบาลเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานบริหารจัดการทำงานอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ เพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชน ที่มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในพื้นที่เสี่ยง ใน 3 จังหวัด คือ จ.สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้เตรียมพร้อมป้องกันไม่ให้เกิดอุทกภัย เตรียมสถานที่อพยพและอำนวยความสะดวก ให้ประชาชน และตรวจสอบความปลอดภัยเสาไฟฟ้าแรงสูง ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่” น.ส.ทิพานันกล่าว

จับตาพายุ‘โนรู’หอบฝนหนัก
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือน พายุดีเปรสชันบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกหรือด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “โนรู (NORU)” แล้ว และจะเคลื่อนผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงทะเลจีนใต้ตอนกลางในช่วงวันที่ 25 – 26 ก.ย.นี้ คาดว่าพายุจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 27-28 ก.ย. ส่งผลทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรงในช่วงวันที่ 27-29 ก.ย. ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

สั่งรับทะเลหนุนกรุงเทพฯ
วันเดียวกัน ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ (สนน.) รายงานสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาว่า มีฝนตกปานกลางถึงหนัก โดนมีปริมาณฝนสูงสุดที่จุดวัด สำนักงานเขตราชเทวี 67.5 ม.ม. จุดวัด สถานีสูบน้ำคลองสามเสน เขตดุสิต 65.5 ม.ม. จุดวัด ประตูระบายน้ำคลองอรชร เขตปทุมวัน 64 ม.ม. จุดวัดสำนักงานเขตบางพลัด 61 ม.ม. มีรายงานจุดเร่งการระบายน้ำในถนนสายหลัก จำนวน 5 พื้นที่ดังนี้ 1.ถนนสาทรใต้-วิทยุการบิน ถนนสวนพลู เขตสาทร 2.หน้าโรงเรียนสันติราษฎร์ ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี 3.ตลาดประแจจีน ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี 4.หน้ากรมปศุสัตว์ ถนนพญาไท เขตราชเทวี และ 5.หน้ากรมทางหลวง ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี โดยแห้งเป็นปกติในเวลาต่อมาแล้ว

ส่วนค่าระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออกวันนี้ ประตูระบายน้ำคลองสอง (สายใต้) (ระดับวิกฤต +1.80) ระดับ +1.55 เมตรระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ระดับปกติ ประตูระบายน้ำแสนแสบ (มีนบุรี) (ระดับวิกฤต +0.90) ระดับ +0.93 ม.รทก. ระดับวิกฤต และประตูระบายน้ำลาดกระบัง (ระดับวิกฤต +0.60) ระดับ +0.47 ม.รทก. ระดับเตือนภัย

ที่โรงแรมคราวน์พลาซ่า กรุงเทพฯ ลุมพินีพาร์ค ถนนพระราม 4 เขตบางรัก นาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ให้สัมภาษณ์กรณีกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ออกประกาศระบุวันที่ 22-26 ก.ย. ระหว่างเวลา 17.00-19.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง อาจทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ขอให้ระมัดระวังและติดตามระดับน้ำขึ้นสูงว่า น้ำทะเลหนุนก็เป็นตัวที่ประกอบกับน้ำเหนือที่ปล่อยมา ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น ดังนั้นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดคือเขื่อนริมน้ำที่เคยพูดตั้งแต่ช่วงเดือนแรก โดยเฉพาะจุดที่ยังเป็นฟันหลอ ก็คงต้องไปเตรียมดำเนินการเฝ้าระวัง กทม.มอนิเตอร์ตลอดและต้องดูฐานน้ำประกอบน้ำเหนือที่ปล่อยมา ซึ่งขณะนี้ทราบว่าปล่อยน้ำมาในระดับที่ 2,300 ลบ.ม.ถือว่ายังไม่ได้วิกฤต แต่กำชับผอ.เขตทั้ง 17 เขตที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เฝ้าระวัง ซึ่งผอ.เขตทราบอยู่แล้วว่าจุดเสี่ยงในพื้นที่ของตนเองนั้น อยู่จุดใด ตรงไหน

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า เมื่อเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนจะมีปัญหาที่แตกย่อยลงมา คือเมื่อน้ำขึ้นสูง การสูบน้ำออกอาจจะสูบได้ช้าและยาก กทม.ต้องเตรียมปั๊มน้ำเพิ่มตามสถานี เช่นพระโขนง ซึ่งเป็นสถานีหลัก ก็ต้องรอดู อย่างเช่นเมื่อวานนี้ ฝนตกในเขตชั้นใน 60 ม.ม.แต่ 24 ชั่วโมง 100 ม.ม. ซึ่งระบายได้เร็วแถวราชเทวีเมื่อเช้าวิ่งออกมาตรวจส่วนใหญ่ก็อยู่ในภาพที่ไม่น่ากลัว ขณะที่ระดับน้ำในคลองได้พร่องออกหมด แต่ที่ห่วงก็คือห่วงฝั่งธนบุรี จากที่ไปดูคลองราชมนตรี ก็พร่องน้ำได้เร็ว

เจ้าพระยาเอ่อเพิ่มต่อเนื่อง
ขณะที่ เฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ระดับแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีวัดระดับน้ำต่างๆ ประกอบด้วย สถานีวัดระดับน้ำคลองบางเขนใหม่ ปริมาณน้ำสูงสุด เวลา 18.40 น. วัดได้ 1.86 ม.รทก. ระดับความสูงแนวเขื่อน 3.5 ม.รทก.ระดับน้ำต่ำกว่าแนวเขื่อน -1.64 ม.รทก. (ระดับน้ำเตือนภัย 3.3 ม.รทก.) สถานีวัดระดับน้ำปากคลองตลาด ปริมาณน้ำสูงสุด เวลา 18.00 น. 1.77 ม.รทก. ระดับความสูงแนวเขื่อน 3.0 ม.รทก. ระดับน้ำต่ำกว่าแนวเขื่อน -1.23 ม.รทก. (ระดับน้ำเตือนภัย 2.8 ม.รทก.), สถานีวัดระดับน้ำบางนา ปริมาณน้ำสูงสุด เวลา 18.10 น. 1.69 ม.รทก. ระดับความสูงแนวเขื่อน 2.8 ม.รทก. ระดับน้ำต่ำกว่าแนวเขื่อน -1.11 ม.รทก (ระดับน้ำเตือนภัย 2.6 ม.รทก.)

ส่วนสถานีบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำไหลผ่านสูงสุด 2,283 ลบ.ม.ต่อวินาที กทม. รองรับปริมาณน้ำเหนือได้ 2,500- 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที และบริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ วันที่ 24 ก.ย. น้ำขึ้นเต็มที่ เวลา 19.36 น. สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 1.67 เมตร

เฝ้าระดับน้ำ – จนท.ตรวจระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด ป้องกันน้ำทะลักเข้าท่วมโบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา โดยระดับน้ำเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เพราะเขื่อนเจ้าพระยาเร่งระบายน้ำออกต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 23 ก.ย.

ระดมป้องวัดไชยฯกรุงเก่า
ที่บริเวณโบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ติดกับแม่น้ำเจ้าพรยา พบว่าระดับน้ำสูงกว่าแนวตลิ่งของพื้นที่ชั้นนอกของโบราณสถาน 70 ซ.ม. เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลังจากกรมชล ประทานแจ้งเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาลงสู่ท้ายเขื่อน

ส่วนที่ ต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา ชุมชนที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าน้ำได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน พื้นที่ขยายวงกว้าง การสัญจรของชาวบ้านเข้าออกหมู่บ้านเพื่อไปทำงานและส่งลูกหลานไปโรงเรียน ต้องใช้เรือพายกันออกมาทีละหลายคน และเดินลุยน้ำ เป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัยของเด็ก ที่ไม่ได้มีเสื้อชูชีพติดตัวออกจากบ้าน

ขณะที่ต.ไทรน้อย อ.บางบาล ที่รับน้ำจากคลองบางบาล ซึ่งเป็นพื้นที่มีประตูระบายน้ำปากคลองบางบาล ได้เปิดประตูระบายน้ำ ส่งผลให้น้ำล้นแนวคันกั้นน้ำ ไหลลงสู่คลองบางบาลล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านริมคลองแล้ว

ฝนถล่ม – ชาวอำนาจเจริญต้องขับรถลุยน้ำท่วมสูงแทบทุกถนนสายที่น้ำท่วมสูง หลังเกิดฝนตกหนักติดต่อกัน หลายชั่วโมง และมวลน้ำยังหลากท่วมขังเป็นวงกว้างในเขตเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 23 ก.ย.

น้ำป่าบ่าท่วมเมืองเชียงใหม่
ด้านจ.เชียงใหม่ ช่วงเช้าวันเดียวกัน ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือรายงานว่า มีฝนตกในเขตท่าอากาศยานเชียงใหม่ รวมทั้งพื้นที่เขตอำเภอเมือง และดอยสุเทพตั้งแต่เวลา 04.00-07.00 น. ตรวจวัดปริมาณฝนได้ถึง 100 มิลลิเมตร จึงทำให้เกิดน้ำป่าและน้ำท่วมฉับพลันในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ โดยน้ำป่าจากดอยสุเทพได้ไหลบ่าลงมาเข้าท่วมหลายพื้นที่ ที่ชุมชนวัดอุโมงค์ หมู่ 10 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นย่านหอพักของนักศึกษาและบ้านเรือนประชาชนถูกน้ำป่าเข้าท่วม อย่างที่หอพักไวท์เฮ้าส์ น้ำป่าเข้าท่วมหอพักชั้นล่าง ซึ่งมีระดับสูงกว่า 1 เมตร และเข้าท่วมห้องพักที่อยู่ชั้น 1 ทำให้รถจักรยานยนต์ของนักศึกษาที่เช่าหอพักถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายไปหลายสิบคัน ขณะที่ทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้ารองเท้า ที่อยู่หน้าห้องพักถูกน้ำพัดหายไป ระดับน้ำที่เข้าท่วมภายในห้องพักสูงประมาณ 20-30 ซ.ม. ทำให้ข้าวของเครื่องใช้จำพวกตู้เย็นพัดลมและของใช้ส่วนตัวได้รับความเสียหาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำป่าไหลมาประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นเริ่มลดระดับลงและเข้าสู่ภาวะปกติ โดยนักศึกษาและชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ต่างก็เร่งทำความสะอาด นำเสื้อผ้า เตียงนอน ผ้าห่ม ออกมาซักตากกัน

ส่วนถนนมหิดลด้านหน้ากองบิน 41 และทางเข้า-ออก ท่าอากาศยานเชียงใหม่ระดับน้ำลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เช่นเดียวกันในตัวเมืองถนนหลายสายทั้งถนนช้างคลาน ถนนเจริญประเทศ น้ำก็แห้งหมดแล้วเช่นกัน

ขณะที่บริเวณที่น้ำยังท่วมอยู่คือ ที่ชุมชนศรีปิงเมือง เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนลุ่มต่ำที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซากทุกครั้งที่ฝนตกหนักพบว่าเทศบาลนครเชียงใหม่เริ่งเดินเครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งไว้ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการเก็บขยะที่มาอุดตันตามท่อระบายน้ำและขวางทางน้ำออกล่าสุดระดับน้ำเริ่มลดลงต่อเนื่องแต่ยังมีจุดที่ลุ่มต่ำระดับน้ำยังท่วมสูงกว่าครึ่งเมตร คาดว่าหากบ่ายวันนี้ฝนไม่ตกลงมาซ้ำอีกช่วงค่ำก็น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้

โคราชเร่งดันแม่มูน
ที่จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์น้ำว่า เกิดอุทกภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของจังหวัด ปีนี้น้ำมีทิศทางที่เปลี่ยนไปจากหลายปีที่ผ่านมา สาเหตุน่าจะมาจากมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ขึ้นในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างวงแหวนรอบเมืองและการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ส่งผลให้ทิศทางการไหลของน้ำเปลี่ยนไป จึงต้องติดตามสถานการณ์เส้นทางน้ำอย่างใกล้ชิด และแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม ทั้งที่ อ.ปากช่อง อ.วังน้ำเขียว อ.พระทองคำ อ.ประทาย และ อ.พิมาย ซึ่งมีปัญหาน้ำท่วมขังและน้ำป่าไหลหลาก แต่ใช้เวลาไม่นานก็เข้าสู่สภาวะปกติ และน้ำท่วมไม่มากเหมือนปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน จ.นครราชสีมา มีพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้งสิ้น 23 อำเภอ จากทั้งหมด 32 อำเภอ โดยมี 84 ตำบล 410 หมู่บ้าน 5 ชุมชน ประชาชน 6,910 ครัวเรือนได้รับผลกระทบ และมีพืชไร่ 8,482 ไร่ นาข้าว 54,698 ไร่ พืชผัก 1,311 ไร่ บ่อปลา 79 ไร่ ถนน 29 สาย ฝาย 3 แห่งเสียหาย อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ ถือว่ายังไม่อยู่ในช่วงที่ฝนตกหนักและยังไม่เกิดน้ำหลากมากนัก จากสถิติที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 และ 2564 พบว่า พื้นที่จ.นครราชสีมาจะประสบกับภัยน้ำท่วมในช่วงกลางเดือนต.ค. ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องเร่งทำ คือการเร่งระบายน้ำ รวมถึงผลักดันน้ำจากลำตะคอง ลำเชียงไกร ลำจักราชให้ไหลลงลำน้ำมูนโดยเร็ว จากนั้น ให้เร่งผลักดันน้ำในลำน้ำมูนอีกต่อหนึ่ง เพื่อให้ไหลผ่านพื้นที่จ.นครราชสีมาไปให้เร็วที่สุด จะได้มีพื้นที่รองรับน้ำใหม่จากฝนที่ตก

ส่วนที่บ้านสวายสอ หมู่ 15 ต.นิคม อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ แม่น้ำมูนได้ไหลเข้าท่วมถนนสูงเกือบ 50 ซ.ม. อีกทั้งต้องเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงทั้งโค กระบือ ไปไว้บนที่สูงแล้วกว่า 50 ตัว มีนาข้าวของเกษตรกรได้รับความเสียแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ ซึ่งเบื้องต้นก็ได้สำรวจรายงานความเสียหายให้ทาง อบต. อำเภอ และ ปภ.จังหวัดรับทราบแล้ว เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน