สว.ชี้ทางออกถอนญัตติ-ร่างใหม่ – เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.กล่าวในการเสวนาวิชาการ หัวข้อ“ยื้อแก้รัฐธรรมนูญ-ยื้อปฏิรูปตร. คนไทยยังรอไหวหรือไม่?”ถึงกรณีการตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญศึกษาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก่อนลงมติรับหลักการว่า หากดูการอภิปรายที่ประชุมแล้ว ถ้าโหวตไปวันที่ 24 ก.ย.แนวโน้มที่จะตกทั้ง 6 ร่างนั้นสูงมาก เพราะการอภิปรายของส.ว.ส่วนใหญ่อยู่ในทางไม่เห็นด้วย ซึ่งเสียงของส.ว.นั้นมีความสำคัญมาก แม้รวมเสียงทั้งหมดได้มากกว่ากึ่งหนึ่ง ก็ไม่สำคัญ เพราะถ้าเสียงส.ว.ไม่ถึง 84 เสียง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกแน่นอน

ถ้ามองในแง่ดีคิดว่ายังดีที่ญัตติของร่างทั้ง 6 ร่างยังไม่ตก อย่างไรก็ต้องกลับมาโหวตต่อ ส่วนจะมีเหตุอันใดที่เป็นไปได้เกิดขึ้น ก็คงเป็นการถอนญัตติของตนเองออกจากวาระ การประชุมเท่านั้น ซึ่งอาจเกิดจากทุกฝ่ายคุยกันแล้วบรรลุข้อตกลงร่างแก้รัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายเห็นว่าดีที่สุด ร่วมกันร่างมาเสนอใหม่ ซึ่งตนมองว่าในทางการเมืองอาจเกิดขึ้นได้

ด้านนายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) กล่าวว่า เห็นชัดเจนว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ที่เสนอให้ตั้งกมธ.เป็นฝ่ายยื้อ ซึ่งตนมองว่ามีการวางแผนมาก่อน ลักษณะการยื้อมีนัยยะคือพรรคร่วมรัฐบาลไม่เต็มใจให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) แต่ถูกผลักดันเข้ามาโดยพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) จึงต้องหาวิธีเลื่อนออกไป

เป้าหมายที่รัฐบาลตั้งใจจะไม่เอาร่างแก้ไขไหนเลยนั้น เป็นการลดโอกาสแก้ปัญหาทางการเมือง หากในเดือนพ.ย.เปิดสมัยประชุมสภา ยังมีการโหวตเพื่อไม่รับร่างนี้อีกจะเป็นการปิดสวิตช์กลไกรัฐสภาสิ้นเชิง ผลคือประชาชนจะไม่ไว้ใจอย่างรุนแรง นำไปสู่ความล่มสลายในการ ไว้วางใจในสถาบันทางการเมือง ความขัดแย้งจะทวีมากขึ้นเรื่อยๆ การยื้อครั้งนี้ขอให้เป็น ครั้งสุดท้าย ปรับวิธีคิดเสียใหม่ มองใหม่ว่าอำนาจเป็นของประชาชน เรามีกลไกรัฐสภาที่จะแก้ไขความขัดแย้งได้ หากยังดื้อจะยิ่งกลายเป็นความเสี่ยงต่อระบอบประชาธิปไตย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน