สภาพัฒน์หั่นจีดีพีปี64เหลือ1.5-2.5%สภาพัฒน์ ปรับลดเป้าจีดีพี ปี 2564 เหลือ 1.5-2.5% จากเดิมคาดโต 2.5-3.5% หลังไตรมาส 1 ปี 2564 จีดีพีหดตัว 2.6% จากผลกระทบโควิด-19 โดยภาคการท่องเที่ยวและบริการหดตัวมากถึง 63.5% หั่นเป้านักท่องเที่ยวทั้งปีเหลือ 5 แสนคน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สศช.ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 ลงเหลือ 1.5-2.5% จากเดิมที่ 2.5-3.5% โดยเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ

มีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การใช้จ่ายภาครัฐ และการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำ ผิดปกติในปี 2563 คาดว่ามูลค่าจะขยายตัว 10.3% ขณะที่การอุปโภคบริโภคขยายตัว 1.6% และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 4.3% ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 9.3%

ส่วนจีดีพีไตรมาส 1 ปี 2564 อยู่ที่ -2.6% ปรับตัว ดีขึ้นจาก -4.2% ในไตรมาส 4 ปี 2563 โดยการผลิตในภาคเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง และภาคนอกเกษตรปรับตัวดีขึ้น การลงทุนในประเทศเร่งตัวขึ้น การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลขยายตัวต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้น ส่วนรายรับต่างประเทศยังคงลดลง

“แม้ส่งออกจะโตได้ 3.2% การลงทุนรวมโต 7.3% แต่ยังไม่พอที่จะชดเชยกับสาขาที่หดตัวลง เช่น การบริโภคภาคเอกชน ภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ลดลง 63.5% ส่งผลให้ต้องปรับเป้าหมายจีดีพีทั้งปี 64 เหลือ 1.5-2.5% รายได้จากการท่องเที่ยวมีเพียง 1.7 แสนล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 5 แสนคน”

นายดนุชากล่าวอีกว่า การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศจะต้องผ่านพ้นจุดสูงสุดในเดือนพ.ค.ทำให้สามารถควบคุมการระบาดได้เดือนมิ.ย. คนไทย 75% จะได้รับวัคซีนภายในปี 2564 และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ต้นปี 2565

ส่วนปัจจัยเสี่ยงปี 2564 คือ ความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทั้งในประเทศและต่างประเทศ, แนวโน้มความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว, เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ

โดยการเพิ่มขึ้นหนี้สินที่ถูกซ้ำเติมจากการระบาดรอบใหม่ ตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัว เป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ล่าสุด สัดส่วนหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4/2563 อยู่ที่ 89.3% ต่อจีดีพี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน