กนง.คงดอก0.5%หั่นจีดีพีเหลือ1.8%กนง.ลงมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเหลือ 1.8% จากเดิม 3% ยอมรับโควิด-19 ระลอกสามไม่รอด นักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 7 แสนคน ย้ำช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จี้รัฐเร่งฉีดวัคซีนแข่งกับยอดติดเชื้อ

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่าที่ประชุม กนง. วันที่ 23 มิ.ย. 2564 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี พร้อมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2564 เหลือ 1.8% จากเดิม 3% และปี 2565 เหลือ 3.9% จากเดิม 4.7%

“การเร่งดำเนินมาตรการทางการเงินโดยเฉพาะสินเชื่อฟื้นฟู การปรับโครงสร้างหนี้จะช่วยภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบได้ตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ”

ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลง ในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำ จึงควรให้คงอัตราดอกเบี้ย และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดในจังหวะที่เกิดประสิทธิผลสูงสุด

นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวน้อยกว่าที่คาดทั้งในและต่างประเทศ โดยคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติปรับลดลงจากเดิมปี 2564 คาดอยู่ที่ 3 ล้านคน เหลือ 7 แสนคน และปี 2565 จาก 21.5 ล้านคน เหลือ 10 ล้านคน และอุปสงค์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบ ด้านตลาดแรงงาน โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระมีความเปราะบางมากขึ้น และอาจฟื้นตัวได้ช้า ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิด แผลเป็นในตลาดแรงงาน

“เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงด้านต่ำ เป็นช่วง หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการแข่งกันระหว่างการติดเชื้อกับการเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งคณะกรรมการจะติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยภาครัฐควรเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ หากผ่านช่วงระยะสั้นนี้ไปได้ สามารถฉีดวัคซีนและควบคุมการระบาดได้ ก็จะเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น”

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนจากแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจากพ.ร.ก.กู้เงินล่าสุดและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยปรับประมาณการส่งออกปี 2564 เพิ่มเป็น 17.1% จากเดิม 10% และปี 2565 ปรับลดลงจาก 6.3% เหลือ 4.9%

ด้านน.ส.จินดารัตน์ สิริสิทธิโชติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงิน บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่าฟิทช์ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2564 ลงเหลือ 1.8% ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นเป็น 4.2% ในปี 2565

สาเหตุจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม ที่ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่แม้จะไม่เข้มงวดเหมือนการระบาดในระลอกที่ผ่านมา แต่ก็ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน