ผู้ว่าธปท.เสนอกู้อีก1ล้านล.-ขึ้นแวตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติชงรัฐกู้อีก 1 ล้านล้านบาท พร้อมเสนอต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 10 ปี ชี้ตอนนี้มาตรการกระตุ้นไม่ได้ประโยชน์ต้องเร่งฉีดวัคซีนเท่านั้น ด้าน‘เจ้าสัวธนินท์’ กระทุ้งรัฐให้สิทธิ์เอกชนร่วมนำเข้าวัคซีนทุกยี่ห้อ เพราะฉีดเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง และมีผลชัดเจน 4 อาการ ได้แก่ 1.หลุมรายได้ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ ช่วงปี 2563-2564 รายได้จากการจ้างงานหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 2565 คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปอีก 8 แสนล้านบาท รวมกว่า 2.6 ล้านล้านบาท

2.การจ้างงานในระบบถูกกระทบรุนแรง โดยในช่วงไตรมาส 2/2564 ผู้ว่างงานหรือเสมือนว่างงาน (มีงานทำไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) อยู่ที่ 3 ล้านคน และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 ล้านคน สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดถึง 3 เท่าตัว

3.การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ไม่เท่าเทียม ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของครัวเรือนเปราะบาง และ 4.เศรษฐกิจไทยถูกกระทบจากโควิด-19 หนักกว่าและจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศในภูมิภาค เนื่องจากไทยพึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวและบริการสูงสุดในเอเชีย จากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลา 3 ปี ขณะที่เอเชียโดยรวมจะใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี

แนวทางในการแก้ไขปัญหานั่นคือ ‘วัคซีน’ มาตรการ อื่นๆ ออกมาให้ตายก็ไม่พอ ไม่จบ เป็นแค่การซื้อเวลาเท่านั้น วัคซีนยังเป็นตัวหลัก และหากดูข้อมูลการฉีดวัคซีนของประเทศไทย สัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมีแค่ 7% ของประชากรทั้งหมด ยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศด้วย

นายเศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า การใช้จ่ายของภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นอีกมาก กรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7% ของจีดีพี สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเจออยู่ การจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในระยะ 10 ปีต่อจากนี้ หากรัฐบาลเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 1% จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลงอีกประมาณ 0.33% ต่อจีดีพี

ด้านนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานเครือซีพี กล่าวว่า ควรเน้นความสำคัญของวัคซีนการหาวัคซีนให้มากและเร็วที่สุด หากเอกชนจะช่วยนำเข้ารัฐควรสนับสนุน วัคซีนยี่ห้อไหนดี ต้องพยายามนำเข้ามาทั้งหมด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน