คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

สัญญาณ การเมือง ต่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นยุค เบบี้บูมเมอร์

สถานการณ์การเคลื่อนไหวเมื่อเดือนตุลาคม 2516 กับเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

เป้าหมายในการต่อสู้คือเพื่อประชาธิปไตย เพียงแต่เป้าหมายแตกต่างกันออกไปคือเมื่อปี 2516 เป็น“ถนอม ประภาส” ขณะที่เมื่อปี 2535 เป็น“สุจินดา”

การต่อสู้ทั้งเมื่อปี 2516 และเมื่อปี 2535 ได้ชัยชนะ

เมื่อโค่น “ถนอม ประภาส”ก็ได้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อโค่น“สุจินดา”ก็ได้ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

จากนั้น การเมืองก็ค่อยๆเข้าสู่ “วงจร” เดิม

คําว่าวงจร“เดิม”ทางการเมือง คือมีการร่างรัฐ ธรรมนูญ มีการเลือกตั้งแล้วเกิด“รัฐประหาร”

หลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 เราได้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2518 ผลัดเปลี่ยนรัฐบาล จนถึงสถานการณ์ในเดือนตุลาคม 2519 ก็เกิดรัฐประหาร

หลังสถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เป็นอย่างไร

เราได้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญ“ฉบับประชาชน” มีรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร แล้วก็เกิดรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

จากนั้น สังคมไทยก็เข้าสู่ “ทศวรรษ” แห่ง “ความ มืดมิด”

รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 คือ รัฐประหารที่เปิดประตูสู่สภาพในทุกวันนี้

เพราะเป้าหมายของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ยังไม่บรรลุ จึงต้องก่อสถานการณ์และนำไปสู่การรัฐประหาร“ซ้ำ”เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ทำให้ได้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากว่า 7 ปี

เป็น 7 ปีอันทำให้ความเลวร้ายของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เด่นชัด และยิ่งเด่นชัดเมื่อทำรัฐประหารอีกในเดือนพฤษภาคม 2557

ณ วันนี้จึงมีคำประกาศสิ้นยุค “เบบี้ บูมเมอร์” ดังกึกก้อง

คําประกาศสิ้นยุค“เบบี้ บูมเมอร์”คือสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดตามมา

เป็นสัญญาณเหมือนที่สัมผัสได้ในห้วงแห่งการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 เป็นสัญญาณเหมือนที่สัมผัสได้หลังยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563

คำถามก็คือ ใครจะเป็น“เหยื่อ”ในการเปลี่ยนแปลงใหญ่นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน