คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ปลุกใจเพื่ออะไร

ระหว่างประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นสัปดาห์ มีรองนายกรัฐมนตรีหยิบยกกรณีภาคเอกชน ศิลปิน นักร้อง โปรดิวเซอร์กลุ่มหนึ่ง นำเพลงปลุกใจในอดีตมาทำเป็นเวอร์ชั่นใหม่ ซึ่งกำลังเผยแพร่ โซเชี่ยลมีเดียอยู่ในขณะนี้

โดยเสนอว่าการนำเพลงปลุกใจมาทำใหม่ดังกล่าว รัฐบาลไม่ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดทำ เป็นเรื่องของภาคเอกชนดำเนินการกันเอง

จึงอยากเสนอให้กระทรวงวัฒนธรรมเข้ามาดูแล เผื่อรัฐบาลจะได้เพลงแบบนี้บ้าง ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมตอบสนองว่ากำลังทำโครงการนำเพลงปลุกใจยุคเก่ามาทำใหม่เหมือนกัน

คำถามคือมีความจำเป็นเร่งด่วนอะไร ต้องรื้อฟื้นเพลงปลุกใจรักชาติในช่วงนี้ และจะช่วยแก้ปัญหาอะไร

เพลงปลุกใจชาตินิยมเป็นผลพวงหลังสงครามโลก การรบราฆ่าฟัน เรื่อยมาถึงยุคสงครามเย็น ชาติมหาอำนาจยักษ์ใหญ่แบ่งฝ่าย แข่งขันแสดงอำนาจทางการทหารการเมือง

ขณะที่ไทยก็ได้รับอิทธิพลและค่านิยมดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำไทย อนุรักษนิยมสุดโต่ง ผลิตเพลงปลุกใจโฆษณาชวนเชื่อ ปลุกระดมความเกลียดชังอีกฝ่าย เพื่อปราบปรามกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ฝ่ายก้าวหน้าทางความคิด

ดังสมัยรัฐบาลต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ การสังหารหมู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 การปราบปรามผู้ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 รวมทั้งสร้างกระแสเอาผิดกลุ่มคนคิดต่างด้วยกฎหมายที่เป็นปัญหาในระดับสากลด้วย

ปัจจุบันก็ยังมีความพยายามปลุก ระดมด้วยบทเพลงที่เป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์

กรณีเอกชนนำมาปัดฝุ่นใหม่ เป็นเพลงที่มีเนื้อหาประวัติศาสตร์บาดหมาง การรบ การรวบรวมแผ่นดิน พลีเลือดเนื้อชีวิต เชื้อชาติเผ่าพันธุ์ยิ่งใหญ่ เจริญผุดผ่อง ศิวิไลซ์กว่าผู้อื่น ดูจะไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม และความคิดผู้คนพลเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแล้ว

โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาวในวันนี้ มีข้อมูล มุมมอง ทัศนะต่อความรักชาติบ้านเมือง ความเป็นห่วงอนาคตตนเองแตกต่างไปจากเนื้อหาในเพลงปลุกใจ ที่ล้าหลังและตกยุคสมัยไปแล้ว

ด้านรัฐบาลที่แสดงท่าทีสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือภาคเอกชน และกำลังพิจารณาจัดทำ เป็นโครงการเอง ต้องใคร่ครวญถี่ถ้วนมีความจำเป็นหรือไม่

นอกจากไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ และผลิตซ้ำเพื่ออะไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน