คุ้มครองผู้พิพากษา-ศาล ปธ.ศาลฎีกา‘ไสลเกษ’ ยกระดับ‘คอร์ตมาร์แชล’

คอลัมน์ ทะลุคนทะลวงข่าว

คุ้มครองผู้พิพากษา-ศาล ปธ.ศาลฎีกา‘ไสลเกษ’ ยกระดับ‘คอร์ตมาร์แชล’ – แม้อุกอาจท้าทายกฎหมายในระดับร้ายแรง โดยลงมือหน้าศาลสถิตยุติธรรมและกับเหยื่อที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา แต่กลุ่มคนร้ายที่มี พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รวมอยู่ด้วย ก็หนีการจับกุมไปไม่ได้

ก่อคดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา อีกคดี ล่าสุดของอดีตรมช.พาณิชย์ และอดีตส.ส.นครสวรรค์หลายสมัย รายนี้

ชุดสืบสวนสอบสวน นำโดย พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พร้อมด้วยพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผบ.ตร. เข้าจับกุมตัวกลุ่มผู้ต้องหาที่จ.นครสวรรค์

ทั้งนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ขณะที่พี่ชายของผู้พิพากษาอาวุโสประจำศาลอาญากรุงเทพใต้ เดินทางมารับน้องสาว ได้ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์บังคับตัวจากแท็กซี่ไปขึ้นรถที่อยู่ด้านหน้าศาล มีภาพจากกล้องวงจรปิดชัดเจน

มูลเหตุต้องการให้น้องสาวของเหยื่อ ซึ่งเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน พิพากษายกฟ้องคดีที่พ.ต.ท.บรรยินเป็นจำเลยความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม จากกรณีการโอนหุ้นนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง หรือเสี่ยจืด ร่วม 300 ล้านบาท คดีนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้ดำเนินการสืบพยานโจทก์-จำเลยทั้ง 2 ฝ่ายเสร็จเรียบร้อยแล้ว นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 20 มี.ค.นี้

ทั้งนี้ คำพิพากษาคดีโอนหุ้นดังกล่าว อาจชี้ถึงมูลเหตุจูงใจการฆาตกรรมนายชูวงษ์ ซึ่งเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2559 ศาลอาญาพระโขนงได้ออกหมายจับพ.ต.ท.บรรยิน ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน สืบพยานโจทก์-จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว แต่ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอคำพิพากษาคดีโอนหุ้น

จนกระทั่งเกิดเหตุอุ้มฆ่าพี่ชายของ ผู้พิพากษาดังกล่าว และนำไปสู่การจับกุมพ.ต.ท.บรรยิน ซึ่งถูกซัดทอดว่าเป็น ผู้บงการ

ระบุจาก สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

“เหตุการณ์จับตัวประกันเพื่อต่อรองให้ตัดสินคดีครั้งนี้ เป็นเรื่องร้ายแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นในศาลยุติธรรมมาก่อน ถือเป็นเรื่องกระทบความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษา”

โดยหลังจากผู้พิพากษาเข้าแจ้งความ สำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้ประสานสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ (ตร.) ตั้งทีมสืบสวนสอบสวนติดตามคดีทันที เเต่ด้วยความห่วงใยความปลอดภัยของตัวประกัน เรื่องจึงต้องอยู่ในชั้นความลับ

ทีมสืบสวนสอบสวนสืบจนทราบว่ามี ผู้เกี่ยวข้องก่อเหตุคือใครบ้าง และทราบว่ามีคดีเกี่ยวพันเหตุการณ์ลักพาตัวครั้งนี้ 2 คดี คือคดีฆาตกรรมนายชูวงษ์ เเละการโอนหุ้น 300 ล้าน ทีมสืบสวนติดตามสถานที่กบดานคนร้าย จนวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ขออนุญาตศาลอาญา ออกหมายจับ และจับกุมตัวคนร้ายได้

ทั้งระบุด้วยว่า สำหรับผู้พิพากษา นอกจากการคุ้มกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจเเล้ว เจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือคอร์ต มาร์แชล ร่วมดูเเลด้วย

คุ้มครองผู้พิพากษา-ศาล ปธ.ศาลฎีกา‘ไสลเกษ’ ยกระดับ‘คอร์ตมาร์แชล’

เผย นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก ด้วยความห่วงใยผู้ถูกลักพาตัว เเต่ต้องเก็บเป็นความลับเพราะคำนึงความปลอดภัย ซึ่ง พล.ต.อ. จักรทิพย์ ผบ.ตร. พล.ต.อ.สุวัฒน์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผบช.ก. พล.ต.ต. จิรภพ ภูริเดช ผบก.ป. รายงานความคืบหน้าให้ประธานศาลฎีกาทราบเป็นระยะ

ย้ำว่าหลังจากนี้หน่วยของศูนย์รักษาความปลอดภัย ตาม พ.ร.บ.ตำรวจศาล มาตรา 5 ที่มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยอาคารสถานที่และความปลอดภัยของตัวบุคคล สำนักงานศาลยุติธรรมจะต้องวางมาตรการเชิงป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีก ต่อไปหากมีคดีสำคัญหรือเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพล ต้องวิเคราะห์เรื่องการป้องกันเหตุที่อาจจะเกิด และอาจต้องอารักขาตัวองค์คณะ

ไสลเกษ วัฒนพันธุ์

ประธานศาลฎีกาคนที่ 45

อายุ 65 ปี เกิด 3 ธ.ค. 2497

นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

ปริญญาโทการบริหารงานยุติธรรมทางอาญา มหาวิทยาลัยนิวยอร์กแห่งออลบานี สหรัฐอเมริกา

เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ต ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแรงงานกลาง

รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 และประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8

เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา และรองประธานศาลฎีกา

ปี 2562 ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ประมุขฝ่ายตุลาการ

คุ้มครองผู้พิพากษา-ศาล ปธ.ศาลฎีกา‘ไสลเกษ’ ยกระดับ‘คอร์ตมาร์แชล’

สราวุธ เบญจกุล

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

อายุ 55 ปี เกิด 5 ส.ค. 2508

นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) มหา วิทยาลัยรามคำแหง เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

ปริญญาโทกฎหมายธุรกิจ มหาวิทยาลัยบริสตอล สหราชอาณาจักร, กฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยอเมริกัน และกฎหมายเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยโฮเวิร์ด สหรัฐอเมริกา

เส้นทางตุลาการเริ่มจาก ที่ปรึกษากฎหมายและพนักงานอัยการ

ผ่านตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งผู้พิพากษาศาลจังหวัดพัทลุง ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้

อดีตรองเลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการ ก่อนเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา

เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสกลนคร แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว และรองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

เคยเป็นกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม และกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม

ปี 2560 เป็น เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

ร่วมผลักดันแนวคิด “ตำรวจศาล” กระทั่ง 16 ก.ค.2562 ระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการแต่งตั้ง เจ้าพนักงานตำรวจศาล “คอร์ต มาร์แชล” มีผลบังคับใช้

คุ้มครองผู้พิพากษา-ศาล ปธ.ศาลฎีกา‘ไสลเกษ’ ยกระดับ‘คอร์ตมาร์แชล’

เหรียญทอง เพ็งพา

ผู้อำนวยการศูนย์รักษาความปลอดภัย สำนักงานศาลยุติธรรม (ผอ.คอร์ต มาร์แชล)

อายุ 53 ปี เกิด 21 ต.ค. 2509

นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราช และรัฐศาสตรมหาบัณฑิต (การปกครอง) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

เริ่มงานที่ศาล จากตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ประจำศาลจังหวัดมุกดาหาร

ก้าวหน้าเรื่อยมา กระทั่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอำนาจเจริญ

ผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดมุกดาหาร

ผู้อำนวยการสำนักคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม

1 ต.ค. 2562 เป็นผู้อำนวยการศูนย์รักษาความปลอดภัย สำนักงานศาลยุติธรรม

หน่วยงานที่มีหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคลากรศาล และดูแลความปลอดภัยสถานที่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน