หัวหน้าศูนย์ฉุกเฉินโควิด

‘พรพิพัฒน์-สุขุม-ฉัตรชัย’

ความมั่นคง-สธ.-มหาดไทย

คอลัมน์ ทะลุคน ทะลวงข่าว

หัวหน้าศูนย์ฉุกเฉินโควิด ‘พรพิพัฒน์-สุขุม-ฉัตรชัย’ ความมั่นคง-สธ.-มหาดไทย – จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศ มีแนวโน้มแพร่ระบาดหนัก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี

ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อรับมือโควิด-19 อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.เป็นต้นมา

จัดโครงสร้างภายใน ศบค. ให้ข้าราช การระดับปลัดกระทรวง ควบคุมดูแลศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน รวม 10 ด้าน

ตลอดเวลา 10 กว่าวันที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน ที่มีข่าวคราวต่อเนื่อง ประชาชนให้ความสนใจและติดตามเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่

ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) มี พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เป็นหัวหน้าศูนย์

ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข มี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าศูนย์

ศูนย์ปฏิบัติการด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน และศูนย์ปฏิบัติการกระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์ สำหรับประชาชน มี ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าศูนย์

 

‘บิ๊กกบ’พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี เกิด 17 มี.ค. 2503

เตรียมทหาร รุ่นที่ 18 นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 29

ผ่านตำแหน่งสำคัญทางทหาร เช่น อาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก, ผู้บัญชาการโรงเรียนเตรียมทหาร

ปลัดบัญชีทหาร, หัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการทหารสูงสุด, เสนาธิการทหาร

และตำแหน่งพิเศษ ตุลาการศาลทหารสูงสุด

ปี 2561 ได้รับแต่งตั้งจากหัวหน้าคสช. ให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.ทสส.)

เกษียณอายุราชการ 30 ก.ย.นี้

ในฐานะหัวหน้า ศปม. มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท การปฏิบัติของทหารและตำรวจ

คำสั่งต่างๆ จึงออกมาเป็นระลอก ทั้งการตั้งด่านคุมเข้มข้ามจังหวัด การแจ้งไปยัง 26 หน่วยงาน เพื่อปรับลดเวลาและวันทำงานของข้าราชการพนักงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรหรือองค์การมหาชน หรือหน่วยงานอิสระ ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

รวมถึงด่านเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงตี 4 วันรุ่งขึ้น

ยืนยันดำเนินมาตรการเท่าที่จำเป็นให้กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนน้อยที่สุด

พร้อมฝากคำเตือนถึงประชาชน

ถ้าไม่เปลี่ยนพฤติกรรมแล้วตัวเลข ผู้ติดเชื้อยังพุ่งสูงขึ้น จะนำไปสู่การปิดประเทศ ปิดกิจการตลอด 24 ชั่วโมง

 

หมอสุขุม กาญจนพิมาย เกิด 17 มี.ค. 2503

แพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหา วิทยาลัยมหิดล

แพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ ด้านไฟฟ้าและหัวใจและการสวนหัวใจ โรงพยา บาล Freeman มหาวิทยาลัย Newcastle สหราชอาณาจักร

รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (เกียรตินิยม) นิด้า

เติบโตสายกรมการแพทย์ เป็นผอ. สำนักการแพทย์ เขต 14, รองผอ. ด้านบริหาร สถาบันโรคทรวงอก ขึ้นเป็นผอ.สถาบันโรคทรวงอก ปี 2551

ปี 2555 รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และผู้ตรวจราชการกระทรวง

ปี 2559 อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

2561 ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

เกษียณอายุราชการ 30 ก.ย.นี้

ชำนาญด้านโรคหัวใจ-การรักษาโรคหัวใจ ทั้งหัวใจผิดจังหวะด้วยคลื่นความถี่ วิทยุ การรักษาโรคหัวใจล้มเหลวด้วยการใส่เครื่องปรับสภาพหัวใจ และการรักษาโรคใหลตายด้วยการใส่เครื่องกระตุกหัวใจ

ในฐานะหัวหน้าศูนย์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข รับผิดชอบการเฝ้าระวัง การกักตัวและรักษาผู้ติดเชื้อ

กำชับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ทั่วประเทศ ดำเนินการด้านควบคุมป้องกันโรค ลดการแพร่ระบาด ด้านการรักษา ต้องมีความพร้อม เตียง อุปกรณ์การแพทย์ ยา ชุดป้องกันตนเอง (PPE) รวมทั้งเตรียมโรงพยาบาลสนาม หอผู้ป่วยแยกเฉพาะโรค สถานที่หรือโรงแรมรองรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย

รวมถึงเรื่องขวัญกำลังใจของบุคลากร ดูแลค่าเสี่ยงภัยตามเขตสุขภาพ เร่งรัดการเบิกจ่าย

ย้ำชัด ถ้าคนไทยช่วยกันปรับพฤติกรรมดำเนินการตามมาตรการรักษาระยะห่าง

ไม่จำเป็นอย่าออกจากบ้าน อยู่บ้านไม่ใกล้ชิดไม่สังสรรค์ให้ได้ 90 เปอร์เซ็นต์ จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยลง

 

‘บิ๊กฉิ่ง’ฉัตรชัย พรหมเลิศ เกิด 19 ก.พ. 2504

รัฐศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย สิงห์ดำ รุ่นที่ 32

รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาฯ

ลูกหม้อกระทรวงมหาดไทย เริ่มต้นรับราชการตำแหน่งปลัดอำเภอดงหลวง จ.มุกดาหาร โอนย้ายมาอยู่สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) เติบโตจนได้เป็นรพช.จังหวัดนครสวรรค์

ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ปี 2552 ขยับเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี โชว์ฝีมือแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าตาผู้ใหญ่ในรัฐบาล และเป็นที่รักใคร่นับถือของประชาชน

ปี 2555 ขึ้นเป็นอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สร้างผลงานรับมือ-แก้ไขภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีไม่ว่าน้ำท่วม, น้ำแล้ง, พายุฝน, ดินถล่ม, ไฟป่า ฯลฯ กลายเป็นตัวเก็งปลัดกระทรวงมหาดไทยอยู่หลายปี

กระทั่งปี 2560 ผงาดขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุด ปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้วยอายุเพียง 56 ปี

อายุราชการยาวนานถึงปี 2564

กับวิกฤตโควิด-19 ทำหน้าที่หัวหน้าศูนย์ด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน ตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยอยู่แล้ว

ยังได้ควบหัวหน้าศูนย์ฉุกเฉินคุมการแจกหน้ากากอนามัย

สั่งการผู้ว่าฯ และหน่วยงานรับผิดชอบดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด

นำมาสู่การออกมาตรการต่างๆ ของแต่ละจังหวัด เช่น ปิดห้าง ปิดตลาด ปิดเมือง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ ไปจนถึงการตรวจสอบจับกุมผู้กระทำความผิดและฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน