อดีตบิ๊กธปท.-กูรูการเงิน โกร่ง-โอฬาร-ธีระชัย ส่งจม.เปิดผนึกถึงนายกฯ : ทะลุคนทะลวงข่าว

อดีตบิ๊กธปท.-กูรูการเงิน – นักเศรษฐศาสตร์ นักการเงินการคลัง ระดับอดีตประธานคณะกรรมการ อดีตผู้บริหารและพนักงานระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วีรพงษ์ รามางกูร, โอฬาร ไชยประวัติ, ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล และกูรูผู้รู้อีก 13 คน ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก ส่งถึงนายกรัฐมนตรี สำเนาถึงผู้ว่าการธปท.

ขอให้ ธปท.ยุติการดำเนินการใช้วงเงินจำนวน 400,000 ล้านบาท รับซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน หนึ่งในมาตรการรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจช่วงวิกฤตโควิด-19

ชี้ให้ชัด อธิบายให้เห็นว่า ขัดกับหลักการของธนาคารกลาง และไม่สอดคล้องกับหลักการธนาคารกลางที่จะต้องรักษาสถานะให้เป็นผู้กู้ยืมรายสุดท้าย

ทั้งเสนอว่า หากจะต้องทำควรให้ธนาคารของรัฐเป็นผู้ดำเนินการ เพราะหากเกิดคดีความจะมีปัญหาได้

จดหมายแนะนำตัวก่อน ว่าที่เข้าชื่อกันมานี้เป็นอดีตประธานคณะกรรมการ อดีตผู้บริหารและพนักงานระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย

ระบุ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกับข้อเสนอของธปท. เพื่อออกพระราชกำหนด 2 ฉบับ ให้ธปท.มีอำนาจเข้าไปจัดสรรเงินจำนวน 5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยสภาพคล่องของวิสาหกิจเอกชนขนาดกลางและขนาดย่อม โดยจัดสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนผ่านสถาบันการเงินต่างๆ

กับให้ธปท.มีอำนาจเข้าซื้อตราสารทางการเงิน ที่ออกโดยบริษัทเอกชนที่ครบกำหนดไถ่ถอนภายในปี 2563 และ 2564 ที่ไม่สามารถหาแหล่งเงินที่จะไถ่ถอน หรือออกตราสารหนี้ใหม่เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนได้ ให้ธปท.สามารถไถ่ถอนหรือซื้อตราสารของบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ ลงทุนได้ในวงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท

“พวกข้าพเจ้าเห็นว่ากรณีหลังนี้ ธปท.ไม่ควรกระทำโดยตรง เพราะสามารถกระทำผ่านสถาบันการเงินของรัฐบาล เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ และหรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อรักษาหลักการที่ธนาคารกลางควรเป็นเฉพาะนายธนาคารของรัฐบาล และเป็นแหล่งเงินสุดท้ายของธนาคารพาณิชย์ และอาจจะขยายไปถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาลด้วยเท่านั้น ถ้าจำเป็น”

แจกแจงอีกว่า การที่ธปท.เข้าซื้อขายตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนโดยตรง โดยการแก้กฎหมาย จะเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้ธนาคารกลางอย่างธปท. ไปในทางเอื้อต่อเอกชนบางรายอย่างไม่โปร่งใสได้ในอนาคต เพราะกฎหมายอนุญาตให้ธปท.ใช้ดุลพินิจในการให้ความอนุเคราะห์แก่บางรายและไม่ให้แก่บางราย โดยอ้างการจัดลำดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

และเมื่อมีปัญหาเกิดการฟ้องร้อง ธปท.ก็จะต้องฟ้องร้องบริษัทเอกชน ซึ่งจะทำให้เสียภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางได้

ดังนั้นแทนที่จะแก้กฎหมายให้ธปท.เข้าซื้อตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนที่จะครบกำหนดไถ่ถอน หรือตราสารหนี้ที่ออกใหม่โดยตรง รัฐบาลควรให้นโยบายสถาบันการเงินของรัฐบาล เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และหรือธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ดำเนินการได้ โดยธปท.จะจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้และไม่ต้องเข้าไปดำเนินการเองโดยตรง ไม่ต้องแก้กฎหมายเพราะหลักการของกฎหมายเดิมดีอยู่แล้ว

ลงชื่อท้ายจดหมาย ประกอบด้วย วีรพงษ์ รามางกูร, โอฬาร ไชยประวัติ, ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล, ศิริ การเจริญดี, เสรี จินตนเสรี, ดุสิต เต็งนิยม, กิติพร ลิมปิสวัสดิ์, จิตติพันธุ์ สุขกิจ, สุพจน์ สัตยธรรม, ปราโมทย์ ชัยสาม, ศิริพรรณ บุศยศิริ, ม.ร.ว.นพเกตมณี เต็งนิยม, พิสิษฐ์ วีระสมบูรณ์ศิลป์, อรพรรณ สมบัติยานุชิต และสมชาย เสตกรณุกูล

วีรพงษ์ รามางกูร หรือ “ดร.โกร่ง”

อดีตประธานคณะกรรมการ ธปท.

วัยย่าง 77 เกิด 1 ส.ค. 2486 ปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทและปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา

อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ทั้งเคยเป็นคณบดี

ที่ปรึกษารัฐบาลลาว สร้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ

ที่ปรึกษานายกฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เคยเป็นรองนายกฯ, รมวคลัง และที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจหลายรัฐบาล

ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หลังมหาอุทกภัย 2554

ถือเป็นผู้อาวุโสของบ้านเมือง ด้วยความรู้ ความเชี่ยวชำนาญ ประสบการณ์ตกผลึก แสดงความคิดเห็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ผ่านคำพูดและตัวหนังสือสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง

โอฬาร ไชยประวัติ

อดีตลูกหม้อแบงก์ชาติ

อายุ 75 เกิด 5 ธ.ค. 2487 ปริญญาตรีและปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ปริญญาเอกสาขาเดียวกันจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

พ.ศ. 2513 เข้าทำงาน ธปท. เป็นเศรษฐกรผู้ช่วย ฝ่ายวิชาการและศูนย์ประมวลผล ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบัน การเงิน

ไปอยู่ธนาคารไทยพาณิชย์ ปี 2539 ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่

สู่แวดวงการเมือง เป็นคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เป็นรองนายกฯรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และที่ปรึกษา นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนเป็นประธานผู้แทนการค้าไทย

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

อดีตรองผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ

อายุ 68 เกิด 21 ธ.ค. 2494 ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน สำเร็จหลักสูตรประกาศนียบัตรสอบบัญชีชั้นสูง อังกฤษ และหลักสูตรมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา

เข้าทำงาน ธปท. ปี 2520 ด้านกำกับและพัฒนาสถาบันการเงิน

เคยดูแลงานด้านการบริหารเงินทุนสำรองของประเทศ

ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 เป็นหนึ่งในคณะกรรมการของธปท. ดูแลเรื่องการตรวจสอบและวิเคราะห์ธนาคารพาณิชย์ รวมถึงสั่งระงับการดำเนินกิจการของสถาบันการเงิน 56 แห่ง

2541 เป็นผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. สายนโยบายการเงิน ขึ้นเป็นรองผู้ว่าการ ธปท. ด้านเสถียรภาพการเงิน

ได้รับแต่งตั้งเป็น เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 2 วาระ

อดีต รมว.คลัง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เสนอข้อคิดเห็นเรื่องการเงินการคลังต่อรัฐบาลปัจจุบันบ่อยครั้ง

รวมถึงครั้งนี้ที่มองเห็นตรงกันกับกูรูหลายๆ คน

รัฐบาลและธปท. กำลังผิดทิศผิดหลักการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน