ทษช.มันน่ากลัว?

ใบตองแห้ง

กกต.มีมติเอกฉันท์ ว่าการที่พรรคไทยรักษาชาติมีหนังสือแจ้งรายชื่อบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 1 รายชื่อ คือเสนอทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน ราชกัญญาฯ “เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญทันที เพื่อให้ยุบพรรค ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 92 ศาลจะวินิจฉัยรับไม่รับ ในวันวาเลนไทน์นี้

ซึ่งก็เป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง ว่ากกต.และพรรค ทษช.จะให้เหตุผลหักล้างกันในศาลอย่างไร ศาลจะมีคำสั่งยุบพรรคหรือไม่ ยุบเมื่อไหร่ ก่อนหรือหลังเลือกตั้ง

ถ้ายุบก่อน ก็มีคำถามว่าจะทำอย่างไร กับสิทธิของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อ ราว 300 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดสมัครก่อนวันที่ 8 ก.พ. ไม่ได้เกี่ยวข้องรู้เห็นกับการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารพรรคเลย

อย่างเช่นจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ก็ยังงุนงง เพราะเข้าใจว่าจะได้เป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่พรรคไม่ส่งหนังสือมาให้เซ็น พอเหตุการณ์ตาลปัตร จะโดนยุบพรรค กลับต้องซวยไปด้วย จาตุรนต์ผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์ตั้งแต่ 6 ตุลา 2519 มาจนเป็นนักการเมืองคนเดียวที่กล้าท้าทายรัฐประหาร 2557 กลับจะเสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ปล่อยให้เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เข้าสภาไปข้างเดียว อย่างนั้นหรือ

แล้วคนที่อยากเลือกจาตุรนต์ล่ะ อยากเลือกผู้สมัครคนอื่นๆ ล่ะ อ.จอน อึ๊งภากรณ์ จึงบอกว่า “ไม่เห็นด้วยหากพรรคไทยรักษาชาติจะถูกยุบ เพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง”

ประชาชนควรมีสิทธิเลือกทุกพรรค ผู้สมัครทุกคนที่เสนอตัว ไม่ใช่ถูกตัดหายไป เพราะศาลตัดสินว่ากรรมการบริหารผิด

ว่าที่จริง ก็สามารถให้ประชาชนตัดสิน ว่าจะยังเลือก ผู้สมัครของ ทษช.อยู่หรือไม่ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจทำให้คนจะเลือกเปลี่ยนใจก็ได้ บางคนอาจแอนตี้ คว่ำบาตร แม้บางคนอาจเห็นใจ หรือไม่เปลี่ยนใจ เพราะชอบผู้สมัครที่ยังเป็นคนเดิม

นี่เป็น dilemma ว่าจะมองคะแนนที่จะเลือก ทษช. เป็น “คะแนนพิษ” เสียหมดหรือไม่

ซึ่งแน่ละ ยังจะส่งผลทางการเมือง ว่าคะแนนจะกระจายไปพรรคไหน แต่ก็อาจกระตุ้นให้คนที่จะเลือกอยู่แล้ว รู้สึกคับแค้นใจ มุ่งมั่น เทให้พรรคต้านสืบทอดอำนาจด้วยกัน

แต่ละข้อๆ จะเป็นประเด็นน่าสนใจ และน่าลำบากใจแทนตุลาการ แม้กฎหมายใหม่ห้ามวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ แต่มันเกี่ยวพันผลการเลือกตั้ง สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งกระทบประชาชนทุกคน คงห้ามได้ยาก

ย้อนไปประเด็นหลักว่าเพียงเพราะมีหนังสือแจ้งชื่อ ทษช.ก็ผิดฐาน “เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบฯ” หรือไม่ ก็ยังมีช่องให้ต่อสู้คดีอีกเยอะ เช่น การเสนอชื่อนั้นเมื่อ กกต.ไม่ประกาศ ถือเป็นโมฆะหรือไม่ ถ้าเป็นโมฆะแล้วผิดอย่างไร

อันที่จริง ไม่ใช่แค่ผู้อยู่ขั้วตรงข้าม นักวิชาการประชาธิปไตยก็ไม่เห็นด้วยกับ ทษช. เพราะทูลกระหม่อมหญิงฯ ควรอยู่เหนือการเมือง หากได้รับการเสนอชื่อเป็น นายกฯ ก็ต้องเข้าสู่การแข่งขัน การวิพากษ์วิจารณ์ แต่ ทษช.ยืนยันว่าทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แล้ว และมีหนังสือตอบรับ ครบถ้วนตามกระบวนการ

ตลอดทั้งวันจึงเต็มไปด้วยคำถาม ทษช.ทำอย่างนี้ได้หรือ กกต.ก็ตอบไม่ได้ จนกระทั่งมีพระราชโองการ ให้ความแจ่มชัด สร้างความปลื้มปีติ

แต่ในทางกฎหมาย ทษช.ก็จะสู้คดีว่า ก่อนหน้านั้นเขาคิดว่าทำได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ จนมีพระราชโองการจึงน้อมรับ แล้ว กกต.ก็ประกาศเป็นโมฆะ เพียงเท่านี้จะเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบเลยหรือ

พูดอย่างนี้ไม่ได้แถ เข้าข้าง แค่มองว่าจะเป็นประเด็นที่ถกกันกว้างขวาง และไม่จบง่าย

(หน้า 6)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน