ขัดรธน.หรือขัดเจตจำนง

ใบตองแห้ง

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 ซึ่งกำหนดวิธีการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา 91

นี่เท่ากับศาลรับรองสูตร 27 พรรคหรือไม่ กลายเป็นประเด็นให้ตีความกันอีกชั้น เพราะ กกต.น่าจะนำไปใช้เลย โดยอ้างศาลเป็นหลังพิง แต่ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล แย้งว่า ศาลเพียงตรวจสอบว่า กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในแบบนามธรรม หรือ abstract control ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าการนำมาตรา 128 มาใช้ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในแบบรูปธรรม หรือ concrete control

แม้ฟังแล้วอาจจะยังงงๆ ก็มองเห็นอยู่อย่างว่า คำแถลงของศาลสั้นมาก ไม่ได้อธิบายเหตุผลในการตีความ ไม่ลงในรายละเอียด แค่บอกว่า “ไม่ขัด” อาจต้องรอคำวินิจฉัยฉบับเต็ม ประกอบคำวินิจฉัยส่วนตน แต่ กกต.รอไม่ทัน ยังไงก็ต้องตัดสินใจไปก่อน

ถ้าใช้ไปแล้ว พรรคการเมืองร้องศาลรัฐธรรมนูญ แล้วศาลรับวินิจฉัยอีกครั้ง ว่าสูตร 27 พรรคขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็แปลว่า อ.ปิยบุตรเป็นฝ่ายถูก ศาลเข้าสู่รูปธรรม กระนั้นก็อาจสายไป เพราะหลัง กกต.ใช้สูตร ก็เปิดประชุมสภาตั้งรัฐบาลเสร็จสรรพ

เรื่องนี้มีข้อสังเกต 2 ประการ หนึ่ง ศาลไม่รับคำร้อง กกต.ที่ขอให้วินิจฉัย 2 ประเด็น ประเด็นแรก มาตรา 128 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่ ศาลบอกว่า กกต.ยื่นไม่ได้ ต้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่น ซึ่งเมื่อผู้ตรวจยื่น ศาลก็วินิจฉัยว่าไม่ขัด

ประเด็นที่สอง กกต.ขอให้วินิจฉัยว่า จะคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ตามมาตรา 128 ได้หรือไม่ จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลมีมติ 7 ต่อ 2 ยังไม่รับ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. และ กกต.ยังไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ ยังไม่มีปัญหาเกิดขึ้น

ประเด็นนี้อาจแปลว่า ถ้า กกต.ใช้สูตร 27 พรรคแล้วเกิดปัญหาขึ้น มีผู้ร้องศาล ศาลจะรับวินิจฉัยอีกครั้ง

ข้อสังเกตที่ 2 คือ วิธีคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ใช้แล้วได้ 27 พรรค ไม่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 128 เป็นแค่ “ติ่ง” อยู่ในเอกสารประกอบการเสนอกฎหมายของ กรธ. เป็นตัวอย่างสมมติ ว่าถ้าผลเลือกตั้งออกมาแบบต่างๆ จะใช้วิธีคำนวณอย่างไร ซึ่งก็สมมติกันง่ายๆ คิดไว้ว่าจะมี overhang มีพรรคที่ได้ ส.ส.เขตเกินจำนวน ส.ส.พึงมี แค่ 2 เก้าอี้ ก็ใช้วิธีคิดง่ายๆ ปัดเศษให้พรรคเล็ก 1-2 พรรคได้ ส.ส.ไป ดูเหมือนไม่มีปัญหาอะไร ทุกฝ่ายไม่สนใจ คนจำนวนมากไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีสูตรนี้อยู่ในเอกสาร กรธ. จนกระทั่งเกิดปัญหาจริง ซึ่งใหญ่โตร้ายแรงกว่าสูตรตุ๊กตา

ฉะนั้น จะบอกว่าสูตรนี้เป็นสาระสำคัญของ ม.128 ผูกมัดให้ กกต.ต้องคำนวณตาม หรือผูกมัดกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญต้องตีความว่า ม.128 ขัดรัฐธรรมนูญ ก็ไม่น่าใช่ ในเมื่อมันเป็นเพียงเอกสารประกอบ ขณะที่ตัว ม.128 ก็ยังตีความกันได้หลากหลาย

เออ ถ้า ม.128 เขียนว่า “ให้พรรคที่ได้ ส.ส.ไม่ถึง 1 คนได้เพิ่มเป็น 1 คน” นั่นสิ จึงน่าสงสัยว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) “ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมี”

กกต.จึงมีอำนาจตัดสินใจ ว่าจะไม่ใช้สูตร 27 พรรคก็ได้ แต่พอดีมันกลายเป็นประเด็นการเมือง เพราะถ้าไม่ใช้สูตรนี้ 7 พรรคที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจจะได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง ถ้าใช้สูตรนี้ ก็ได้ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง กกต.อยู่ใน dilemma จึงต้องอ้างสูตร กรธ.และอ้างคำวินิจฉัยศาลเป็นหลังพิง

แต่ถามว่า สูตรนี้ตรงกับเจตจำนงรัฐธรรมนูญ และตรง กับเจตจำนงของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ กกต.น่าจะรู้แก่ใจ

ย้อนไปก่อนเลือกตั้ง กกต. กรธ. อธิบายประชาชนว่าอย่างไร ทุกคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ นำมาคิด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ถ้ามีผู้ใช้สิทธิ 35 ล้านคน ก็ใช้สูตรง่ายๆ 70,000 คะแนนได้ ส.ส.1 คน ถ้าเกิด overhang แบบพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เขตเกิน ส.ส.พึงมีไป 25 คน ก็เหลือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 125 ให้แบ่งลดหลั่นกันลงไป

การแบ่งกันมันหมายความว่า ทุกพรรคจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลดลง อนาคตใหม่ ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย เสรีรวมไทย ต้องลดลงทุกพรรค เข้าใจได้ แต่ทำไมพรรคที่ได้ 0.4 0.5 0.6 ไปจน 0.9 กลับได้เพิ่มเป็น 1

จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ตาม มันขัดสำนึกความชอบธรรม ความเป็นธรรม ขัดเจตจำนงประชาชน ซ้ำยังสอบตกคณิตศาสตร์ เด็ก ป.1 ยังรู้ ขนม 150 ชิ้นเหลือ 125 ชิ้น ได้ลดหลั่นกันไป แต่ทำไมคนได้ไม่ถึงชิ้นกลับได้เพิ่มเป็น 1 (หรือจะน้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้า)

คะแนนเสียงประชาชนที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ ตกน้ำ หายไปเกือบ 6 แสนคน ประชาธิปัตย์ 2.5 แสน พลังประชารัฐ 1.8 แสน ภูมิใจไทย เสรีรวมไทย พรรคละแสนกว่า รวมแล้วเกินล้านที่ไม่ได้นำมาคิด เพื่อให้ 11 พรรคที่ได้ไม่ถึง 7 หมื่นคะแนนได้เป็น ส.ส.

ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่ถามว่าประชาชนเจ้าของอำนาจยอมรับหรือ

(หน้า 6)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน