ทำไมต้อง 116?

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ทำไมต้อง 116? – การใช้มาตรการกฎหมายของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความดำเนินคดีกับหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านและนักวิชาการ ผู้ร่วมเสวนาที่ จ.ปัตตานี โดยอาศัยมาตรา 116 ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ไม่ว่าฝ่ายที่แจ้งจับจะประเมินไว้ว่าจะต้องถูกวิจารณ์หนักเช่นนี้หรือไม่ ควรต้องมีคำตอบให้กับคนในสังคมว่าเหตุใดจึงเลือกที่จะทำเช่นนี้

เพราะการอ้างมาตรา 116 ระบุถึงการกระทำของผู้ถูกแจ้งความว่า มิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต อีกทั้งยังให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

การอาศัยกฎหมายกล่าวหากันเช่นนี้นับว่าเป็นเรื่องน่าวิตกอย่างยิ่ง?

เรื่องน่าวิตกประการแรกคือการตอกย้ำช่องว่างทางความคิดระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยม กับฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยก้าวหน้า

ระหว่างการมองการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยความหวาดระแวง กับการมองว่าเป็นหัวข้อสนทนาทางวิชาการปกติทั่วไปที่จำเป็นต้องทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นและต้องแก้ไข

ประการต่อมาคือคำถามว่า เหตุใดการกล่าวถึงข้อเรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงถูกกล่าวหาว่ามิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

ที่สำคัญคือเหตุใดบรรยากาศทางประชาธิปไตยในยามที่มีรัฐบาลพลเรือนมาจากการเลือกตั้ง จึงมีลักษณะคล้ายช่วงเวลาไม่ปกติในยุค คสช.

การใช้กฎหมายมาตรา 116 โดยหน่วยงานรักษาความมั่นคง ต่อบุคลากรฝ่ายการ เมือง โดยเฉพาะผู้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ เป็นเรื่องที่กระทบต่อภาพการฟื้นฟูประชาธิปไตยผ่านการแสดงถึงสิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้ในพื้นที่พิเศษชายแดนใต้ที่ฝ่ายรัฐควบคุมอย่างเข้มข้น

แทนที่ความมั่นคงทางการเมืองและความมั่นคงทางทหารจะเดินหน้าไปพร้อมกัน การใช้กฎหมายความมั่นคงจัดการกับฝ่ายการเมืองและนักวิชาการ ย่อมจะมีผลให้เกิดความขัดแย้งตามมาโดยไม่จำเป็น

หากประเมินได้ไม่ยากแล้วทำไมจึงทำ นี่คือประเด็นที่น่าสงสัยที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน