ชนชั้นพาราควอต

คอลัมน์ ใบตองแห้ง

ชนชั้นพาราควอต – คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติเอกฉันท์ แบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป เป็นชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ของเครือข่าย NGO คุณภาพชีวิตที่มีไบโอไทยเป็นหัวหอก

นี่คือชัยชนะของประชาธิปไตย? เพราะก่อนเลือกตั้ง คณะกรรมการชุดเดียวกันนี้เพิ่งมีมติยื้อแบน 2 ปี แต่พอพ้นยุคเผด็จการ มีรัฐมนตรีจากพรรคการเมือง ก็หันมาใส่ใจกระแสสังคม ขี่กระแสเชี่ยวกราก กระทั่งไม่มีใครกล้าขวาง ใครลงมติต้าน คงถูกประจาน ถูกตั้งข้อหารับสินบน รับใช้นายทุน ต้องเก็บกระเป๋าออกจากแผ่นดินไทย

นี่คือชัยชนะของประชาธิปไตย? ถ้าเป็นแบบนี้ ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญก็ได้ ประชาชนอยากได้อะไร ก็ปั่นกระแสเอา ใครถูกใครผิด ก็พิพากษาโดยสังคมดราม่า แบบไอ้แว่นซีวิค

พูดอย่างนี้ ไม่กล้าเถียงหรอกว่า พาราควอตไม่เป็นอันตราย ปัดโธ่ เดี๋ยวก็ถูกท้าดีเบต แต่คำถามคือ เลิกใช้สาร 3 ชนิดนี้แล้ว จะให้เกษตรกรใช้อะไร ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่มีคำตอบจากกระทรวงเกษตรฯ มีแต่ รมว.สาธารณสุขบอกว่า “ไม่ใช่เรื่องของเรา” ถ้าเอาสารพิษมาอีกก็แบนอีก

สารเคมี 3 ชนิดเป็นอันตราย เป็นความจริง แต่เป็นเพียงความจริงด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งที่กระแสสังคมไม่ทำความเข้าใจคือ ทำไมเกษตรกรไทยต้องใช้ ใช้กับพืชผลอะไร ถ้าแบนแล้วมีอย่างอื่นทดแทนหรือไม่ จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเพียงไร ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ใช้อยู่เท่าไหร่ ฯลฯ

ข้อมูลเหล่านี้ไม่มีเลย มีแต่กระแสให้ “หักดิบ” แล้วก็แซ่ซ้อง ตัวแทนเกษตรกรคนไหนออกมาให้ข้อมูลโต้ ก็ถูก NGO กล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์กับนายทุนสารเคมี

ครั้นพอมีหนังสือจากสถานทูตสหรัฐ คัดค้านการแบนไกลโฟเซต NGO ก็ปลุกกระแสรักชาติ ทั้งที่สาระสำคัญคือ เขายืนยันความเห็นทางวิทยาศาสตร์ว่า ไกลโฟเซตไม่เป็นอันตราย ยังใช้กันอยู่ทั่วโลก ยังใช้ในถั่วเหลืองและข้าวสาลีของสหรัฐ ที่อุตสาหกรรมอาหารไทยนำเข้าปีละ 5 หมื่นล้าน ซึ่งแน่ละ สหรัฐห่วงผลประโยชน์ตัวเอง แต่ก็มีคำถามว่า ถ้าไทยแบนไกลโฟเซต แล้วจะเอาวัตถุดิบเหล่านี้จากไหน

กรณีนี้ทำให้เห็นว่าถ้าแยกแยะสารเคมี 3 ชนิด ก็มีพิษภัยต่างกัน ประเทศต่างๆ ก็มีมาตรการไม่เหมือนกัน เช่น ไกลโฟเซต อนุญาตให้ใช้ 161 ประเทศ แบน 9 ประเทศ คลอร์ไพริฟอส อนุญาต 89 ประเทศ แบน 1 ประเทศ พาราควอตใช้ 86 ประเทศ แบน 52 ประเทศ แต่ประเทศเราเหมาหมด โดยชูพาราควอตนำกระแส

พูดอีกอย่าง นี่คือการใช้กระแสนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ปฏิเสธความเป็นจริงของเกษตรกรรมไทย ได้ชัยชนะเบ็ดเสร็จจากการสร้างฉันทามติในหมู่ผู้บริโภคและคนชั้นกลางในเมือง ซึ่งไม่ใช่เกษตรกร ไม่เข้าใจวิถีชีวิตเกษตรกร ซ้ำยังมองว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มักง่าย ไม่รับผิดชอบ (หรือโง่ด้วยซ้ำ) ทำไมไม่เลิกเป็นทาสนายทุน ทำไมไม่เลิกใช้สารเคมี ทำไมไม่หันไปทำเกษตรอินทรีย์

ไม่เข้าใจกระทั่งว่า เกษตรกรที่ใช้ 3 สารเคมีทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่เกษตรกรที่ปลูกผักปลูกข้าวให้คุณกิน แต่เป็นเกษตรอุตสาหกรรม อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์ม ยางพารา ซึ่งปลูกในพื้นที่กว้าง ส่งขายโรงงานตามราคาตลาดโลก ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ที่จะไปนั่งดายหญ้าแบบโบราณ หรือทำเกษตรผสมผสาน ตามคำแนะนำของ NGO

เอาเข้าจริง นี่เป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ซึ่งแตกต่างจนห่างเหิน จากสังคมเกษตรกรรมเดิม คนส่วนหนึ่งยังไม่มีทางออก ต้องผลิตเพื่อขายในราคาต่ำ คนส่วนหนึ่งเป็นแรงงาน ที่บริโภคทุกอย่างเพื่อประทังชีวิต ขณะที่สังคมส่วนบนเติบโต จากภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ มีรายได้ส่วนเกิน จนสามารถคำนึงถึงคุณภาพชีวิต ทำอย่างไรให้มีอายุยืนยาว มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ปลอดมลภาวะ ลดถุงพลาสติก ฯลฯ

คนกลุ่มหลังซึ่งเสียงดังกว่า ทั้งทางการเมือง สังคม ก่อร่างสร้างโลกสวย แบบตั้งเนื้อตั้งตัวได้ในโลกทุนนิยม แล้วจะไปทำเกษตรอินทรีย์ ทำแพ็กเกจสวยๆ ส่งห้าง เปิดร้านกาแฟ แล้วก็ตั้งแง่ว่าทำไมเกษตรกรจึงจมปลักดักดาน แบมือรอรัฐบาลจำนำหรือประกันราคา ทำไมไม่ทำไร่นาผสมผสาน 1 ไร่ 1 แสน 1 ไร่ 2 แสน 10 ไร่ก็ 2 ล้าน

ซึ่งความเป็นจริงไม่รู้ใครโง่กว่า ไม่รู้ว่าเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ต้องใช้แรงงานมหาศาล

ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบว่าหลังวันที่ 1 ธ.ค. การแบน 3 สารเคมีจะส่งผลอย่างไร จะมีผลกระทบอย่างไรกับเกษตรกรไทย และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

แต่ที่แน่ๆ วิธีการสร้างฉันทามติในชนชั้นที่ได้เปรียบทางสังคม แล้วเอามาปั่นผ่านสื่อ กดดันนักการเมือง ให้บางพรรคบางคนฉวยโอกาสเป็นพระเอกนางเอก ชี้หน้าคนโต้แย้งว่าขายชาติ ทาสนายทุน ฯลฯ

ต่อให้สุดท้ายเป็นผลดี ก็ไม่ใช่วิถีประชาธิปไตย และไม่สามารถยอมรับได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน