รับมือราคาข้าว

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

กรมการค้าภายใน ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการค้าข้าว ตัวแทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สมาคมธนาคารไทย องค์การคลังสินค้า เพื่อประเมินสถานการณ์ราคาข้าวเปลือก

พบว่าขณะนี้เริ่มอ่อนตัวลง เนื่องจากข้าวเปลือกฤดูกาลใหม่เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวและกำลังจะออกสู่ตลาด ทำให้ราคาตกลงมา ขณะเดียวกันก็ยังมีข้าวเหลือสต๊อกจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังประเมินด้วยว่า ผลผลิตข้าวหอมมะลิจะมีปริมาณลดลงมากจากฤดูกาลก่อน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แหล่งผลิตใหญ่ เพราะประสบกับภัยแล้ง อุทกภัย และการระบาดของโรคไหม้คอรวง

น่าสนใจว่ารัฐบาลจะมีมาตรการรับมืออย่างไร

แม้คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือ เกษตรกร (คชก.) เห็นชอบกรอบการใช้เงินงบประมาณ 2563 รวมทั้งสิ้น 4,289.86 ล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติการใช้เงินแล้ว

เป็นมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2562/63 คู่ขนานกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 วงเงิน 2,572.50 ล้านบาท

แบ่งเป็นสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก โดยให้สินเชื่อเกษตรกรรายบุคคล และสถาบันเกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง รวมทั้งสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโดยสถาบันเกษตรกร ที่รัฐสนับสนุนสินเชื่อในการรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป

หลังจากข้าวเปลือกออกสู่ตลาดพร้อมๆกันก็คงจะทราบว่าได้ผลจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่าราคาข้าวในปีนี้อาจจะมีราคาสูง สาเหตุจากความแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง พื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ได้รับความเสียหาย รวมถึงปัญหาอุทกภัยช่วงปลายฤดูการทำนา

ทำให้ผลิตผลข้าวเปลือกลดปริมาณลง ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ต้องรีบขายผลผลิต เพราะต้องนำเงินไปใช้หนี้ค่าปุ๋ย ค่ายากำจัดศัตรูพืช และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของแต่ละครัวเรือน รัฐจะแก้ปัญหาการกดราคาจากพ่อค้าคนกลางอย่างไร

ที่ผ่านมา รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีความผิดพลาดกรณีใช้โครงการจำนำข้าว เป็นเครื่องมือในการกล่าวหาและกำจัดรัฐบาลในอดีต จนกลายเป็นปัญหาทับซ้อนบานปลาย

ขณะนี้ รัฐบาลชุดเดิมกลายร่างมาเป็นรัฐบาลผสม จึงเป็นที่จับตาว่าจะมีวิธีแก้ปัญหาราคาข้าวอย่างไร ดีกว่าที่ผ่านมาแค่ไหน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน