เลิกศาล รธน.ได้ไหม

คอลัมน์ ใบตองแห้ง

เลิกศาล รธน.ได้ไหม – “คำตัดสินถูกผิดเป็นเรื่องของข้อกฎหมาย (ซึ่งอาจแตกต่างจากความถูกผิดโดยเจตนา) แต่การที่คนในสังคมตั้งคำถามเยอะกว่าปกติ เป็นเพราะสภาพแวดล้อมของการอยู่ภายใต้กติกาที่ไม่เป็นกลาง ที่ปรากฏออกมาในหลายครั้ง (ในหลายกรณีอื่นๆ) ซึ่งส่งผลให้บางคนอาจแคลงใจกับคำตัดสินครั้งนี้เป็นพิเศษ (ไม่ว่าจะฝักใฝ่ฝ่ายไหนในทางการเมือง) ยิ่งเรากลับเข้าสู่ระบบที่กติกาเป็นกลางช้าเท่าไหร่ คำถามที่คนตั้งกับกระบวนการยุติธรรมก็จะมีมากขึ้น…”

ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ ตั้งข้อสังเกตน่าสนใจยิ่ง ต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.

เพราะถ้าข้ามประเด็นทางกฎหมายในคำวินิจฉัยไปก่อน ข้ามความเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัย (ซึ่งโลกออนไลน์ซัดไปแล้วเต็มเหนี่ยว ทั้งโต้แย้งด้วยตรรกะเหตุผล หรือเล่นคำเปรียบเปรย ย้อนแย้ง ขบขัน ฯลฯ อย่างที่ศาลไม่สามารถเรียกไปกินกาแฟได้ เพราะมีวิธีหลีกเลี่ยงมากมายในการใช้ภาษา แต่รู้กันว่าหมายความอย่างไร)

มองให้กว้างขึ้นอย่างไอติม “กติกาไม่เป็นกลาง” ก็คือรัฐธรรมนูญนั่นเอง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ “ที่ไม่เป็นกลาง” แล้วสังคมจะคาดหวังได้แค่ไหน

เอาง่ายๆ คือในขณะที่ศาลวินิจฉัยข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญกับผู้อื่นอย่างเคร่งครัด พอมีคำถามว่าประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ศาลก็ต้องชี้ว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช.เป็นผลสืบเนื่องจากการยึดอำนาจ เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครอง ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐ ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย ฯลฯ จึงไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เป็นแคนดิเดตนายกฯได้

พูดใหม่กี่ครั้งก็ถูก ประยุทธ์ยึดอำนาจมา จึงอยู่เหนือกฎหมาย ใช้ ม.44 เหนือรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เห็นกันโต้งๆ ว่าได้เปรียบคู่แข่งในการเลือกตั้ง แต่เมื่อรัฐธรรมนูญยอมรับอำนาจรัฐประหาร (ศาลฎีกายอมรับมาตั้งแต่ปี 2496) ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความเป็นอื่นได้อย่างไร

ในขณะที่ธนาธรต้องพ้นจาก ส.ส. เพราะศาลเชื่อว่ายังถือหุ้นวีลัค นิตยสารที่ปิดตัวเองไปแล้ว เลิกจ้างพนักงานแล้ว แม้ไม่ได้ใช้หุ้นสื่อเอาเปรียบคู่แข่งในการเลือกตั้ง แต่ศาลก็มองว่ายัง “มีโอกาสทำได้”

ส่วนที่สังคมมองว่า สื่อบางค่ายเกี่ยวดองกับพรรคการเมือง เป็นเครื่องมือให้ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้าม แล้วอ้างว่าไม่ได้ถือหุ้น นั่นก็เป็นเรื่องปกติของกฎหมาย คือรู้อยู่โต้งๆว่าหลบเลี่ยงแต่จับไม่ได้แล้วจะให้ทำอย่างไร ก็เหมือนพรรคอนาคตใหม่กู้เงินหัวหน้าพรรคโดยเปิดเผย แจกแจงบัญชีต่อสาธารณะ อาจโดนยุบ แต่พรรคการเมืองอื่นรับเงินใต้โต๊ะไม่มีใบเสร็จ เอาผิดไม่ได้

เราอยู่ใต้รัฐธรรมนูญจารีต ระเบียบข้อห้าม เหมือนครูผู้ปกครองตรวจเสื้อผ้าหน้าผม ต้องเป๊ะ จึงให้เข้าโรงเรียนได้ ดีชั่วกะล่อนปลิ้นปล้อนลับหลังช่างหัวมันเป็นไร

ก็คล้ายกับการบังคับให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินเอาไว้จับผิดกัน ทั้งที่นักการเมืองตำรวจทหารข้าราชการฉ้อฉล ไม่มีใครโง่รับสินบนเข้าบัญชี แต่ก็ทำให้ ป.ป.ช.มีงานทำมา 20 ปี

พูดอย่างนี้ไม่ได้ยกประโยชน์ให้ศาลหมด แต่สรุปง่ายๆ คือในการวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวน เมื่อศาลไม่สิ้นสงสัย ไม่เชื่อว่ามีการโอนหุ้นจริง ศาลก็มีอำนาจชี้ว่าขาดคุณสมบัติ

ขณะที่ประชาชนมองเจตนารมณ์ 6.3 ล้านคนไม่ได้เลือกธนาธรเพราะถือหุ้นวีลัค ไม่ได้ใช้หุ้นสื่อเป็นประโยชน์ในการหาเสียงแม้แต่น้อย

แต่ที่ชวนมองกว้างคือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ชี้ว่าในอดีตเราไม่เคยมีศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 เรามีแต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เคยเป็นตำบลกระสุนตก ทั้งที่ไม่ได้มีที่มาอันสูงส่ง อิสระ เป็นกลาง แต่อย่างใด เพราะมาจากการแต่งตั้งของรัฐสภา รัฐบาล ศาล ฯลฯ วินิจฉัยกฎหมายเป็นเรื่องๆ เป็นครั้งๆ ไป โดยไม่มีตำแหน่งถาวร

รัฐธรรมนูญ 2540 แม้ได้ชื่อว่าฉบับประชาชน แต่ก็แฝงมายาคติของคนชั้นกลาง ในการตั้งองค์กรอิสระ คนดี คนเป็นกลาง สูงส่ง ที่เชื่อกันว่าจะมาตัดสินการเมืองได้ โดยตอนแรก ยังยึดโยงอำนาจประชาชนคือวุฒิสภาที่มาจากเลือกตั้ง แต่ 2550, 2560 ก็ตัดความยึดโยงไป

ในต่างประเทศจริงๆ ก็ไม่ได้ใช้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่ลอยเคว้งคว้าง ศาลสูงสหรัฐมาจากประธานาธิบดีเสนอชื่อต่อวุฒิสภา โดยมีการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์เข้มข้น เยอรมนี มีศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นต้นแบบของไทย แต่ต้นกำเนิดของเขาคือบทเรียนสงครามโลกครั้งที่สอง มีไว้ปกป้องสิทธิเสรีภาพ

รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ ใช้คณะตุลาการวินิจฉัยเป็นครั้งๆ แบบอดีต แล้วแต่จะกำหนดรูปแบบกัน แต่มาถึงวันนี้ ก็ไม่ทราบว่าจะแก้รัฐธรรมนูญได้หรือเปล่า เพราะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าล้มล้างระบอบหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน