10 ปี ‘สลิ่ม’

คอลัมน์ ใบตองแห้ง

10 ปี ‘สลิ่ม’ – สิบปีพฤษภา 53 #ตามหาความจริง พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ความพยายามปฏิเสธของ “ฝ่ายปฏิปักษ์เสื้อแดง” รุนแรงขึ้น เป็นระบบขึ้น แม้คณะก้าวหน้าออกมาปลุกกระแสสังคม อีกฝ่ายก็ยิ่งต่อต้าน โดยยังยึดติดความเชื่อ และชุดข้อมูลเก่า ไม่เปลี่ยนแปลง

ขอแถมว่าซ้ำร้าย คณะก้าวหน้ายิ่งเป็นเป้าเกลียดชัง ยิ่งกว่าทักษิณ จตุพร ณัฐวุฒิ ด้วยซ้ำ เพราะการยิงเลเซอร์ ฉายหนัง ต้อนพิธีกรคาช่อง เรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพ-กระบวนการยุติธรรม เชื่อมเหตุการณ์ 53 ถึงคนรุ่นใหม่ ยิ่งทำให้ “สลิ่ม” คั่งแค้น “ธนาธร ปิยบุตร ช่อ” เป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ น่ากลัวกว่า “แม้ว-ตู่-เต้น” ที่ถูกเล่นงานจนอ่วมไปแล้ว

ปรากฏการณ์ปฏิเสธความจริงที่รุนแรงขึ้น จึงอธิบายได้ว่า เป็นเพราะความขัดแย้งยังไม่จบ ยังยืดเยื้อ ซ้ำวนกลับ ในแนวโน้มที่น่ากลัวกว่าเดิม สำหรับพลังอนุรักษนิยม ซึ่งเสื่อมลงทุกด้าน เมื่อเทียบกับสิบปีก่อน

คำว่า “สลิ่ม” เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 53 เมื่อม็อบเสื้อหลากสีออกมาต่อต้านข้อเรียกร้องยุบสภาของเสื้อแดง มีผู้ใช้คำนี้ในพันทิป บ.ก.ลายจุดเอามาเผยแพร่ จนใช้กันติดปาก

คำนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ ในแง่เหตุการณ์ปี 53 ได้เปลี่ยนทัศนคติคนชั้นกลางอนุรักษนิยม ที่มีต่อ “เสื้อแดง” ไปอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือจากเดิมที่เกลียดทักษิณ เกลียดนักการเมือง ก็ยกฐานะมวลชนเสื้อแดง ขึ้นมาเกลียดแค้นชิงชังในระดับเดียวกัน

ต้องเข้าใจนะ ก่อนหน้านั้นคนชั้นกลางยังมีเมตตา แม้มองว่าคนชนบทโง่ ถูกซื้อ จน เครียด กินเหล้า ฯลฯ แต่ถ้ายอมรับสถานะ “ด้อยกว่า” ยอมให้รัฐประหารตุลาการภิวัตน์ยุบพรรค ยอมให้คนกรุงล้มรัฐบาล ก็ยังบริจาคถุงยังชีพหน้าแล้ง ผ้าห่มหน้าหนาว

แต่ “ม็อบไพร่” ปี 53 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่คนชนบท “บังอาจหือ” ทวงอำนาจเลือกรัฐบาล ยกทัพนับแสนบุกกรุง เดินขบวนย้อมถนนแดงฉาน กรีดเลือดเป็นสักขีพยาน

มันคือความ “กร่าง” โดยสาระ มันคุกคามโครงสร้างอำนาจที่คนชั้นกลางอนุรักษนิยมยึดเหนี่ยว ไม่ใช่แค่ปัญหาท่าที “ถ่อยเถื่อน” การคุมอารมณ์ไม่อยู่ ของแกนนำและมวลชนจำนวนหนึ่ง (แบบบุก ร.พ.จุฬาฯ ทำให้องค์กรคนชั้นกลางออกแถลงการณ์ประณามประมาณ 999 ฉบับ)

ไม่ปฏิเสธว่า ม็อบเสื้อแดงมีจุดอ่อน คุมกันไม่อยู่ การเคลื่อนไหวบางจังหวะเลยเถิด ล้ำเส้น แต่ม็อบการเมืองตั้งแต่ปี 48 ไม่มีใครนั่งพับเพียบ ม็อบเสื้อแดง copycat จากความโกรธแค้น “สองมาตรฐาน” ปกป้อง “ม็อบมีเส้น” ยึดทำเนียบ ปิดสนามบิน กระนั้นข้อเรียกร้องเสื้อแดงก็ยังอยู่ในวิถีทางรัฐธรรมนูญ คือยุบสภา

ถามว่าลำพังความ “ถ่อยเถื่อน” ในสายตาคนกรุง ถึงขั้น “ออกใบอนุญาตฆ่า” หรือไม่ เช่นเดียวกับ “ชายชุดดำ” มีจริง แต่คนถูกยิงมีอาวุธไหม คนตายมีทั้งเด็ก ผู้หญิง พยาบาล นักข่าว เผาเซ็นทรัลเวิลด์ก็เกิดหลังสลายการชุมนุม มีทหารอยู่เป็นหมื่นนาย แต่ไม่สามารถดับไฟ?

พูดกันจริงๆ ไม่ใช่เรื่องข้อมูล คนชั้นกลางอนุรักษนิยมก็รู้แก่ใจ คนถูกยิงตายไม่ได้เลวร้าย ไม่ได้มีความผิด แต่พวกเขาเห็นว่า “จำเป็น” ต้องมีคนตาย จำเป็นต้องสลายการชุมนุม จะยอมให้ทักษิณชนะไม่ได้ ยอมให้ “ไพร่” ชนะไม่ได้

ไม่เช่นนั้น “ระบอบคนดี” โครงสร้างอำนาจอนุรักษนิยมที่พวกเขายึดมั่น สังคมศีลธรรมลำดับชั้น ที่พวกเขามีสถานะสูงกว่า จะพังพินาศหมด โลกจะแตกสลาย (เพื่อรักษาศีลธรรมจำเป็นต้องมีคนตายเหมือนฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป)

ซึ่งพอมาร์คยุบสภา ก็เป็นอย่างที่กลัวกันจริงๆ พรรคเพื่อไทยชนะถล่มทลาย อุตส่าห์รัฐประหาร ยุบพรรค ปราบม็อบ กวาดล้าง จับกุมคุมขัง ฯลฯ กลายเป็น “เสียของ” ต้องเริ่มใหม่หมด

เพราะเหตุนี้ เมื่อมีโอกาส เมื่อเพื่อไทยพลาด จึงเกิดม็อบมวลมหาประชาชน ที่เปี่ยมความเกลียดชังยิ่งกว่าครั้งพันธมิตร เมื่อเกิดรัฐประหาร จึงหนุนอย่างดันทุรัง 5 ปี จะเสียของอีกไม่ได้ เพื่อสลายเสื้อแดง ฟื้นรัฐราชการเป็นใหญ่

มาจนกระทั่งสืบทอดอำนาจ ตั้ง 250 ส.ว.โหวตตัวเอง ดูดส.ส.ฝ่ายตรงข้าม เคยด่าชั่วร้ายอย่างไร ยอมรับได้หมด ปรบมือไชโยแรมโบ้เป็นองครักษ์

ที่ผิดคาดอย่างใหญ่หลวง คือดันเกิดพรรคอนาคตใหม่ ภัยคุกคามใหม่ที่น่ากลัวเสียยิ่งกว่า พอยุบอนาคตใหม่ ก็เกิดแฟลชม็อบนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งเทียบอดีตก็เหมือนม็อบเสื้อแดงปี 52 โชคดีโควิดมาคั่นเสียก่อน

ปรากฏการณ์ 10 ปีสลิ่ม สะท้อนว่าคนชั้นกลางอนุรักษนิยมยอมไม่ได้ที่จะให้โครงสร้างอำนาจนี้พังทลาย แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาก็วิตกกังวลกับการท้าทายอำนาจยิ่งเสียกว่าครั้งก่อน

เพราะไม่ใช่แค่พลังของคนรุ่นใหม่ ซึ่งในสายตาพวกเขา คนอายุ 15 ถึง 30 กว่า กลายเป็นพวก “ชังชาติ” ไปหมดแล้ว

หากแต่พลังอนุรักษนิยมก็เสื่อมถอยลงกว่าสิบปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด แม้ประยุทธ์กับรัฐราชการกุมความได้เปรียบในฉุกเฉินโควิด แต่ความเชื่อถือศรัทธากองทัพ กระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ ส.ว. แทบจะต่ำเตี้ยเรี่ยดิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน