พลังเศรษฐกิจ – การลาออกของรัฐมนตรีฉายา 4 กุมาร รวมถึงรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มีความหมายโดยตรงต่อการสร้างทีมบริหารเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาล

เพราะทีมเดิม 4+1 ดูแลภาพรวมของเศรษฐกิจมาตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหาร 2557

จังหวะเวลาของการมาดำรงตำแหน่งเป็น ช่วงเวลาไม่ปกติ และจังหวะที่ลาออกไปก็ไม่ปกติเช่นกัน

เหตุการณ์รัฐประหารทำให้โจทย์เศรษฐกิจยากขึ้น และโรคระบาดโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้ยากขึ้นไปอีก

ปัญหาการบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศไทยจึงอาจไม่เหมือนประเทศอื่นๆ ตรงที่เริ่มต้นจากติดลบไปสู่ติดลบมากขึ้น

 

สิ่งที่ประชาชนติดตามและจับจ้องจากนี้ไปคือใครจะขึ้นมากำกับดูแลเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกับโจทย์ที่ยากที่สุดครั้งหนึ่ง

หลังจากนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจยอมรับว่าไม่ใช่คนเก่งเศรษฐกิจ และไม่คุ้นเคยกับการปรับเปลี่ยนตามมิติการเมือง

จากเดิมที่หัวหน้ารัฐบาลตั้งใจปรับคณะรัฐมนตรีหลังพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ผ่านสภาและบังคับใช้ได้ในเดือนกันยายน ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยน จำเป็นต้องปรับให้ทันในเดือนสิงหาคม

การเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน ว่ารัฐบาลจะนำพาการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ จะตามมาหรือไม่

 

หากพิจารณาเรื่องนี้ในมิติทางการเมือง ตัวบุคคลที่จะมาดำรงรัฐมนตรีอาจไม่สำคัญเท่ากับระบบและโครงสร้างทางการเมือง

เพราะคนที่คิดว่าเก่งหรือมีชื่อเสียงทางเศรษฐกิจ อาจไม่สามารถเรียกความมั่นใจจากประชาชนหรือนักลงทุนได้มากอย่างที่คาดหวัง

หากย้อนกลับไปดูสถานการณ์การฟื้นฟูประเทศช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540-2541 จะพบว่าจังหวะที่เศรษฐกิจฐานรากเริ่มเฟื่องฟู อยู่ในช่วงที่การเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยสูง

อาจเพราะผู้แทนในสภามาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนตรงๆ ไม่คดเคี้ยวด้วยกติกา

พลังทางเศรษฐกิจจึงเกิดได้จากความเชื่อมั่น ศรัทธา และความร่วมมือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน