คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

แม้มีเสียงขอบคุณลั่นมาจากฝ่ายรัฐบาล หลังการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวง ช่วงสุดสัปดาห์ 19-20 ก.ย. ลงเอยโดยไม่มีความรุนแรง

ไม่มีการเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลที่ล้อมรั้ว ตั้งบังเกอร์และตรึงกำลังอย่างเข้มงวด แต่ผู้ชุมนุมปักหมุดและยื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐจนเสร็จสิ้นพิธีการอยู่ใกล้บริเวณเดิม

สิ่งที่จะเป็นข้อพิสูจน์จากนี้ไปว่ารัฐบาลใจกว้างและเปิดรับฟังผู้ชุมนุมและประชาชนมากขึ้นหรือไม่อยู่ที่การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเอง

ปากว่ายินดีรับฟัง ปากว่าขอบคุณผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่และเป็นไปอย่างสันติวิธี
แต่ในทางปฏิบัติหากกลับไปสู่การตั้งข้อหาดำเนินคดีและจับกุมแกนนำ ผู้ชุมนุมอีกก็เท่ากับกลับไปสู่วังวนเดิม

ฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะสมาชิกรัฐสภาที่เป็นส.ว. เป็นกลุ่มที่ถูกจับตาเช่นกันว่าจะกลับไปสู่วังวนเดิมหรือไม่

หลังจากสมาชิกบางคนออกอาการไม่รับฟังเสียงเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่นัดหมายจะเดินทางมาสภาวันที่ 24 ก.ย. ว่าเป็นการกดดันการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติที่ผิดกฎหมาย

ทั้งที่ส.ว.ต้องพิจารณาตนเองก่อน และสำนึกว่าตำแหน่งที่ได้มานั้นไม่มีส่วนยึดโยงกับประชาชนเลยแม้แต่น้อย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับฟังเสียงจากประชาชนทุกฝ่าย

เพื่อปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญจากที่ตนเองเคยได้ประโยชน์ ให้เป็นประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์

การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน รวม 6 ฉบับ ระหว่างวันที่ 23 – 24 ก.ย.นี้ จึงเป็นวาระสำคัญที่สมาชิกสภาจะได้พิสูจน์ตนเอง ว่าจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่

แม้รัฐบาลพยายามจะยกข้ออ้างเรื่องโรค โควิด-19 เรื่องเศรษฐกิจ โดยขอให้ประชาชนพักเรื่องการเมืองไว้ก่อน

คำขอนี้รวมถึงคำขอบคุณที่รัฐบาลเอ่ยถึง ผู้ชุมนุมอาจดูเป็นมิตร แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการปฏิบัติ

ต้องไม่ทำให้คำขอบคุณไร้น้ำหนัก หรือพูดไปอย่างนั้นเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน