รัฐสภากับการแก้รัฐธรรมนูญ

หมายเหตุ – คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร จัดงานเสวนา ‘บทบาทของรัฐสภาในการแก้รัฐธรรมนูญ’ ที่อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน(ไอลอว์)

คนที่เห็นว่าไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือว่าไม่มีเหตุผลอะไรหลงเหลือแล้ว เมื่อปี 2559 ยังมีคนที่ไม่อายฟ้าอายดินออกมาพูดในทำนองว่า ให้อำนาจส.ว. เลือกนายกฯ โดยอ้างเพื่อการปฏิรูประเทศ เพื่อความมั่นคงของรัฐ แต่ปี 2563 เห็นใครออกมาพูดบ้างหรือไม่ ทั้งกลุ่มไทยภักดี ส.ว.เองก็ไม่พูด

วันนี้เรารอสภา จะแก้รัฐธรรมนูญให้เรา เพราะหน้าที่นี้มันสำคัญที่สภา ไม่ว่าจะเป็นกลไกภายใต้รัฐธรรมนูญนี้หรือฉบับก่อนๆ ซึ่งประชาชนมี บทบาท 2 ส่วนคือ เสนอ และถ้าต้องมีการทำประชามติ ประชาชนก็จะไป ทำประชามติ แต่ประชาชนไม่ได้มีอำนาจในการพิจารณาในรายละเอียดหรือ ตัดสินใจใดๆ สุดท้ายเราหลีกเลี่ยงไม่ ได้ที่จะต้องรอรัฐสภา ที่มีบทบาทหลักในการพิจารณาแก้

แม้มติเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นมติที่แปลก และน่าโมโห แต่เมื่อเราไปดูในรายละเอียด เช่น พรรคประชาธิปัตย์โหวตตรงข้ามกับคสช. พรรคชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา เชื่อว่าเขายังอยากเป็นพรรคที่อยากมีชีวิตต่อไป รวมถึงพลังท้องถิ่นไทก็โหวตงดออกเสียง ขณะที่พรรคที่ไปโหวตกับรัฐบาลคือพรรคภูมิใจไทย แล้วมาขอโทษ แต่อย่างน้อย เขาก็รู้ว่าสิ่งที่เขาทำไป มันไม่ถูกต้อง ยอมรับผิดแล้วออกมาขอโทษ

นอกจากนั้นพรรคที่โหวตกับรัฐบาลก็คือ พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคเล็กพรรคน้อย 8-9 พรรค ที่มีส.ส.เพียงคนเดียวในพรรค ซึ่งพรรคเหล่านี้ไม่มีผลอยู่แล้ว

การโหวตที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกที่เห็นส.ว.เสียงแตก มีส.ว.ที่ถูกแต่งตั้งมาก็ต้องโหวตตาม เพราะมีญาติพี่น้องยังคงต้องทำงานอยู่ จะโหวตเป็นอย่างอื่นคงไม่ได้ แต่ที่น่าผิดหวังคือ ส.ว.ที่เป็นกลุ่มอาชีพ ที่ไม่ได้มาจากการคัดเลือกของคสช.โดยตรง แต่โหวตตามคสช.ตลอด ดังนั้น มติเรื่องแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นมติเสียงแตกอย่างน่าแปลกใจ

ขอย้ำว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ เสนอโดยประชาชน ประกอบด้วยรายชื่อประชาชนกว่า 1 แสนคน ไม่ใช่ร่างของตัวเองคนเดียว ร่างที่เสนอไปนั้นเป็นร่างของทุกคน เมื่อเข้าสภาแล้ว ถ้ามีการตั้งใจหรือเตะถ่วงให้ร่างของประชาชนไม่ถูกพิจารณาอย่างไม่เป็นธรรม เชื่อว่าทุกคนมีอำนาจตอบคำถามนี้เท่าๆ กัน

เมื่อเราพยายามหาทางออกปัญหา แล้วเสนอให้แล้ว แต่เขาไม่เอา ก็คงอยู่ที่คนแสนคนว่าจะทำอย่างไรต่อไป

ชัยธวัช ตุลาธน

เลขาธิการพรรคก้าวไกล

การที่รัฐสภามีมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ จริงๆ มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านี้ แต่ในที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และฝ่ายวุฒิสภาได้หารือกัน แต่ไม่มีการหยิบยกเรื่องนี้มาเสนอ มีการหารือเพียงว่าจะพิจารณาอย่างไรเท่านั้นเอง

แต่สุดท้ายก็เสนอตั้งกมธ. โดยมีข่าวว่า ส.ว.บางกลุ่ม เห็นว่าควรตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และอีกกลุ่มให้ยกเลิกมาตรา 272 แต่ทั้งสองกลุ่มนี้ มีเสียงไม่ถึง 84 เสียง ทางพรรคก้าวไกลก็มีการหารือและมีมติชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการตั้งกมธ. และเราไม่ส่งชื่อเข้ากมธ.นี้ เพราะเราไม่เห็นด้วยกับการตั้งกมธ.อยู่แล้ว

การทำงานของกมธ. มีเวลาทำงาน 30 วัน ซึ่งจะมีอายุอยู่ถึงปลายเดือนต.ค. และกมธ.จะมีมติอย่างไร ผมไม่สามารถรู้ได้ แต่ไม่เข้าใจว่าตั้งมาเพื่ออะไร ซึ่งมันมีบางกระแสว่า ส.ว.ต้องการต่อรองเพื่อแลกกับการให้ส.ว.ชุดนี้ อยู่ครบวาระ 5 ปี

เมื่อกมธ.ทำงานครบ 30 วัน ถ้าไม่มีการต่ออายุ เมื่อเปิดสมัยประชุมสภา การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่การพิจารณา หรือถ้ามีการยืดเวลาไปอีกคือ การต่ออายุให้กมธ. เวลาก็จะยืดไปอีก ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้

ปัญหาที่หลายคนย้ำว่า การโหวตรับหรือไม่รับ มีผลอย่างไรนั้น ต้องบอกว่าญัตติใดตกไปแล้ว จะเอาญัตติเช่นเดียวกันมาเสนอไม่ได้ เพราะถือเป็นหลักการเดียวกัน แต่ถ้าจะเสนอญัตติแก้ไขมาตราอื่นๆ มันอาจจะไม่ซ้ำ แต่เกรงว่าอาจมีการตีความว่าซ้ำได้ ถ้าตกไป จะมีการเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญมีส.ส.ร.ไม่ได้แล้ว หรือเสนอแก้ไขมาตรา 272 มาตรา 279 ก็ไม่ได้อีก

หรือถ้าจะเสนอหลักการเดิมได้ ก็จะไปเริ่มเสนอได้ในปลายเดือนพ.ค. 2564 นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราต้องคัดค้านการตั้งกมธ. เพราะถ้ายืดเวลาไป มันจะปิดโอกาสในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปถึง 8 เดือนเลย

ส่วนร่างของประชาชนที่ไอลอว์เสนอนั้น ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อกว่า 1 แสนชื่อ ซึ่งเห็นว่าสภาเร่งตรวจสอบให้อยู่ แต่ถ้าเอามารวมกับร่างของส.ส. ทั้ง 6 ญัตติ ก็จะเป็นร่างที่ 7 และถ้ามีการคว่ำ ทั้ง 7 ร่างนั้นก็จบเลย ซึ่งเรื่องนี้มีข้อบังคับว่า ให้ประธานสภาเป็นผู้พิจารณา

ตอนนี้อำนาจอยู่ที่ประธานสภา ถ้าเลวร้ายที่สุด 6 ร่าง เปิดสมัยประชุมถูกคว่ำทั้งหมด แล้วอีกร่างที่เป็นของประชาชนจะตีตกด้วยหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่ประธานสภาด้วย ถ้าร่างส.ส.ตก แล้วร่างประชาชนผ่าน ประชาชนที่เสนอชื่อก็สามารถชี้แจงกับสภาได้ แต่ถ้าผ่านแล้ว มีการตั้งกมธ.ศึกษาในรายมาตรา ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ แต่ไม่สามารถโหวตได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลว่า หากเราได้ส.ส.ร.มาแล้วจะเป็นแบบเดิมหรือไม่ มันจะกลายเป็นส.ส.ร.สืบทอดอำนาจ สุดท้ายเราจะถูกหลอกอีก และมาคัดค้านส.ส.ร.จากประชาชนอีกครั้งหรือไม่ ดังนั้น เราต้องพยายามใช้กลไกสภาที่มีอยู่ ผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ เราจะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยได้ เราต้องเอาส.ว.ชุดนี้ออกไปก่อน แล้วค่อยมาว่ากัน

ขณะนี้ในพรรคก้าวไกลเริ่มมีการพูดคุยกัน ถ้าสถานการณ์การเมืองแย่ลงไปกว่านี้ เราอาจจะต้องรณรงค์ให้รื้อความคิดโดยให้ล้มระบบประยุทธ์ และปิดสวิตช์ส.ว.ทั้งระบบ คือการยกเลิก ส.ว. 250 คนออกไปเสีย รวมถึงการรื้อโครงสร้าง ที่มาขององค์กรอิสระใหม่ทั้งหมด

สิ่งเหล่านี้พูดคุยกันอยู่ในพรรคก้าวไกล และอาจจะเสนอเป็นแคมเปญขึ้นมาภายในเดือน ต.ค.นี้ และหากจะต้องเคลื่อนไหวเรื่องเหล่านี้ เราคงต้องขอเสียงจากประชาชน อย่างไรก็ตาม องค์กรอิสระ ถือเป็นนวัตกรรมที่แปลงพันธุกรรมในการต่อต้านประชาชน อีกทั้งไม่ควรมี ส.ว. และถึงเวลาแล้วที่เราต้องทบทวนว่าประเทศไทยจะต้องมีสภาเดียวหรือไม่

พรรณิการ์ วานิช

โฆษกคณะก้าวหน้า

เราโดนตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่มีใครพรากการทำงานการเมืองของเราได้ ตั้งแต่เราเริ่มตั้งพรรคอนาคตใหม่ เราก็เริ่มพูดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตลอด และสังคมก็ตอบรับเรื่องนี้อย่างเชิงบวก และเราเห็นแล้วว่า สิ่งที่เราพูดมาใน 2 ปีที่ผ่านมา มันเดินมาไกล เราจะเป็นผู้สนับสนุนในการทำให้รัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นของประชาชน

ในวันอภิปรายเมื่อวันที่ 23-24 ก.ย. เราได้เห็นส.ว. พูดออกมาได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า เป็นคนดี ซื่อสัตย์ แล้ว กล่าวหานักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โกงกิน เข้ามาแล้วต้องถอนทุนเพราะใช้เงินซื้อเสียงเข้ามามาก เรายังคงเห็นคนที่ใช้ตรรกะแบบนี้อยู่ คือที่เชื่อว่าคนที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนเลว ฉะนั้น แปลว่าคุณเห็นว่า 40 ล้านกว่าคนที่เลือกนักการเมืองมาเป็นคนเลวเช่นกันหรือ ดังนั้น ภายใต้รัฐสภาที่มีทัศนคติอย่างนี้ จะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร

อีกประเด็นหนึ่งคือ เมื่อมีคำพูดออกมาจากปากนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาว่า “พวกเราทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว ไม่ต้องหวั่นไหวกับเสียงภายนอก” ในฐานะที่เราเคยเป็นส.ส.มาก่อน ความเป็นผู้แทนราษฎร เราต้องพยายามตอบสนองต่อเสียงประชาชนให้มากที่สุด เพราะเขาฝากความหวังไว้กับตัวแทนเขา

เมื่อได้ยินคำพูดเช่นนี้จากประธานสภา ก็ต้องถามว่าเสียงภายนอกนั้นคือเสียงอะไร ตกลงเสียงภายนอกของประชาชนไม่ใช่เสียงที่ต้องหวั่นไหวหรือ และเมื่อท่านปฏิเสธที่จะหวั่นไหวต่อเสียงที่ให้ท่านมาแบบนี้ รัฐสภาจะมีเกียรติมีศักดิ์ศรีได้อย่างไร

ต่อจากนี้ถ้าถามว่าเราจะเดินหน้าไปอย่างไร ต้องบอกว่าขอให้สภาพิจารณากันให้ดี ซึ่งความอันตรายของสภาคือการทำให้ประชาชนผิดหวัง สุดท้ายแล้วคำถามที่ว่าประชาธิปไตยไม่สามารถได้มาโดยกระบวนในระบบรัฐสภาใช่หรือไม่ หรือต้องการกระบวนการนอกสภาใช่หรือไม่

ตอนนี้คำถามว่าถ้าคุณล้มหรือฉีกรัฐธรรมนูญ ประชาชนจะยอมหรือไม่ อย่าคิดว่าคนที่เปลี่ยนนอกระบบได้ มีแต่ทหาร แม้ที่ผ่านมาคิดว่าไม่มีใครทำได้นอกจากกองทัพ แต่อย่าคิดว่ามันเกิดขึ้นไม่ได้ และถ้าครั้งนี้เกิดรัฐประหาร สิ่งที่เราต้องถามคือ เมื่อฉีกรัฐธรรมนูญ อำนาจในการสถาปนาอยู่ที่ใคร ถ้าให้ตอบ ก็บอกได้ตามหลักการว่า อยู่ที่มือประชาชน

ก้าวต่อไปของคณะก้าวหน้า อยู่ที่ประชาชน เราจะเคลื่อนไหวทำงานนอกสภากับประชาชน ประชาชนเดินไปทางไหน เราก็เดินไปด้วยกัน งานต่อไปคือการเลือกตั้งท้องถิ่นเราจะส่งคนลงไป หากไม่มีการรัฐประหาร คงมีการเลือกตั้งในเดือนธ.ค.นี้

นอกจากนี้ยังร่วมกับพรรคก้าวไกล ในการรื้อระบอบประยุทธ์ จะเริ่มในเดือนต.ค.นี้ นับว่าเป็นแคมเปญใหญ่ที่จะเห็นคณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล ทำงานร่วมกัน

งานของคณะก้าวหน้า ไม่ใช่หาคะแนนเสียงอย่างเดียว แต่ลำพังผู้แทนราษฎรทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยเสียงนอกสภา ประชาชนไม่มีปืน ไม่มีรถถัง แต่ถ้ามีจำนวนมาก โอกาสที่จะชนะก็มีมากขึ้น การทำงานทางความคิดจำให้เราชนะได้เร็วยิ่งขึ้น โดยคณะก้าวหน้าเชื่อว่า การติดอาวุธความคิดประชาชน เป็นเกราะป้องกันมวลชนได้ดีที่สุด เพื่อให้การเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริงนั้นสำเร็จ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน